เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูหนังกันเถอะเราSoraya
ดูหนังเวียดนามและถามตอบกับอาร์ม ชลสิทธิ์


  • เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร CINEMA DIVERSE 2017: The Invisible Hands ครั้งแรกของปี 2560 นี้ จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเดิมด้วยหนังเวียดนามเรื่อง Flapping in the Middle of Nowhere คัดสรรโดย อาร์ม ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต มือลำกับภาพรางวัลสุพรรณหงส์จากเรื่อง 'Marry Is Happy' และผลงานลำดับภาพเรื่องล่าสุดของเขาคือ 'ฉลาดเกมส์โกง' 

    ตอนเห็นชื่อพี่อาร์ม เราก็คิดว่าเขาต้องเลือกหนังที่ตัดต่อหวือหวา ใน 1 ซีน มี 20 คัท เหมือนเรื่องฉลาดเกมส์โกงมาแน่ๆ แต่พลิกล็อคกันน่าดูถล่มทลายเพราะหนังที่เลือกมากลับเป็นหนังเล่าเรื่องชนิดเดินชมนกชมไม้ 1 ซีน มีประมาณ 3-4 คัท ซึ่งพี่อาร์มก็อธิบายสาเหตุที่เลือกหนังเรื่องนี้เพราะ Flapping in the Middle of Now here ทำให้เห็นว่าการตัดต่อมีผลต่อตัวหนังอย่างไร แม้จะเป็นหนังที่จำนวนคัทน้อย แต่ก็ทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อหาได้ รู้สึกกึ่งจริงกึ่งฝันตามที่ผู้กำกับตั้งใจจะเล่าออกมา 




    เรื่องย่อ Flapping in the Middle of Nowhere [Vietnam/2014]

    Directed by NGUYEN HOANG DIEP (เหงียนฮวางดิป)

    ณ กรุงฮานอย ในย่านห้องเช่ารูหนูราคาถูกที่มีรถไฟวิ่งผ่านเลียบชิดอาคารเรื่องราวชีวิตดราม่าของ เฮวียน สาวมหา’ลัย ชั้นปีที่ 2 และหลินสาวประเภทสอง ที่เป็นทั้งเพื่อนบ้านและเพื่อนตาย เกิดขึ้นที่นั่น  เฮวียนมีแฟนชื่อ ตุง อายุ 18 ทำอาชีพรับจ้างให้บริษัทที่ทำธุรกิจไฟส่องสว่างสาธารณะซึ่งมีฐานะยากจนไม่ต่างกับเฮวียน ในขณะที่ชีวิตกำลังดำเนินไปเฮวียนก็พบว่าตนตั้งครรภ์  ลำพังเลี้ยงชีวิตตัวเองก็แทบไม่รอด เฮวียนและตุงจึงตกลงกันว่าจะทำแท้ง แต่การทำแท้งในเวียดนามมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ตุงจึงต้องหารายได้เพิ่มจากการพนันไก่ชนขณะที่ทั้งคู่รวบรวมเงินพอจ่ายค่าทำแท้งได้แล้ว ตุงก็มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเขาจึงขโมยเงินก้อนนี้และหนีหายไป

    ความจำเป็นที่ต้องใช้เงินบีบบังคับให้เฮวียนตัดสินใจค้าประเวณี และทำให้เธอได้พบ ฮวง หนุ่มใหญ่ ฐานะดีผู้หลงใหลการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีมีครรภ์ เฮวียนเริ่มเก็บเงินเพื่อทำแท้งอีกครั้งทว่าเธอกลับลังเล อยากเก็บเด็กไว้ เพราะลูกในท้องของเธอทำให้เธอได้รับความอบอุ่น  ได้มีช่วงเวลาดีๆ กับฮวง อย่างที่เธอไม่เคยได้รับมาก่อน





