เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SIAM SPORTS NERDSคนมองหนัง ทัศนทรรศน์
ประสบการณ์-วิธีคิดของ "โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ"
  • หมายเหตุ แม้ "โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ" กุนซือชาวสเปน จะไม่สามารถพาทีมชาติเบลเยียมเข้ารอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2018 ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตและวิธีคิดของเขานั้นมีความน่าสนใจมากๆ จนมิอาจมองข้ามไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้

    หนึ่ง

    “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” โค้ชชาวสเปนวัย 44 ปี ของทีมชาติเบลเยียม ถือเป็นคนในวงการลูกหนังที่มีประวัติ-ประสบการณ์ชีวิตน่าสนใจ และเปี่ยมด้วยความหลากหลายมากๆ

    เสื้อบอลตัวแรกในชีวิตของมาร์ติเนซ คือ เสื้อทีมเรอัล ซาราโกซ่า ที่ปักหมายเลข 9 พร้อมชื่อ คาร์ลอส “โลโบ” ดิอาร์เต้ ศูนย์หน้าชาวปารากวัย (ต่อมา มาร์ติเนซได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลของทีมซาราโกซ่า แต่มีโอกาสลงสัมผัสเกมลาลีกาแค่หนึ่งนัด ในฐานะตัวสำรอง)

    มาร์ติเนซเริ่มรู้จักฟุตบอลโลกครั้งแรก ตอน “เวิลด์คัพ 1982” ขณะมีอายุ 10 ขวบ เพราะพ่อสอนให้เขาหัดสะสมสติ๊กเกอร์ฟุตบอลโลกของ “ปานินี่” เพื่อจะได้ทำความรู้จักประเทศต่างๆ ที่ร่วมแข่งขันในบอลโลกหนนั้น

    ในวัยยี่สิบนิดๆ เขาคือนักเตะสเปนไม่กี่คนที่ออกผจญภัยไปค้าแข้งในลีกล่างของอังกฤษ กับสโมสรวีแกน (เจ้าตัวเปรียบเทียบว่าเหมือนได้เดินทางไปดวงจันทร์!)

    จากนั้น มาร์ติเนซพเนจรไปตามสโมสรต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร เขาได้ภรรยาเป็นชาวสก็อตติช ระหว่างค้าแข้งกับสโมสรมาเธอร์เวลล์ในสก็อตแลนด์

    ระหว่างเป็นนักเตะที่ไม่ประสบความสำเร็จนักของซาราโกซา มาร์ติเนซแบ่งเวลาไปเล่าเรียน จนจบปริญญาตรีด้านกายภาพบำบัด ขณะทำมาหากินในอังกฤษ เขายังศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนได้ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ จาก ม.แมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิแทน (น่าจะเรียนในช่วงที่คุมวีแกน)

    มาร์ติเนซระบุว่าปรัชญาฟุตบอลของ “โยฮัน ครอยฟ์” นั้นส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดของเขา แถมต่อมา เขายังกลายเป็นเพื่อนสนิทของยอร์ดี้ ลูกชาวโยฮัน โดย “ยอร์ดี้ ครอยฟ์” ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวในงานวิวาห์ของมาร์ติเนซ ซึ่งจัดขึ้นที่เวลส์

    มาร์ติเนซเคยพาสวอนซีคว้าแชมป์ลีกวัน พาวีแกนพลิกล็อกคว้าแชมป์เอฟเอคัพ ก่อนจะตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลเดียวกัน เมื่อกลางปี 2016 เขาถูกเอฟเวอร์ตันปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม

    โค้ชชาวสเปนที่คุมทีมชาติเบลเยียมเล่นมุขว่าลูกสาวของเขาคงจะเชียร์ทีมชาติอังกฤษในบอลโลกหนนี้ เพราะเธอเกิดและเติบโตที่อังกฤษ

