เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอ่วสะปะMoschan Nutthapat Suma
แอ่วหมู่บ้านเล็กแต่หัวใจใหญ่มาก ; ชุมชนบ้านหลวง


  • ช่วงวันหยุดกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้ออกเดินทางและพบกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในสถานที่เล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาของอุทยานแห่งชาตศรีลานนา สิ่งที่เราได้เรียนรู้และสัมผัสแม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นานแต่กลับสร้างความประทับใจได้มากมายเหลือเกิน เรากำลังแนะนำให้รู้จักกับ "ชุมชนบ้านหลวง" ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

    จะว่าไปแล้ว พอมานึกๆ ดูคำว่า 'หลวง' ในภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่ ถ้าอย่างนั้นชุมชนบ้านหลวงก็คงจะหมายถึง ชุมชนที่ใหญ่โต แต่วินาทีแรกที่เราหมุนพวงมาลัยจากถนนเชียงใหม่พร้าวผ่านซุ้มประตูทางเข้าวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลซึ่งถือเป็นทางเข้าหลักของหมู่บ้าน สิ่งที่เราพบกลับกลายเป็นว่าที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีถนนเส้นน้อยสำหรับใช้สัญจรภายในชุมชน บ้านเรือนหลังน้อยใหญ่ปลูกสลับไปมากับพื้นที่โล่งกว้างซึ่งถูกแบ่งเป็นสัดส่วนมีน้ำเจิ่งนองเพื่อเตรียมตัวเป็นทุ่งนาสีเขียวขจีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และทิวทัศน์ของภูเขาสีเขียวที่ซ้อนทับกันแน่นหนาโอบกอดหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เอาไว้

    เราดับเครื่องยนต์ที่หน้าบ้านหลังน้อยซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้าน บริเวณลานด้านหน้าเต็มไปด้วยจักรยานนับสิบคัน ส่วนหนึ่งของพื้นที่แบ่งเป็นร้านกาแฟและไอศกรีมที่ตกแต่งด้วยไม้เก่าแบบเรียบง่าย มองเข้าไปที่หน้าบ้านซึ่งอยู่ถัดไปด้านในมีตุ๊กตาปั้นดินเผารูปสิงสาราสัตว์มากมายอวดความน่ารัก น่าเอ็นดูแข่งกับความสดใสของไม้พุ่มสีเขียวนานาชนิด มีป้ายเล็กๆ เขียนชื่อสถานที่ให้เราได้แน่ใจว่าเดินทางมาถึงเป้าหมายของเราแล้ว "บ้านคนกับดิน โฮมสเตย์" 

    เรายืนสำรวจพื้นที่รอบๆ ด้วยสายตาได้ไม่นานนัก พี่ทิพย์และพี่อ้วน ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้ก็ออกมาต้อนรับเราอย่างเป็นกันเองในทันที พร้อมกับชาเขียวเย็นรสชาติดีและมะม่วง...ที่ตกแต่งใส่จานมาอย่างน่ารัก ถือเป็นการต้อนรับที่อบอุ่นราวกับญาติมิตรเลยทีเดียว เราเกริ่นนำที่ไปที่มาของกันและกันจากนั้นก็ขอเยี่ยมชมพื้นที่ด้านหลังบ้านซึ่งพี่ทิพย์กับพี่อ้วนดัดแปลงไว้เป็นที่พักสำหรับต้อนรับนักเดินทางหัวใจสีเขียว


    เมื่อผ่านประตูบานน้อยที่กั้นระหว่างตัวบ้านและร้านกาแฟด้านหน้ากับที่พัก ราวกับหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียว ทั้งไม้พุ่ม ไม้เลื้อย หรือต้นสูงใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่พืชผักสวนครัวที่ปลูกแซมอย่างแนบเนียนกับบริบทรอบข้าง จู่ๆ เราก็รู้สึกว่าตัวเราเล็กลงทันใด ภายในบริเวณเนื้อที่ 130 ตารางเมตร ประกอบด้วยบ้านหลังเล็กๆ 4 หลัง สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงและความคิดแบบธรรมชาติของพี่ทั้งสอง สไตล์ของบ้านมีกลิ่นอายความเป็นชนบทของภาคเหนือผสมกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่ล้ำเกินไป ขนาดของบ้านก็พอเหมาะกับการพักผ่อนเงียบๆ ในช่วงวันหยุด จริงๆ พี่อ้วนนั้นเป็นนักจัดสวนตัวยงที่กวาดรางวัลมาก็มาก แต่เมื่อสอบถามถึงแนวคิดการจัดสวนแห่งนี้ พี่อ้วนกลับบอกว่าไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย ไม่ได้ใช้หลักการอะไรเป็นพิเศษ เพราะอยากให้ออกมาเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ประดิษฐ์ 












