เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอปแจปแอปใจjustalazygurl
02_เคโกะเคใจ : ตอนนี้เรากำลังพูดสุภาพกับใครกันอยู่นะ?【敬語】
  • สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน!
    ยินดีต้อนรับเข้าที่เอ็นทรี่ที่สองของบล็อกแอปแจปแอปใจค่ะ ◡̈

    เชื่อว่าหลายคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นกันมาน่าจะเคยมีโมเมนต์ปวดหัวจี๊ดเวลาเรียนภาษาสุภาพ(敬語)กันมาบ้าง เพราะสิ่งที่ต้องจำมันช่างเยอะเสียเหลือเกินใช่มั้ยล่ะคะ ลำพังแค่จำกริยารูปพิเศษก็กินพื้นที่สมองจะแย่แล้ว จนอาจจะกลายเป็นว่าจำการผันกริยา จำคำศัพท์ได้ แต่ดันไม่เข้าใจหลักการใช้ ว่าสุดท้ายแล้วพวกคำเหล่านี้มันใช้เวลาพูดกับใครกันบ้างนะ 😢
    เราเองกว่าจะเข้าใจและใช้ได้ถูกต้องมากขึ้นก็ต้องผ่านการเรียนมาหลายต่อหลายรอบเลยแหละค่ะ วันนี้เราเลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของภาษาสุภาพที่(หวังว่า)อาจจะช่วยให้เข้าใจกันได้ง่ายมากกว่าเดิมค่ะ 🤍

    โดยปกติแล้ว เราจะได้เรียนกันมาว่า 敬語 ในภาษาญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    • 尊敬語(คำยกย่อง)
    • 謙譲語(คำถ่อมตน)
    • 丁寧語(คำสุภาพ)
    ใช่ไหมล่ะคะ แต่พอแบ่งย่อยออกมาแค่แบบนี้เนี่ย บางทีก็อาจจะทำให้เราสับสนได้ว่า เอ๊ะ สมมติถ้าเราอยากจะพูดถึงอาจารย์ตอนที่คุยกับเพื่อนเนี่ย เราจำเป็นต้องใช้รูปยกย่องมั้ยนะ ถึงเราอยากจะยกย่องอาจารย์ แต่ปกติเราก็ไม่ได้คุยกันแบบสุภาพกับเพื่อนนี่นา?

    วันนี้เราเลยอยากจะมาแนะนำการแบ่งประเภทของ 敬語 อีกรูปแบบหนึ่งที่อาจจะช่วยคลายความสับสนลงได้ค่ะ! เพราะจะเป็นการแบ่งหมวดใหญ่ ๆ ตามผู้ที่เป็นปลายทางของความสุภาพนั้นนั่นเอง
    ที่มาภาพ : https://jn1et.com/5-keigo/

    จากในตารางด้านบนนี้ จะเห็นได้ว่าจะมีการแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ แล้วค่อยแบ่งออกมาเป็น 5 ประเภทย่อยอีกทีค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

    1. 素材敬語(話題敬語):ภาษาสุภาพที่ใช้เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่กล่าวถึง (ผู้ที่เราแสดงความสุภาพต่อในที่นี้อาจจะเป็นหรือไม่ได้เป็นผู้ฟังก็ได้)

      1.1 尊敬語 :ภาษายกย่องหรือให้เกียรติการกระทำของคู่สนทนาหรือผู้ที่กล่าวถึง เช่น いらっしゃる、おっしゃる、なさる、召し上がる、お・ごOOOになる

      1.2 謙譲語 I :ภาษาที่ใช้ถ่อมตัวเมื่อพูดถึงการกระทำของตนเอง หรือบุคคลในกลุ่มของตนเองต่ออีกฝ่ายซึ่งเป็นปลายทางของการกระทำนั้น เช่น 伺う、拝見する、申し上げる、存じ上げる、お・ごOOOする