    สอง

    “วันนี้ไม่ใช่วันที่จะมาพูดเรื่องระบบการเล่น ความเป็นจริงก็คือเราตกเป็นฝ่ายตามหลัง 0-2 พอตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น คุณต้องมองหาวิธีการแก้ปัญหาและหนทางทวงประตูคืน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณต้องค้นหาแรงปรารถนาและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มนักเตะในทีมให้เจอ ถ้าคุณลองย้อนทบทวนสถิติเก่าๆ คุณจะพบว่ามีไม่บ่อยครั้งนักหรอกในการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ทีมซึ่งตามหลังคู่แข่งสองลูก จะสามารถพลิกกลับมาเก็บชัยชนะได้ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราจะสามารถพลิกเกมได้ด้วยบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว, ความมุ่งมั่น, แรงปรารถนา, ทัศนคติสู้ไม่ถอย รวมถึงความเชื่อของบรรดาผู้เล่นในสนาม” 
    (โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ให้สัมภาษณ์หลังเบลเยี่ยมพลิกชนะญี่ปุ่น 3-2)

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าจุดเด่นของโรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ในฟุตบอลโลกคราวนี้ คือการหลอมรวมให้เหล่าสตาร์ดังชาวเบลเยียมจากสโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีก สามารถเล่นฟุตบอลเป็นทีม และมีความฝันแบบเดียวกัน

    ซึ่งเป็นจุดที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนจากทีมชาติเบลเยียม (ผู้เล่นแทบจะชุดเดียวกัน) ยุคมาร์ค วิลม็อตส์

    มาร์ติเนซพยายามเน้นย้ำเรื่องการทำงานเป็นทีม-ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอยู่เสมอ เพราะผู้เล่นเกือบทั้งหมดของทีมชาติเบลเยียม ต่างออกไปค้าแข้งตามสโมสรต่างๆ ในต่างแดน

    ยิ่งกว่านั้น ประเทศเบลเยียมยังมีภาษาราชการถึงสามภาษา (จนผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีมต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร)

    ไม่นับรวมถึงความแตกต่างที่ยากจะประสานเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างนักเตะที่พูดภาษาฝรั่งเศสจากวัลโลเนีย และนักเตะเฟลมิชที่พูดดัตช์

    อย่างไรก็ตาม มาร์ติเนซบอกว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เขาพยายามมองมุมบวกว่าการพูดได้หลายภาษาถือเป็นความรุ่มรวย เช่นเดียวกับจุดได้เปรียบในลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเบลเยียม ซึ่งส่งผลให้ประชากรสามารถเดินทางโยกย้ายไปยังประเทศใกล้เคียง อย่างเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือสหราชอาณาจักร โดยง่ายดาย

    สาม

    “ผมวางแผนการเล่นที่ยากมากๆ ให้แก่บรรดานักเตะในทีม เวลาคุณลงสนาม คุณต้องมองหาจุดที่จะทำให้ตัวเองได้เปรียบในเชิงแทคติก มันอาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าคิดถึงวันที่คุณพลิกสถานการณ์จากการเป็นฝ่ายตามหลัง กลายมาเป็นผู้ชนะในท้ายเกม แต่คุณไม่สามารถทำอะไรอย่างนั้นกับทีมบราซิลได้ พวกเราจำเป็นต้องใช้แทคติกที่กล้าหาญยิ่งขึ้น และสำหรับในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก เราจะใช้แทคติกแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่นทุกคนมีความเชื่อร่วมกัน จากจุดนั้นแหละ แผนการเล่นจึงจะแปรเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ที่ดีเลิศในทางปฏิบัติ” 
    (โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ให้สัมภาษณ์หลังเบลเยียมชนะบราซิล 2-1)

    จุดเด่นอีกด้านที่โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ได้รับการยกย่อง คือ การหาญกล้าปรับเปลี่ยนแทคติกหรือระบบการเล่นของทีม

    หลังถูกญี่ปุ่นนำห่าง 2-0 มาร์ติเนซเปลี่ยนแผนการเล่นและส่ง “มารูยาน เฟลไลนี่” และ “นาเซอร์ ชาดลี” ลงสนาม ทั้งคู่คือผู้ยิงประตูที่ 2 และ 3 ให้เบลเยียมพลิกกลับมาชนะขุนพลซามูไรบลู

    ในนัดเจอบราซิล มาร์ติเนซเปลี่ยนแผน ด้วยการไม่ได้จัดผู้เล่นในระบบ 3-4-3 (หรือ 3-4-1-2) ที่เน้นวิงแบ็ก แต่ปรับมาใช้แผน 4-3-3 เพื่อบีบพื้นที่การเล่นของ “เนย์มาร์” และ “ฟิลิเป คูตินโญ” ให้แคบลง โดยโยก “โรเมลู ลูกากู” ไปเล่นด้านขวา เอา “เควิน เดอ บรอยน์” มาเล่นตำแหน่งฟอลส์ไนน์ เป็นหัวใจในเกมโต้กลับ

