เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
movie night munchies180.626.099
The Platform (2019) ผลกระทบอันเลวร้ายของทุนนิยมในรูปแบบคุกแนวตั้ง

    • ทรัพยากร ทุนนิยมและชนกรรมาชีพ

               หากเปรียบอาหารเป็นได้อย่างทรัพยากร หลุมคงเป็นที่สำหรับชนกรรมาชีพ ระดับชั้นในหลุมนั้นอุปมาได้กับชนชั้นทางสังคม ชั้นศูนย์เปรียบกับชนชั้นนายทุน ผู้มีอำนาจเข้าถึงทรัพยากรและบริหารจัดการมันได้ทั้งหมด ดั่งพ่อครัวที่มีหน้าที่เลือกสรรวัตถุดิบมาปรุงอาหาร ก่อนจะนำสินค้า (Goods) ที่ผลิตได้ลงไปให้กับคนในชั้นล่าง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าผู้คนในครัวไร้ซึ่งความขัดสนข้นแค้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างอิสระ ความอดอยากของคนในชั้นที่ต่ำกว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนมาให้ เพราะอย่างไรก็ดีชนกรรมาชีพยังจำเป็นต้องบริโภคสินค้าที่ตนผูกขาดเอาไว้อย่างเสียไม่ได้

               ด้วยระบบกลไกการทำงานของหลุมนั้นสามารถนำมาเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าผู้คนในชั้นศูนย์เปรียบได้กับนายทุน และผู้คนในหลุมเปรียบได้กับผู้บริโภครวมถึงชนกรรมาชีพที่ไม่มีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างอิสระ โดยคนในชั้นบนเปรียบได้อย่าง Upper Middle Class ผู้ซึ่งมีอภิสิทธิ์ในการเลือกเสพสินค้าได้ตามอย่างใจต้องการ คนในชั้นกลางเปรียบได้กับ Middle Class ผู้มีตัวเลือกไม่มากนักในการเสพสินค้า แต่ก็ยังพอทนอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน และคนในชั้นล่างเปรียบกับระดับ Lower Class หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานประเภทหาเช้ากินค่ำ ผู้ซึ่งทำทุกอย่างเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่รอดในแต่ละวัน

               โดยแนวคิดที่ว่านี้สามารถยืนยันได้จากคำพูดของตรีมากาซีที่กล่าวว่าโกเรงมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ เมื่อโกเรงมีความต้องการจะแบ่งอาหารให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อความอยู่รอดอย่างเป็นธรรมของคนในชั้นล่าง และด้วยระบบกลไกการทำงานของหลุม ความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงทรัพยากรได้ไม่เท่ากันที่เกิดขึ้นเองก็เป็นหนึ่งในข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (หรือเรียกได้อีกชื่อคือเสรีนิยม) ด้วย จึงเป็นอีกหนึ่ง Supporting Detail ที่ยืนยันแนวคิดว่าจุดมุ่งหมายของภาพยนต์เรื่องนี้นั้นชี้ประเด็นหลักไปที่ Economic system ได้ดีเลยทีเดียว

               อีกหนึ่ง Disadvantage ของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอีกข้อคือมนุษย์จะถูกแยกออกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอันเนื่องมาจากการแข่งขันและการขัดแย้งกันเองระหว่างผลประโยชน์ที่พึงมี ดังแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ จึงเป็นข้อสังเกตที่ยืนยันการกระทำที่ไร้จริยธรรมของคนในหลุมได้เป็นอย่างดี ดังเช่นการกระทำของตรีมากาซีที่สามารถตัดสายสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกับโกเรงได้อย่างง่ายดายเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก, การภาวนาขอให้คนชั้นบนร่วงหล่นลงมาเพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับตนเอง, รวมถึงการกลั่นแกล้งผู้คนในชั้นด้านล่างด้วยการฉี่ใส่และเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

               อย่างที่เห็นได้ชัดว่าคนในชั้นล่างนั้นไม่มีสิทธิ มีเสียงแม้แต่น้อย พวกเขาใช้เวลาในแต่ละวันในการยืดชีวิตของตัวเองด้วยความหวังว่าสักวันจะมีอาหารเหลือลงมาจากชั้นบน และการดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีชีวิตรอดโดยไม่สนวิธีการหรือจริยธรรม (อย่างเช่นการกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง) เหมือนกับชนชั้นแรงงานที่ถูกระบบทุนนิยมบีบคั้นจนอับจนหนทางให้ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อด้วยการสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการก่ออาชญากรรม เมื่อคิดมาถึงในส่วนนี้แล้ว แนวคิดที่ว่าปัญหาการก่อความไม่สงบของผู้คนในสลัมมีต้นกำเนิดโดยแท้จริงแล้วมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและ Politics ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนจนเกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย

