เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#จะพูดอะไรวะลืมพรี่หนอม
เลือกชีวิตที่ได้ใช้ มากกว่างานที่ได้แค่รัก?

  • พี่ๆ ผมควรจะถามคำถามนี้เขาไหม?
    พี่ค้นหาตัวเองยังไง?
    หนูคิดดีแล้ว  หรือเปล่าวะ?


    ปลายปีแบบนี้... มีน้องๆ 2-3 คนมาปรึกษาเรื่อง "การเปลี่ยนงาน" กับเราอยู่บ่อยๆ ซึ่งมันย้อนแย้งตรงที่ว่า เราดันเป็นมนุษย์ที่เปลี่ยนงานมาเพียง 2 ครั้งในชีวิตการทำงาน 15 ปี (มึงคิดถูกเหรอวะที่มาปรึกษากู?)


    แต่ในฐานะที่เราพอมีโอกาส และค่อนข้างโชคดีได้ทำงานหลายๆอย่างหลายๆด้าน เลยถือโอกาสแนะนำบางอย่างให้กับน้องๆไป หลังจากนั้นเลยตัดสินใจเขามาแบ่งปันในพื้นที่ตรงนี้บ้าง เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับใครที่ได้อ่านมันครับ


     - จงเลือกงานที่มีความหมายกับคนอื่น -


    ช่วงหนึ่งของชีิวิต เราเคยคิดว่างานที่ดี คือ งานที่สร้างคุณค่าให้กับเรา งานที่ทำให้เราได้เพิ่มความสามารถ ได้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น ได้ค้นพบตัวเองต่างๆ ฯลฯ แต่พอเราเดินทางมาถึงจุดนึงของชีวิต เรากลับรู้สึกว่า คุณค่าที่เราได้มันไม่มีความหมายเท่ากับสิ่งที่คนอื่นได้รับ

    คำพูดนี้อาจจะดูสวนกระแสในโลกธุรกิจที่แข่งขันและขับเคลื่อนด้วยความเร็ว แต่เราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จในงานนั้น มันไม่ใช่ความสามารถที่เพิ่มขึ้น มันไม่ใช่ความสุขที่เรารู้สึกว่ามี ไม่ใช่ความเก่งกาจที่ล้นปรี่ แต่มันคือ “คุณค่า”ที่เราส่งผ่านไปให้กับคนอื่น

    ตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า “คุณค่า” 
    แตกต่างกับคำว่า "ความสามารถ" อย่างไร? 

    เราคิดว่า "คุณค่า" คือสิ่งที่สร้างให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่เขาต้องการ แต่ "ความสามารถ" มันเป็นแค่เปลือกที่เราเอามากล่าวอ้างในการเลือกที่จะสร้างอะไรบางอย่างให้กับตัวเองแค่นั้น

    ทุกวันนี้ ... เราเห็นคนเก่งที่ไม่สร้างคุณค่าอยู่ 2 ประเภท คนเก่งที่เก่งจริงๆแต่พยายามผูกขาดความเก่งเอาไว้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตัวเองมากขึ้น กับคนเก่งอีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่รู้ตัวว่า ตัวเองนั้นไม่เก่งพอที่จะส่งมอบคุณค่าให้กับคนอื่น

    เพราะงานที่มีความหมายกับคนอื่นนั้น
    มันจะทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้นโดยปริยาย



    - จงเลือกงานที่ทำให้เรามีสติ -

    สำหรับเราแล้ว “สติ” เกิดจากการพักผ่อนที่เพียงพอ
    และการมีเพื่อนร่วมงานที่ดีพอจะช่วยดึงมันเอาไว้ในยามที่เราขาด


    เรามักได้ยินคำกล่าวทำนองว่า “จงทำงานหนัก” ซึ่งในแง่หนึ่งมันถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการเพิ่มประสบการณ์ในงานนั้นๆ แต่งานหนักที่ว่านี้อาจจะทำให้เราขาดสติได้ ถ้าหากเราไม่เหลียวมอง "ผลลัพธ์" ที่ผ่านมาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

    บางครั้ง... เราอาจจะต้องนั่งลง และใช้เวลาถามตัวเองซ้ำๆว่า 6 เดือนที่ผ่านมา 1 ปีที่ผ่านไป ไอ้สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันสร้างผลงานอะไรออกมาบ้าง เพราะถ้าหากงานของเราไม่มีทั้งผลลัพธ์ที่ดี (รายได้ที่เพิ่มขึ้น,ชิ้นงานทีมีคุณภาพ, หรือแม้แต่คุณค่าต่อคนอื่น) นั่นแปลว่าการทำงานหนักของเราเป็นแค่คำกล่าวอ้างของคนที่ไร้ประสิทธิภาพเท่านั้น