    “เยอร์เกน คลินส์มันน์” ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนักเตะในทีมเบลเยียมเชื่อถือในตัวโค้ช พวกเขาเลยสามารถปฏิบัติตามแผนการ (อันยืดหยุ่น) ของมาร์ติเนซได้อย่างเคร่งครัด

    เวลามาร์ติเนซเลือกเปลี่ยนแปลงแทคติก พวกนักเตะจึงพร้อมจะปรับตัวเอง ให้สอดคล้องลงรอยกับระบบแบบใหม่

    สี่

    เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน “เควิน เดอ บรอยน์” เคยออกมาวิจารณ์การวางแทคติกของโรแบร์โต้ มาร์ติเนซ อย่างค่อนข้างเผ็ดร้อน ในนัดที่เบลเยียมอุ่นเครื่องเสมอเม็กซิโก 3-3

    นัดนั้น โค้ชชาวสเปนเลือกเน้นเกมรับด้วยระบบการเล่น 5-3-2 จนเดอ บรอยน์ บ่นว่า เม็กซิโกมีแผนการเล่นที่ดีกว่าเบลเยียม พวกเราตั้งรับมากเกินไป ทั้งที่ในทีมมีผู้เล่นแนวรุกดีๆ อยู่หลายคน

    ขณะที่มาร์ติเนซอธิบายว่า โดยปกติ เบลเยี่ยมก็เล่นแผน 3-4-3 อยู่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้เดอ บรอยน์ “เอแดน อาซาร์” “ดรีส์ เมอร์เทนส์” และ “โรเมลู ลูกากู” ได้มีโอกาสโชว์ฝีเท้า แต่บางครั้งเบลเยียมก็จำเป็นจะต้องมีความยืดหยุ่น และลองปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบการเล่นอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะในแมตช์อุ่นเครื่อง ซึ่งไม่มีผลอะไร

    อย่างไรก็ดี มาร์ติเนซมิได้มีท่าทีเม้งแตกใส่เดอ บรอยน์ ทว่าออกจะชื่นชม (กึ่งปรามนิดๆ) ว่า

    “เควินแสดงให้เห็นว่าเขาแคร์ทีมมากแค่ไหน เหตุผลของเขามีความซื่อสัตย์และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง วัฒนธรรมของทีมเรา คือ การพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านแง่มุมในเชิงแทคติก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมชอบพอดี โดยปกติ ผมไม่ได้ร้องขอให้ผู้เล่นทุกคนไปแสดงความเห็นเรื่องแผนการเล่นของทีมออกสื่อ แต่เควินพยายามพูดถึงประเด็นนี้ เพราะหวังจะเห็นพัฒนาการของพวกเราทุกคน นี่แสดงให้เห็นว่าเขาเติบโตขึ้น จนเริ่มแสดงบทบาทความเป็นผู้นำออกมา

    “จริงๆ แล้ว ระบบ 3-4-3 เคยช่วยให้เชลซีได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ผมเคยใช้แผนนี้สมัยคุมวีแกนในปี 2009 อย่างไรก็ตาม ระบบพวกนี้มันเป็นแค่การจัดวางตำแหน่งตอนเริ่มต้นเกมเท่านั้น สิ่งที่ผมใส่ใจมากกว่า คือ วิธีการเล่นและสภาพจิตใจของนักเตะ”

    ห้า

    “ผมออกจากคอมฟอร์ทโซนตั้งแต่ตอนอายุ 16 เมื่อย้ายไปเล่นกับเรอัล ซาราโกซา จากนั้นพออายุ 21 ผมก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปวีแกน มันยังกะการเดินทางขึ้นไปบนดวงจันทร์เลยนะคุณ” 
    (โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ให้สัมภาษณ์โดนัลด์ แม็คเร แห่งเดอะการ์เดี้ยน)

    การเปิดรับความหลากหลายของนักเตะ การวางแทคติกอย่างยืดหยุ่น และการใส่ใจ “คน” ที่ต้องทำงานควบคู่กับ “ระบบ” อาจก่อตัวขึ้นมาจากพื้นฐานและประสบการณ์ชีวิตของโรแบร์โต้ มาร์ติเนซ

