สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ในบล็อกที่แล้วเราได้พูดถึงนิยามของภาษาเด็กและหยิบยกภาษาเด็กที่เจอในเรื่อง Ponyo มาให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกับภาษาเด็กกันไปบ้างแล้ว ครั้งนี้เราจะมาดูภาษาเด็กในแอนิเมชันเรื่องอื่น ๆ ของสตูดิโอจิบลิกันว่าจะเจอตัวอย่างไหนอีกบ้างค่ะ
ในเรื่อง Spirited Away นอกจากจะเจอการพูดคำว่า えんがちょ ของลุงคามาจิที่เดิมทีเป็นคำที่เด็ก ๆ ใช้เล่นเพื่อชำระล้างหรือป้องกันสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์กันแล้ว ในเรื่องยังมีน้องโบหรือทารกร่างยักษ์ที่นับเป็นอีกหนึ่งตัวละครเด็กอยู่ด้วย โดยน้องโบก็ได้พูดคำศัพท์ภาษาเด็กเช่นกัน นั่นคือคำว่าおんも ที่แปลว่า ข้างนอก อีกทั้งยังมียูบาบะที่ใช้ภาษาเด็กพูดกับน้องโบด้วยเช่นกัน โดยในเรื่องยูบาบะได้พูดคำว่า おねんね มาจาก ねる แปลว่า นอน และคำว่า ばあば ที่มาจาก おばあさん แปลว่า คุณย่า/ยาย อีกด้วยค่ะ
https://www.ghibli.jp/works/chihiro/#&gid=1&pid=35
ส่วนเรื่อง My Neighbor Totoro นอกจากจะเจอว่าน้องเมพูดแล้วเกิดการสลับเสียง ที่ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางภาษาที่พบในเด็กบ่อยแล้ว น้องเมเองก็ได้พูดคำศัพท์ภาษาเด็กออกมาอีก 1 คำ นั่นก็คือคำว่า みっけ ที่มาจาก 見つけた หรือในภาษาไทยคือ เจอแล้ว นั่นเองค่ะ
https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=18
หลังจากที่เราได้ลองดูภาษาเด็กทั้งจากเรื่อง Spirited Away เรื่อง My Neighbor Totoro และเรื่อง Ponyo กันไปแล้ว พอจะสังเกตเห็นลักษณะหรือการสร้างภาษาเด็กในระดับคำกันบ้างไหมคะ
จริง ๆ แล้วที่ประเทศญี่ปุ่นมีงานวิจัยเกี่ยวกับภาษาเด็กที่กล่าวถึง 幼児語 ว่า 育児語 อยู่มากมายเลยค่ะ หลาย ๆ งานวิจัยก็ได้มีการพูดถึงลักษณะและวิธีการสร้างคำศัพท์ภาษาเด็กด้วยเช่นกัน โดยงานวิจัยที่จะยกมาอ้างอิงในครั้งนี้ เป็นงานวิจัยของคุณ 村瀬 俊樹 คุณ 小椋 たみ子 คุณ 山下 由紀恵 และงานวิจัยของคุณสวันนีย์ ค่ะ
ในงานวิจัยที่อ้างถึงกล่าวว่าวิธีการสร้างคำศัพท์ภาษาเด็กมีทั้งสิ้น 6 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
1. การใช้คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพ 擬音語擬態語の使用 เช่น わんわん = สุนัข
2. การซ้ำ 音韻の反復 ; การซ้ำส่วนใดส่วนหนึ่งของคำ
3. การเติมคำอุปสรรค หรือ prefix 接頭辞の付加 ; การเติม お หน้าคำนั้น ๆ เช่น おさかな = ปลา
4. การเติมปัจจัย หรือ suffix 接尾辞の付加 ; อย่างเช่นการเติม さん หรือ ちゃん ต่อท้ายคำนั้น ๆ เช่น くまさん = หมี
5. การเปลี่ยนเสียง 音の転用 ; การเปลี่ยนเสียงบางเสียง เช่น เปลี่ยนจาก ぎゅうにゅう เป็น にゅーにゅ = นม
6. การตัดเสียง 音の省略 ; เช่น ตัดเสียง い ใน いやだ เหลือเพียง やだ = ไม่เอา เกลียด
นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ภาษาเด็กคำอื่น ๆ ที่มีโอกาสพบในชีวิตประจำวันอยู่อีกหลายคำ เช่น
お手手 = 手 = มือ
たっち = 立つ = ยืน
まんま = ข้าว
だっこ = 抱く = กอด
ハイハイ = คลาน
ทั้งนี้ การศึกษาภาษาเด็กไม่ได้เกิดขึ้นใหม่และเกิดขึ้นแค่ภายในวงแคบนะคะ แต่การศึกษาภาษาเด็กเป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งยังเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาและเก็บตัวอย่างทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย จนทำให้เกิดเป็นพจนานุกรมคำศัพท์เฉพาะสำหรับเด็กทั่วประเทศ『全国幼児語辞典』ของคุณ 友定 賢治 ปีค.ศ. 1997 มาแล้วค่ะ
https://store.shopping.yahoo.co.jp/boox/bk-4490104618.html
ผู้อ่านท่านไหนที่สนใจศึกษาคำศัพท์ในภาษาเด็กเพิ่มเติม สามารถศึกษาจากพจนานุกรม『全国幼児語辞典』ก็ได้นะคะ หรือจะลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่า 幼児語 ดูก็ได้เช่นกันค่ะ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น Shirabe Jisho ที่ได้รวบรวมและจำแนกศัพท์ตามหมวดหมู่ไว้มากมายรวมถึงหมวดหมู่ภาษาเด็กก็เช่นกันค่ะ
พอได้ทำความรู้จักกับภาษาเด็กไปบ้างแล้ว หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจสิ่งที่ตัวละครเด็กในการ์ตูนแอนิเมชันเรื่องต่าง ๆ พูดมากยิ่งขึ้นและเพลิดเพลินกับการรับชมมากยิ่งขึ้นนะคะ นอกจากนี้ภาษาเด็กและคำศัพท์เหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่มีโอกาสได้พบเจอในชีวิตประจำวันหากต้องอยู่หรือพูดคุยกับเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นด้วยนะคะ
.
.
.
ที่มา :
https://www.ghibli.jp/works/chihiro/#&gid=1&pid=35
https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=18
https://ir.lib.shimane-u.ac.jp/files/public/0/6533/20170425010136697925/a011004003.pdf
https://harrt.in.th/entities/publication/2b1f1587-2346-4493-b033-42fe955baa48
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in