               ซึ่งในอีกมุมมองหนึ่ง ความเบื่อหน่ายในการเลือกกินอาหารของคนในชั้นบน กับความอับจนข้นแค้นจนต้องต่อชีวิตของตัวเองด้วยการกินเพื่อนร่วมห้องเองก็ยังเป็นการยืนยันคำพูดที่ว่าในสังคมแบบทุนนิยม 'คนรวยจ่ายด้วยเงินคนจนจ่ายด้วยชีวิต' ได้ดีทีเดียว

               และด้วยเหตุผลที่ว่าคนในชั้นล่างไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนให้คนชั้นบนได้ (อย่างที่โกเรงเคยพูดกับอิโมกิรีเอาไว้ว่าคนชั้นบนไม่ฟังเราหรอก เพราะเรา Shit ใส่พวกเขาไม่ได้) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของระบบในหลุมเองต้องเริ่มจากคนในชั้นบน ผู้ซึ่งถือครอง Privilege ประกอบกับแนวคิดของอิโมกิรีที่ว่าด้วยเรื่องหากเกิด Spontaneous Solidarity ขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยคนจากชั้นบนนั้นไม่กอบโกยทรัพยากรตามใจตน เลือกบริโภคแค่เพียงเท่าที่จำเป็น ไม่ว่าอย่างไรก็ตามอาหารจะเหลือไปถึงคนในชั้นล่างสุด หรือก็คือเป็นการทำลายกลไกของหลุมอย่างสมบูรณ์เพราะไม่ว่าจะตื่นมาในชั้นไหนก็เหมือนกัน ทุกคนได้รับอาหารอย่างเท่าเทียมกัน / เหมือนอย่างการจัดการทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ที่ทั้งทรัพยากรและรายได้จะถูกแบ่งให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากเกิดการทำลายกลไกขึ้น ผลที่ตามมาจะตรงกับข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ว่าด้วยเรื่องที่ประชาชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรอะไรได้ตามใจ ไม่เกิดแรงจูงใจในการขึ้นไปชั้นบนเพราะไม่ว่าชั้นไหน ๆ ก็ได้รับอาหารเท่ากัน

               การตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างของโกเรงเมื่อเขาตื่นมาอยู่ชั้นหกจึงเป็นการ Prove ข้อสังเกตนี้ได้ดีที่สุด เพราะเขามีอำนาจเข้าถึงทรัพยากรและสามารถบริหารมันทั้งหมดได้ในแบบที่เขาเองทำไม่ได้เมื่ออยู่ในชั้นล่างเขามีสิทธิ มีเสียง สามารถกดขี่เพื่อช่วยเหลืออย่างมีอิสระเพราะมีอำนาจในการครอบครองทรัพยากรที่ยึดมาไว้เป็นของตัวเอง แม้อาจพูดไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักว่าการกระทำของโกเรงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างหมดจด เพราะอย่างที่เห็นว่าเขาและบาฮาเร็ตได้ทำการข่มขู่ กดขี่และทำร้ายผู้คนในชั้นกลางที่มีแนวคิดต่างออกไป แต่ต้องยอมรับเลยว่าแนวคิดและอุดมการณ์อันแรงกล้าที่เขาพึงกระทำอยู่นั้นมีเพื่อคนในชั้นล่างอย่างแท้จริง


    • Don Quixote อัศวินผู้มีอุดมการณ์สูงส่งหรือแค่ชายแก่สติฟั่นเฟือน


    “...แต่ในภวังค์ฝันเฟื่องระหว่างที่สวมบทบาทอัศวินต่างหากล่ะ
    ที่กระตุกมโนธรรมสำนึก ชั่วดีของมนุษย์ให้ตื่นขึ้นมา
    พร้อมกับความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง
    ที่จะโอบอุ้มความเหนื่อยอ่อนของมนุษยชาติ
    ที่จะยอมร่วมทนทรมานไปกับความทุกข์ยากของผองชน
    ที่จะฝันสุดไกล (แม้ไปไม่ถึง) เพื่อโลกใหม่ของทุกคน...”

    — บทคัดย่อของละครเพลง The Man of La Mancha 
    จากบทประพันธ์ชื่อก้องโลกของ Miguel de Cervantes

               การเข้ามาใช้ชีวิตในหลุมนั้น อาสาสมัครสามารถเลือกอะไรก็ได้ (ไม่เจาะจงเฉพาะสิ่งของ) เข้าไปด้วยเพียงหนึ่งอย่าง ซึ่งโกเรงเองเลือกหนังสือวรรณกรรมอมตะอย่าง Don Quixote เข้าไปด้วยความหวังที่ว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบเล่มไปพร้อม ๆ กับการเลิกบุหรี่ และได้ใบปริญญาเป็นของตอบแทนเมื่อออกไปจากที่นี่

