หลังจากผ่านช่วงการเรียนอย่างหนักหน่วง น้อง ๆ มัธยมปลายหลายคนอาจจะกำลังเริ่มมองหาสาขาหรือคณะที่สนใจ สำหรับนักเรียนสายศิลป์อย่างเรา ๆ นั้น ภาษาอังกฤษคงเป็นหนึ่งในวิชาที่เราอยากนำมาต่อยอดในอนาคต เวลาพูดถึงสาขาเรียนต่อ หลายคนคิดถึง "เอกภาษาอังกฤษ" ซึ่งแน่นอนว่าสาขาวิชานี้มักจะอยู่ใน คณะมนุษย์ศาสตร์ หรือ คณะศิลปศาสตร์ โดยสาขานี้จะมุ่งเน้นในการเรียนเกี่ยวกับทักษะทางด้านภาษาอังกฤษรอบด้าน แต่ เมื่อลองไล่ดูรายชื่อสาขาวิชาในคณะศิลปศาสตร์ดูแล้ว กลับเห็นสาขาวิชาที่บางคนอาจรู้สึกไม่คุ้นเคย หรืออาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต ซึ่งก็คือ "สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ"
สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้อ่าน เขียน วิเคราะห์ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้นหรืออาจารย์ประจำวิชา นักศึกษาภาษาวรรณ (เรียกแบบย่อ) จะได้ฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ผ่านการศึกษาตัวบทวรรณกรรมฉบับภาษาอังกฤษจากทุกยุคทุกสมัย และจากนักเขียนมากมายทั่วโลก ในทุก ๆ สัปดาห์ นักศึกษาภาษาวรรณจะได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำวิชาให้อ่านนิยาย กลอน เรื่องสั้น หรือ งานเขียนอื่น ๆ และนำมาอภิปรายกับเพื่อนรวมชั้นและอาจารย์ว่า เราเจอประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือเตะตาเราจากตัวบทเรื่องนี้บ้าง มากไปกว่านั้น นักศึกษาจะมีโอกาสได้เขียนงานวิชาการหรือที่เด็กเอกเรียกสั้น ๆ ว่า "เปเปอร์" ซึ่งตัวเปเปอร์นี้ก็คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็นหรือไอเดียที่เรามีต่อตัวบทนั้น ๆ ให้แก่อาจารย์ได้รับรู้
จากที่เล่าเมื่อสักครู่ ดูแบบผิวเผินแล้ว การเรียนภาษาวรรณดูวิชาการและดูเยอะไปหมด แต่ทว่า ความสนุกและตื่นเต้นก็ยังคงปรากฏอยู่ในการเรียนการสอนอยู่บ้าง เมื่อเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 อาจารย์จะปราณีนักศึกษาตัวน้อย ๆ อย่างเรา ๆ ด้วยการให้เรียนวิชาเอกแค่ 1 วิชา ต่อภาคการศึกษา ซึ่งนักศึกษาปี 1 จะได้เรียนวิชา LT200 Literary Reading และ LT203 Bible and Classical Mythology ซึ่งถือว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างปูพื้นฐานความรู้ด้านวรรณกรรมอยู่พอสมควร LT200 เป็นวิชาที่จะพานักศึกษาไปเปิดโลกกับการอ่านวรรณกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น กลอน นวนิยาย หรือ บทละคร วิชานี้จะค่อนข้างเน้นไปทางปูพื้นฐานให้นักศึกษาคุ้นชินกับการอ่านตัวบท และคุ้นเคยกับการเขียนไอเดียที่ได้จากตัวบทนั้น ๆ ส่วนทางด้าน LT203 จะมีลักษณะคล้าย ๆ วิชาประวัติศาสตร์ แต่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับตำนานเทพกรีกและคัมภีร์ไบเบิลแทน ว่าทั้งสองสิ่งนี้มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง ทั้งสองวิชานี้เรียกได้เป็นวิชาอ่อยเหยื่อที่แท้ทรู เพราะว่า ระดับความยากค่อนข้างต่ำ เน้นเสพคอนเทนต์จากตัวบทต่าง ๆ บางคนสนใจตำนานกรีกอะไรเทือกนั้น ก็จะรู้สึกว้าวเป็นพิเศษ
หลังจากจบปี 1 เด็กภาษาวรรณก็จะได้ก้าวเท้าเข้าสู่โลกแห่งความจริงที่แสนจะโหดร้าย (เกินไปมั้ง?) จริง ๆ ก็คือ เด็กภาษาวรรณจะได้เรียนวิชาเอกต่าง ๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็น
วิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก และ วิชาเลือก (สามารถคลิกเพื่อดูรายละเอียดวิชาต่าง ๆ ได้) นักศึกษาภาษาวรรณจะได้เรียนทั้งวิชาอ่านและวิชาเขียนควบคู่ไปด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในบางภาคการศึกษา อาจจะมีการเปิดสอนวิชา วรรณกรรมเด็กและเยาวชน วรรณกรรมดิสโทเปีย การแปลภาพยนตร์ (ได้ทำซับไตเติลด้วยนะ) และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนทางด้านการเขียน ก็จะมีวิชา LT291 LT292 LT391 LT392 ทั้งหมด 4 ตัว เป็นวิชาบังคับที่จะส่งเสริมให้ตัวนักศึกษาได้ฝึกเขียนเปเปอร์ในหลายรูปแบบ อาทิ งานวิชาการ งานเขียนรีวิว เป็นต้น เรียกได้ว่าเรียนกันอย่างเข้มข้นกันเลยทีเดียว
คำถามที่ว่า ถ้าไม่ได้เป็นคนชอบอ่านนิยายภาษาอังกฤษมาตั้งแต่แรก จะเรียนไหวหรือเปล่า เป็นคำถามที่พบได้บ่อยที่สุดเวลาพูดถึงเอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ส่วนคำตอบนั้นก็คือ "ไหวค่ะ ถ้าเรารักและอยากเรียนจริง ๆ" การที่ไม่เคยหรือไม่ชอบอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษในตอนที่เรียนมัธยมนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการเรียนเอกนี้เท่าไหร่ เพราะ อุปสรรคที่แท้จริงคือ "การอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้" การเข้าเรียนเอกภาษาวรรณนั้น ตัวนักศึกษาจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ เนื่องจากตัวบททุกตัวที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ จะไม่มีการมานั่งแปลให้ฟังอย่างแน่นอน ส่วนการที่ไม่เคยลองอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแบบจริง ๆ จัง ๆ มาก่อนนั้น ถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะว่า เราสามารถเริ่มต้นลองสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ ตัวผู้เขียนเองจบจากโรงเรียนรัฐบาลในต่างจังหวัดที่ไม่เคยสอนหรือมอบหมายให้นักเรียนอ่านนิยายภาษาอังกฤษมาก่อน และส่งผลให้ตัวผู้เขียนไม่มีความสนใจในการอ่านนิยายภาษาอังกฤษ ทว่า ตัวผู้เขียนจับพลัดจับผลูได้มาเรียนเอกนี้ จึงได้เริ่มลองอ่านนิยายภาษาอังกฤษ จนถึงทุกวันนี้ ก็ดันหลงรักเสน่ห์ของวรรณกรรมต่าง ๆ ไปแล้ว
โดยส่วนตัวสำหรับเราแล้วนั้น สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษเรียกได้ว่าเป็นสาขาที่ค่อนข้าง "โหดแต่น่าค้นหา" คำว่า "โหด" ในที่นี้คือ บางครั้งเราจำเป็นต้องมีความพร้อมในการคิดวิเคราะห์และความพร้อมในการอ่านตัวบทอยู่เสมอ ยิ่งเรียนวิชาเอกเยอะเท่าไหร่ เราก็ต้องอ่านเยอะเท่านั้น แต่ถามว่ามันสนุกไหม ต้องขอตอบว่าสนุกใช้ได้เลย ตัวบทบางอันอาจจะน่าเบื่อสำหรับเรา แต่อาจจะสนุกสำหรับเพื่อนเราก็เป็นได้ อีกทั้งเรายังต้องคิดค้นงานเขียนใหม่ ๆ ที่เราตกผลึกได้จากการอ่านวรรณกรรมนั้น ๆ เพื่อส่งให้อาจารย์อ่าน ซึ่งบางทีถ้าเราเป็นคนเกลียดการเขียนอะไรยาว ๆ เราอาจจะรู้สึกท้อแท้ได้ ส่วนคำว่า "น่าค้นหา" ในที่นี้ เราหมายความว่า ตัวสาขาวรรณคดีอังกฤษมีวิชาที่น่าค้นหาจำนวนมากมายมหาศาล ไม่ว่าคุณจะสนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษ เรียกได้ว่า อาจจะมีวิชาที่คุณสนใจรออยู่ อย่างเช่น เราเป็นคนที่บ้าคลั่งกับภาพยนตร์ดิสโทเปียมาก ๆ และสาขานี้ก็ดันมีวิชา วรรณกรรมดิสโทเปียให้เรียนซะด้วย
สุดท้ายและท้ายสุด อยากจะบอกว่า ถ้าเราค้นพบตัวเองว่า ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ หรือ เริ่มจะสนใจการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ รวมไปถึงเป็นคนชอบสรรสร้างงานเขียนใหม่ ๆ เช่น ชอบเขียนบทวิเคราะห์ เขียนคอนเทนต์ หรือเขียนรีวิว อย่ามัวรอช้าอยู่ใย รีบมาสมัครเข้าเรียนสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษกันเร้วววว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in