เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JOY ON JAPANSALMONBOOKS
01: Living a Japanese Life ฉันจะไปอยู่ญี่ปุ่น
  • ผมนั่งดื่มด่ำกับเช้าวันอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิที่แสงแดดอันสดใสสาดส่องเข้ามาในห้องนั่งเล่นที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรที่เกินความจำเป็นอยู่ในห้อง การนั่งจิบกาแฟที่ผ่านการคั่วโดยมาสเตอร์แห่งร้านกาแฟเล็กๆ แต่ดังในหมู่นักดื่มกาแฟจากย่านอะโอะยะมะ พร้อมกับการชื่นชมดอกซากุระที่เบ่งบานอยู่ด้านนอกช่างทำให้เช้าวันอาทิตย์ดูสวยงามขึ้นมาจับใจ ผมหยิบเสื้อแจ๊คเก็ตเรียบๆ ของมูจิ เดินไปหยิบจักรยานโตเกียวไบค์ ใส่รองเท้าโอนิซึกะไทเกอร์ ตั้งใจจะไปปั่นจักรยานเล่นแถวคลองรอบๆ โตเกียวสกายทรี สูดอากาศอันสดชื่นให้อิ่มปอดแล้วค่อยกินมื้อเที่ยงให้อิ่มหนำ


    เอ่อ ไม่ต้องงงไปครับ คุณอ่านหนังสือถูกเล่มแล้ว ข้อความข้างต้นถูกเขียนโดยผมเอง เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงสิ่งที่ผมอยากทำถ้าเกิดได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งถ้าใครมีความคิดคล้ายๆ ผมอยู่ ขอบอกว่าเราเป็นเพื่อนร่วมความฝันกันครับและบางทีอาจเป็นความฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงเลยก็ได้

  • ขอวีซ่าหนูเถอะ


    การจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ยากรากเลือด เอาง่ายๆ แค่จะไปเที่ยว บางคนยังโดนปฏิเสธวีซ่าที่สนามบินจนอดเข้าประเทศ หรือต่อให้เขามีระยะเวลาเที่ยวได้สามเดือน แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่เต็มระยะเวลากันไม่ได้หรอกครับ ยกเว้นแต่จะสมัครเรียนโรงเรียนสอนภาษาระยะสั้นเพื่อให้ได้ใบรับรองถึงจะได้อยู่แบบอิ่มหนำ

    แล้วถ้าอยากอยู่ยาวกว่านั้นล่ะ ต้องทำอย่างไร?

    คำตอบคือ ทำเรื่องขอวีซ่าระยะยาวครับ ซึ่งการจะได้มานั้นต้องมีใบรับรองสถานภาพการพำนักในประเทศญี่ปุ่นที่เขาจะออกให้ก็ต่อเมื่อเราไปทำงาน แต่งงานกับคนญี่ปุ่น หรือไปเรียนมีวิธีไหนที่เข้าเค้ากันบ้างมั้ยครับ?

    ในที่นี้ ผมขออนุญาตพูดถึงเคสที่ง่ายที่สุดอย่างการไปเรียนแล้วกันนะครับ เพราะน่าจะง่ายกว่าสองอย่างแรกมากพอสมควร

  • ระบบวางแผนข้ามปี


    ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่าคนญี่ปุ่นชอบทำอะไรเป็นระบบเป็นขั้นตอน ขนาดแผ่นดินไหวยังรอคิวรับน้ำซื้อของกันอย่างเรียบร้อย (ถึงก๊อดซิลลาบุก คนญี่ปุ่นก็อาจจะค่อยๆ เข้าคิวกันลงจากตึก) การสมัครไปเรียนภาษาก็ต้องทำตามระบบ ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียน แต่ใช่ว่าจะสมัครตอนไหนก็ได้ เขาเปิดรับแค่ช่วงเมษายนกับตุลาคม (บางที่อาจเปิดรับช่วงมกราคมกับกรกฎาคม หรือรับทุกสามเดือนนั่นแหละ) ซึ่งถ้าคิดจะไปเรียนจริงๆ ก็ต้องยื่นเอกสารล่วงหน้าประมาณครึ่งปี โดยถ้าเราสนใจจะเรียนที่ไหน เราต้องเช็กกับเขาก่อนว่ายังรับสมัครหรือเปล่า (บางโรงเรียนนี่เต็มข้ามปีเลยนะครับ) จากนั้นก็ถึงเวลากรอกใบรับสมัคร อันได้แก่ ใบสมัครเข้าเรียน ใบประวัติส่วนตัว และใบรับรองการค้ำประกัน

    ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรยาก แต่เอาเข้าจริง ใบพวกนี้ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงคนต่างชาติเท่าไหร่ เช่น ใบประวัติส่วนตัวที่มีช่องให้กรอกแต่ละอย่างแค่นิดเดียว เพราะคนญี่ปุ่นเวลาเขียนแบบคันจิมันจะไม่กินพื้นที่มาก แต่พอคนไทยเขียนเท่านั้นแหละ แหกกรอบทุกครั้ง แถมเอกสารพวกนี้ก็ชอบให้เรากรอกรายละเอียดที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำไมหลายต่อหลายอย่าง เช่น ประวัติการศึกษาที่ต้องกรอกตั้งแต่สมัยเรียนประถม เพราะเขามีเงื่อนไขว่า จะเรียนภาษาได้ต้องผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานมา 12 ปีก่อน แล้วจะใส่แค่ชื่อโรงเรียนเฉยๆ ก็ไม่ได้นะครับ ต้องกรอกปีที่เข้าเรียน ปีที่เรียนจบ แถมยังบอกว่าเรียนที่เดียวกันหกปีเลยก็ไม่ได้อีก ต้องเขียนทีละครั้งว่ามัธยมต้นเรียนที่ไหน มัธยมปลายเรียนที่ไหน และที่สำคัญต้องมีเอกสารของสถาบันการศึกษามายืนยันด้วย (ดีหน่อยที่เอาแค่สถาบันการศึกษาสุดท้าย)
  • นอกจากนั้นก็ต้องกรอกประวัติการเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาอื่นที่อ่านออกเขียนได้ ประวัติการทำงาน เหตุผลที่ต้องการไปเรียน ซึ่งอันหลังนี่ต้องเขียนเป็นเรียงความภาษาญี่ปุ่นด้วยนะครับ แต่ถ้าภาษาญี่ปุ่นใครยังไม่แข็งแรงเขาก็อนุโลมให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้

    ยังไม่หมดนะครับ การจะสมัครเรียนได้ก็ต้องมีใบรับรองการค้ำประกันอีก ซึ่งอันนี้ต้องให้ผู้ค้ำเป็นคนกรอก เพราะเขาอยากรู้ว่าใครเป็นคนออกเงินให้เราไปเรียน มีความสามารถในการส่งเสียจริงมั้ย โดยเขากำหนดเอาไว้ว่าผู้ค้ำต้องเป็นญาติหรือสามีภรรยาเท่านั้น และจะโกหกก็ไม่ได้ เพราะเขาให้ส่งหลักฐานไปยืนยันด้วยว่าเป็นญาติกับเราจริงๆ

    การกรอกเอกสารพวกนี้อาจดูเหมือนว่าน่าเบื่อ แต่ถ้าเลือกจะไปอยู่ในสังคมเขาแล้ว ผมรับประกันเลยว่าต้องเจอแบบนี้อีกหลายหน เพราะที่ญี่ปุ่นเขาไม่นิยมพิมพ์เอกสารสำคัญในคอมพิวเตอร์ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ เวลากรอกต้องมีสตินะครับ เพราะเขาจุกจิกถึงขนาดว่าห้ามเขียนผิด ห้ามขีดฆ่า ห้ามลบ ดังนั้น ถ้าผิดจุดเดียวก็เขียนใหม่โลดครับ

    แม้จะส่งล่วงหน้าไปนาน แต่กว่าจะรู้ผลว่าได้เรียนมั้ยก็ก่อนเปิดเทอมแค่เดือนเดียว เพราะโรงเรียนพวกนี้จะใช้เวลาในการพิจารณาเอกสารค่อนข้างนาน ซึ่งถ้าเกิดว่าผ่าน เราก็จะได้ใบรับรองสถานภาพการพำนักในประเทศญี่ปุ่นเพื่อไปรับวีซ่าตัวจริง และได้ไปอยู่ญี่ปุ่นสมใจ
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือน


    เมื่อผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง เราก็จะได้บัตรหนึ่งใบซึ่งสำคัญมากคือ บัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าว หรือ Alien Registration Card 

    การได้บัตรประจำตัวฯ ทำให้เราไม่ต้องใช้พาสปอร์ตเป็นเอกสารแทนตัว สามารถพกบัตรใบนี้แทนได้เลย