               และแน่นอนว่าการผจญภัยของดอนและช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ในหลุมของโกเรงนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราวกับความมุ่งหวังและแนวคิดของโกเรงขึ้นอยู่กับสารและวรรณกรรมที่ตัวเขาเองได้รับการกล่อมเกลาเข้าไป การเดินทางลงไปข้างล่างของโกเรงเองจึงเปรียบได้ดั่งการเดินทางของดอนดังบทประพันธ์ พร้อมด้วยบาฮาเร็ตซึ่งเปรียบได้ดั่งชานโซ เด็กรับใช้ผู้ติดตามดอนไปในทุก ๆ ที่ตลอดการเดินทาง โดยแท่นส่งอาหารเป็นตัวแทนของม้าขาหัก และอุดมการณ์ล้มล้างกลไกของหลุมแทนที่การปกป้องเกียรติยศสตรีทั้งหลาย ดอนนั้นถูกมองว่าเป็นชายแก่เสียสติ เช่นเดียวกับโกเรง (แน่นอนว่ารวมถึงบาฮาเร็ตด้วย) ที่ผู้คนในหลุมต่างมองว่าเขาสติฟั่นเฟือนที่ละทิ้งความสุขสบายในการบริโภคอาหารบนชั้นของตัวเองไปเพื่อประท้วง เรียกร้อง และต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็มองว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้

               ในการผจญภัยประหลาดของดอน เขาได้พิสูจน์ความกล้าหาญด้วยการเข้าจู่โจมกังหันลม ซึ่งถูกเหมารวมอย่างฟั่นเฟือนว่าเป็นยักษ์ชั่วร้าย เปรียบได้กับการที่โกเรงลงมือทำร้ายผู้ไม่ยอมโอนอ่อนตามของผู้คนในชั้นที่เขาขอความร่วมมือในการอดอาหารหนึ่งวัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เกิดประโยชน์ใดพอ ๆ กับการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต หรือก็คือนับว่าเป็นการเสียแรงโดยเปล่าประโยชน์ที่เอาความโกรธไปลงกับผู้คนที่ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เสียเปรียบพอกัน การแย่งชิงอาหารนั้นไม่ได้มีความผิดทั้งหมดอยู่ที่ผู้ช่วงชิง แต่อยู่ที่ระบบเป็นส่วนใหญ่

               แม้ว่าการกระทำของดอนจะโง่เง่า แต่อุดมการณ์อุทิศตนต่อศีลธรรม ความดีงาม และเพื่อนมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่แม้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนเอาไว้ระหว่างทางบ้าง แต่ก็แลกมาด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ที่ถูกโปรยไว้ภายใต้เมล็ดพันธุ์แห่งความไม่เต็มเต็ง และผลผลิตที่ได้มานั้นถูกแสดงออกในรูปแบบการเดินทางของโกเรง อันเกิดจากความบ้าบิ่นของดอนที่ Inspire และซึมซับเข้าไปในความคิดของเขาด้วยการดำเนินวิถีอย่างที่ควรเป็นมากกว่าปล่อยให้เป็นไป


    "...คนดีที่โหดเหี้ยมจะเป็นตัวอย่างชั้นยอดของความชั่ว คนรวยที่ใจดำจะเป็นเพียงยาจก
    การถือครองทรัพย์ไม่ทำให้ผู้มั่งมีสุขใจ เขาสุขใจจากการใช้จ่าย 
    ไม่ใช่การใช้จ่ายตามปรารถนา แต่เป็นการรู้จักใช้จ่ายให้ดีตามที่เขาพอใจ..."

               บทประพันธ์ดังกล่าวที่ถูกยกมากล่าวในตอนจบ เปรียบได้กับการกระทำของโกเรงในหลุมได้อย่างหมดจด ซึ่งสามารถตีความถ้อยคำอันแยบยลดังกล่าวที่ว่าได้ดังต่อไปนี้

    คนดีที่โหดเหี้ยมจะเป็นตัวอย่างชั้นยอดของความชั่ว

               แม้โกเรงจะมีจุดประสงค์ที่ดีในการแบ่งปันอาหารให้กับคนในชั้นล่างเพื่อลดการฆ่าฟันกันมากเท่าไหร่ ก็ลบล้างความโหดร้ายของสิ่งที่เขาแสดงออกต่อคนในชั้นบนไม่ได้ แม้เขาจะมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ที่กำลังล้มตาย แต่ความเด็ดขาดและโหดเหี้ยมของเขาก็ไม่ได้ทำให้มุมมองของคนในชั้นบนที่ถูกทำร้ายเปลี่ยนไป โกเรงเป็นคนดี และในขณะเดียวกันนั้น เขาก็เป็นคนชั่วไปพร้อม ๆ กัน