    ก่อนจะย้ายไปคุมทีมชาติเบลเยียม เขาใช้เวลา 42 ปีแรกของชีวิตอยู่ในสองประเทศ

    21 ปีแรก เขาปักหลักที่สเปนบ้านเกิด

    21 ปีต่อมา เขาย้ายไปทำมาหากินในสหราชอาณาจักร หรือเอาเข้าจริง ต้องถือว่ามาร์ติเนซมาเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์บนเกาะแห่งนี้นี่เอง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกมาถึงวีแกน สิ่งแรกที่เกิดกับมาร์ติเนซคือประสบการณ์คัลเจอร์ ช็อก

    สมัยเล่นบอลในสเปน เขาจะไปฝึกซ้อมตอนเช้า แล้วกลับบ้านกินอาหารเที่ยง นอนพักตอนกลางวัน พอตื่นมาช่วงเย็นหรือหัวค่ำ ก็ออกไปเดินเล่น กินข้าว ซื้อของ

    ครั้นมาอยู่อังกฤษ มาร์ติเนซกลับพบว่าพอตนเองฟื้นตื่นจากการงีบกลางวัน พวกร้านรวงต่างๆ ก็ปิดทำการกันหมดแล้ว (รวมทั้งร้านอาหารสเปนที่เขาบังเอิญเดินผ่าน) พร้อมความมืดที่มาเยือนตั้งแต่ห้าโมงเย็น

    ยามเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เขาก็ทำตัวไม่ถูก เมื่อไม่เจอน้ำมันมะกอกและฆามอน (แฮมสเปน)

    ที่สำคัญที่สุด ณ ปี 1995 ร้านกาแฟในวีแกนยังไม่ขายเอสเพรสโซ

    ที่หนักหนากว่านั้น คือ สังคมฟุตบอลอังกฤษแตกต่างจากของสเปนเกือบสิ้นเชิง

    มาร์ติเนซและเพื่อนนักเตะสเปนอีกสองคนที่ย้ายมาร่วมทีมวีแกนพร้อมกัน ต่างตะลึงงันกับวัฒนธรรม “เวิร์กฮาร์ด, ปาร์ตี้ฮาร์ด” ของพวกนักบอลอังกฤษ

    เพราะสมัยอยู่สเปน นักฟุตบอลจะมีข้อห้ามนู่นนี่และต้องประนีประนอมกับกฎระเบียบมากมาย พวกเขาต้องละทิ้งอะไรหลายอย่างในช่วงชีวิตวัยรุ่น ถ้าฝันอยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพ

    การเป็น “นักฟุตบอลสเปน” ใน “ลีกรองของอังกฤษ” กระตุ้นให้มาร์ติเนซพยายามเสาะแสวงหา “พื้นที่กึ่งกลาง” สำหรับตนเอง

    ตัวอย่างสำคัญ คือ มาร์ติเนซย้ายมาเป็นนักเตะในลีกล่างอังกฤษ ทั้งที่แทคเกิลไม่เก่ง เล่นลูกกลางอากาศไม่ดี แต่เขาเป็นนักเตะประเภทจอมเทคนิค

    เขาเลยเริ่มหลงใหลกับการวิเคราะห์แทคติกต่างๆ หรือการอ่านเกมในสนาม เพื่อหาทางผลักดันให้นักเตะเทคนิคแพรวพราวอย่างตัวเองอยู่รอดปลอดภัย ท่ามกลางการแข่งขันที่เน้นลูกบอมบ์ยาว โดยไม่นิยมครอบครองบอลอยู่กับเท้า

    ดูเหมือนเขาจะค้นพบ “พื้นที่กึ่งกลาง” ดังกล่าว เพราะแค่ฤดูกาลแรก มาร์ติเนซที่เล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ ก็ผงาดขึ้นเป็นดาวซัลโวประจำสโมสร

    มาร์ติเนซบอกว่าการมีประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะ “ในระหว่าง” หรือความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้นี่แหละ ที่ช่วยทำให้เขาสามารถบริหารจัดการนักเตะหลากหลายเชื้อชาติของสโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ ในฐานะผู้จัดการทีม