    นอกจากนี้ก็ต้องไปทำประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Insurance ซึ่งผมคิดว่าดีมากๆ เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติอยู่ได้อย่างสบายใจ เวลาไปโรงพยาบาลก็จ่ายค่ารักษาแค่ 30% แต่ก็ต้องแลกมากับการจ่ายเงินค่าประกันทุกเดือน ซึ่งไม่มีอัตราที่แน่นอนนะครับ แต่ละท้องที่มีเรตต่างกันไป และมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวกำหนด โดยเราสามารถเช็กค่าใช้จ่ายพวกนี้ได้คร่าวๆ ที่เว็บ kohuko-keisan.com ซึ่งผมลองกรอกว่า อายุไม่เกิน 39 ปี มีรายรับต่อปีสามล้านเยน ไม่มีครอบครัว ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ เทียบกันระหว่างนาโกย่า (ถิ่นเก่า) กับชินจูกุ พบว่าต้องจ่าย 203,526 เยน และ 165,297 เยน
    ต่อปี ซึ่งคิดเป็นเงินไทยแล้วต่างกันเป็นหมื่นบาทเลยนะครับ

    อาจมีคนสงสัยว่าถ้าจ่ายไม่ครบแล้วเป็นอะไรมั้ย บอกตามตรงว่าเพื่อนคนไทยที่ได้ไปเรียนที่นั่นเหมือนกันก็ขาดส่งหลายคนครับ แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แถมก็กลับไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ตามปกติ ซึ่งผมเดาเอาว่าอาจเพราะเป็นคนต่างชาติเขาเลยไม่อยากเอาเรื่องเราเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นแล้วดันไม่ส่งเงินก็จะส่งผลต่อเบี้ยบำนาญที่เราควรได้ในอนาคตครับ
  • หาที่สิง


    ปกติแล้ว ถ้าไปเรียนภาษา โรงเรียนก็จะมีที่พักไว้ให้ แต่ถ้าใครอยากอยู่ตัวคนเดียว ต้องการเช่าที่พักอยู่เองก็เป็นไปได้ยากนะครับ โดยเฉพาะอพาร์ตเมนต์ที่นอกจากจะต้องจ่ายค่าแรกเข้าเยอะแล้ว ยังต้องมีชาวญี่ปุ่นหรือคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นค้ำประกันให้ด้วย ซึ่งถ้าไปใหม่ๆ ก็อาจหาได้ลำบากแน่ๆ

    แต่ถ้าทำทุกอย่างได้เรียบร้อยแล้ว อีกเรื่องที่ควรเช็กก็คือเรื่องระยะทางจากที่พักไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน เพราะบางคนอาจหาแต่ที่พักราคาถูก จนลืมดูว่าต้องนั่งรถกี่สายกี่ต่อ ใช้เวลาเท่าไหร่ หรือพวกที่บอกว่าเดิน 10 นาที จักรยาน 20 นาทีก็อาจต้องถามเขากลับก่อนว่าความเร็วระดับ ยูเซน โบลต์ หรือเปล่า เพราะถ้าเกิดมันไกลขึ้นมา บ้านเขาไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ให้นั่งนะครับ ต้องเดินลูกเดียว

    เรื่องการใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนบ้านชาวญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แม้เวลาปกติจะต่างคนต่างอยู่ แต่ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นก็ควรไปทำความรู้จักเพื่อนบ้าน ด้วยการแนะนำตัวและเอาของฝากเล็กๆ น้อยๆ แบบของใช้ในชีวิตประจำวันไปให้เขา ซึ่งเวลาแนะนำตัวมอบของ ก็ต้องบอกด้วยว่าเป็นของเล็กน้อยไร้ค่า พูดจาถ่อมตัวแบบที่ชาวญี่ปุ่นชอบทำกัน

    นอกจากนั้นก็ต้องระวังจะไปสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านนะครับ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์หรือหอพักต่างๆ เพราะเสียงมันทะลุถึงกันง่ายมาก และต่อให้เวลาปกติเป็นคนขี้เกรงใจ แต่พอถึงเวลาที่เขาได้รับผลกระทบ คนญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะทวงคืนความสงบด้วยการมาโวยวายใส่เราหรือแจ้งตำรวจให้มาเตือนได้

    พูดถึงตำรวจแล้วก็ขอเสริมนิดนึงว่า เดินอยู่ดีๆ คุณมีโอกาสถูกตำรวจเรียกให้หยุดเพื่อขอดูของที่พกได้นะครับ ตัวผมยังไม่เคยโดน (เดาว่าเพราะหน้าตากลมกลืนกับคนญี่ปุ่น) แต่พวกเพื่อนชาวอินโดฯ เนปาล หรืออเมริกันล้วนโดนมาหมดแล้ว ซึ่งถ้าโดนเรียกก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเขาแค่อยากเช็กเฉยๆ ว่าเรามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เกิดไปอึกๆ อักๆ ทำตัวลับๆ ล่อๆ นี่มีสิทธิ์ถูกจับไปสอบสวนโดยไม่ได้ทำผิดได้
  • ระเบียบรัด