    คนรวยที่ใจดำจะเป็นเพียงยาจก

               เนื่องจากว่าอาหารในหลุมนั้นไม่สามารถเก็บเป็นสมบัติไว้กับตัวได้ คนรวยในที่นี้คงหมายถึงความสามารถในการกอบโกยทรัพยากรของผู้คนในชั้นบน ดังนั้นคนรวยที่ใจดำจึงหมายถึงผู้ที่แย่งชิงกินอาหารทั้งหมดเท่าที่ท้องของพวกเขาจะรับไหว โดยไม่สนใจว่าผู้คนที่ต้องรอกินอาหารเหลือจากเขาจะได้รับอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ยิ่งมีอำนาจในการช่วงชิงทรัพยากรมากเท่าไหร่ ผู้คนก็จะยิ่งมองว่าเขาเป็นเพียงยาจกที่ช่วงชิงอาหารในส่วนที่คนอื่นควรได้รับมันมากขึ้นเท่านั้น

               และวรรคสุดท้าย

    การถือครองทรัพย์ไม่ทำให้ผู้มั่งมีสุขใจ
    เขาสุขใจจากการใช้จ่าย
    ไม่ใช่การใช้จ่ายตามปรารถนา
    แต่เป็นการรู้จักใช้จ่ายให้ดีตามที่เขาพอใจ

               โกเรงนั้นได้ใช้บทประพันธ์วรรคนี้ในการอธิบายการกระทำของตนเอง แก้ไขข้อสงสัยที่ว่าเขานั้นมีเวลาเหลืออยู่ในคุกเพียงแค่สองเดือน ทำไมถึงอุทิศชีวิตตัวเองกับอุดมการณ์ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ กล่าวคือการมีอำนาจอภิสิทธิ์ในการบริโภคอาหารตามใจนั้นไม่ได้ทำให้โกเรงมีความสุข และถ้าหากเขาจากคุกในหลุมแห่งนี้ไปโดยที่ไม่ได้เริ่มพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรเลยคงเป็นการฝังกลบข้อสงสัยถึงการมีอยู่ของตัวเอง (อย่างที่อิโมกิรีกล่าวไว้ว่าความไม่เสถียรของระบบคงเป็นสาเหตุที่คุณถูกส่งมาที่นี่) การใช้จ่ายในที่นี้จึงเทียบได้กับการแจกจ่ายอาหารให้เพียงพอกับทุกคนในหลุม การกระทำของเขาไม่ใช่การใช้จ่ายตามปรารถนา หากการใช้จ่ายตามปรารถนานั้นหมายถึงการแจกจ่ายอาหารที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือให้กับคนบางคนมากกว่าตามความพอใจ ที่เขาพึงกระทำอยู่นั้นเป็นการแจกจ่ายที่พอดีกับความต้องการในการกินอาหารเพื่อให้พอมีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวัน

    • การมีอยู่มิฮารุ รามเสจที่สอง และพระมหาไถ่

               การปรากฎตัวของมิฮารุ หญิงสาวชาวเอเชียผู้เลือกที่จะลงข้างล่างเพื่อออกตามหาลูกถือว่าเป็นจุดแปรผันที่สำคัญของโกเรง เขาเชื่อจนหมดหัวใจว่าลูกของมิฮารุนั้นมีตัวตนอยู่จริงแม้หญิงสาวจะไม่ได้เป็นคนเอ่ยปากออกมาเองซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหากับการตั้งคำถามเมื่อมิฮารุกลายเป็นแสงไฟเพียงดวงเดียวในหลุมมืดมิดที่เขาอาศัยอยู่อย่างที่เห็นว่ามิฮารุไม่เคยเอ่ยปากถึงลูกสาวด้วยซ้ำ และจากข้อมูลของอิโมกิรี อดีตผู้ทำหน้าที่คัดคนเข้ามาในหลุม ผู้ดูแลระบบนั้นเข้มงวดมากในเรื่องของอายุ ไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีถูกส่งลงมาอยู่ในหลุม รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามิฮารุนั้นตัวคนเดียว ถูกส่งเข้ามาเมื่อสิบเดือนที่แล้ว ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลยที่ในระยะเวลาสั้น ๆ นี้เธอจะตั้งท้องและคลอดเด็กออกมาได้

               มิฮารุนั้นเสียสติอย่างสิ้นเชิงและโกเรงเองก็พร้อมจะเชื่อในคำโกหกที่ถูกบอกเล่าต่อกันมา จุดแตกหักที่ชัดเจนของเรื่องคือการที่มิฮารุลงมือฆ่ารามเสจที่สอง โกเรงพยายามอธิบายถึงการกระทำของเธอว่าเป็นอาหารส่วนของลูกสาว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่อิโมกิรีเริ่มต้นเรียกเขาว่าพระมหาไถ่ บางทีอาจมองได้ว่าสำหรับโกเรงนั้น มิฮารุเปรียบได้กับโมเสส มุมมองของโกเรงที่มีต่อมิฮารุเมื่อแท่นอาหารเลื่อนลงเปรียบได้กับการแหวกทะเลแดงเพื่ออพยพทาส ความตายของรามเสจที่สองเองก็เกิดขึ้นเมื่อโมเสสแสดงอภินิหาร การลงมาข้างล่างเพื่อแจกจ่ายอาหารคือการแสวงบุญตามเส้นทางอันศักดิ์สิทธิ การฆ่าสุนัขพันธุ์ดัชชุนจึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่บอกถึงอุดมการณ์ที่แท้จริงของหญิงสาว

