เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ONE LIFE STAND เดี่ยวดี เดี่ยวร้ายSALMONBOOKS
01: ลูกคนเดียว


  • วันที่ 25 กันยายน 2528 หรือราวสามสิบปีก่อน (อืม เขียนแล้วสะเทือนใจยังไงชอบกล) เด็กชายคันฉัตรได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ เป็นลูกคนแรกของคุณและคุณนายรังษีกาญจน์-ส่อง เรียกว่ามารดามีประสบการณ์คลอดลูก 1st time กับผมนี่แหละ

    หลังจากนั้น ท่านแม่ก็ไม่มีการเบ่งลูก 2nd time หรือ 3rd time อีกเลย ผมจึงกลายเป็นลูกคนแรกและคนสุดท้ายของครอบครัวไปโดยปริยาย

    ใช่ครับ นั่นหมายความว่าผมเป็นลูกคนเดียว

    จุดเริ่มต้นของเรื่องราวชีวิตอันสุดจะเข้มข้นและการผจญภัยที่แสนตื่นเต้นของ ‘มนุษย์คนเดียว’ เริ่มจากตรงนี้นี่แหละครับ!

    ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยสนใจกับการเป็นลูกคนเดียวของตัวเองเลย เพราะชีวิตช่วงนั้น ผมทุ่มความสนใจทั้งหมดให้กับเกมและการ์ตูน ทำนองว่า ดราก้อนบอล สัปดาห์หน้าโงกุนจะฆ่าฟรีซเซอร์ได้มั้ย หรือทำอย่างไรถึงจะเอาชนะบอสใหญ่ของเกม ร็อคแมน ได้

    การเป็นลูกคนเดียวจะกลายเป็นประเด็นก็ต่อเมื่อชีวิตไปวนเวียนอยู่กับคนรอบข้างนี่แหละ

    เชื่อว่าตอนเด็กๆ คนที่เป็นลูกคนเดียวต้องเคยถูกถามด้วยความเป็นห่วงประมาณว่า “หนูอยู่คนเดียวไม่เหงาเหรอจ๊ะ” “อยู่บ้านเล่นกับใครล่ะลูก” หรือ “ไม่บอกให้คุณแม่มีน้องให้ล่ะจ๊ะ” (เดี๋ยวๆๆๆ นั่นเด็กทั้งคนนะ พี่พูดอย่างกับให้อ้อนแม่ซื้ออมยิ้ม)
  • พอโตมาถึงช่วงมัธยม ประเด็นพวกนี้ก็ยังไม่หมดไป ตอนนั้นเป็นยุคที่เริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว ผมเลยมีโอกาสไปไล่อ่านกระทู้ลูกคนเดียวในเว็บไซต์พันทิปเล่นๆ ก็พบว่ามีทั้งคนที่เหงาและไม่เหงา 

    พวกที่เหงามักจะพูดในทำนองว่าโตมาตัวคนเดียว ต้องทำกิจกรรมทุกอย่างแนวโซโล่โชว์เดี่ยวหมด เช่น เดาะบอลคนเดียว ชู้ตบาสคนเดียว ส่วนพวกกีฬาที่ต้องเล่นเป็นคู่อย่างแบดมินตันหรือปิงปองนั้นลืมไปได้เลย บ้างก็ต้องประชดชีวิตด้วยการหกกบ ม้วนหน้า ม้วนหลังในห้อง บ้างก็ต้องหันไปประกอบโมเดลหรือเล่น เกมเศรษฐี คนเดียวไปเลยก็มี

    มากไปกว่านั้น พวกเพื่อนที่ไม่มีพี่น้องก็มักจะบ่นกันว่าไม่มีเพื่อนคุย แถมต้องเก็บเรื่องกลัดกลุ้มไว้คนเดียว เพราะเรื่องบางเรื่องก็ไม่ค่อยสะดวกใจจะไปปรึกษาพ่อแม่ เช่น ไปแอบชอบคนนั้นมา แต่เพื่อนดันไม่ว่างให้ปรึกษาได้ตลอดเวลา ถ้ามีพี่น้องแค่เดินไปหาก็จบละ เหมือนมี 1667 สายด่วนฮอตไลน์คลายเครียดประจำบ้าน สะดวกสบาย ง่ายสุดๆ (ว่าแต่มึงได้ถามความสมัครใจอีกฝ่ายยังเนี่ย)

