เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
BOOKS SPEAK FOR MEpuroii
เศรษฐศาสตร์ยาเสพติด: วิธีบริหารแก๊งค้ายา

  • Narconomics: How to Run a Drug Cartel

    เศรษฐศาสตร์ยาเสพติด: วิธีบริหารแก๊งค้ายา

    "เฮ้ย แกอ่านบ้าอะไรวะเนี่ย!?" อาจจะเป็นประโยคแรกที่ได้ยิน ถ้ามีใครมาเห็นตอนกำลังกางหนังสือเล่มนี้อยู่ ก่อนที่จะรู้สึกอะเมซิ่งกับเนื้อหาของมัน ขอแนะนำกันให้รู้จักกับหนังสือที่ทำลายทุกกฏเกณฑ์ของหนังสือเศรษฐศาสตร์และฮาวทู




    Tom Wainwright นั่งรถบุกป่าฝ่าดงไปถึงฟาร์มโคคาที่โคลอมเบีย เยือนหัวหน้าแก๊งอาชญากรในคุกที่เอลซัลวาดอร์ หรือแม้กระทั่งเดินทางไปคุยกับอดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ฯลฯ เขาเสี่ยงชีวิตมากมายในฐานะนักเขียน บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน

    หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิชาค้ายา 101 แต่เป็นการรู้ทันอาชญากร กลไกขององค์กร และวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าเนื้อหาจะดูหนักหน่วงแต่อ่านเพลินและย่อยง่ายเหลือเชื่อ ทอมอธิบายด้วยภาษาที่คนไม่รู้เศรษฐศาสตร์แม้แต่น้อยก็สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ (อย่างเราเป็นต้น) แต่ก็ไม่ได้ตื้นเขินจนไม่ได้เนื้อหาอะไรเลย เพราะเขาอ้างอิงงานวิจัยใหญ่ ๆ มาให้ข้อมูลและสามารถไปหาตัวเต็มอ่านได้หากสนใจ นับว่าเป็นหนังสือที่เซอร์ไพรส์มาก โดยเฉพาะคนที่มีความสนใจในอาชญากร(?) จะยิ่งเอนจอยมากขึ้นถ้ารู้จักพื้นเพของแก๊งค้ายามาบ้าง ปาโบล เอสโกบาร์ เอล ชาโป แก๊งฮัวเรซ แก๊งซินาลัว คุ้นบ้างไหม? แต่ถึงไม่คุ้นก็ไม่เป็นไร เพราะนี่ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติคนพวกนั้น

    คุณจะได้เรียนรู้ว่าแก๊งค้ายาไม่ได้ใช้แต่ความรุนแรงหรืออำนาจ แต่พวกเขายังเป็น CEO ขององค์กรตัวเองด้วย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าแก๊งพวกนี้จะบริหารงานเหมือนแมคโดนัลด์หรือ CP

    สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านเองก็ไม่เป็นไร เพราะเราเองก็อยากเล่าไม่แพ้กัน ระหว่างอ่านเราได้จดโน้ตและสรุปประเด็นน่าสนใจไว้หลายหน้า A4 และมันคงจะดีไม่น้อยถ้าได้แบ่งปันกับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราขอสรุปลงด้านล่างนี้เป็นบท ๆ เลยก็แล้วกัน สำหรับใครที่อยากอ่านเองก็ข้ามไปได้เลย!



    *คำเตือน : บทความนี้อาจยาวกว่าชีวิตใครบางคนในแก๊งค้ายา*



    บทที่ 1 : ชาวไร่โคคาและพ่อครัว

    แก๊งคายาก็ไม่ต่างอะไรจาก McDonald หรือ Walmart ทุกอย่างคือธุรกิจและมันก็มีอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply)

    ตามปกติแล้ว ถ้าสินค้าราคาแพงขึ้น ความต้องการก็จะน้อยลง และถ้าสินค้าราคาถูก ความต้องการก็จะมากขึ้น แต่ในกรณีของการค้ายามันไม่เป็นแบบนั้นเพราะผู้ค้ายาทำหน้าที่ผูกขาดการค้า (monopsony) ไม่ต่างอะไรจาก Walmart เลย

    แล้วมันสำคัญยังไง?

