เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
- twnytyfoursvn x internship.twntyfoursvn.
06 : สัปดาห์ที่ 5-6
  • - สัปดาห์ที่ห้า.

    เข้าเดือนที่สองของการฝึกงาน 
    สวัสดีเดือนกรกฎาคม 

    หลังจากที่มีอาการแปลกๆ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เลยตัดสินใจไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน
    คุณหมอสรุปว่าอาการที่มีการมองเห็นผิดปกติ มีก้อนมากวนสายตา เป็นสัญญาณของการปวดหัวไมเกรนแบบมีอาการเตือน (Migraine with aura) สาเหตุยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร อาจมาจากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น แสง ของหวาน หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงมีประจำเดือน คุณหมอให้เราสังเกตอาการตัวเองไปก่อนว่าในหนึ่งเดือนมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นอีกไหม เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ ถ้าหากเป็นอีกอาจจะต้องมีการพูดถึงเรื่องการรักษาต่อไป ระหว่างนี้ก็ได้ยามาหนึ่งแผง ถ้าหากว่ามีอาการที่ตาอีกก็ให้รีบกินก่อนจะปวดหัว 

    ช่วงนี้เลยพยายามนอนให้มากๆ พักผ่อนให้ได้มากที่สุด หาเวลาพักสายตา 
    เพราะว่าถ้าหากมีอาการไมเกรนมาอีกก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเราเอง แล้วก็งานที่ทำอยู่ได้ 

    สัปดาห์นี้เราหลุดพ้นจากแผนการจัดการเรียนรู้ (ชั่วคราว)
    เดินหน้าออกแบบสื่อด้วยตัวเอง เราคิดว่าสื่อการเรียนการสอนสำหรับอัพโหลดขึึ้นเว็บไซต์ที่น่าจะนำไปใช้ได้ง่ายที่สุด คือ สื่อที่อยู่ในแผ่นกระดาษ A4 พิมพ์ไปใช้ได้สะดวก มีขั้นตอนที่ง่าย อุปกรณ์ไม่เยอะ มีประโยชน์หลายด้าน และมีความน่าสนใจ ทำให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับการเรียนรู้ 

    เราเลือกแผนการสอนหนึ่งของวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 
    มาทำเป็นแผ่นภาพระบายสี agamograph คำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยได้รูปแบบและแรงบันดาลใจจากการค้นหาตัวอย่างสื่อการเรียนการสอน และการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์จากกระดาษ เป็นภาพระบายสีที่สามารถมองได้สองด้าน เห็นภาพที่แตกต่างกันออกไป ให้เด็กๆ ได้สนุกสนานไปกับการเรียนภาษาอังกฤษ และใช้กล้ามเนื้อมือในการระบายสี 




    ตัวอย่างภาพระบายสีที่ทำ มีแบบสีสำหรับให้คุณครูนำไปใช้ได้เลยด้วยนะ

    เราทำแผ่นภาพระบายสีออกมาทั้งหมด 5 แบบในชุดแรก เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับของเล่น สำหรับขั้นตอนการทำ เริ่มจากการลองทำโมเดลกระดาษ วัดขนาดว่าภาพจะมีขนาดประมาณเท่าไหน จากนั้นก็ออกแบบในกระดาษก่อนจะนำไปลงโปรแกรม 

    วาดรูป 5 รูป ดูเหมือนจะไม่ยากเท่าไหร่ แต่ว่าเพราะต้องแบ่งเป็นช่อง เป็นส่วนให้เท่าๆ กันสำหรับพับก็ต้องมีความละเอีียดและแม่นยำมากๆ ตอนแรกเราวาดไปได้ 3 รูปอย่างสนุกสนาน วาดไปเพลินๆ แต่ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน จู่ๆก็รู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง 


    เราค่อยๆ เหลือบไปมองแบบ แล้วหันกลับมามองหน้าจออีกที 


    หนึ่งภาพ หนึ่ง A4 เราแบ่ง 12 ช่อง เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นภาพ 
    และตัวอักษรจะได้อย่างละ 6 ช่องพอดี 


    แต่


    เราดันวาดรูปไปในตาราง 12 ช่องที่แบ่งไว้ 
    เต็ม 12 ช่องเป๊ะเลย 55555555555555555555555555

    จังหวะนี้ทำอะไรไม่ได้
    อย่างไรแล้วต้องโละทำใหม่ทั้งหมด 
    ใจท้อแท้จนต้องสลับกลับไปทำ short note ยาวๆ 
    กว่าจะฮึดกลับมาทำสื่อต่อได้ก็สักพักนึงเลย T_T 
     



    ถึงแม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานไปหน่อย ทำผิดทำพลาดไปนิด แต่ก็ทำสำเร็จจนได้! 