    หลังดูหนังจบก็เป็นช่วง Q&A สนทนาให้ผู้ชมได้เห็นวิธีคิดและวิธีตัดต่อเพื่อการเล่าเรื่อง
    ความจริงแล้วในหนังเรื่องนี้มีภาพสวยหลากฉาก แต่มีฉากหนึ่งที่พี่อาร์มยกมาอธิบายก็คือฉากลูกบอลลอยน้ำ เนื่องจากฉากนี้สวยและรู้สึกเป็นความจริงกับความฝันผสมปนเปกันไป ในลูกบอลลอยน้ำตอนแรกฮวงกับเฮวียนอยู่ในนั้นด้วยกัน พอตัดภาพไปก็เหลือเฮวียนอยู่ภายในลูกบอลนั้นเพียงคนเดียว ซึ่งในฉากนี้และทุกฉากในหนัง ไม่เคยตัดให้เห็นว่าตัวละครที่เป็นผู้ชายมาและไปอย่างไร จู่ๆ ก็โผล่มา จู่ๆ ก็หายไป ตัวอย่างฉากลูกบอลนี้ก็ไม่ได้บอกว่าฮวงมีวิธีออกจากลูกบอลอย่าง ก้าวขาเดินขึ้นฝั่งตอนไหน ภาพที่เห็นมีแค่ฮวงเดินจากไปและเฮวียนอยู่ในนั้นลำพัง ซึ่งแม้ว่าจะตัดขาดรายละเอียดบางอย่างออกไปแต่มันก็ยังเล่าเรื่องได้ คนดูเข้าใจว่าเกิดอะไร จากเทคนิคการลำดับภาพ ทั้งนี้พี่อาร์มอธิบายเสริมว่า เนื่องจากผู้กำกับเรื่องนี้เป็นผู้หญิง เธอรู้สึกว่าผู้ชายมักไม่อยู่ในเวลาที่ต้องการ และเธอไม่เข้าใจความคิด การกระทำผู้ชายเท่าไหร่จึงตั้งใจเล่าเรื่องในส่วนของผู้ชายเป็นแบบนี้ 



    เนื่องจากวันนี้จะได้คุยกับคนตัดต่อ ในระหว่างดูหนังเราก็เลยพยายามสังเกตว่าแต่ละฉากมันตัดไปตอนไหน มีจังหวะตัดล้นเกินหรือเปล่า แต่ด้วยองค์ความรู้ด้านตัดต่อเป็นศูนย์จึงมองไม่เห็นอะไรเลย มีสมาธิโฟกัสกับวิธีลำดับภาพไม่เกิน 5 นาที  ก็หลุดเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องเสียอย่างนั้น ซึ่งคนดูมองไม่เห็นการตัดต่อนี่แหละเป็นความประสบความสำเร็จของคนลำดับภาพ ซึ่งพี่อาร์มได้พูดใน Q&A ต่อไปนี้

  • Q: ดูหนังเรื่องนี้กี่รอบแล้ว ชอบอะไรในหนัง

    A: อาร์มดูหนังเรื่องนี้ประมาณ 4 รอบ ถ้าไม่ใช่เรื่องตัดต่อสิ่งที่ชอบในหนังเรื่องนี้คือประเด็นวัยรุ่นที่สับสนกับชีวิต การตัดสินใจของเขาที่เราไม่เข้าใจ


    Q: หนังเรื่องนี้รู้สึกถึงความเป็นเวียดนามชัดเจนมากทำอย่างไรให้หนังไทยเป็นแบบนี้บ้าง

    A: เอกลักษณ์หนังเวียดนามมันไม่เกี่ยวกับกล้องหรือสไตล์ ที่ผมฟัง Q&A ของผู้กำกับเรื่องนี้ ซึ่งผู้กำกับเกิดที่ฮานอย เธอบอกว่ามันเป็นภาพเวียดนามที่เธอเห็น อยากนำเสนอสิ่งที่เห็นเป็นความจริงผสมกับความฝัน ผมว่ามันเกิดจากความเข้าใจสถานที่ที่เราถ่ายด้วย เช่น ถ้าเกิดที่สกลนครแล้วทำหนังเกี่ยวกับสกลนครเราจะถ่ายถอดมันออกมาได้ดี เพราะมันเป็นบ้านเรา เป็นสถานที่ที่เราคุ้นชิน ซึ่งความเป็นไทยของบางคนมันไม่ใช่การรำ ถ่ายเดินข้ามสะพานคลองแสนแสบก็ไทยได้