    เมื่อรัฐบาลเห็นปัญหายาเสพติดและตั้งใจจะกำจัดมันโดยการลด supply จึงดำเนินการกำจัดต้นตอของปัญหา นั่นก็คือ "ฟาร์มโคคา" ไม่ว่าจะโดยการให้กองทหารบุกเข้าทำลายฟาร์มหรือใช้เครื่องบินพ่นสเปรย์ฆ่าผลผลิตเหล่านั้นก็ตามแต่ รัฐคิดว่าถ้าลดผลผลิตแล้วราคาในตลาดก็จะสูงขึ้นตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลให้ประชากรซื้อยาพวกนี้ลดลง...หวานหมู

    แต่ปัญหาคือราคามันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามใจหวัง

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ค้ายามีกันไม่มากและในพื้นที่หนึ่งก็มีไม่กี่ราย ดังนั้นแก๊งค้ายาเลยเป็นเหมือน Walmart ที่ผูกขาดราคาสินค้าได้ตามต้องการ ผลก็คือราคามันแทบจะเท่าเดิมเลย โอเค อาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับกระทบผลลัพธ์โดยรวม เรียกได้ว่าขนหน้าแข้งไม่กระดิก คนที่โดนผลของเรื่องนี้เข้าไปเต็ม ๆ กลับไม่ใช่พวกหัวแถวแต่เป็นปลายแถว ชาวไร่โคคาต่างหากที่ต้องแบกรับความเสียหายนี้ แล้วเขาจะไปเรียกร้องอะไรจากคนข้างบนได้ล่ะ ทำได้แต่ก้มหน้าปลูกกันต่อไปเพื่อชดเชยส่วนที่เสียหาย

    สรุปแล้วมันได้ผล...แต่ผิดเป้าหมาย

    ถ้าจะเยียวยาปัญหานี้ เราต้องเพิ่มผู้ค้าโคเคนเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่เพราะยาเสพติดมันผิดกฎหมาย ทางที่ดีคือเราต้องหางานอื่นให้ชาวไร่พวกนี้หันไปปลูกอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนพอ ๆ กัน เลิกทำมันซะโคคา

    ขั้นตอนต่อมาคือ "พ่อครัว" พอฟาร์มโคคาถูกถอนรากถอนโคน ราคาพุ่งขึ้น (นิดหน่อย) พวกที่ทำหน้าที่หยิบนู่นปรุงนี้ต่อจากใบโคคาเพื่อแปรรูปเป็นโคเคนก็ต้องมีหัวคิดกันหน่อย ลองเปลี่ยนสารเคมีที่ใช้ซิ ไหนลองวิธีนั้นหน่อยเป็นไง (ในหนังสืออธิบายขั้นตอนทำโคเคนเป็นขั้นเป็นตอนเลยแต่เราจะไม่บอกหรอก) ผลคือ...เฮ้ย ใช้ใบโคคาเท่าเดิมแต่ได้ผงโคเคนเพิ่มขึ้น! แม้ supply จะน้อยลง แต่ขั้นตอนการผลิตเราดีขึ้น ประหยัดไปอีกสิทีนี้

    อีกประเด็นคือโคเคนมีราคาตลาดสูงอยู่แล้ว ยิ่งไปไกลยิ่งสูง รายงานว่าจากแหล่งผลิตไปสู่มือผู้ซื้อ ราคาพุ่งขึ้นถึง 30,000% เลยทีเดียว (โอ้พระเจ้า) ดังนั้นการเพิ่มต้นทุนไม่ได้ส่งผลกระทบกับราคาตลาดที่สูงของมันเลย สมมติโคเคนราคา 700,000 แล้วราคามันเพิ่มขึ้นเป็น 700,550 ก็แทบไม่รู้สึกอะไรเลยใช่ไหมล่ะ


    บทที่ 2 : แข่งขัน VS สมานฉันท์


    บทนี้ทอมเปรียบเทียบเม็กซิโกกับเอลซัลวาดอร์เพื่อให้เห็นความแตกต่างของการทำธุรกิจค้ายาของสองพื้นที่