               หากเป็นเช่นนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางของมิฮารุจะชัดเจนขึ้น ไม่ใช่เพื่อตามหาลูกสาว แต่เป็นการสร้างความวุ่นวายเพื่อประท้วงต่อระบบกลไกภายในหลุม ดังเช่นที่โมเสสสร้างความชุลมุนให้กับบ้านเมืองตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อประท้วงต่อการปกครองบัลลังก์อันไร้ซึ่งความเมตตาของฟาโรห์รามเสจที่สองความเสียหายและความตายที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนร่วมห้อง รวมถึงผู้คนในระดับที่อยู่ต่ำกว่าเธอลงไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเธอ มิฮารุนั้นตัดสินชีวิตของผู้คนในหลุมด้วยบรรทัดฐานของตัวเอง บางครั้งเธอเองเลือกที่จะอยู่เฉย บางครั้งลงมาเพื่อช่วย และบางครั้งก็เพื่อกำจัด

               อีกหนึ่งสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าลูกสาวของมิฮารุไม่มีตัวตนอยู่จริงคือเธอเลือกที่จะลงไปข้างล่างเสมอ แม้ว่าชั้นที่เธอตื่นขึ้นมาจะอยู่เกือบล่างสุดแล้วก็ตาม อะไรกันทำให้เธอมั่นใจว่าลูกสาวที่เธอตามหาจะไม่ตื่นขึ้นมาในชั้นบน คำตอบก็คือไม่มี ไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่าเด็กจะตื่นขึ้นมาในชั้นล่าง หรือว่าชั้นบน ไม่มีอะไรมายืนยันได้แม้แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กคนนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้ในตอนท้ายของเรื่องโกเรงและบาฮาเร็ตได้พบเด็กที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นลูกของมิฮารุ ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเด็กคนนั้นมีตัวตนอยู่จริง เพราะเป็นมิฮารุเองที่นั่งบนแท่นอาหารตามพวกเขาลงมาและชี้มีดมาที่เด็ก มีความเป็นไปได้สูงว่าเด็กคนนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา และสิ่งที่โกเรงส่งขึ้นไปนั้น แท้จริงแล้วเป็น Panna Cotta ที่ปรากฎใน Scene ที่หัวหน้าพ่อครัวถามกับลูกมือว่าเส้นผมบนขนมนั้นเป็นของใครกันแน่


    • เด็กหญิงกับพานาคอตต้า

               สารที่โกเรงและบาฮาเร็ตพยายามสื่อไปถึงผู้คนในชั้นศูนย์คือพานาคอตต้าที่ยังไม่ได้ถูกกิน ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของชนกรรมาชีพกับระบอบนายทุน เมื่อกรรมาชีพทุกคนพร้อมใจกันไม่บริโภคในสิ่งที่ได้รับมา ดังพานาคอตต้าที่เปรียบได้กับการร่วมแรงร่วมใจกันแบนสินค้าจากเครือของนายทุน แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าผลกระทบนั้นจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยมากก็ตาม

               อย่างที่เห็นกันว่าหัวหน้าพ่อครัวนั้นไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับอาหารที่เหลือมากมายนัก มีเพียงแค่อารมณ์ขุ่นมัวและหมกมุ่นจะหาคำตอบกับคำถามที่ว่าทำไมถึงเหลือพานาคอตต้าเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในระบบทุนนิยมที่ผู้บริโภคเลือกจะไม่สนับสนุนสินค้าของนายทุนเป็นบางชิ้น และส่งผลกระทบต่อนายทุนเพียงเล็กน้อย เพราะสินค้าประเภทอื่น ๆ นั้นถูกผูกขาดเอาไว้แล้ว ไม่มีทางหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าจากชนชั้นนายทุนได้เลย การต่อสู้ของโกเรงจึงเป็นเพียงการจุดประกายความหวังเล็ก ๆ ของชนกรรมาชีพที่พร้อมจะดับไหม้ไปพร้อมกับเวลา


               คำถามที่ทางผู้เขียนตั้งข้อสงสัยกับตัวเองอยู่บ่อยครั้งในขณะที่กำลังเขียนบทความวิเคราะห์หนังเรื่องนี้คือทำไมถึงเปรียบพานาคอตต้ากับเด็กหญิง? ไม่สิ ทำไมถึงแน่ใจว่าผู้กำกับตั้งใจเปรียบพานาคอตต้ากับเด็กหญิง? ทำไมถึงแน่ใจว่าเด็กหญิงคนนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง?

