เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LONELY LAND ดินแดนเดียวดายBUNBOOKISH
Chapter 2: นั่งชั้นสองมองชั้นสูง
  • คนฮ่องกงเรียนสูงหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่พวกเขาอยู่สูง

    เมื่อล้อเครื่องบินแตะรันเวย์สนามบินเช็กแล็ปก๊อก (Chek Lap Kok) ทุกครั้งผมจะเลือกเดินทางเข้าเมืองด้วยรถประจำทาง เพราะนอกจากเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าแล้ว สำหรับผมในบรรดายานพาหนะทั้งหลายในดินแดนแห่งนี้ ผมชอบรถซิตี้บัสสองชั้นเป็นอันดับหนึ่ง ทุกครั้งที่ก้าวเท้าขึ้นรถ ผมจะรีบสาวเท้าขึ้นชั้นบนจองที่นั่งด้านหน้าสุด 

    ในตำแหน่งที่นั่งชั้นสองผมไม่ได้เห็นเพียงข้างทาง แต่ยังเห็นข้างหน้าด้วย

    ระหว่างทางจากสนามบินสู่บ้านญาติ รถวิ่งข้ามสะพาน ซิงหม่า (Tsing Ma) ที่มีความคล้ายสะพานแขวนที่เมืองไทยไม่น้อย เบื้องล่างเป็นทะเลน้ำลึก เรือสินค้าเทียบท่าหลายลำตู้คอนเทนเนอร์เรียงตัวแน่นเต็มฝั่ง สมกับเป็นเมืองท่าสำคัญ ภาพที่เห็นทำให้ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าในปี 1941 จีนได้รับชัยชนะในสงครามฝิ่น และไม่ต้องปล่อยให้อังกฤษปกครองฮ่องกงมายาวนาน ก่อนจะคืนอธิปไตยให้จีนในปี 1997

    เมืองนี้—ตอนนี้ จะเป็นแบบไหน

    แม้ไม่ใช่คนช่างสังเกตก็มองเห็นว่าอังกฤษเปลี่ยนฮ่องกงไปมากมายเหลือเกิน นับจากวันแรกที่กัปตันชาร์ลส์ เอลเลียต (Charles Elliot) แห่งกองทัพเรืออังกฤษเดินทางมาพบเกาะแห่งนี้ ฮ่องกงได้เปลี่ยนจากเกาะที่เต็มไปด้วยชาวประมงเป็นนักธุรกิจ เปลี่ยนจากเกาะที่เคยถูกเรียกว่า ‘หินไร้ค่า’ กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างเต็มตัว
  • ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล สามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกได้สบาย ดินแดนนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของโลก แม้ในวันนี้ที่ประเทศอังกฤษได้ส่งคืนฮ่องกงให้กับประเทศจีนแล้ว ความสำคัญนั้นก็ยังคงอยู่

    การที่ฮ่องกงได้กลายมาเป็นเมืองเศรษฐกิจและมีเทคโนโลยีเพียบพร้อมทำให้เมืองเต็มไปด้วยตึก ตึก ตึก และตึก

    เมื่อรถเคลื่อนผ่านเข้าเขตเมือง จากมุมมองชั้นสองของรถบัส ผมมองเห็นตึกสูงผ่านตานับไม่ถ้วน หรือจะพูดว่าผมไม่เจอบ้านสองชั้นเลยก็ไม่ผิดนัก ตึกเหล่านี้นอกจากเป็นอาคารสำนักงาน ธนาคาร โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า มันยังเป็นที่อยู่อาศัยด้วย

    พี่สาวชาวฮ่องกงเคยเล่าให้ผมฟังว่า คนฮ่องกงหากไม่ร่ำรวยมากๆ ก็นับเป็นเรื่องยากที่จะมีบ้านเป็นหลังๆ คนส่วนใหญ่ล้วนอาศัยอยู่ในตึกสูงที่สร้างโดยรัฐบาล แล้วให้ประชาชนเช่าในราคาสมเหตุสมผล จึงไม่แปลกหากใครไปเที่ยวฮ่องกงแล้วจะเห็นเขตก่อสร้างที่กำลังเร่งมือ โดยเฉพาะอาคารที่พักอาศัยที่ก่อสร้างโดยรัฐบาลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนใครที่พอมีฐานะแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเศรษฐี ก็มักซื้อห้องที่สร้างโดยเอกชนเป็นสมบัติของตนเอง

    ที่บ้านในฮ่องกงมีราคาแสนแพง เพราะพื้นที่ใช้สอยมีจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จากสถิติ ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 3 ของโลก มีขนาดเพียง 1,096 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรกว่าเจ็ดล้านคน ลองหารออกมาแล้วจะรู้ว่าประชากรต้องเบียดเสียดกันขนาดไหน
  • ในแง่หนึ่ง การอยู่ในห้องแคบๆ จึงเป็นความจำเป็นที่คนฮ่องกงต้องร่วมด้วยช่วยกัน แทนที่จะตัดพ้อโชคชะตาว่าทั้งชีวิตต้องอาศัยอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม พวกเขาเข้าใจและไม่มองว่ามันเป็นความโชคร้าย

    และแม้จะต้องอยู่ในห้องหับแสนคับแคบแค่ไหน เวลาใครถามว่าจะไปไหนต่อ หากกำลังจะกลับที่พักเขาจะบอกว่ากลับบ้าน ไม่ใช่กลับห้อง

    สำหรับพวกเขา คำว่าบ้านไม่ได้เกี่ยวกับแค่ลักษณะภายนอก แต่เกี่ยวกับคุณค่าทางจิตใจและคนที่อาศัยอยู่ในนั้น

    ใครหลายคนบอกผมว่าฮ่องกงเป็นเมืองเหงา ถ้าไม่ใช่เพราะอิทธิพลของผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง หว่อง การ์ ไว ที่หยิบจับอะไรมาเล่าก็ดูเหงางามไปเสียหมด ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนฮ่องกงต้องอาศัยอยู่บนตึกนี่แหละ

    ใครเคยไปยืนโดดเดี่ยวอยู่กลางเมืองแล้วหันไปทางไหนก็เจอแต่ยอดตึกระฟ้า คงเข้าใจว่าทำไมผมถึงคิดอย่างนั้น

    ก่อนมาเยือน ผมเห็นภาพถ่ายตีแผ่ชีวิตในห้องแคบๆ ที่หันไปทางไหนก็ไม่เจอใคร มีเพียงผนังที่ทำหน้าที่กั้นมนุษย์คนหนึ่งออกจากมนุษย์อีกคน จริงอยู่ ชีวิตชาวฮ่องกงส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในภาพนั้นมาก แต่ภาพที่เห็นก็ชวนให้รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว

    ดังนั้นการที่เราเห็นคนฮ่องกงออกจากห้องมารวมตัวกันในที่สาธารณะ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือที่ใดใดจนเบียดเสียดชวนรำคาญตา ส่วนหนึ่งนั้นเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ จากการนอนอุดอู้อยู่ในห้อง ออกมาสูดอากาศ มองฟ้า มองน้ำ หรือนัดเจอคนรักบ้าง

    ใช่หรือไม่ว่าการอยู่ในห้องแคบทำให้เราอยากออกไปเจอโลกกว้าง

    และการกลับมาอยู่คนเดียว ทำให้เราอยากออกไปเจอใครสักคน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in