    เม็กซิโก มีอัตราการตายสูงและมีสงครามระหว่างแก๊งบ่อยมากเพราะไม่สามารถแบ่งพื้นที่ทำกินได้ ต้องแย่งชายแดนที่จำกัดในการลักลอบขนโคเคนไปขาย แก๊งไหนซื้อตัวเจ้าหน้าที่ไว้แล้วก็ผ่านไปสบายหน่อย แก๊งไหนไม่ได้ซื้อก็ลำบากกันไป เราจะมาพูดถึงแก๊งฮัวเรซและแก๊งซินาลัวกัน

    เม็กซิโกมีตำรวจท้องถิ่นในแต่ละรัฐเป็นของตัวเองซึ่งตำรวจท้องถิ่นพวกนี้ถูกแก๊งฮัวเรซซื้อไปแล้ว แต่โชคยังดีที่เม็กซิโกมีตำรวจของรัฐแยกอีกที ตำรวจเหล่านี้ไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่ถูกเรียกมาจากหลายแห่ง เป็นกลุ่มที่มีอาวุธดีกว่า ถูกเทรนมาดีกว่าและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในรัฐบาลของคาลเดรอน "เอล ชาโป" หัวหน้าแก๊งซินาลัวเลยหันไปซื้อตำรวจกลุ่มนี้แทน แต่ละฝ่ายต่างมีพวกของตัวเอง ดังนั้นเลยเกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อแย่งพื้นที่ ผู้คนล้มตายไปกว่า 60,000 คน จนความรุนแรงทั้งหลายเริ่มลดลงเมื่อเอล ชาโปนำแก๊งซินาลัวเข้าควบคุมพื้นที่ได้สมใจ

    ...Meanwhile in El Salvador...

    ในขณะที่ เอลซัลวาดอร์ มีแก๊ง Mara Salvatrucha และ Barrio18 ทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกและแบ่งพื้นที่ทำกินกัน ผลที่ตามมาก็คือไม่เกิดสงคราม ไม่มีคนล้มตาย ทำมาหากินกันสบาย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยสู้กับใคร


    อีกปัญหาคือเรื่องความจงรักภักดีต่อแก๊ง ในเม็กซิโก ใครจ่ายมากก็ไปอยู่ฝ่ายนั้น แต่แก๊ง Salvatrucha สมาชิกทุกคนสักตั้งแต่หัวจรดเท้า โอกาสเปลี่ยนฝ่ายเลยยากเพราะเห็นแค่ตัวก็รู้แล้วว่าอยู่แก๊งไหน ดังนั้นทุกคนเลยทำงานให้ฝ่ายเดียว ความวุ่นวายเลยมีน้อย

    ทีนี้ทางเศรษฐศาสตร์ว่าไง

    ถ้าเราอยากลดความรุนแรงในเม็กซิโก แทนที่จะมีชายแดนเดียว มีเส้นทางเดียวให้ลักลอบ เกิดการแก่งแย่งพื้นที่และส่งผลให้เกิดสงครามตามมา ทางทฤษฎีเลยบอกให้เปิดชายแดนมากขึ้นสิ จะได้ลดการแข่งขันลง 

    ...แต่มันทำได้ที่ไหนเล่า!


    บทที่ 3 : Human Resources 

    ปัญหาเรื่องคน ๆ ก็ไม่เว้น แก๊งค้ายามักจะมี 2 ปัญหาหลัก

    1. เปลี่ยนลูกจ้างบ่อย ไม่ใช่เพราะว่าลูกจ้างขอลาออกหรืออะไร มีอยู่ 2 ทางในสายงานนี้ ถ้าไม่ตายก็ติดคุก
    2. ต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกจ้าง เมื่อคุณเข้ามาทำงานกับแก๊ง ไม่มีใครที่ไหนให้เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรอก เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะอยู่กับเราถึงเมื่อไร ลูกจ้างจะหักหลังเราไหม ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อใจกันจึงสำคัญเป็นอย่างมาก

    จะหาคนทำงานสายงานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะปิดป้ายประกาศหรือโพสต์ลงอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้ แถมงานนี้เข้าแล้วออกไม่ได้ มิหนำซ้ำลูกจ้างยังถูกเอาเปรียบเพราะลำดับชั้นของการทำงานอีก ดังนั้นสถานที่ดีที่สุดในการหาคนมาทำงานก็คือ...คุก 


