ในเมื่อชีวิตมีแต่การเรียนรู้ ขั้นต่อไปของการเรียนก็คือ การสอบเข้ามหาลัย
สวัสดีค่ะ เราเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ได้ใช้ระบบ TCAS ที่ถูกพัฒนาจากระบบสอบแบบเดิมเป็นรุ่นแรก และก็เป็น 'รุ่นหนูทดลอง' วันนี้จะมารีวิวการสอบ(ที่โชกโชน+มาราธอน)ที่ผ่านมาค่ะว่าเป็นยังไงบ้าง โดยโพสท์นี้จะรีวิวเกี่ยวกับข้อสอบเท่าที่จำได้นะคะ
ตอนที่กำลังเขียนนี้คะแนนก็ได้ออกมาเรียบร้อยหมดแล้วค่ะ ส่วนเรื่องระยะเวลาการจัดสอบ ก็อย่างที่ทราบกันว่าการสอบต่างๆ นั้นกระชั้นกระชิดมาก พอได้สัมผัสด้วยตัวเองแล้วก็ต้องขอยืนยันอีกเสียงค่ะว่ามันจริง ถึงจะไม่ได้สอบอาทิตย์ติดอาทิตย์ก็ตาม แต่ความเหนื่อยก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ เรียงตามลำดับไทม์ไลน์คือ แกทแพทจัดสอบช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และต่อมาก็เป็นโอเน็ตและ 9 วิชาสามัญในเดือนถัดมาค่ะ อาจจะต้องขอบคุณคนจัดการสอบอยู่บ้างที่ยังปราณีไม่จัดสอบอาทิตย์ถัดไปเลย อุตส่าห์ทิ้งระยะให้อ่านหนังสือประมาณ 2 อาทิตย์แน่ะ เหอะๆ
ถึงจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเพราะโต้รุ่งทุกวัน... คิดๆ ดูแล้วก็นอนน้อยมาประมาณหนึ่งเดือนกว่าๆ แต่สิ่งที่อยากแนะนำน้องๆ ที่หลงเข้ามาอ่านก็คือ ให้เปิดใจกับวิชาที่ไม่ชอบ กฎก็คือ ใครเปิดใจได้ไวกว่า คนนั้นชนะ อีกอย่างก็คือ ให้อ่านหนังสือบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อ่านล่วงหน้าและอ่านซ้ำๆ ยิ่งดีค่ะ
เนื้อหาข้อสอบเท่าที่จำได้
GAT (215.83/300)
GAT ENG: ไม่ยากเลย อาจจะมีศัพท์บางตัวที่แปลไม่ออก แต่ถ้าแปลประโยคได้ ก็พอจะรู้ว่าคำตอบคือข้อไหน แกรมมาร์ก็ไม่ออกยากเลย เหมือนออกข้อสอบให้เด็กม.ต้นทำซะมากกว่า แนะนำให้อ่าน synonym ไปบ้างก็ดีค่ะ
GAT TH: (ตกม้าตายตรงนี้) ฝึกทำแกทเชื่อมเยอะๆ ค่ะ มันง่ายนะแต่ตัวหลอกมันเยอะมาก ต้องใช้เวลาตีความดีๆ เราพลาดภาษาไทยแหละ แต่ไม่เสียใจเพราะถึงอ่านมาก็คงไม่ได้มากกว่านี้
PAT 7.3 (147/300)
แนะนำให้อ่านแกรมมาร์ไปเยอะๆ ค่ะ หนังสือที่เราอ่านคือ みんなの日本語 อ่านให้จบทั้ง 4 เล่มเลยนะคะ เพราะบางข้อก็ใช้แกรมมาร์เล่ม 4 คะแนน้อยไปหน่อยแต่ไม่ซีเรียสเพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว สอบเผื่อไปเฉยๆ ค่ะ
O-NET (คะแนนเต็มวิชาละ 100 รวม 500)
ไทย: เราเทค่ะ แต่ก็ผ่านครึ่งอยู่นะ 60 กว่าๆ รู้สึกว่าข้อสอบจะแกงโฮะ ส่วนตัวคิดว่ายากกว่า 9 วิชาสามัญนิดหน่อย
สังคม: ข้อสอบออกกว้างมาก แต่สังคมของโอเน็ตก็ยังใจดีกว่า 9 วิชาสามัญมากค่ะ ส่วนใหญ่เน้นความเข้าใจมากกว่าจำ (ข่าวดีสำหรับคนไม่ถนัดวิชาพระพุทธฯ) ภูมิศาสตร์ออกไม่เยอะเท่าไหร่ รู้สึกว่าน้อยกว่าพาร์ทอื่นมาก ประวัติศาสตร์ออกเยอะเหมือนกัน มีถามกวีคนสำคัญของยุคกลางด้วย ซึ่งเราไม่ได้เรียนในห้องมาค่ะ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องสงครามโลก ผลกระทบของสงคราม องค์กรที่เกิดขึ้นหลังสงคราม แล้วก็มาตรการที่ใช้กับปัญหานั้นๆ เศรษฐศาสตร์ก็ออกตรงตัวเลย พวกอุปสงค์อุปทาน มาตรการที่จะใช้ตอนเกิดเงินฝืด/เงินเฟ้อคืออะไร เราได้ 40 กว่าๆ น่าจะ 43-44 ใครที่โต้รุ่งไปสอบก็ดื่มชาหรือกาแฟไปก็ดีนะคะ จะได้ไม่หลับหรือง่วงระหว่างทำข้อสอบ เพราะข้อสอบเยอะมากก 90 ข้อแน่ะ