    แต่ที่สำคัญคือ นอกจากพี่อ้วนจะเป็นนักจัดสวนแล้วยังเป็นเกษตรกรสายเลือดอินทรีย์อีกด้วย พอพูดถึงเรื่องนี้หัวใจเราก็พองโตขึ้นมาด้วยอยากรู้อยากเห็น ไม่รู้ว่าพี่อ้วนเห็นแววตาใสๆ ของพวกเราหรืออย่างไร แกจึงอาสาพาพวกเราทัวร์บ้านหลวงเสียเลย

    เริ่มต้นกันที่ วัดพระธาตุหลวงเชียงดาว วัดที่มีโบราณสถานเก่าแก่กว่า 700 ปี เมื่อทราบถึงที่มาที่ไปแทบไม่น่าเชื่อว่า ด้วยเวลาเพียงสิบกว่าปีภายใต้การดูแลของพระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวียงชัย เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด จะสามารถบูรณะวัดแห่งนี้ให้ใหญ่โตสวยงามตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาแห่งนี้ได้สง่างามเช่นนี้ การไปคราวนั้นเราได้มีโอกาสพบกับท่านพระครู และได้ฟังธรรมหรือข้อคิดสั้นๆ จากท่าน ในเรื่องของความไม่ประมาท คนประมาทต่อให้มีเครื่องรางของขลังศักดิ์สิทธ์แค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้ จงใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาทแล้วไม่ว่าเรื่องไหนๆ ก็จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ถือเป็นคำสอนที่เรียบง่ายแต่เป็นความจริงที่สุด หลายครั้งที่เรามักประมาทจนทำให้ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ แล้วเราก็เอาแต่โทษปัจจัยภายนอกจนลืมไตร่ตรองไปว่าสิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความประมาทในการใช้ชีวิตของเราหรือไม่ นอกจากเป็นวัดที่เงียบสงบและสวยงามแล้ว ที่วัดพระธาตุหลวงเชียงดาวแห่งนี้ยังมีโครงการที่กำลังจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยชีวิตอีกด้วย เป็นหลักสูตรที่ตั้งใจจะสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ อยู่อย่างมนุษย์ที่ผูกพันและเกื้อกูลต่อกัน ประชาชนทั่วไปที่สนใจก็สามารถมาร่ำเรียนกันได้โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปีครึ่งหลังจากจบหลักสูตรจะได้ประกาศนียบัตร ถือเป็นโครงการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนทั่วไปอย่างมาก










  • จากนั้นพี่อ้วนก็พาเราไปดูสวนปลอดสารพิษของเพื่อนสายเลือดอินทรีย์เหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่เพื่อนของพี่อ้วนนั้นไม่อยู่ที่สวน เราจึงทำได้เพียงเข้าไปสำรวจผิวเผิน ได้เห็นการต่อระบบน้ำจากปะปาภูเขามาไว้ใช้สำหรับการทำสวน การเลี้ยงไก่เหนือบ่อที่ขุดเป็นธารน้ำโดยมีเจ้าปลาน้อยใหญ่กำลังกินอาหารที่เล็ดลอดลงไปจากเล้าเจ้าไก่ นอกจากนี้พื้นที่ว่างในธารน้ำก็ยังดูใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยกันปักต้นข้าวลงไป เรียกว่าใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ที่น่าทึ่งก็คือระหว่างทางที่ไปสวนนั้นต้องข้ามผ่านแม่น้ำและเส้นทางที่เราใช้ไม่ใช่สะพานหรือถนนเพื่อข้ามแม่น้ำ แต่เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านแม่น้ำไปเลย ใช่แล้วตัดผ่านแม่น้ำไปเลย แม้จะเป็นระยะสั้นๆ ไม่กี่เมตรแต่ก็ทำให้ดวงตาเราลุดโชนขึ้นมาเลยละ