    มีเรื่องเล่าสุดแสนบังเอิญของชายสองคนที่มาเจอกันในคุก เรียกว่าโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ว่าได้ หนึ่งในนั้นคือ Carlos Lehder (ซ้าย) และ George Jung (ขวา) คาร์ลอสถูกจับเพราะลักลอบขนรถข้ามประเทศ เขาถูกจับมาอยู่ในห้องขังเดียวกับจอร์จ ผู้มีประสบการณ์ในการลักลอบขนกัญชาจากโคลอมเบียเข้าอเมริกาโดยเครื่องบินเล็ก ทั้งคู่เลยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันพร้อมทั้งวางแผนธุรกิจหลังออกจากคุกไว้ล่วงหน้า 

    พอทั้งคู่ออกจากคุก คาร์ลอสก็เลยพาจอร์จไปแนะนำกับ ปาโบล เอสโกบาร์ เจ้าพ่อโคเคนในโคลอมเบียทั้งสองจึงตกลงขนโคเคนเข้าอเมริกาโดยเครื่องบินเล็กของจอร์จ เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นใบเบิกทางครั้งแรกของการลักลอบโคเคนเข้าอเมริกาและพลิกโฉมธุรกิจการค้ายาครั้งใหญ่


    อย่างที่บอกว่าความสัมพันธ์กับลูกจ้างมีความสำคัญมากเพราะหาคนมาแทนยากมาก ดังนั้นหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะฆ่าสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ยังไง "การเจรจา" ก็มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น โคเคนหายระหว่างขนส่ง ต้องหาสาเหตุก่อนว่าโกงจริงหรือแค่ซวย (โดนจับได้ สินค้าหาย หรืออะไรก็ว่าไป) ถ้าเป็นกรณีแรกก็ต้องลงไม้ลงมือจัดการด้วยความรุนแรง แต่ถ้าซวยก็อาจจะให้อภัยกันได้ ในเคสนี้ ปาโบล เอสโกบาร์ถึงกับมี "ประกันโคเคน" กรณีที่สินค้าไปไม่ถึงมือผู้ซื้อจะมีการชดเชยค่าเสียหายให้ ปาโบลสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าและทำให้ทุกคนอยากลงทุนกับเขา

    นอกจากนี้ พวกแก๊งค้ายายังชอบทำงานกับคนชาติเดียวกันหรือคนในพื้นที่มากกว่า เพราะถ้าไปดีลงานกับคนนอก โอกาสถูกชักดาบก็จะมาก แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่ อย่างน้อยก็มีครอบครัวที่อยู่ในประเทศเป็นตัวประกันหรือข้อแลกเปลี่ยน



    เรื่องความยุ่งยากพวกนี้แก้ไขได้ด้วยระบบเรือนจำที่ดี เพราะคุกรวบรวมคนผิดกฎหมายทุกแขนงมาไว้ในที่เดียวกัน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยสำหรับอาชญากรเลยก็ว่าได้ โอกาสที่จะกลับไปทำอาชีพผิดกฎหมายก็มีมากเพราะไม่มีทางเลือกสำหรับคนติดคุกมากนัก แต่ถ้ามีการปรับปรุงระบบเรือนจำที่เอื้ออำนวย ให้ความรู้และโอกาสสร้างอาชีพ เมื่อคนเหล่านี้ออกจากคุกไป โอกาสกลับไปใช้ชีวิตอาชญากรก็น้อยลง


    บทที่ 4 : การประชาสัมพันธ์

    ทำไมแก๊งค้ายาต้องมาใส่ใจเรื่องประชาสัมพันธ์ด้วย ทั้งที่ทำเรื่องผิดกฎหมายก็ควรจะอยู่เงียบ ๆ ไม่ใช่เหรอ? แต่ความจริงแล้ว พวกเขาได้ประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ไปไม่น้อยเลย

    เป้าหมายหลัก ๆ ที่แก๊งค้ายาต้องการสื่อสารด้วย ได้แก่

    1. ประชาชน  

    แก๊งซินาลัวเคยแปะป้ายประกาศให้ประชาชนรับรู้ เบลมว่าแก๊ง Zetas เป็นคนฆ่าบุคคลเหล่านี้ แก๊งของเขาไม่เคยฆ่าผู้หญิงหรือเด็ก ไม่มีการข่มขู่หรือลักพาตัว ทุกอย่างเป็นผลงานของ La Linea (กลุ่มตำรวจที่ทำงานกับแก๊งค้ายา) ที่รับจ้างฆ่าเพื่อเงิน สุดท้ายลงชื่อว่า "เอล ชาโป" หัวหน้าแก๊งซินาลัว