    2. 対処敬語(対話敬語):ภาษาสุภาพที่ใช้เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ฟังโดยตรง (ผู้ที่เราแสดงความสุภาพต่อในที่นี้จะต้องเป็นผู้ฟังเท่านั้น)

      2.1 謙譲語 II(丁重語):ภาษาที่ใช้ถ่อมการกระทำของตนเองต่ออีกฝ่ายซึ่งเป็นผู้ฟัง เช่น 申す、いたす、存じる、参る、おる

      2.2 丁寧語 :ภาษาที่แสดงความสุภาพต่อผู้ฟังโดยตรง ได้แก่ รูป です・ます・ございます

      2.3 美化語 :คำศัพท์ที่ใส่ お・ご เพื่อแสดงออกถึงความสุภาพต่อผู้ฟัง เช่น お料理、お買い物、お電話 (แต่บางคำก็อาจกลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นคำคำนึงโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความสุภาพแล้ว เช่น ごはん、お土産、お冷 เป็นต้น)

    จะเห็นได้ว่า หลักสำคัญของการแบ่งประเภทแบบนี้คือการทำความเข้าใจก่อนว่า "ความสุภาพ" ที่เราแสดงออกไปนั้นเป็นการแสดงความสุภาพต่อ "ใคร" นั่นเองค่ะ
    ทริคง่าย ๆ ก็คืออยากให้ทุกคนแยกผู้ที่อยู่ในบทสนทนาและผู้ฟังออกจากกันให้ได้ และพิจารณาการใช้ 敬語 โดยแบ่งออกเป็นการเลือกใช้ 尊敬形・謙譲形 ให้ถูกตามผู้ที่อยู่ในบทสนทนา และเลือกใช้ 普通形・丁寧形 ตามผู้ฟังค่ะ พูดแบบนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ งั้นเรามาลองดูตัวอย่างไปพร้อม ๆ กันนะ!

    例1:ถามอาจารย์ว่าอาจารย์ทานข้าวกลางวันหรือยัง ในที่นี้ ผู้ที่กระทำกริยา "ทาน" คือ "อาจารย์" ดังนั้นต้องใช้รูป 尊敬 และผู้ที่เป็น "ผู้ฟัง" ก็คือ "อาจารย์" จึงต้องใช้รูป 丁寧 จึงจะได้ออกมาเป็น「先生はもう昼食を召し上がりましたか?」

    กรณีข้างต้นจะเป็นกรณีที่ผู้กระทำกริยาในประโยคและผู้ฟังคือบุคคลเดียวกัน งั้นต่อไปเราจะมาดูประโยคที่ผู้กระทำกริยาในประโยคและผู้ฟังเป็นคนละคนกันบ้างนะคะ

    例2:ถามอาจารย์ทานากะว่าอาจารย์นากามุระทานข้าวกลางวันหรือยัง ในที่นี้ ผู้ที่กระทำกริยา "ทาน" คือ "อาจารย์นากามุระ" ดังนั้นต้องใช้รูป 尊敬 และผู้ที่เป็น "ผู้ฟัง" คือ "อาจารย์ทานากะ" แม้กรณีนี้ผู้ฟังจะไม่ใช่คนเดียวกันกับประธานของประโยค แต่ก็เป็นอาจารย์เช่นกัน จึงต้องใช้รูป 丁寧 จึงจะได้ออกมาเป็น「田中先生、中村先生はもう昼食を召し上がりましたか?」

    ทีนี้เรามาลองดูอีกสักตัวอย่างกันนะคะ!