    เช่นเดียวกับการบริหารจัดการความหลากหลายของนักเตะในทีมชาติเบลเยียม

    หก

    “ผมไม่ชอบผู้เล่นประเภทที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเดียว จนเหมือนเป็นระบบกลไกอะไรสักอย่าง แต่ผมต้องการให้พวกเขาคิดหรือตัดสินใจได้เอง ผมต้องการให้พวกเขาใช้มันสมองของตัวเอง” 
    (โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ให้สัมภาษณ์ฟิลิป อูแคลร์ ในนิตยสารฟุตบอลเดอะ บลิซซาร์ด)

    อย่างที่บอกไปแล้วว่าสมัยเป็นนักเตะ มาร์ติเนซคือผู้เล่นที่มักครุ่นคิดเกี่ยวกับแผนการเล่นอยู่ตลอดเวลาขณะลงสนาม

    ความเป็นนักฟุตบอลช่างคิดย่อมส่งผลต่อการทำงานในฐานะผู้จัดการทีม/โค้ชของเขาด้วย

    “สิ่งที่ผู้จัดการทีมต้องทำ ไม่ใช่การบริหารจัดการในเชิงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่คือการสร้างวิธีคิดให้ทีม คุณไม่สามารถตัดสินใจแทนผู้เล่นในสนามได้ตลอดเวลา แต่คุณต้องสร้างวิธีคิดร่วมกันของทั้งทีมขึ้นมา แล้วสอนให้นักฟุตบอลเข้าใจในวิธีคิดเหล่านั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง ก่อนจะอนุญาตให้พวกเขาได้แสดงตัวตนของตัวเอง ได้ตัดสินใจสถานการณ์ต่างๆ ในเกมด้วยตัวเอง ภายใต้ความเข้าใจที่ว่าเพื่อนร่วมทีมกำลังคาดหวังอะไรจากตัวเขาอยู่ เช่น เมื่อคุณเสียบอล คุณก็ต้องลงมาช่วยเล่นเกมรับ”

    มาร์ติเนซย้ำให้เห็นว่า “ปรัชญาในการเล่นฟุตบอล” และ “การวางแทคติกหรือระบบการเล่น” นั้น เป็นคนละเรื่องกัน

    โค้ชชาวสเปนผู้นี้ยอมรับว่าตนเองมีปรัชญาในการเล่นฟุตบอลที่สุดขั้วไม่ประนีประนอม สำหรับเขา การเล่นฟุตบอลที่ดีคือการครอบครองบอลให้ได้มากที่สุด และการป้องกันตัวเองด้วยเกมรุก ซึ่งเป็นทั้งความกล้าหาญและความสุ่มเสี่ยงไปในตัว

    “ผมชอบการยิงประตูที่ทำได้จากการเล่นโอเพ่นเพลย์ อันที่จริงแล้ว ผมอยากให้ฟีฟ่ากำหนดกฎใหม่ไปเลยว่า ถ้าทีมไหนยิงเข้าโกล์จากลูกเซ็ตพีซให้นับเป็น ‘ครึ่งประตู’ และคุณจะได้ ‘หนึ่งประตูเต็มๆ’ ก็ต่อเมื่อคุณยิงเข้าโกล์จากลูกโอเพนเพลย์เท่านั้น” นี่คือปรัชญาในการเล่นฟุตบอลที่แน่วแน่มั่นคงของมาร์ติเนซ

    แต่หากมองในเชิงแทคติกแล้ว มาร์ติเนซยอมรับว่าทุกทีมจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น

    เขาเห็นว่าในโลกฟุตบอลสมัยใหม่ แทคติกคือสิ่งจำเป็น แทคติกคือวิธีการอันจะนำไปสู่เป้าหมาย การจัดวางแทคติกที่เหมาะสมคือการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถรีดเค้นศักยภาพส่วนบุคคลของพวกตนออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของทีม

    แต่อีกด้านหนึ่ง มาร์ติเนซก็เชื่อว่าไม่มีระบบการเล่นหรือแทคติกใดๆ ที่จะสมบูรณ์แบบถึงขีดสุด หรือเป็นสัจจะสูงสุดของโลกลูกหนัง เพราะระบบจะดีเลิศโดยตัวมันเองไม่ได้ หากปราศจากผู้เล่น ลำพังระบบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำหนดผลการแข่งขันได้ แต่เป็นผู้เล่นทั้ง 11 คน ซึ่งสามารถทำงานกับระบบได้อย่างสอดคล้องลงตัวต่างหาก ที่จะนำทีมไปสู่ความสำเร็จ