    พี่อ้วนบอกว่าด้วยความสามัคคีและร่วมใจกันของชาวบ้านทำให้ระหว่างที่เราขับรถไปที่วัดบ้านหลวงมองเห็นภาพกลุ่มชาวบ้านใต้ร่มสีสันสดใสกำลังช่วยกันลงแขกบนที่นาอย่างขมักขเม้น นับเป็นภาพที่หายากมากสำหรับเรา ด้วยความกลมเกลียวนี้เองพี่อ้วนบอกว่า งบสหกรณ์หมู่บ้านแห่งนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 49 ล้านแล้วจาก 1 ล้าน ถือเป็นการประสบความสำเร็จที่ใช้ได้เลยทีเดียว กิจการหลักๆ ของคนในชุมชนก็คือ การทำไร่ และไม่น่าเชื่อว่าที่ชุมชนบ้านหลวงแห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตสำคัญของมะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมันฝรั่งที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ชาวบ้านที่นี่ทั้งขยัน ร่วมใจ และช่วยเหลือกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเฉลี่ยของความสุขนั้นกระจายไปในทุกๆ บ้านเท่าๆ กัน

    เรามาถึงวัดบ้านหลวงกันช่วงเกือบเที่ยงวัน ที่วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 700 ปีถึง 2 องค์ หลวงพี่เล่าให้ฟังว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์แรกที่พบนั้นพบที่สบห้วยหรือบริเวณที่ห้วยน้ำสองห้วยมาบรรจบกัน โดยพระพุทธรูปรูปนี้โผล่ขึ้นพ้นน้ำครึ่งท่อน เมื่อชาวบ้านเห็นจึงได้อัญเชิญมาที่วัดบ้านหลวง ระหว่างทางนั้นปรากฎว่าฝนตกหนักมากจึงตั้งเรียกท่านว่า "พระหมื่นฝน" หากปีไหนแห้งแล้งฝนตกน้อยก็จะมีการอัญเชิญท่านแห่ไปทั่วหมู่บ้านเพื่อขอให้ประทานฝน อย่างช่วงที่เราไปถึงก็มีฝนตกลงมาปรอยๆ เช่นกัน


    ระหว่างขากลับพี่อ้วนพาเราไปแวะที่สวนของผู้ใหญ่ที่นับถือ เป็นสวนเสาวรสบนเนื้อที่ไม่ถึงหนึ่งงาน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นที่มาของเจ้าเสารส รสหวานอมเปรี้ยวสีเหลืองสดใส การปลูกเสารสนั้นลักษณะคล้ายกับองุ่น คือต้องทำเป็นร้านขึ้นไปให้ต้นได้เลี้ยวพันชูชันขึ้นไป ก่อนจะออกดอกแตกผลห้อยลงมาตามแรงโน้มถ่วงนับสิบนับร้อยลูก เราเห็นผลเสาวรสสีเขียวนับร้อยทอดยาวไปทั่วทั้งไร่น่าประทับใจสวยไม่แพ้ไร่องุ่นเลย ถือว่าเป็นพืชที่ปลูกง่ายและให้ความสวยงามได้ดีทีเดียว