               ในส่วนของมุมมองที่ว่าลูกสาวของมิฮารุนั้นมีตัวตนอยู่จริง การดำรงอยู่ของเด็กหญิงนั้นมีข้อสงสัยอยู่เต็มไปหมด ทำไมถึงอยู่ในชั้นที่ห่างไกลจากผู้คน? เด็กหญิงใช้ชีวิตอยู่อย่างไรโดยปราศจากอาหาร? หรือแม้แต่คำถามที่ว่าใครเป็นแม่ของเด็กในเมื่อมิฮารุเพิ่งจะเข้ามาในหลุมได้แค่เพียงสิบเดือนเท่านั้น?

               หากมองข้ามช่องโหว่เหล่านั้นไป พานาคอตต้าคงเปรียบได้กับความหวังของชนกรรมาชีพที่พยายามแข็งข้อกับนายทุน ส่วนเด็กหญิงนั้นเปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมได้ การที่โกเรงเลือกที่จะมอบอาหารให้แก่เด็กหญิง รวมถึงการส่งตัวเธอขึ้นไป เป็นการตราหน้าผู้ดูแลระบบถึงความหละหลวม ที่ปล่อยให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้ามาอยู่ในหลุม การเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์ของโกเรงคงไม่เกิดอะไรขึ้นมากไปกว่าการดูแลตรวจสอบอายุของอาสาสมัครของระบบที่เคร่งครัดขึ้น ในขณะที่คนในชั้นล่างยังคงดิ้นรนและฆ่าฟันกันดังเดิม

               และในกรณีที่ถ้าหากลูกสาวของมิฮารุไม่มีตัวตนอยู่จริงตามสมมติฐานที่เราตั้งไว้ จะสอดคล้องกับฉากที่ว่าทำไมหัวหน้าพ่อครัวถึงโมโหเมื่อเห็นพานาคอตต้า อุดมการณ์อันแรงกล้าของโกเรงนั้นได้สื่อไปถึงคนบนชั้นศูนย์ และการเปรียบเทียบพานาคอตต้ากับเด็กหญิงนั้น เปรียบดังการตามหาความหวังที่มิฮารุพยายามทำมาโดยตลอด อาหารที่เหลือไปถึงคนในชั้นล่างของโกเรงคือสาร ลูกสาวที่คนอื่นเชื่อกันว่ามิฮารุกำลังตามหาคือสาร พานาคอตต้าของบาฮาเร็ตเองก็คือสาร

               และด้วยข้อสรุปนี้ยังสามารถหาข้อสนับสนุนที่ว่าลูกสาวของมิฮารุนั้นเป็นแค่ภาพลวงตาของโกเรงและบาฮาเร็ตได้จากการที่อุณหภูมิห้องไม่สูงขึ้นจนร่างกายถูกเผาไหม้ หรือว่าต่ำลงจนแข็งตายเมื่อแท่นอาหารนั้นเลื่อนลง นั่นเป็นเพราะว่าพานาคอตต้าไม่ได้ถูกนำลงมาจากแท่นอาหารอย่างที่ผู้กำกับพยายามทำให้เราเชื่อ เด็กหญิงคนนั้นเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาที่โกเรงสร้างขึ้นมาเพื่อยืดเวลาให้เขาอ่านหนังสือ Don Quixote จบตามที่ใจหวัง เป็นตอนจบของการเดินทางในชีวิตของทั้งโกเรงและดอนที่สมบูรณ์เมื่อเขาลืมตาตื่นมาด้วยความจริงที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงภาพลวงตาและตนเองกำลังร่วงโรย


    • ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน

               การเอ่ยนามถึงพระผู้เป็นเจ้าเองก็มีการสะท้อนแนวคิดของคาร์ล มากซ์ ผู้ยึดมั่นถือมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ว่าด้วยเรื่องศาสนาเป็นเครื่องมือของชนชั้นสูง ที่มีไว้เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคม ดังที่โกเรงเคยเอ่ยถามกับตรีมากาซีเมื่อครั้งยังอยู่ในชั้น 48 ว่าอีกฝ่ายเชื่อในพระเจ้าไหม ชายแก่ตอบกลับมาว่าเดือนนี้ฉันเชื่อ เพราะอาหารยังพอกิน ท้องอิ่ม ไม่จำเป็นต้องอดอยากยากแค้นจึงเหลือเวลามาศรัทธาในพระเจ้า ในทันทีที่พวกเขาถูกย้ายไปอยู่ในชั้นล่าง สถานการณ์ทุกอย่างจึงกลับตาลปัตรกัน ตรีมากาซีไม่สนใจฟังด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนเองทำกับโกเรงนั้นละเมิดบัญญัติสิบประการเกือบครบสิบข้อ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าศาสนามีไว้สำหรับผู้คนที่ไม่อดอยากปากแห้ง สำหรับผู้คนที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะเอาชีวิตรอดอย่างไรในวันนี้