    ส่วน “เพื่อนร่วมงานที่เหมาะสม” นั้น เราว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกองค์กรที่จะทำงานด้วย นอกเหนือจากบรรยากาศที่ดีในการทำงานเพียงอย่างเดียว 

    "ความคิดเห็นที่แตกต่าง" ในบรรยากาศที่ดีพอสมควรจะเป็นตัวช่วยพัฒนาสติของเรา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะเลือกคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกัน หรือมองอะไรในทิศทางเดียวกัน และเรายังยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ดีถ้าหากเส้นทางนั้นคือสิ่งที่ “ถูกต้อง” 

    แต่ถ้าหากผิดที่ผิดทางขึ้นมา ทำนองเดียวกันกับคำว่า "เลือกผู้นำโง่" หรือ "ทำงานผิดกับความถนัด" องค์กรที่เราทำอยู่คงจะลอยแค่มวลหมู่แห่งความฟุ้งและความฝัน และสุดท้ายเราคงเมามันกับการไร้สติกันต่อไป

    ที่เขียนแบบนี้ เพราะเรามองว่าการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นจำเป็นยิ่งเสียกว่า โอกาสในการคิดพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานต่างๆเสียอีก เพราะการทำงานในสังคมที่คิดเหมือนๆกัน ความคิดสร้างสรรค์ของเรามักจะได้รับการยอมรับอยู่เสมอ จนทำให้เราอาจจะหลงละเมอไปกับภาพลวงแห่งความสำเร็จกันมากเกินไปว่าเรานั้นได้พัฒนาและสร้างสรรค์อะไรดีๆ ทั้งที่จริงๆ มันเป็นกลลวงแห่งความว่างเปล่าเท่านั้น


    การมี “สติ” จะช่วยให้เราทำงานหนักอย่างมีคุณค่า 
    และช่วยให้เรารับฟังความแตกต่างของความคิดเห็น

     

    - อย่าก่นด่าที่ๆเราลาจากมา -


    "เราจะรู้ว่าคนๆนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราหยิบยื่นอำนาจให้เขา" เป็นคำกล่าวเช่นเดียวกันกับคำว่า "เราจะรู้ว่าคนๆนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราไร้ประโยชน์สำหรับเขา" แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นเพียงในแง่หนึ่งของวาทกรรมเท่านั้น

    ถ้อยคำสวยๆ และ วาทกรรมดีๆที่ห่อหุ้มใครสักคนหนึ่ง เปรียบเหมือนภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีภายนอกแต่โครงสร้างภายในปรักหักพังไปเรียบร้อยแล้ว 

    เหตุผลของการเปลี่ยนงานที่ใช้เหตุผลว่า เพราะทำงานที่เก่าไม่ดีแบบนั้น แย่แบบนี้ มันสะท้อนได้ดีว่าถ้าวันหนึ่งเราได้เปลี่ยนไปอยู่ที่แห่งใหม่ เราอาจจะพูดด้วยถ้อยคำเดิมเช่นเดียวกัน

    "ที่ใหม่ อะไรก็ดีกว่าที่เก่า" เพราะมนุษย์เราจะรู้สึกดีเสมอ เมื่อได้ออกจาก Comfort Zone มาสักระยะ และถ้าหากสถานที่แห่งใหม่นั้นมีสภาพการทำงานที่เอื้ออำนวยความมีตัวตนของเราแค่ไหนเรายิ่งสุขใจและคิดว่ามันคือที่ๆใช่สำหรับเราไปโดยปริยาย

    แต่อย่างที่เราเคยบอกไว้นั่นแหละ “ไม่มีการกระทำใดๆที่ไร้ประโยชน์” ดังนั้นอย่าลืมด้วยว่า อย่างน้อยสถานที่เก่าที่เราจากมานั้น มันช่วยสร้างให้เรากลายเป็นอยู่อย่างในทุกวันนี้ และมันทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ


    มาถึงตรงนี้... เรามีอีกหลายข้อที่อยากจะเขียนต่อ แต่เราคิดว่าสิ่งที่สอนคนอื่นได้ดีนั้น คงไม่ใช่คำพูดหรืองานเขียนพร่ำเพร้อแบบนี้เพราะมันเป็นเพียงมุมมองของคนที่เข้าใจโลกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง 

    เราควรปล่อยให้เขาได้ใช้ประสบการณ์ชีวิต และเรียนรู้มันด้วยตัวเอง เพราะชีวิตที่มีความหมายนั้นมันไม่ใช่จมอยู่กับการเลือกใช้ชีวิตแบบเปลือกๆ แต่มันคือการเข้าใจชีวิตถึงแก่นของมัน



    และเราเองยังไม่กล้าพอที่จะไปสอนสั่งใคร  :)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in