    例3:ถามเพื่อนที่ชื่อเคนตะว่าอาจารย์นากามุระทานข้าวกลางวันหรือยัง ในที่นี้ ผู้ที่กระทำกริยา "ทาน" คือ "อาจารย์นากามุระ" ดังนั้นต้องใช้รูป 尊敬 แต่ผู้ที่เป็น "ผู้ฟัง" คือ "เพื่อน" จึงสามารถใช้รูป 普通 ได้ จึงจะได้ออกมาเป็น「ケンタ、中村先生はもう昼食を召し上がった?」

    ประมาณนี้เลยค่ะ ◡̈

    และก็น่าจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมในที่นี้เขาจึงมีการแบ่งภาษาถ่อมตัวออกเป็น 2 ประเภท นั่นก็เป็นเพราะว่าบรรดาคำในภาษาถ่อมตัวประเภทที่ 1 ล้วนแต่เป็นคำที่ต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับกริยานั้นโดยตรงทั้งนั้นเลย อย่าง 伺う เวลาจะเอาไปแต่งประโยคก็ต้องมีฝ่ายตรงข้าม ว่าเราถามใคร เยี่ยมใคร พบใคร เช่น 先生に伺う หรือ 申し上げる ซึ่งจะต้องเป็นการพูดกับใครสักคน เช่น 先生に申し上げる
    ในขณะที่ภาษาถ่อมตัวประเภทที่ 2 จะเป็นคำที่ไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับกริยานั้นโดยตรงเลยค่ะ เช่น กริยา 申す แม้จะแปลว่าพูดเหมือนกัน แต่จะหมายถึงการพูดของเราเฉย ๆ ไม่ได้พูดกับใครค่ะ (งงไหมนะ) ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คงจะเป็นสถานการณ์แนะนำตัวอย่างประโยค 田中と申します ค่ะ ในที่นี้เป็นการแนะนำว่าตนเองชื่อทานากะ ซึ่งในประโยคไม่ได้มีบุคคลใดมาปรากฏตัวนอกจากชื่อของเราเลย ผู้ที่เป็นคู่สนทนาของเราในที่นี้จะเป็นใครที่ไหนไม่ได้นอกจากผู้ฟัง นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า การถ่อมตนในที่นี้เป็นการถ่อมตนที่แสดงออกเพื่อผู้ฟังเท่านั้น คำในประเภทที่ 2 นี้จึงจะสามารถใช้ได้ในรูปที่ผัน ます แล้วเท่านั้นค่ะ (ถ้าเผลอพูดแบบ 普通形 ไปจะกลายเป็นภาษานินจาเอานะ!)
    「せっしゃハットリカンゾウと申す!」
    ที่มาภาพ : https://www.tv-asahi.co.jp/ch/contents/anime/0016/
    สำหรับเอ็นทรี่ที่ 2 ก็ขอจบไว้เท่านี้นะคะ! จริง ๆ แล้วรอบนี้รู้สึกว่ายังเขียนได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เป็นหัวข้อที่อยากจะมาแชร์มากเลยค่ะในฐานะคนที่เคยสับสนเรื่องนี้มาก่อน 🥹 ยังไงหากมีข้อผิดพลาดประการใด หรืออธิบายได้ไม่ชัดเจนตรงไหนก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ㅠㅠ สามารถติชมในคอมเมนต์ได้เสมอเลยค่ะ 🙏🏻🤍

    แล้วพบกันใหม่ค่ะ ◡̈

    แหล่งอ้างอิง :
    กนกวรรณ เลาหบูรณะกิจ คะตะกิริ. (2550). ก้าวไกลไปกับภาษาญี่ปุ่น (เล่ม 2) (พิมพ์ครั้งที่ 3, 1000 เล่ม). กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    日本語教師のN1et(2022/07/29)「敬語5分類と敬語の作り方、二重敬語について」〈https://jn1et.com/5-keigo/〉(参照2023/02/20)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Sodasado (@Sodasado)
อธิบายละเอียดมากๆๆ เลยค่ะ เคโกะญี่ปุ่นนี่เรียนแล้วก็ปวดหัวเลย🥲
k.l.k (@k.l.k)
อธิบายได้ละเอียดมาก มีตัวอย่างด้วย ภาษาญี่ปุ่นต้องคอยคิดว่า สุภาพต่อ "ใคร" มีมากกว่าหนึ่งระดับ (ปวดหัวแท้)