    ขณะที่ช่วงเวลาเหล่านั้น ถ้ามีคนมาถามว่า “คันฉัตร เป็นลูกคนเดียวเหงามั้ยเนี่ย”

    ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า “ไม่-เหงา-สัก-นิด”

    เอาเข้าจริง ท่านพ่อท่านแม่ก็คงเป็นห่วงเหมือนกันว่าลูกจะอยู่คนเดียวมากเกินไป ตอนเด็กๆ เลยพยายามส่งผมไปซัมเมอร์แคมป์ช่วงปิดเทอม คงหวังว่าผมจะได้ทั้งเรียนหนังสือ ทำกิจกรรม เล่นกีฬา รวมถึงได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ บ้าง แต่พอครบหลักสูตร ผมก็ประกาศกร้าวว่า ไม่อยากไปแล้วเหนื่อย ร้อน รำคาญเด็กคนอื่น มีทั้งพวกชอบโชว์พาว แย่งคนอื่นตอบคำถาม แล้วไหนจะไอ้พวกที่ชอบเล่นแรงๆ อีก สรุป ขอผมนอนอยู่บ้านเถอะนะท่านพ่อท่านแม่ (แววหมกตัวสไตล์ฮิคิโคโมริมันฉายชัดตั้งแต่เด็กจริงๆ)

    และอาจเป็นโชคดีที่เด็กชายคันฉัตรเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เวลาโวยวายอยากได้อะไร พ่อแม่ก็พอจะเจียดเงินมาซื้อให้ได้บ้าง อยู่บ้านว่างๆ ก็สามารถนอนอ่านการ์ตูนยาว 18 เล่มรวด ดูวิดีโอการ์ตูนแบบนันสต๊อป (น้องๆ หนูๆ ที่ไม่รู้ว่าวิดีโอคืออะไรก็ไปกูเกิลเอานะ) หรือเล่นเกม มาริโอ้ เก็บเห็ดลงท่อแม่งทั้งวัน ดูสิ เป็นลูกคนเดียวดีจะตาย ไม่จำเป็นต้องมีพี่น้องมาเป็นเพื่อนเล่นคลายเหงาหรอก กูเล่นกับตัวเองนี่แหละ! วะฮะฮ่า!
  • แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียหมด สำหรับเรื่องเกมนั้น ถ้าเป็นเกมตะลุยด่านหรือเกม RPG ยังพอเล่นคนเดียวได้ แต่พวกเกมต่อสู้เนี่ย สู้กับคอมพ์ไปสักพักจะเริ่มเซ็ง อยากแข่งกับมนุษย์ตัวเป็นๆ บ้างแฮะ แล้วบางเกมก็ทำมายากฉิบหาย เล่นมาสองสัปดาห์แล้วยังไม่ผ่านเลย หรือเกม RPG ช่วงเก็บเลเวล
    ช่างน่าเบื่อเหลือเกิน อยากมีคนมาผลัดเล่นบ้างง่ะ จะให้ชวนพ่อแม่มาเล่น แค่คิดว่าต้องอธิบายระบบเลเวล ระบบไอเทมก็เหนื่อยแล้ว วันดีคืนดีเลยโทร.ไปหาน้องชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง “เฮ้ย คืนนี้มาค้างบ้านเรามั้ย มาช่วยเล่นเกมหน่อย”