    Q: ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้รางวัล

    A: เพราะประเด็นน่าสนใจ มันถ่ายถอดอารมณ์ของผู้หญิงได้คมชัด อีกทั้งขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นมีหนังเรื่องอะไรบ้าง เรื่อง Flipping in the Middle of Nowhere ที่พูดประเด็นวัยรุ่น ผู้หญิงท้องไม่พร้อม อาจจะน่าสนใจที่สุดสำหรับกรรมการในตอนนั้น

     


    Q: หน้าที่ของคนตัดต่อคืออะไร

    A: ผมคิดว่าคนตัดต่อมีหน้าที่รับผิดชอบการทำงานทุกคนในกองถ่าย หมายความว่า เวลาออกกองนั้นวุ่นวายมาก ขณะถ่ายทำมันจะไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งเรามีหน้าที่ออแกไนซ์ความจริง เราสามารถ shape หนังให้ดีด้วยการตัดต่อ อีกอย่างเวลาดูหนังไม่ควรเห็นคนตัดต่อ นั่นคือ คนดูไม่ควรรู้สึกอารมณ์สะดุดเวลาดูหนังหรือจับได้ว่าหนังฉากนี้มีปัญหาบางอย่าง หน้าที่คนตัดต่อคือการทำให้ฉากแต่ละฉากแตะมือกันเนียนที่สุด


    Q: คนตัดต่อทำงานยังไง

    A: สำหรับผม พอได้บทมาต้องอ่านรวดเดียวจบ มี 90 หน้าก็อ่าน 90 หน้า เพราะทำแบบนี้มันเหมือนเวลาเราดูหนัง เราจะเห็นภาพทั้งหมด เกิดภาพในหัวเราเองว่าหนังจะเป็นประมาณไหนโดยที่ยังไม่เห็นฟุตเทจ

    เสร็จแล้วก็โทรคุยกับผู้กำกับว่าเป็นแบบที่คิดไหม ซึ่งมันก็ใช่บ้างไม่ใช่บ้าง

    ถ้าสนิทกับผู้กำกับจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นแต่ถ้าไม่สนิทก็อาศัยการคุยกันเยอะๆ บางทีไม่ได้คุยเรื่องบทเลย แต่คุยเรื่องทั่วๆ ไป ผู้กำกับอาจจะไม่ได้พูดตรงๆ เช่น เขาอาจจะเล่าว่าเจออะไรมา อาจจะเล่าว่าทำหนังเรื่องนี้เพราะอะไร หรือออกไปกินข้าวด้วยกัน ความดิบ ความละเมียด รสนิยม มันจะออกมาจากวิธีจับตะเกียบของเขาเอง ผู้กำกับแต่ละคนมีเรื่องที่แคร์ไม่เหมือนกัน บางคนแคร์การแสดงมากกว่าปกติ ไม่แคร์ jump cut ไม่แคร์ว่าจังหวะตัดต้องสวยเป๊ะ คนตัดต่อจะทำงานได้ง่ายขึ้นและวิธีการตัดแนบเป็นเนื้อเดียวกับหนังก็ต่อเมื่อเข้าใจผู้กำกับว่าเขาอยากได้อะไรและชอบวิธีการเล่าแบบไหน เหมือนเราจ้างนักแสดงคนหนึ่งมาเล่นหนังเราก็ต้องรู้จักเขาเป็นคนยังไง


    Q: เวลาตัดต่อยึดตาม report ไหม

    A: พูดตรงๆ ผมแทบไม่ดู ผมไม่ได้เชื่อว่าเทคที่ดีที่สุดคือที่วงกลมไว้ แต่ก็ต้องจด report นะ เพราะมันจะช่วยในส่วนอื่น ผมก็ดูแหละแต่แค่ไม่เชื่อ ตัดสินใจว่าจะเลือกเทคไหนก็เลือกจากการลองเอามาต่อกันมากกว่า บางทีโมเมนต์ที่ดีของซีนนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในเทค 16 ที่เขาวงก็ได้


    Q: คุณเคยกำกับหนังของตัวเองมาแล้ว พอทำหน้าที่ตัดต่อให้คนอื่นก็ต้องลดอีโก้ตัวเองลง จัดการกับอีโก้ตัวเองยังไง  