               ในหลุมนั้นเปรียบได้ดังยุคที่นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ผู้ใช้แรงงานนั้นมีอิสระที่แท้จริง หรือก็คือสามารถทำอะไรก็ได้ในหลุม ไม่มีกฎห้ามอย่างตายตัว แต่การดำรงชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับนายทุนที่ผูกขาดการผลิตสินค้าดังที่พ่อครัวควบคุมปริมาณอาหาร ซึ่งสามารถสนับสนุนแนวคิดนายทุนคือพระเจ้าอย่างที่บาฮาเร็ตกล่าวไว้ว่าฉันและพระเจ้าห่างกันเพียงแค่ห้าชั้น หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการพยายามจะปีนขึ้นไปที่ชั้นศูนย์

               ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงตามข้อสังเกตตามทรรศนะของคาร์ล มากซ์ ว่าด้วยเรื่องของสังคมมนุษย์เป็นระบบชนชั้นแห่งการกดขี่ที่มีมานานนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นสังคมทาส ระบบศักดินา จนมาถึงสังคมทุนนิยม ในขณะที่มนุษย์กำลังหาทางออกจากความทุกข์ที่เกิดจากการถูกกดขี่ ศาสนาเองก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในการตอบสนองความต้องการพ้นจากความทุกข์ กลายเป็นสิ่งเสพติดเพื่อให้ความสบายใจ เป็นตัวช่วยเพื่อให้ลืมความทุกข์ได้ชั่วขณะเหมือนอย่างการเสพยา จนลืมไปว่าหนทางการแก้ไขปัญหาที่เห็นผลจริงเพียงหนึ่งเดียวคือการปฏิวัติทางชนชั้นให้ทุกชีวิตเท่าเทียมกันอย่างที่ควรเป็น

    • Escargots Au Beurre Persillé

               ความตลกร้ายในการจิกกัดพฤติกรรมการกินเพื่อประทังชีพของผู้คนในหลุมยังคงเจ็บแสบได้มากกว่าเดิม เมื่ออาหาร Appetizer สัญชาติฝรั่งเศสอย่างหอยทากอบเนยซึ่งนับว่ามีราคาสูง และเป็นอาหารจานโปรดของโกเรง ได้ถูกนำมาเรียกแทนชื่อของชายหนุ่มในวันที่ตรีมากาซีตัดสินใจว่าจะกินเขาเป็นอาหาร ราวกับห่วงโซ่ที่ทอดต่อกันมาเป็นสายด้วยการนับโกเรงว่าเป็นอาหารอันมีค่าของชายชรา

               และจะนับว่าเป็นจริยธรรมสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ตรีมากาซีได้เรียกโกเรงว่า El Caracol (ในภาษาสเปนแปลว่าหอยทาก) แทนชื่อของเจ้าตัวเพื่อปัดเป่าความรู้สึกผิดในใจที่มีต่อการกระทำอันไม่น่าให้อภัยอย่างการกินมนุษย์เป็นอาหาร

               ซึ่งกรรมวิธีขั้นตอนในการปรุงอาหารจานนี้ ตรงกับวิธีที่ตรีมากาซีปฏิบัติต่อโกเรงอย่างน่าขัน ทั้งการควบคุมอาหารของหอยทากด้วยการให้อดอาหารถึง 7 วัน ซึ่งตรงกับการเพาะบ่มรอระยะเวลาก่อนชายแก่จะเริ่มลงมืออย่างมีนัยยะ รวมถึงการจำกัดพื้นที่ของหอยทากให้อยู่เพียงแค่ในตาข่ายเอง ก็ตรงกับการถูกจับมัดบนเตียงไม่ให้ขยับไปไหน โดยจุดประสงค์หลักของการเตรียมการนี้มีขึ้นเพื่อชำระล้างจิตใจไม่ให้หลงเหลือแม้กระทั่งอารมณ์ขุ่นมัวและความโกรธเปรียบได้กับการที่หอยทากคายเมือกออกมา


    • การผลิตซ้ำจากภาพสะท้อนของความตาย

               แม้ว่าตรีมากาซี ชายแก่หัวรุนแรงจะสร้างความบอบช้ำทั้งทางกายและทางใจให้กับโกเรงมากมายขนาดไหนแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวโกเรงเองก็รับเอาทัศนคติและอุปนิสัยหลาย ๆ อย่างของชายชรามาหลอมรวมเข้ากับตัวตนของตัวเองไปไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นคำพูดติดปากอย่าง 'Obvio' หรือนิสัยการวางหมอนรองเข่าระหว่างกินอาหาร ทั้งในพฤติกรรมการแสดงออกที่รู้ตัวและชุดความคิด รวมถึงการมองโลกที่ถูกผลิตซ้ำมาโดยไม่รู้ตัว

               ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและชายชราจึงเปรียบได้กับชายวัยกลางคนที่ในวัยเด็กถูกปลูกฝังเลี้ยงดูโดยคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตามแต่ เศษเสี้ยวแห่งความเชื่อเดิม ๆ จะถูกปลูกฝังไว้ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจ โกเรงไม่สามารถสลัดความเป็นตรีมากาซีออกไปจากหัวได้ ซึ่งมันถูกสะท้อนออกมาเป็นภาพของวิญญาณชายชราที่ตามหลอกหลอนและกล่าวย้ำความเชื่อของตนเองซ้ำไปซ้ำมาราวกับไม่ได้จากไปไหนไกล