    โค้ชชาวสเปนย้ำอีกหนว่าระบบการเล่นทั้งหลายล้วนถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมส่งความสามารถของตัวนักฟุตบอล ดังนั้น เมื่อบรรดานักเตะของแต่ละทีม/แต่ละชาติ มีความสามารถและจุดเด่นแตกต่างกันไป ระบบหรือแทคติกจึงต้องแปรผันไปตามคุณภาพอันหลากหลายของนักเตะเหล่านั้น

    เจ็ด

    “ผมรู้จักวิธีคิดของเธียร์รี่ จากลีลาการเล่นฟุตบอลของเขาสมัยอยู่กับอาร์เซนอลและบาร์เซโลนา ผมนัดพบเขา และหลังจากเรานั่งพูดคุยกันได้สองนาที ผมก็รู้แล้วว่าเขาเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้มากที่สุด” 
    (โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ให้สัมภาษณ์โดนัลด์ แม็คเร แห่งเดอะการ์เดี้ยน)

    งานแรกๆ ที่โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ต้องทำในฐานะหัวหน้าโค้ชทีมชาติเบลเยียม ก็คือ การปลดเปลื้องความกดดันให้แก่บรรดานักเตะ “ยุคทอง”

    อย่างที่รู้กันว่าหลายปีที่ผ่านมา นักฟุตบอลทีมชาติเบลเยียมเกือบทั้งชุดได้ถูกจับตามอง จากสถานภาพการเป็น “โกลเด้น เจนเนอเรชั่น”

    ทว่าพวกเขากลับโชว์ฟอร์มได้ไม่เปรี้ยงปร้างดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง ทั้งในฟุตบอลโลก 2014 และยูโร 2016

    ภารกิจสำคัญของมาร์ติเนซ จึงได้แก่ การพานักเตะกลุ่มนี้ก้าวข้ามอุปสรรคกีดขวางภายในจิตใจของพวกเขา

    มาร์ติเนซตระหนักดีว่าคนที่จะช่วยคลี่คลายความกดดันให้นักฟุตบอลทีมชาติเบลเยียมได้ ควรจะต้องเป็นอดีตนักเตะที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในระดับนานาชาติ

    เฮดโค้ชเบลเยียมยอมรับว่า ในฐานะอดีตนักฟุตบอลอาชีพ ตัวเขาเองมีประสบการณ์จำกัดจำเขี่ยเหลือเกินในเรื่องนี้ ไม่ต้องพูดถึงการติดทีมชาติสเปน เพราะแม้แต่การลงไปสัมผัสบรรยากาศของเกมลาลีกา เขายังได้รับโอกาสไม่ถึง 90 นาทีเลย

    นี่คือเหตุผลสำคัญ ที่มาร์ติเนซเจรจาดึงตัว “เธียร์รี่ อองรี” มารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติเบลเยียม

    เขาเชื่อว่าอองรีจะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจและผ่อนคลายความกดดันให้แก่บรรดานักเตะรุ่นน้องในแคมป์ปีศาจแดงแห่งยุโรป

    เพราะอดีตยอดดาวยิงผู้นี้ คือนักฟุตบอลคนสำคัญใน “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ของทีมชาติฝรั่งเศส จากการเป็นทีมที่ล้มเหลวมานานนับทศวรรษ ไปสู่การคว้าแชมป์โลกปี 1998 และแชมป์ยูโร 2000

    ที่มาข้อมูล

    https://en.wikipedia.org/wiki/Roberto_Mart%C3%ADnez
    https://www.bbc.com/sport/football/44652178
    https://www.bbc.com/sport/football/44747340
    https://www.theguardian.com/football/2018/jul/02/belgium-japan-world-cup-last-16-match-report
    https://www.theguardian.com/football/2018/jul/06/roberto-martinez-belgium-players-world-cup-rejigged-false-nine-brazil
    https://www.theguardian.com/football/2018/jun/11/robert-martinez-world-cup-belgium-england-russia-criticism
    https://www.theblizzard.co.uk/article/english-spaniard

    ภาพประกอบ By Aleksandr Osipov from Ukraine (Роберто Мартинес / Roberto Martínez) [CC BY-SA 2.0 ], via Wikimedia Commons

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in