    ในงานการออกแบบสื่อนี้ได้รับความช่วยเหลือ และได้เทคนิคการตัดรูปจากพี่พลอย ฝ่ายกราฟฟิกมาช่วยชีวิตเอาไว้ได้ ทำให้ทำงานสะดวกขึ้นเยอะมากๆๆๆ ถ้าหากว่าไม่ได้พี่พลอยช่วย งานนี้มีหวังไม่เสร็จในสัปดาห์นี้แน่ๆ 


    - สัปดาห์ที่หก. 

    สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการแก้งาน แก้สื่อ แก้ short note ที่ทำไปแล้ว
    เตรียมพร้อมสำหรับการอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ต่อไป 

    นอกเหนือไปจาก Short note และสื่อ สัปดาห์นี้ได้ทำงานใหม่อีกหนึ่งงาน! 

    เพราะว่าในการอัพโหลดลงเว็บไซต์จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า thumbnail เป็นภาพตัวอย่างขนาดเล็กแสดในเว็บไซต์ ที่เมื่อผู้ใช้คลิ๊กที่บริเวณ thumbnail ก็จะสามารถเข้าไปสู่หน้าเว็บไซต์ที่ต้องการได้ ส่วนของ short note ของเราเป็นเหมือนกับเนื้อหาใหม่ในเว็บไซต์ ยังไม่มี thumbnail เราเลยมีโอกาสได้ออกแบบ thumbnail เอง โดยมีพี่ๆ ผ่านกราฟฟิกคอยให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบ

    ตอนแรกที่ได้รับมอบหมายงานนี้มา เรารู้สึกเป็นกังวล เพราะเราไม่ได้เรียนทางด้านการออกแบบมาโดยตรง ไม่ได้ถนัดทำงานกราฟฟิก ไม่ได้มีทักษะการใช้โปรแกรมมากขนาดนั้น ไม่มั่นใจ จนกลัวว่าจะไม่สามารถทำงานนี้ได้ ช่วงแรกๆที่นั่งออกแบบดู รู้สึกว่างเปล่ามาก 555555555555555555 ไม่มีไอเดียในหัวเลย แต่ก็พยายามสลัดความกังวลออกไป คิดซะว่าลองดูก่อน ลองดูหลายๆแบบ ทำเท่าที่ทำได้ ทำในแบบที่เราถนัดให้สุดความสามารถ 

    thumbnail สองแบบที่ลองทำเป็นครั้งแรก 

    พี่ๆ ฝ่านกราฟฟิกมาช่วยดูงานของเราให้หลังจากที่เราทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการปรับแก้ในเรื่องสี และรูปแบบเล็กน้อยเพื่อให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น อย่างเช่นช่องสีขาวที่เราเว้นไว้สำหรับเขียนชื่อวิชา ตอนแรกเราทำไว้ช่องเล็ก พี่ๆ ก็กังวลว่าอาจจะไม่สามารถเขียนได้พอ ให้เราทำให้พอดีสำหรับคำที่ยาวที่สุด และสำหรับคำอื่นที่สั้นกว่าก็ปรับตำแหน่งให้เหมาะสม หรือเช่นแบบด้านบน พี่ๆ แนะนำว่าให้ชั้นปีอยู่ข้างๆ ชื่อวิชาดีกว่า เพื่อให้สะดวกกับผู้ใช้งาน ผู้ที่มาอ่าน เห็นแล้วสามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นวิชาอะไร ชั้นอะไร ไล่สายตาลงมาก็จะเจอพอดีว่าเป็นเรื่องอะไร 

    เราแก้ไขตามคำแนะนำของพี่ๆ นอกจากนี้ก็ทำตัวอย่าง ทำวิธีการใช้ เขียนชื่อฟอนต์ เขียนขนาดให้เรียบร้อย เพราะต่อไปถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว คนอื่นที่มาทำงานต่อจากเรา รับงานต่อจากเราจะสามารถทำงานได้สะดวกที่สุด


    ตอนที่เราเรียนในโรงเรียน เรียนในมหาวิทยาลัย เราทำงาน เราไม่ส่งงาน เราทำงานล่าช้า ผลเสียก็ตกอยู่ที่ตัวเราคนเดียว แต่การทำงานจริง ทุกคนมีแผนงาน มีการทำงานที่เป็นระบบ งานที่เรารับมาจะต้องมีการส่งต่อไปให้ฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ มีการส่งต่อให้คนอื่นทำงานต่อจากเรา การทำงานเราต้องทำงานให้ละเอียด อำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมงานกับเรา ถ้าหากว่าเราช้า เราทำงานไม่เสร็จ เราทำงานไม่เรียบร้อยก็จะกลายเป็นว่าเป็นการส่งต่อปัญหาไปให้คนอื่นต่อ และบางครั้งกว่าที่เราจะรู้ตัว ปัญหาที่เราเพิ่งจะค้นพบในงาน เพิ่งจะเห็นสิ่งที่เราขาดตกบกพร่องไป ตอนนั้นเองงานก็ถูกส่งต่อไปไกล เผลอๆก็เผยแพร่ไปแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับสาร ผู้เสพสื่อต่อไปอีก 


    และนั่นคือข้อคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ในการฝึกงานครั้งนี้  

     



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in