    ตัดภาพมา

    ผม: “อย่าเพิ่งไปสู้กับบอสในปราสาทนี้เลย เก็บเลเวลก่อนดีกว่า”
    น้อง: “เฮ้ย สู้ๆ ไปเถอะ เก็บเลเวลมาเป็นชั่วโมงแล้วเนี่ย เบื่อแล้ว”
    ผม: “แต่ตามบทสรุปบอกว่าเราควรมีเลเวลอย่างน้อย 70 นะถึงจะสู้กับบอสตัวนี้ได้”
    น้อง: “พี่ต่อหัดเชื่อตัวเองมั่งเดะ อย่าเชื่อแต่คู่มือ” (...ทำไมอยู่ดีๆ กูถูกมันแนะแนวการใช้ชีวิตซะงั้น)
    ผม: “เออๆ สู้แม่งเลยก็ได้”

    …สิบวินาทีผ่านไป...

    ผม: “เดี๋ยวๆๆๆ ตัวนี้ต้องใช้ธาตุไฟสู้มันสิ”
    น้อง: “สายฟ้าแหละ ได้เหมือนกัน”
    ผม: “ไม่เหมือนโว้ย ถ้าโจมตีด้วยไฟมันจะได้ผลกว่า ...นั่นไง พวกเราตายไปตัวนึงแล้ว เฮ้ยยยย อย่าใช้ไอเทมชุบชีวิตมั่วซั่วสิวะ มันหายากกกกนะโว้ย”
    น้อง: “โวยวายจังวุ้ย ไม่มีสมาธิเล่นเลย ตายเกลี้ยงแล้วเนี่ย”
    ผม: “บอกแล้วไม่เชื่อ แต่เดี๋ยวนะ… ก่อนสู้เนี่ยเซฟเกมยัง”
    น้อง: “เออ ลืมว่ะ”
    ผม: “...”

    เหตุการณ์หลังจากนั้นคือผมตะเพิดน้องกลับบ้านไปทันที และตั้งแต่นั้นมา น้องคนนี้ก็ไม่กลับมาเหยียบบ้านผมอีกเลย สุดท้ายผมจึงลงเอยกับการเล่นเกมคนเดียวต่อไป และแก้ปัญหาโดยการที่วันไหนอยากเล่นสองคนก็สลับเล่นเองแม่งทั้งสองจอยเลย (นี่กูมีวัยเด็กแบบนี้หรือเนี่ย...)
  • แน่นอนว่าพอเอาแต่เล่นเกมอยู่ในห้องทั้งวัน พ่อแม่ก็ทนไม่ไหว เริ่มไล่ให้ออกไปเล่นนอกบ้านบ้าง แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน ที่มีลานกว้างให้พวกโนบิตะวิ่งเล่น ซอยบ้านผมมีแต่บ้าน บ้าน และบ้าน ไม่มีสวนสาธารณะ ลานสนามเด็กเล่นสักแห่ง แล้วจะให้ไปทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างไร หรือถ้ามี จะให้ทำกับใครก็คงเป็นปัญหาพอกัน เพราะไม่รู้จักเพื่อนบ้านสักคน แถมยังขี้เกียจไปทำความรู้จักลูกบ้านอื่นด้วย (ยังฝังใจกับตอนซัมเมอร์แคมป์ไม่หาย) พ่อแม่เลยจำใจยื่นข้อเสนอจะซื้ออุปกรณ์กีฬาที่เล่นในบ้านให้ เอ็งจงเลือกมาสักอย่าง

    ผมเลือกบาส เพราะตอนนั้นชอบอ่าน สแลมดังก์ (เหตุผลสิ้นคิดมากกกก) ด้วยเหตุนี้ ผมจึงค้นพบความจริงว่า กูไม่ใช่ซากุรางิหรือรุคาว่าที่จะมุ่งมั่นเล่นบาสจนเป็นนักกีฬาโรงเรียน เพราะหลังจากเลี้ยงลูกไปได้ 500 ครั้ง ชู้ตลงแป้นไป 100 ลูก (จริงๆ ลงแค่สิบลูก) ผมก็กลับไปเล่นเกมในห้องเหมือนเดิม