    พวกนี้พยายามปิดข่าว แปะป้ายประกาศ ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าแก๊ง A ดีกว่าแก๊ง B เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนบอกข้อมูลกับตำรวจและชี้ให้เห็นว่าตำรวจนี่แหละที่คอรัปชั่น ประชาชนก็เลยไม่หันไปพึ่งพาตำรวจ

    2. รัฐบาล

    แก๊งค้ายาลงไปควบคุมสื่อเพื่อไม่ให้มีข่าวเข่นฆ่ารั่วไหลออกไป ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะส่งกองทัพเข้ามาในเมืองทำให้ดำเนินกิจการอย่างยากลำบาก พวกนี้เลยทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะข่มขู่ ลักพาตัว หรือแม้กระทั่งฆ่านักข่าวที่ไม่ทำตาม พอสื่ออย่างโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ถูกควบคุม หลายคนจึงหันไปใช้สื่ออื่นที่ปกปิดตัวตนได้ เช่น ใช้โซเชียลมีเดียหรือบล็อกในการนำเสนอข่าวโดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีคนถูกเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างสยดสยองแล้วนำศพไปแขวนไว้พร้อมแป้นพิมพ์เพื่อเป็นการขู่คนอื่น ๆ ที่ยังทำอยู่

    นอกจากนี้แก๊งค้ายายังมีบรรษัทภิบาลหรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งหมายถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ทำไมเอล ชาโปให้ทิปพนักงานเสิร์ฟถึง 1,000 ดอลลาร์ ทำไมต้องแจกเบี้ยเลี้ยงแก่คนชราในสังคม ทำไมปาโบล เอสโกบาร์ถึงสร้างลานสเก็ต สนามฟุตบอล สวนสาธารณะและสวนสนุกในชุมชนหรือให้ของขวัญคริสต์มาสเด็ก ๆ ด้วย ก็เพื่อเพิ่มคุณค่าและภาพลักษณ์ของแก๊งไงล่ะ ประชาชนถึงกับยกย่องปาโบลว่าเป็น "โรบินฮู้ด" แถมตอนเอล ชาโปถูกจับ แทนที่ทุกคนจะดีใจ ประชาชนกลับออกมาเดินโห่ร้องเชิดชูเอล ชาโปว่าเป็นที่รักของประชาชนมากกว่ารัฐบาลเสียอีก ไหงงั้น!

    ที่เป็นแบบนี้เพราะชุมชนเหล่านี้ขาดการบริการที่ดีจากรัฐ ดังนั้นเมื่อรัฐไม่สนใจและมีคนใจดีมามอบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ พวกเขาก็ยินดีจะรับมันไว้ วิธีแก้ปัญหาคือรัฐต้องลงมาให้สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ชุมชนเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่หันไปพึ่งอำนาจของคนเหล่านี้

    ที่อยู่ของปาโบล เอสโกบาร์ที่ Hacienda Nápoles ตอนนี้กลายเป็นสวนสนุกและสวนสัตว์

    บทที่ 5 : Offshoring 


    Offshoring คือ การเคลื่อนย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า เหมือนรองเท้า Made in China ยาเสพติดก็ Made in Hondulas หรือ Made in Guatemala ได้เช่นกัน แก๊งค้ายาก็เรียนรู้เหมือนนักธุรกิจ อเมริกากลางเป็นสถานที่ที่ค่าแรงต่ำและอยู่ตรงกลางระหว่างโคลอมเบียและเม็กซิโก แทนที่จะผลิตยาในประเทศตัวเอง ย้ายฐานไปผลิตที่ฮอนดูรัสหรือกัวเตมาลาเพื่อลดต้นทุนไม่ดีกว่าเหรอ 