    การอยู่อาศัยในญี่ปุ่นอาจทำให้เราต้องเจอกับระเบียบจุกจิกหลากหลายอย่าง ตัวอย่างง่ายสุดก็เรื่องการทิ้งขยะ 

    พอเราไปขึ้นทะเบียนที่เขต เขาจะให้ปฏิทินบอกว่าวันไหนเก็บขยะอะไรบ้างมาให้ ซึ่งเราก็ต้องทิ้งให้ตรงวัน ไม่ใช่ว่าจะเอาไปกองที่จุดทิ้งวันไหนก็ได้ โดยเฉพาะขยะเปียก ที่ถ้าเราเอาไปกองไว้นาน ก็จะมีอีกา มีแมวจรจัดมาคุ้ยเขี่ยจนเลอะเทอะ ดังนั้นเราก็ต้องตื่นแต่เช้าเอาไปวางทิ้งไว้ก่อนรถจะมาเก็บ แถมเขายังจุกจิกถึงขนาดกำหนดว่าต้องใช้ถุงขยะแบบเดียวกันทั้งเขตและแยกประเภทถุงสำหรับขยะเผาได้หรือเผาไม่ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ถุงที่ทางการกำหนดให้ เขาก็จะไม่เก็บไป ง่ายๆ แค่นั้นเอง

    ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะทิ้งขยะดีมั้ย เพราะการทิ้งแต่ละครั้ง เราก็ต้องเสียเงินค่าถุงไม่ใช่น้อย แถมถ้าเป็นพวกขยะชิ้นใหญ่หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องไปซื้อสติ๊กเกอร์จากเขตมาแปะที่ตัวขยะ คนญี่ปุ่นเลยไม่ค่อยอยากทิ้งของเหล่านี้ บางคนก็เอาไปขายมือสอง บางคนก็ส่งบริจาค

    อ้อ ส่วนคนที่คิดจะเอาขยะไปโยนรวมกับถังขยะร้านสะดวกซื้อหรือทิ้งโดยไม่สนใจวันก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ควรทำนะครับ อาจโดนเพื่อนบ้านเขม่นหรือถูกประณามจากสังคมได้เลยล่ะ
  • ได้อยู่กับสิ่งที่รัก


    ผมเชื่อว่าหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนอยากไปญี่ปุ่นคือ ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก เช่น ได้ดูอนิเมะสดๆ ได้อ่านมังงะออกใหม่ หรือได้ใช้ชีวิตแบบ ‘ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น’ อย่างที่ผมเขียนไปในย่อหน้าแรก

    จริงๆ แล้วถ้าหวังจะเสพสิ่งบันเทิงเหล่านั้น อยู่ไทยอาจจะได้เสพเร็วกว่าอีก ยกตัวอย่างพวกมังงะที่ทุกวันนี้คอการ์ตูนอาศัยอ่านจากเว็บสแกนของเถื่อนกัน ไปๆ มาๆ มันออกเร็วกว่าที่วางแผงจริงอีก สมมติญี่ปุ่นขายวันจันทร์ พวกเว็บสแกนปล่อยให้อ่านตั้งแต่วันพฤหัสฯ ก่อนหน้า ซึ่งเดากันว่าคงหลุดไปตอนที่ต้องส่งต้นฉบับไปให้ชาติอื่นแปลเพื่อวางขายพร้อมๆ กันนั่นแหละ (แต่จะว่าไปมันก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เอาเป็นว่ารอของแท้ที่ถูกลิขสิทธิ์ก็จะดีกว่าครับ)

    พวกความบันเทิงอื่นๆ อย่างอนิเมะ หลายเรื่องดูเวลาฉายแล้วหนักใจครับ บางเรื่องมาตีสาม บางเรื่องฉายหกโมงเช้า เห็นเวลาแล้วก็ขอลาดีกว่า หรืออย่างขาโหลดของเถื่อน ถ้ามาอยู่ญี่ปุ่นก็ต้องระวังหน่อย เพราะที่นี่เขาค่อนข้างเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์ มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง โหลดอยู่เพลินๆ อาจโดนตำรวจมาเคาะประตูถึงห้องพักได้

    ส่วนการใช้ชีวิตชิลๆ ชิคๆ อย่างที่ผมเขียนไว้ในย่อหน้าแรก ก็อาจเป็นไปได้นะครับ แต่คงต้องเป็นหลังจากปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมได้ก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้แหละที่ยากเหลือทน บางคนกว่าจะปรับตัวได้ก็วีซ่าหมดต้องกลับเมืองไทยพอดี

    จบกันชีวิตในฝัน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in