    เครื่องแฟมิคอมนี่แหละเพื่อนแท้เพียงหนึ่งเดียวของผม #เทคโนโลยีจงเจริญ

    นอกจากเรื่องเหงา/ไม่เหงา ลูกคนเดียวยังต้องเจอความเข้าใจผิดคิดไปเองของคนรอบข้างอีกหลายประการ เช่น เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ต้องหวงยิ่งกว่าไข่ในหิน ซึ่งของผมดูไม่ใช่แนวนั้นเท่าไหร่ เพราะพ่อแม่จับแยกห้องนอนตั้งแต่ประถม คือถ้าเป็นฝรั่งคงไม่แปลก เขาแยกห้องให้ลูกตั้งแต่ลูกอายุหกเดือน แต่สำหรับคนไทยอาจจะประหลาดเล็กน้อย

    จำได้ว่าสมัยนั้นคุยกับเพื่อนแล้วพบว่าทุกคนยังนอนกับพ่อแม่หมดเลย มีกูคนเดียวที่มีห้องส่วนตัว ตอนนั้นก็วิตกจริตไปพักหนึ่งว่าพ่อแม่ไม่รักกูหรือเปล่าวะ แต่พอโตมาก็เริ่มเข้าใจว่าเขาคงอยากให้เราจัดการดูแลชีวิตตัวเองในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเราไม่สร้างความเดือดร้อนอะไร เขาก็จะไม่มายุ่ง (เห็นแบบนี้ ผมเป็นนักเรียนดีเด่นนะ ไม่เคยถูกเรียกเข้าห้องปกครองเลยสักครั้ง แต่ด้วยเหตุนี้เลยไม่มีอาจารย์คนไหนจำได้ กลายเป็นศิษย์เก่าไร้ตัวตนไปเฉย... ) ดังนั้นผมเลยเป็นเด็กประเภทที่ไม่มีปัญหากับการขอไปนอนค้างบ้านเพื่อนหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดเท่าไหร่ ขอไปไหนพ่อแม่ยินยอมหมด (จริงๆ อาจร้องไห้ดีใจ ในที่สุดลูกกูก็มีสังคมกับเขาแล้วโว้ย)

    แต่การไปบ้านเพื่อนก็ทำให้ผมพบมิติใหม่ของครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน เช่น ทุกอย่างไม่ได้มาง่ายๆ ต้องรู้จักรอและแบ่งปัน อย่างเพื่อนปวดฉี่จะเข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ เพราะพี่แม่งอึอยู่ ตอนเล่นเกม วินนิ่ง ถ้าน้องของเพื่อนโวยวายอยากเล่นขึ้นก็ต้องเสียสละยกจอยให้ไปเลย หรือเวลากินข้าวเย็น แม่เพื่อนก็คอยบอกว่า “แกะกุ้งให้น้องด้วยลูก” ตอนนั้นได้ยินแล้วตกใจมาก เพิ่งรู้ว่ามีกิจกรรมนี้บนโลกด้วย ปกติอยู่บ้านพ่อแม่ผมแกะให้ตลอด (เดี๋ยวนะ... )
  • ตอนยังเด็กผมจึงคิดแบบง่ายๆ ว่าเพื่อนน่าสงสารจัง ต้องคอยแชร์ไอ้นั่นไอ้นี่ให้พี่ให้น้อง แถมยังมีเรื่องตบตีกันประจำ แต่พอโตมาก็คิดได้ว่า เอ้อ ไอ้การที่เราเป็นลูกคนเดียวก็คงมีส่วนให้เราชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง สนใจแต่เรื่องของตัวเอง และรำคาญมนุษย์รอบข้างได้ง่ายมาก (ซึ่งท่านจะได้พบอีกมากในหนังสือเล่มนี้) คิดไปคิดมาจึงรู้สึกผิดที่ไล่ลูกพี่ลูกน้องกลับบ้าน แต่ด้วยความหยิ่งทะนงก็ไม่ได้โทร.ไปขอโทษนะ นี่ก็ผ่านมากว่ายี่สิบปี เอาเป็นว่ากูขอโทษมึงทางนี้แล้วกัน (คือมันจะมาเห็นมั้ย)