    A: เคยสงสัยเหมือนกันว่าคนตัดต่อต้องใส่ตัวตนลงไปแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่ได้จากการประสบการณ์ทำงานมา 6-7 ปีแล้วนั้น ตัวตนคนตัดต่อมันต้องมีจุดที่พอดีเพราะหากเราไม่ใส่ตัวตนลงไปเลยก็เหมือนทำงานไปวันๆ จนเราไม่สนุก ผู้กำกับที่เป็นมืออาชีพเขาต้องการคนช่วยคิด ไม่ใช่ทำตามเขาทั้งหมด เพราะบางวิธีตัดผู้กำกับอาจจะไม่เคยนึกถึงหรือไม่กล้าลอง แต่เวลาทำงานผมเคารพความคิดของผู้กำกับนะ เพราะเขาคิดมานานกว่าเรา ใช้เวลาเขียนบทตั้งปีสองปี เขารู้ว่าเขาต้องการอะไร แต่ท้ายที่สุดคนตัดต่อกับผู้กำกับควรมาเจอกันครึ่งทาง งานจะออกมาดีกว่า

    แต่ก่อนเวลาถูกสั่งให้แก้ ผมจะรู้สึกว่าแก้ทำไม ก็ตัดดีแล้ว แต่ตอนหลังรู้จักยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นผมมักคิดว่า ลองดูก่อนอาจจะดีกว่าก็ได้ ถ้าไม่ดีก็กลับมาเป็นอันเดิมได้ เพราะไม่ได้ตัดแล้วฟิล์มมันขาดไปเลย


    Q: ลำดับเหตุการณ์การมาเป็นผู้ลำดับภาพ

    A: หนังที่ทำให้อยากเรียนภาพยนตร์คือเรื่องรักแห่งสยาม ตอนที่ได้ดูรู้สึกเซอร์ไพรส์ว่าหนังไทยทำแบบนี้ได้ด้วย ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนกับตอนผมดูหนังเรื่อง Flipping in the Middle of Nowhere เพราะผมชอบเรื่องเกี่ยวกับคน ความจริงที่เรียนภาพยนตร์ก็ไม่ได้อยากทำตัดต่อตั้งแต่แรกแต่ด้วยความที่ผมมาทำมานานมาก ตัดต่องานให้เพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม รู้สึกว่าถนัดที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดและสามารถยึดเป็นอาชีพได้จึงเป็นการตัดต่อนี่แหละ ตอนฝึกงานก็ฝึกตัดต่อ อีกทั้งอาจารย์ คนรอบตัวทุกคนก็เชียร์ว่าเราทำได้

    แรกๆ คนอาจจะไม่ได้นึกถึงเรา แต่พอทำไปเรื่อยๆ หลายชิ้นเข้า วิธีการตัดคงมีอะไรบางอย่างที่บอกว่าเป็นผม ซึ่งคนอื่นจะเห็น แต่เราไม่มีทางเห็นตัวเราเอง

    ส่วนการศึกษาวิธีการตัดต่อผมเรียนรู้ได้จากหนังทุกเรื่อง ผมไม่ค่อยเกลียดหนังนะ แต่ละเรื่องมันจะต้องมีอะไรให้เราดูสักอย่างแหละ ถ้าเกลียดคือหนังที่มันมีอะไรเลย  ศึกษาวิธีตัดต่อจากงานภาพเคลื่อนไหวหลายๆ ประเภท ไม่ใช่แค่หนัง เอ็มวีเพลงผมก็ใช้ศึกษาด้วย และที่สำคัญก็คือลงมือทำงานเยอะๆ ครับ

    ###

     


    CINEMA DIVERSE 2017: The Invisible Hands จะจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน 2560 โดนจัดขึ้นทุกสองเดือน แต่ละครั้งจะฉายภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีความหลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบ คัดสรรโดยผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย เพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกัลศาสตร์และศิลป์ เบื้องหลังงานสร้างภาพยนตร์ เป็นการต่อยอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้สนใจงานภาพยนตร์และผู้ชมทั่วไป


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in