การจัดแบ่งห้องเรียนตอน ป.5 คัดลอกโครงสร้างเก่าของเมื่อปีการศึกษาก่อนมาหมดทุกประการ ผมจึงยังอยู่ห้อง 1 ส่วนวรรณอยู่ห้อง 2 เหมือนเดิม
แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ก็คือ วรรณตัวสูงกว่าผมชัดเจนขึ้น
เราสองคนไม่ใช่เด็กชายหญิงที่ตัวเท่าๆ กันอีกต่อไป
ทุกเช้า เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ นักเรียน ป.5 ทั้งสี่ห้องจะถูกจัดให้ยืนเข้าแถวแนวหน้ากระดาน ซึ่งแบ่งซอยออกเป็น 8 แถว
เริ่มจากแถวหน้าสุดของนักเรียนหญิงห้อง 1, แถวของนักเรียนชายห้อง 1, แถวของนักเรียนหญิงห้อง 2, แถวของนักเรียนชายห้อง 2, ... เรื่อยไปจนถึงแถวหลังสุดของนักเรียนชายห้อง 4
โดยผู้ยืนเป็นหัว ณ ด้านขวาสุดของแต่ละแถว จะเป็นเด็กชาย-หญิงที่ตัวสูงที่สุดของแต่ละห้อง
ตรงบริเวณที่พวกเราเด็ก ป.5 ยืนเข้าแถวกันนั้น มีสภาพเป็นถนนหินผสมปูนขรุขระไม่สม่ำเสมอ ซึ่งค่อยๆ ลาดเอียงจากพื้นที่สูงด้านหลังลงมายังพื้นที่ต่ำด้านหน้า
ด้วยเหตุนี้ พวกเพื่อนๆ ห้อง 4 จึงยืนอยู่ตรงชัยภูมิ “สูงสุด” ส่วนห้อง 1 ยืนอยู่ตรงพื้นที่ “ต่ำสุด”
จากรูปแบบการเข้าแถวดังกล่าว ทำให้ผมในฐานะนักเรียนชายที่ตัวสูงที่สุดของห้อง 1 ต้องยืนอยู่ด้านหน้าของแป้งกับวรรณ สองนักเรียนหญิงที่ตัวสูงที่สุดของห้อง 2
ขณะนั้น แป้งกับวรรณตัวสูงเท่าๆ กัน คือ สูงกว่าผมราว 3 เซนติเมตรเห็นจะได้ พวกเธอจึงสลับกันยืนเป็นหัวแถว โดยไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว
ทั้งแป้งและวรรณที่ประจำการอยู่ตรงหัวแถวของนักเรียนหญิงห้อง 2 ต่างยืนสูงตระหง่าน ประหนึ่งนางยักษ์สองตน ซึ่งปักหลักอยู่ ณ เบื้องหลังผม
ยิ่งเมื่อผมต้องยืนอยู่บนพื้นที่ที่ “ต่ำกว่า” พวกเธอ จุดสูงสุดบนศีรษะของผม จึงน่าจะอยู่ระดับเดียวกับดวงตาของแป้งและวรรณเท่านั้น
แม้เรื่องตำแหน่งการยืนบนพื้นถนนที่ลาดเอียงจากสูงลงมาต่ำ แถมยังไม่เสมอกัน จะเป็นปัจจัยหนึ่งอันนำไปสู่ภาพลักษณ์ต่ำเตี้ยเช่นนั้นของผม
ทว่า การมีส่วนสูงน้อยกว่าพวกเธอทั้งสองอย่างไม่อาจเทียบเคียงได้อยู่เป็นทุนเดิม ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการ ซึ่งต้องยอมรับโดยดุษณีเช่นกัน
ความรู้สึกเจ็บใจที่ต้องมายืนเข้าแถวด้านหน้าวรรณกับแป้งบังเกิดขึ้น เมื่อในเช้าวันหนึ่ง อดีตครูประจำชั้นตอน ป.2 ซึ่งโยกมาเป็นครูประจำชั้นห้อง 5/2 สังเกตเห็นว่าบริเวณศีรษะด้านหลังของผมมีขี้รังแคปื้นใหญ่พร้อมผื่นแดงปรากฏอยู่
คุณครูเอามือมาลูบรอยตำหนิดังกล่าว แล้วถามความเห็นจากวรรณและแป้งว่า “เธอสองคนเห็นผื่นแดงบนหัวเพื่อนไหม?”
สองสาวร่างสูงไม่เพียงตอบรับว่าเห็น แต่พวกเธอดันเอามือมาลูบสำรวจมันตามอย่างครู แถมวรรณยังใช้มือยาวๆ ของเธอ ลูบศีรษะส่วนบนของผมด้วยความเอ็นดู ราวกับผู้ใหญ่ที่ตัวสูงกว่ากำลังให้ความเมตตาแก่เด็กน้อยที่ตัวเล็กกว่า
นั่นกลายเป็น “บาดแผล” ที่อักเสบระบมในใจผม พร้อมกับคำถามว่าทำไมตนเองจึงเตี้ยกว่าวรรณ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน เราเคยตัวสูงเท่าๆ กัน และผมเคยตัวสูงแซงหน้าเธอในช่วงเวลาสั้นๆ ด้วยซ้ำ
แม้ครูหลายคน รวมถึงแม่ของผม (ซึ่งเคยตำหนิผม ตอนเริ่มตัวเตี้ยกว่าวรรณเมื่อครั้งเรียน ป.4) จะพยายามอธิบายว่าการเจริญเติบโตอันก้าวกระโดดของวรรณถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในช่วงอายุ 10-13 ปี เด็กผู้หญิงมักจะสูงเร็วกว่าเด็กผู้ชายอยู่แล้ว
แต่ผมยังอดไม่ได้ที่จะนึกตำหนิตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in