    ความเข้าใจผิดลำดับถัดมาที่คนภายนอกมีต่อลูกคนเดียวต่อเนื่องมาจากการที่เพื่อนๆ เห็นว่าพ่อแม่ปล่อยให้ผมไปไหนมาไหนตามสะดวก ไม่ได้เข้มงวดอะไรมาก เพื่อนจึงคิดว่าลูกคนเดียวนี่ดีจังนะ พ่อแม่ต้องตามใจมากแน่ๆ อยากได้อะไรพ่อแม่ก็ให้หมดแหงๆ

    อืม… จริงๆ ก็ใช่นะครับ แต่ก็ไม่ทั้งหมดหรอก คือถ้าเป็นครอบครัวที่ตามใจลูกมากๆ อาจเป็นแบบนั้น แต่ครอบครัวผม เวลาอยากได้อะไร ถ้าเป็นของที่ไม่แพงมากอย่างหนังสือการ์ตูนหรือวิดีโอก็ซื้อให้ได้เลย แต่ถ้าเป็นของราคาแพงหรือของชิ้นใหญ่นี่ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันหน่อย สมมติอยากได้เพลย์สเตชั่นต้องได้เกรด 3.75 ขึ้นไป หรือถ้าอยากได้วิทยุเครื่องใหม่ เทอมนี้วิชาพละห้ามได้เกรดสามอีก (คุณผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยากว่าเด็กชายคันฉัตรอ่อนด๋อยในวิชานี้สุดๆ) นี่คือกฎของบ้านผม ซึ่งเมื่อเป็นลูกคนเดียว กฎ มาตรการ ระเบียบ ประกาศฉุกเฉินทั้งหลายที่เกิดขึ้นในบ้านก็เป็นผมนี่แหละที่รับไปคนเดียวเต็มๆ ไม่มีพี่มีน้องมาช่วยแชร์ หรือถ้าคิดจะต่อต้านก็มีอยู่เสียงเดียว อารยะขัดขืนอะไรไปก็ย่อมล้มเหลวเสมอ

    แต่ถึงจะไม่ได้เอาเกรดไปแลกของ ครอบครัวของผมก็ค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วล่ะครับ ครั้งหนึ่งผมเคยได้วิชาเคมีเกรดสอง ถูกที่บ้านด่าเหมือนไปทำใครท้องมา หรือตอนเข้ามหา’ลัย วันแรกพ่อขับรถไปส่ง พอเลี้ยวรถเข้ามหา’ลัยปุ๊บ พ่อก็พูดว่า “ขอเกียรตินิยมอันดับหนึ่งนะ” ช็อคไปเลยครับ ผมถูกหลอกหลอนด้วยประโยคนี้ไปตลอดการเรียนสี่ปี กระทั่งทุกวันนี้เรียนจบมาสิบปีแล้วยังชอบฝันถึงประโยคนี้บ่อยๆ