คณิต: มี 40 ข้อ/2 ชม. ที่ออกเน้นๆ ก็มีเรื่องสถิติ (แจกแจงความถี่กับไม่แจกแจงความถี่) เลขยกกำลัง Absolute (อันนี้ถามตรงตัวเลย อารมณ์เหมือน 1+8 ได้เท่าไหร่) อนุกรมเลขคณิต ความน่าจะเป็น เราได้ 40 กว่าๆ ค่ะ
อังกฤษ: ง่ายอยู่นะ เหมือนออกข้อสอบให้เด็กม.ต้นทำ แกรมมาร์ก็ไม่ยาก แต่ศัพท์จะแอดวานซ์กว่าแกทนิดนึง แอบงงเหมือนกันเพราะปกติแล้วแกทอิ้งต้องยากกว่า สงสัยเพราะเปลี่ยนระบบ เราได้ 87 ไม่ก็ 88 นี่แหละค่ะ
วิทย์: ไม่มีอะไรจะรีวิวเพราะเข้าไปมั่ว 100% ค่ะ ได้ 25 กว่าๆ 555555
9 วิชาสามัญ (คะแนนเต็มวิชาละ 100 แล้วแต่ว่าจะลงวิชาไหนบ้าง ทั้งนี้ก็ดูเกณฑ์คณะและแต่ละมหาลัยด้วยนะคะ)
ไทย: ไม่ยากเลยค่ะ และแน่นอนว่าเราเท ข้อสอบก็จะเป็นแนวให้อ่านแบบคิดวิเคราะห์มากกว่า (ชอบมาก) มักจะถามจุดประสงค์ของเนื้อความนั้นๆ ค่ะ อ่านเยอะนะ แต่ไม่เท่าภาษาอังกฤษ เราได้ 72 ค่ะ
สังคม: แทบไม่ออกที่เรียนไปตอนม.ปลายเลยค่ะ เราเรียนเนื้อหาที่ออกข้อสอบของโอเน็ตอะค่ะ พวกสงครามโลก1+2+เย็น ยุคกลางอะไรแบบนี้ ถ้าคิดว่าโอเน็ตออกกว้างแล้ว 9 วิชาออกกว้างกว่านั้น 10 เท่าค่ะ เศรษฐศาสตร์ก็ออกยากพอตัว ท้าเซียนตรงเน้นความเข้าใจ เพราะว่าข้อสอบออกกว้างมากๆ เราออกห้องสอบมาแทบจะร้องไห้เลยค่ะ ทั้งโมโหทั้งหงุดหงิด ได้ 38 เองค่ะ
คณิต: คณิต...จำไม่ได้เลยค่ะ ก็มียากบ้างง่ายบ้างปนกันไป เนื้อหาที่สอบก็ออกคล้ายๆ ของโอเน็ตเลย แต่ยากกว่านิดนึง ใครที่เรียนสายศิลป์หรือไม่ถนัดวิชานี้ก็ต้องขยันหน่อยนะคะ เราได้ 54 ค่ะ จากเด็กสายศิลป์ที่นั่งอ่านคณิตเอง 5555
อังกฤษ: วิชาที่อ่านเยอะที่สุด บทความยาวที่สุด ฉะนั้นถ้าได้ยินรุ่นพี่คนไหนบอกว่าบทความยาวเป็นหน้าๆ นั้นเป็นเรื่องจริงค่ะ แถมยังวิชาที่เราออกห้องสอบมาแล้วได้ยินหลายๆ คนบ่นว่าทำไม่ทันกันเยอะมาก ส่วนตัวเราทำเกือบไม่ทันค่ะ มามั่นใจทุกคำตอบตอนมีประกาศว่าเหลืออีก 5 นาที เราได้ 78.75 ค่ะ
วิทย์: วิชานี้เราได้ 44 ค่ะ ไม่ถนัดเลย เราอ่านหนังสือของสสวท.ค่ะ เล่มบางๆ ที่เป็นสีแล้วก็มีทั้งหมดประมาณ 3-4 เล่มสำหรับเนื้อหาของม.ปลาย ใครทำเล่มไหนหายก็สามารถอ่านออนไลน์ได้นะคะ ทางสสวท.มี e-book อยู่ค่ะ
จบไปแล้วนะคะสำหรับรีวิว เขียนตั้งแต่ช่วงสอบเสร็จแรกๆ แล้วแต่เพิ่งเห็นว่ายังไม่ได้ publish โพสต์เลย แฮ่ๆ น้องๆ คนไหนที่ได้ใช้ระบบนี้ก็ขอให้สู้ๆ นะคะ ไม่รู้เหมือนกันว่าระบบแบบนี้มีประโยชน์ยังไง จะลดค่าใช้จ่ายก็เหมือนจะไม่จริงด้วยซ้ำเพราะค่าสอบแต่ละวิชาก็แพงเอาการอยู่ มีผู้ใหญ่แอบเม้ามาว่าเปลี่ยนระบบเพื่อคนส่วนน้อยด้วย ไหนจะตัดโอกาสเด็กอีกต่างหาก ใครเก่งก็ควรจะมีสิทธิ์มากกว่าเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ใครพยายามมากกว่าก็สมควรได้มากกว่า แค่ตัดชื่อซ้ำออกไปจากระบบก็คงไม่ยากขนาดนั้นมั้ง?.... ท้อได้แต่ตายไม่ได้นะคะ น้องม.6 สู้ๆ ค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in