               ความตายครั้งที่ 2 ที่เขาได้เผชิญหน้าด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดเป็นของอิโมกิรี อดีตเจ้าหน้าที่คัดกรองอาสาสมัครในหน่วยงานของภาครัฐ ผู้ถูกทำให้เชื่อมาตลอดชีวิตการทำงานว่าการมีอยู่ของหลุมนั้นจะส่งผลในทางที่ดีให้แก่อัตราการก่ออาชญากรรม เมื่อมนุษย์เผชิญกับสถานการณ์บีบบังคับจนก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันในหลุม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเธอนั้นแทบไม่เคยพบเจอความยากลำบากในแบบที่ต้องปากกัดตีนถีบของสังคมระดับล่างที่โกเรงและตรีมากาซีต้องเจอเลยแม้แต่น้อย

               เธอ, ผู้ซึ่งเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความซื่อสัตย์ของระบบกลับถูกตบหน้าด้วยความจริงที่ว่าหลุมนั้นมีมากกว่า 250 ชั้นอย่างที่เธอเคยถูกปลูกฝังว่ามันเป็นมาโดยตลอด พนักงานผู้จงรักภักดีที่สูญเสียความเชื่อมั่นในองกรค์จึงได้ชดใช้ความเชื่อใจอันผิดพลาดของตนเองด้วยชีวิต แม้ว่าการกระโดดลงไปข้างล่างจะถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าสำหรับเธอเป็นอย่างมาก แต่อุดมการณ์และความมุ่งมั่นที่จะต่อชีวิตให้กับอดีตเพื่อนร่วมชั้นนั้นกลับมีมากกว่า

               โกเรง ผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในหลุมร่วมกับเธอมาตลอดระยะเวลาร่วมเดือนนั้นรู้ดีที่สุด แม้ว่าความตายจะพรากจิตวิญญาณของอิโมกิรีออกไปจากร่าง แต่ชุดความคิดและอุดมการณ์อันแรงกล้าที่โกเรงซึมซับกลับเป็นสิ่งที่ช่วยชุบชีวิตให้เธอมีตัวตนอีกครั้ง ดังคนตายที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความทรงจำ ทั้งในแง่ของประเพณีความเชื่อดั้งเดิม และการถ่ายทอดความเชื่อและแนวคิดจากรุ่นสู่รุ่น

               แต่ถึงกระนั้นมูลเหตุการตายของตรีมากาซีและอิโมกิรีนั้นยังคงไม่ชัดเจนเท่าความตายของบาฮาเร็ต การตายของชายผิวสีเป็นดั่งบทสรุป และเส้นด้ายที่ช่วยขมวดแนวคิดดังที่กล่าวมาเมื่อข้างต้นนี้ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงมันเข้ากับการดำเนินเส้นเรื่องตามอย่างวรรณกรรมอมตะที่ช่วย Shaped ความคิดของโกเรงให้สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น

               ดังที่เคยมีคนกล่าวไว้ว่าความสูญเสียในครั้งสุดท้ายสำคัญที่สุด

               บทบาทและความตายของบาฮาเร็ตจึงเป็นเครื่องยืนยันการเปรียบเปรยตอนจบของเรื่องกับ Don Quixote ได้อย่างงดงามหมดจด โดยให้ดอนและโกเรงมีความกลมเกลียวอันเป็นหนึ่งเดียวกันในการเป็นตัวแทนผู้ซึ่ง Represent ถึง Idealistic และชายผิวสีจะกลายเป็นฝั่งฟากตรงกันข้ามอย่าง Realistic ที่ในบทประพันธ์อ้างอิงไว้กับซานโช่ เด็กรับใช้ อย่างที่เข้าใจโดยทั่วกัน

               ดังเมื่อในยามย่ำรุ่ง ดอนได้ลืมตาตื่นขึ้นเพื่อพบว่าการผจญภัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ความฝัน ทั้งม้าขาหัก เกียรติยศ ความมุ่งมั่นอันแรงกล้า หรือแม้กระทั่งเด็กรับใช้ก็ได้ถูกมวลคลื่นแห่งความเป็นจริงชะล้างจนเลือนหายความตายของตัวแทน Realistic อย่างบาฮาเร็ตจึงสามารถตีความได้ว่า เมื่อความจริงนั้นมาถึงจุดสูญสิ้น จะหลงเหลือแค่เพียงอุดมคติที่ยังคงอยู่ แม้ว่าจะสูญเสียแม้กระทั่งตัวตน แต่อุดมการณ์จะยังคงถูกเล่าขานส่งต่ออย่างไม่มีลืมเลือน

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in