    เอาจริง ตอนนั้นก็นอยด์นะครับ ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องเคี่ยวเข็ญเราเหลือเกิน เพื่อนคนอื่นเรียนได้เกรดดี (หมายถึงเกรดดีด๊อก ไม่ใช่เรียนเก่ง) พ่อแม่มันก็ไม่เห็นว่าอะไร ของผมนี่มีเกรดซีบวกโผล่มาหนึ่งตัวเหมือนโลกจะแตก แต่พออายุมากขึ้นก็เข้าใจว่าพ่อแม่เขาหวังดีกับเราแหละ เพียงแต่ผมเป็นลูกคนเดียว ความหวังดี (ปนกดดัน) ทุกอย่างเลยพุ่งมาที่ตัวเราทั้งหมด อย่างเพื่อนคนอื่นพ่อแม่อาจจะต้องแบ่งเวลาไปด่าน้องทีด่าพี่ที เลยยังเฉลี่ยการถูกด่ากันไป
  • อย่างไรก็ดี ฝั่งเพื่อนผมที่มีพี่น้องก็มักจะแย้งว่าเป็นลูกคนเดียวยังไงก็ดีกว่า เพราะไม่โดนเปรียบเทียบกับพี่น้องแน่ๆ จะดีจะห่วยยังไง พ่อแม่ก็รัก “ดูอย่างเราสิ พี่ๆ เรียนหมอกันหมด ถ้าเราเอนท์หมอไม่ติด พ่อแม่ด่าเราแน่ ฮือๆๆๆ” พอเพื่อนระบายมาขนาดนี้ก็ต้องปลอบใจกันไป ทั้งที่ในใจกำลังโวยวายว่า… “ไม่จริง” อีกนั่นแหละ เพราะหนึ่งในความสามารถพิเศษของพ่อแม่คือการเอาเราไปเปรียบเทียบกับลูกบ้านอื่น และ 99% ของลูกบ้านอื่นที่ถูกหยิบยกมามักทำให้เราต้องรู้สึกห่วยกว่าเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    บางทีก็เป็นคนใกล้ตัวอย่างลูกพี่ลูกน้องในตระกูลนี่แหละ “ดูน้องเอิร์ธสิ เขาอ่านหนังสือเรียนทุกวันเลยนะ”

    บางทีก็ลูกของเพื่อนแม่ “จำพี่เก่งได้มั้ย คนที่ขยันๆ น่ะ ติดวิศวะไปแล้วนะ”

    หรือบางทีก็ใครไม่รู้ “นี่ๆ ป้าประไพเขาเล่าให้ฟังว่าลูกเขามีเงินเก็บแปดแสนแล้วนะ” (นี่มึงทำอะไร ขายยาบ้าหรือเปล่า) ซึ่งผมยังงงอยู่เลยว่าป้าประไพนี่เป็นญาติฝั่งไหน หรือจริงๆ ไม่ใช่ญาติวะ

    และบางทีความเข้าใจผิดเรื่องลูกคนเดียวก็มาจากตัวผมเองด้วยนะครับ

    สมัยเด็กๆ ผมเคยคิดว่าเป็นลูกคนเดียวโคตรเจ๋ง มรดกทั้งหมดของพ่อแม่ตกเป็นของเราคนเดียวแน่นอน (นี่คิดเรื่องสมบัติตั้งแต่เด็กเลยเหรอเนี่ย) แต่พอโตจึงรู้ว่ามรดกบางอย่างก็มาพร้อมกับข้อแลกเปลี่ยน

    เพื่อนผมคนหนึ่ง เริ่มเป็นนักเขียนพร้อมๆ กัน ไส้แห้งมาด้วยกัน วันดีคืนดีพ่อบังคับให้เลิกเขียนหนังสือ เรียกตัวกลับไปรับช่วงโรงงานเหล็กที่บ้านเกิด ตอนจะไปมันก็โวยวายร่ำไห้ยกใหญ่ ตัดภาพไป สามเดือนถัดมามันโพสต์รูปพาแฟนไปเที่ยวยุโรป ใบหน้าเริงร่าสดใส อ้าว แล้วไอ้ที่เคยร่ำร้องนั่นคืออะไร อุดมการณ์ของมึงหายไปไหน! แต่พอได้คุยกัน มันก็บอกว่าไม่ชอบงานนี้เลย ฝืนใจทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เพราะเลี้ยงชีพได้ก็ต้องทำไป
  • อีกเคสหนึ่งที่จำได้แม่นคือลูกศิษย์ของผมเอง (เผื่อลืมไปแล้ว คันฉัตรเป็นอาจารย์พิเศษด้วยนะจ๊ะ) เป็นนักศึกษาปีสี่ที่กำลังทำไฟนอลโปรเจกต์ เด็กคนนี้ทำงานมาดีตลอด แต่อยู่ๆ ก็ดรอปเรียนไป เหล่าอาจารย์ตกใจกันมาก ถามไปถามมาได้ความว่าที่บ้านกิจการล้มละลาย ต้องดรอปเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะน้องเขาเป็นลูกคนเดียว

