นวนิยายอวลกลิ่นดอกไม้ที่มาพร้อมกับอาหารนานาชาติรสจัดจ้านชวนลิ้มลองกับบทเพลงบรรเลงเคล้าบรรยากาศขมอมหวาน ถ้าใครเคยอ่านนวนิยายของคุณวีรพรคงพอทราบถึงเอกลักษณ์การใช้ภาษาศัพท์แสงพร่ำเพ้อพรรณนาของเธอ ถึงแม้จะเพิ่งมีผลงานออกมาเพียงสองเล่ม แต่งานเขียนเล่มแรก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ก็คว้ารางวัลซีไรต์ไปได้อย่างสวยงาม
เพิ่งได้มีโอกาสอ่านนวนิยายเล่มนี้หลังจากเพิ่งอ่านผลงานเรื่องที่สองของเธอจบ กลายเป็นคนเสพติดหลงใหลในภาษาศัพท์แสงของเธอ อารมณ์ บรรยากาศ กลิ่นอาย เสียงเพลงกระทั่งรสชาติอาหารได้ถูกถ่ายทอด ผ่านตัวหนังสืออย่างน่าอัศจรรย์ใจ บางคราถึงกลับมองเห็นตัวเองยืนอยู่ในสวนอาบแสงเช้าหน้าบ้านสีเหลืองของชารียาขณะร่วมระทมใจไปกับโศกเศร้าในห้วงหัวใจของชลิกา ซึ่งไม่แน่ใจว่าด้วยสาเหตุใดที่ทำให้นึกเข้าข้างตัวละครอย่างชลิกาเสมอ ทุกข์ไปกับเธอ หรืออาจด้วยความนางเอกในตัวเธอที่ทำให้รู้สึกเสมอว่าเธอคือนางเอกที่แท้ การดำเนินเรื่องเรื่อยมา โดยรู้เสมอว่าปราณไม่ได้มีเธออยู่ในใจนั้นช่างเป็นเรื่องบีบหัวใจแต่ถ้าไม่นับเรื่องนี้ ชอบทุกฉาก ทุกบรรยากาศ
บ่ายแก่วันอาทิตย์อย่างวันนี้จึงอยากลองลิ้มรสบรรยากาศนวนิยายหวานขมเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยการลองเปิดบรรณานุกรมท้ายเล่มที่บันทึกเสียงเพลงประกอบไว้ แล้วถือโอกาสอ่านนวนิยายเรื่องนี้ใหม่อีกรอบแบบมีเสียงเพลงประกอบซะเลย
ลำนำบาร์หัวใจหลั่งเลือด
“ปราณ ปราณ ชารีไงปราณ พี่จำได้ไหม”
ห้วงนาทีที่ปราณและชารีได้พบกันอีกครั้งหลังจากผ่านมาหลายปีโดยมีดนตรีแนวpost punk ของวง TheCure ในช่วงปี 1990s ดังกระหึ่มอยู่เป็นฉากหลัง
“…ไม่มีอะไรในโลกอีกแล้วที่ฉันจะปรารถนามากกว่าการรู้สึกถึงเธอ ลึกซึ้งกึ่งแก่นใจ”
เพลงโหยหาของปราณ
Schumann - Piano Quartet Op. 47 3rd movement
“ฉันมีอะไรอยากให้พี่ฟังนานแล้ว…ตอนได้ยินครั้งแรกหนูนึกถึงพี่”
บทเพลงแทนจดหมายรักของชูมานส์ที่ส่งถึงคลาร่าในวัยเก้าขวบกับความรักที่ถูกกีดกัน
ถูกพรรณนาถึงด้วยภาษาอันเพราะพริ้งในเรื่องไว้ว่า
“ออดอ้อนอ่อนหวาน แต่กลับมีบางอย่างขื่นขัดร้าวรานอยู่ในท่วงทำนองนั่นงดงามแต่ขมเฝื่อนแปร่งปร่า อุ่นเอื้อหากเรื้อรื้นร้างห่าง”
บทเพลงที่ชารียาเปิดให้ปราณฟังด้วยนึกถึง กลายมาเป็นเพลงโหยหาของปราณในที่สุด
“หนูคิดถึงพี่ ปราณ”
เส้นเสียงพลิ้วแผ่น
Erik Satie - Gymnopedie no. 1-3
บทเพลงพลิ้วแผ่นของลุงธนิตที่ถูกเปิดเคล้าบรรยากาศในขณะเด็ก ๆ อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือทำอะไรก็ตามในห้องนั่งเล่น บทเพลงที่เปิดเพื่อเคล้าคลอ ไม่เคยรบกวนบรรยากาศของใครในห้อง
เพลงดอกพุดซ้อน
Beethoven - Sonata for violin and piano in F Major Op. 24(Spring)
Alexander Borodin - String Quartet No. 2
“บทเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้นแต่อ่อนหวานได้ลึกซึ้งเสียจนดอกพุดซ้อนหน้าบ้านผลิบานในทันที และทำให้ชลิกาผู้ซึ่งยังไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีลมพายุหมุนเกิดขึ้นรอบตัวเธอทุกครั้งที่เห็นหนุ่มนักเรียนนายร้อยบ้านถัดไปสามหลังเดินผ่าน”
เมื่อแรกอ่านลองจินตนาการถึงเสียงบรรเลงว่าจะลึกซึ้งสดใสเพียงใดถึงทำให้ดอกพุดซ้อนเบ่งบานได้ตามๆ กัน แต่เมื่อลองได้ฟัง ช่างงดงามสมฉายาเพลงดอกพุดซ้อนซะเหลือเกิน
เพลงรักของธนา
จิตร ภูมิศักดิ์ – แสงดาวแห่งศรัทธา
ธนาที่มาพร้อมกับผมยาวประบ่า หมวกบาเร่ต์แบบเช กูวาร่า กับความคิดเชิดชูความยุติธรรมของเขาที่ดึงดูดใจชารียา
บทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยจิตร ภูมิศักดิ์ ขณะยังอยู่ในเรือนจำถูกนำมาขับร้องในหลายช่วงเหตุการณ์คุกรุ่นของไทย เป็นเพลงที่หนุ่มปัญญาชนจากกรุงเทพอย่างธนานำมาร้องให้ชารียาฟังกระทั่งเขาได้เข้าไปอยู่ในหัวใจเธอ
บทเพลงที่เพราะที่สุดของชารียา
Alfredo Catalani - Ebben Ne' Andro Lontana (La Wally)
บทเพลงจากตอนต้นเรื่องของหนังฝรั่งเศสที่ทำให้ชารียาตัดสินใจไปสมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสหลังจากหนีตามไปอยู่กรุงเทพกับธนา บทเพลงซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์แทนความต่างทางความคิดของคนทั้งสอง บทเพลงที่เผยความสุดโต่งของธนาเมื่อเขาเอ่ยว่า “สะเออะไปเรียนทำไมวะภาษาจักรวรรดินิยมนั่นน่ะ”
ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทิ้งเธอไว้กับคำไม่กี่คำ “…เธอขวางกั้นฉันไว้จากมวลชน”
เพลงลืมเลือนของชารียา
เมื่อธนาทิ้งเธอไป ชารียาตั้งใจจะฟังเพลงนี้ในทุกวันที่เหลือของชีวิตนับแต่นั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าดีใจที่เธอไม่ได้ทำอย่างนั้น
เพลงสุดเสน่หาของชานนท์
Johannes Brahms - Symphony No. 3in F major, Op. 90
“ผู้ชายที่ชอบดูหนัง ฟังเพลง สนใจปรัชญาและยังชอบอ่านหนังสือยากๆของนีทเช่ คานท์ เหลี่ยวฟานกับใครต่อใครอีกหลานคนที่ชารียาจำชื่อไม่ได้” ผู้ชายคนหนึ่งในเรื่องที่น่าเสียดาย ด้วยจริงใจ จริงจัง สุภาพ น่าค้นหา เพียงจากไปด้วยความรู้สึกผิดต่อชารียาเมื่อพ่ายแพ้แก่ปรารถนาในคืนความเหงารุมเร้าด้วยความเชื่อที่ว่าความรักและกามารมณ์เป็นคนละเรื่องกัน
เพลงร้าวในดวงตา
มัณฑนา โมรากุล – สิ้นรักสิ้นสุข
เพลงรักร้าวของชารียาที่เปิดเคล้าบรรยากาศขณะนั่งอ่านหนังสือกันคนละเล่มกับปราณในบ่ายวันจันทร์ ครั้งแรกที่เขาได้เห็นรอยร้าวที่พาดผ่านดวงตาข้างซ้ายของชารียา
บทเพลงเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากหนังสือ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของคุณ วีรพร นิติประภา
อย่างที่ชารียากล่าวไว้ “เพลงน่ะ เหมือนกับอย่างกับบันทึกอย่างนั้นแหละบันทึกของความรู้สึกที่ควรจะหายไปกับกาลเวลา”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in