    ก่อนที่พี่อ้วนจะปิดทริปของวันนี้ เราก็ได้มีโอกาสแวะไปที่สวนขนาด 2 ไร่ของพี่อ้วน ที่มาก็แสนซับซ้อนเนื่องจากสมัยก่อนมีนายทุนมากว้านซื้อที่ระแวกนี้จนเกือบหมด ด้วยระบบอำนาจ ความเกรงใจและการไม่มีความรู้เพียงพอทำให้ชาวบ้านหลงกลจำต้องขายที่ของตนไป จากนั้นนายทุนก็ออกมาประกาศขายในราคาแพงเพื่อทำกำไร สมัยนั้นพระครูวรวรรณวิวัฒน์เล็งเห็นปัญหาจึงได้ขอความช่วยเหลือจากโยมเพื่อนชาวสิงคโปรให้ออกทุนซื้อที่ดินคืนมา จากนั้นก็แบ่งเป็นสัดส่วนผืนละ 4 ไร่ ออกขายในราคาที่ไม่แพงและให้สิทธิ์กับเจ้าของเดิมในการซื้อเป็นอันดับแรก เพื่อปกป้องผืนดินเดิมให้กับคนในชุมชน เป็นเรื่องราวที่ทำให้เรานึกสงสัยขึ้นมาว่า เหตุใดพระครูถึงได้ต้องทุ่มเทเเรงกายขนาดนี้ ก็ได้คำตอบจากพี่อ้วนว่าท่านพระครูเกิดและโตที่นี่ แถมตอนนี้ท่านยังบริจาคที่ดินซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านให้ชุมชนเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ภูมิปัญญาบรรพชน ที่มีวัตถุโบราณ พระเจ้าอินสานอายุกว่า 100 ปี รวมของของฝากและของที่ระลึก สินค้าโอทอปของชุมชนอีกด้วย


    ที่ไร่ของพี่อ้วนมีร้านเสาวรสที่เพิ่งปลูกได้ไม่นานเรียงแถวกันขนาบถนนเส้นตรงเล็กๆ ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนสลับกับต้นมะม่วงอายุสองขวบกว่าๆ เล้าไก่เล็กๆ ที่สามารถเก็บไข่กินได้ทุกวัน บ่อกบที่เลี้ยงไว้สำหรับขายและกินเอง บ่อน้ำมีปลานิลตัวจ้อยแวกว่ายไปมา และบ้านสวนหลังน้อย ถูกแบ่งสรรค์ปันส่วนบนพื้นที่แห่งนี้ แม้จะยังดูไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่แต่ก็ลงตัวในแบบที่เหมาะกับเจ้าของ พี่อ้วนเล่าว่า สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ การจะลงมาทำเกษตร เป็นเกษตรกรเต็มรูปแบบนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทายอย่างมาก หากใครที่ทำได้ก็ถือว่ามีความอดทนมุ่งมั่นดีมาก แต่หากใครทำไม่ได้ก็จะถอนใจไปเสียก่อน เพราะสิ่งที่ต้องเจอในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เหมือนฝัน ไม่ใช่ชีวิตสโลว์ไลฟ์แบบที่คิดๆ กัน เพราะฉะนั้นอย่างพี่อ้วนเองก็เลยต้องทำงานรับจัดสวนด้วย มีเวลาจึงจะเข้าสวน แต่ก็ทำอย่างเต็มที่ ศึกษาและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง



    เราต้องวางสมดุลให้กับชีวิต การมีความหวัง ความฝันเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องมองเห็นเป้าหมาย ไม่งั้นความฝัน ความหวังเหล่านั้นก็จะกลายเป็นความเพ้อเจ้อ นอกจากนี้การมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมถือเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้จะบอกว่าเรารักสันโดษ ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงเราต่างต้องพึ่งพากัน ไม่มนุษย์กันเองก็เป็นสัตว์ต่างๆ หรือไม่เว้นแม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ผืนดิน ลำธาร ทุกอย่างนั้นเชื่อมถึงกัน หากเราไม่มีจิตใจที่นึกถึงผู้อื่น สังคมรอบตัวเราคงไม่น่าอยู่อีกแล้ว 

    ครึ่งวันที่ชุมชนบ้านหลวงทำให้เราได้อะไรกลับไปมากมาย ที่นี่อาจไม่ใช่สถานที่ที่มีธรรมชาติตระการตา แต่การได้มาที่นี่ทำให้หัวใจของเราชุ่มชื่นขึ้น การได้เห็นชุมชนที่กลมเกลียวสามัคคีกัน ได้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การผสมผสานชีวิตของคนกับธรรมชาติ และได้รู้ว่าที่นี่ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจกับชุมชน ยิ่งทำให้เรารู้สึกประทับใจหมู่บ้านเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยความยิ่งใหญ่สมกับชื่อ "ชุมชนบ้านหลวง"
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in