เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ใต้เงาบริการ กับงานสินค้าลิขสิทธิ์Prepanod Nainapat
เรื่องเล่าที่ 0.25 - ณ จุดๆ นี้ ... ที่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น
  • ก่อนจะย้อนความไปพูดถึงอดีตอันค่อนข้างไกลโพ้น อยากจะขอใช้พื้นที่ตอนนี้เป็นจุดเกริ่น และจุดบ่น ว่าทำไมถึงมีเรื่องราวอยากจะพูดในหัวข้อนี้

    ในช่วงต้นปี 2559 นี้ สื่อโซเชียลที่แสนร้อนแรงคงไม่มีใครพ้นไปกว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่พลิกมาดของหน่วยงานที่รับเซ็นสิทธิบัตร หรือ เป็นไม้กันหมาสำหรับคำว่าลิขสิทธิ์ในไทยเท่านั้น... ณ จุดที่กำลังพิมพ์เรื่องนี้อยู่ หน่วยงานข้างต้นได้แปลงกายเป็น IP Man (ไม่ใช่ยิปมัน) ที่คอยกระจายความรู้ด้านลิขสิทธิ์ รวมถึงการข่มขู่ด้วยคำพูดหวานๆ แต่ได้ผลชะงัดอย่าง #ไม่น่ารักเลย

    จากเหตุข้างต้นนี้ก็มีคำถามขึ้นมาว่า ... แล้วยังไงล่ะ ถ้าจะบินไปบินมาแล้วพูดแค่นี้จะได้ประโยชน์อะไร คนในเน็ตเขารู้เรื่องลิขสิทธิ์มานานแล้ว IP Man ควรจะมีอำนาจหรือปล่อยแสงบลัสเตอร์ได้โหดกว่านี้สิ

    ...ก่อนที่ประเทศไทยเราจะไปถึงจุดอันงดงามจุดนั้น ผมขออนุญาตแบ่งปันสิ่งที่ผมเจอกับตัวมาหลายปี และเป็นคำพูดจากคนที่มีฐานะหลายระดับ แต่มีจุดร่วมกันอย่างน่าตกใจให้ฟังครับ

    ทุกครั้งที่ผม พนักงานในบริษัทสินค้าลิขสิทธิ์แห่งหนึ่ง ได้ตัดสินใจไปช่วยเหลืองานกิจกรรมที่ต้องออกนอกสถานที่บ่อย พ่วงด้วยความรู้ในตัวสินค้าที่ค่อนข้างพรั่งพรูเพราะตัวเรานั้นก็เขียนแคตาล็อกบริษัทมาแล้ว ตัวของเรานั้นพร้อมนักที่จะประกาศให้ลูกค้าที่มาสอบถามว่า สินค้านั้นมีแบบไหน มีเรื่องราวอย่างไร ไฟในตัวมันลุกโชนอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเราได้ยินเสียงเสวนาของลูกค้าลอยมาตามลมในทำนองที่ว่า

    . . .

    "เฮ้ย ปกนี้มาสเตอร์ออกแล้วใช่ป่ะ เนี่ยเดี๋ยวไปดูในเว็บ บิดเมืองไทย เว้ย"

    "เรื่องนี้ เว็บไซต์ จ้ะวีรบุรุษ เคยอัพไว้ในยูทูปแชนแนลลับล่ะ"

    "น้อง**ใส่ชื่อตามสะดวก** ไม่ต้องหยิบแผ่นนะ เดี๋ยวค่อยกดดูในยูทูป"

    "ของที่มาขายนี่มันมีตามเน็ตอยู่แล้ว กล้าเก็บเงินได้ยังไง ?"

    . . .

    ถ้าประโยคเหล่านี้่ ผ่านหูมาในงานแรกที่ออกไปช่วยงาน จะเฉยมาก ชิลมาก เพราะถือว่าเราโดนลูกค้ารับน้อง ... แต่คุณทำงานไป 5 ปี คุณยังได้ยินลูกค้าพูดคำทำนองนี้อยู่ มันทำให้สรุปได้พอสมควรว่า ลูกค้าหมู่มาก หรือ คนทั่วไป ยังเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ได้ไม่ชัดเจน

    เรื่องข้างต้นทำให้ผมเห็นภาพว่า สิ่งที่ IP Man ของ กรมทรัพย์สินฯ ทำตอนนี้คือการสร้างรากฐานในดินแดนที่ค่อนข้างเข้าใจลิขสิทธิ์ให้หนาก่อน จากนั้นค่อยขยายปีกไปสู่สังคมธรรมดามากขึ้น และสินค้าลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะของไทยแท้ หรือ รัับสิทธิ์มาจำหน่ายในไทยจะได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้นแน่นอน

    แต่ทำไม... ผมถึงเลือกเส้นทางมาทำอาชีพสายนี้ นอกจากเงินตราแล้วมันมีอะไรชักนำมาที่นี่บ้าง ? พออยู่กับมันแล้วเรารู้สึกอะไรกับมันบ้าง ? คิดว่าอนาคตจะเป็นยังไงบ้าง ... ไว้โอกาสต่อๆ ไป จะมาเล่าให้ฟังกันเพิ่มเติมครับ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in