    แม้คนจะชอบคิดว่าลูกคนเดียวได้รับอะไรจากพ่อแม่เยอะกว่าคนที่มีพี่น้อง แต่ในกาลต่อมาไอ้ลูกคนนี้นี่แหละที่ต้องแบกภาระดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าแบบคนเดียวล้วนๆ ไม่มีใครช่วยแชร์ เห็นเพื่อนบางคนต้องคอยลางานไปเฝ้าแม่ที่โรงพยาบาล เพื่อนอีกคนพูดถึงขั้นว่า “กูจะตายก่อนพ่อแม่ไม่ได้เด็ดขาด เพราะกูเป็นลูกคนเดียว ถ้ากูไม่อยู่แล้วใครจะดูแล” (นี่มันเพิ่งบทแรกของหนังสือเองนะ ทำไมดราม่าจังวะ)

    แค่เรื่องพ่อแม่ตัวเองก็ชวนปวดกบาลแล้วใช่มั้ยครับ แต่ยังไม่จบแค่นั้น

    ถึงจะเป็นลูกคนเดียว มีพ่อแม่คนเดียว แต่ชาวลูกคนเดียวไม่ได้แปลว่าเป็น ‘หลานคนเดียว’ เพราะเราเป็นทั้งหลานปู่ หลานยาย หลานอา หลานน้า หลานลุง

    ใช่แล้ว ผมกำลังพูดถึงญาติๆ ผู้น่ารักนั่นเอง (เดาน้ำเสียงกันเองนะครับ)  

    ผมเคยพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่างานรวมญาติคือการสอบสัมภาษณ์ เพราะญาติๆ จะซัดกระหน่ำเราด้วยคำถามมากมาย เช่น “ตอนนี้ทำงานอะไร” “เงินเดือนเท่าไหร่” “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” “จะมีลูกตอนไหน” ฯลฯ ถ้าไม่เตรียมตัวไปดีๆ มีโอกาสจมกองคำถามตายคาที่ได้
  • ทีนี้ลูกคนเดียวซวยยังไง ก็ซวยเพราะตกเป็นเป้านิ่งน่ะสิ ถ้ามีพี่น้องยังพอมีคนแชร์ผู้สัมภาษณ์ เอ๊ย ญาติๆ ไปบ้าง แต่พอนั่งอยู่คนเดียวก็ถูกรุมเต็มๆ เลยจ้า แล้วบางทีพ่อแม่ก็ไม่ช่วยด้วยนะ เดินหนีไปไหนไม่รู้ หรือบางทีก็ร่วมแจมร่วมชงคำถามไปด้วยซะงั้น (ร้องไห้)

    ผมชอบพูดติดตลกว่าบางทีก่อนไปงานรวมญาติอยากจะพิมพ์เอกสารรวมคำถามคำตอบยอดฮิตเอาไว้เลย ไปถึงปุ๊บไม่ต้องถาม แจกเอกสารให้อ่านแทน ซึ่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งคิดว่าผมทำแบบนั้นจริงๆ นางเลยมาสอบถามถึงวิธีการ ผมก็ตอบไปว่า

    “พี่พูดเล่น พี่ไม่ได้ทำแบบนั้นหรอก มันจะทำร้ายจิตใจป้าๆ ลุงๆ เขาเกินไป จริงๆ เขาก็ถามด้วยความเป็นห่วงแหละ”

    “โห นี่ผิดคาดนะ แสดงว่าที่เขาบอกว่าลูกคนเดียวเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่แคร์ใคร ก็ไม่จริงน่ะสิ”

    “เปล่า กูกลัววืดมรดกตระกูล”

    “...........”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in