    คำถามคือมีประเทศตั้งเยอะแยะในอเมริกากลาง ทำไมถึงเลือกแค่ฮอนดูรัสหรือกัวเตมาลา การจะประกอบธุรกิจอะไรก็ต้องดูว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ความสะดวกของการดำเนินการ งานเอกสาร กฎหมาย ฯลฯ ธุรกิจยาเสพติดก็เหมือนกัน กัวเตมาลาและฮอนดูรัสเป็นประเทศที่กฎหมายและกำลังทหารอ่อนแอกว่าประเทศอื่นในละแวกเดียวกัน ดังนั้นพวกแก๊งทั้งหลายเลยเอาประโยชน์ตรงนี้มาใช้ในการลงหลักปักฐาน


    บทที่ 6 : แฟรนไชส์


    แก๊งอาชญากรก็มีแฟรนไชส์ไม่ต่างจากร้านอาหารเด่นดังข้างบ้านคุณ ยกตัวอย่างแก๊ง Zetas ที่ขยายสาขาไปถึงต่างประเทศ โดยการส่งคนไปเป็นแมวมองหาอาชญากรท้องถิ่นที่ดูมีแวว จากนั้นก็ชักชวนมาร่วมเป็นพันธมิตรและช่วยร่วมรบยามที่มีปัญหากับอริ หากคุณสมัครภายในวันนี้ รับไปเลยอาวุธและการเทรนนิ่งจากโค้ชชั้นนำของแก๊ง Zetas! (จริงๆ) 

    นอกจาก McDonald จะขายแบรนด์แล้ว ชื่อแก๊งก็มีส่วนช่วยเช่นกัน สมาชิกสามารถอ้างชื่อแก๊งเพื่อเพิ่มความน่าเกรงขามได้เมื่อได้เข้าร่วม เวลาแมคโดนัลด์โฆษณาอะไร แฟรนไชส์ที่เปิดก็ได้รับประโยชน์นั้นไปด้วย เวลาแก๊งสร้างวีรกรรมไว้ สมาชิกก็ได้หน้าไปเช่นกัน ยกตัวอย่างร้านไอติมในเม็กซิโกร้านหนึ่ง คนขายได้รับข้อความขู่กรรโชกเรียกเงิน ถ้าไม่นำเงินมาให้ คนในครอบครัวจะตกอยู่ในอันตราย ถ้าคุณอ่านข้อความบนกระดาษแผ่นนี้ อาจจะคิดว่านี่เป็นการอำกันขำ ๆ หรือเปล่า แต่เมื่อมันลงท้ายว่า "จากแก๊ง Zetas" ที่เคยมีข่าวฆ่าตัดหัวคนแล้วไปโยนในผับ คุณจะไม่คิดว่านี่มันเป็นเรื่องล้อเล่นและคุณมีโอกาสจะตอบรับคำร้องมากกว่า เพราะฉะนั้นชื่อเสียงของแบรนด์ก็มีผลต่อการทำธุรกิจไม่น้อยเลย 

    ผลเสียของแฟรนไชส์ก็มีเหมือนกัน สมมติมีแมคโดนัลด์ในละแวกเดียวกัน 3 ร้าน แน่นอนว่าจะเกิดการแข่งขันกัน แต่จะปรับกลยุทธการขายยังไงในเมื่อมีมาตรฐานเดียวกันทั้งราคาและวัตถุดิบ เพราะมันมาจากแบรนด์เดียวกัน คุณก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งถอดใจและพร่ำบ่นว่านี่มันคราวซวยของฉัน ในขณะที่เจ้าของแบรนด์ไม่ได้สนใจว่าแฟรนไชส์จะขายได้ไม่ได้ เพราะเมื่อมีสาขาเพิ่ม กำไรโดยรวมก็เพิ่ม แฮปปี้ดีนี่นา 


    แต่ในขณะที่เจ้าของแบรนด์นั่งนับเงินอยู่นั้น ลูกค้าดันเจอแมลงสาบในเบอร์เกอร์ อี๋! (กรณีสมมติ) ความผิดพลาดของสาขาย่อยก็ส่งผลต่อชื่อเสียงของแบรนด์ได้เหมือนกัน แล้วถ้าคนในแก๊งดันไปฆ่าตำรวจอเมริกาโดยพลการทั้งที่กฎของแก๊งระบุไว้ว่าห้ามฆ่าคนอเมริกันล่ะ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือรัฐบาลอเมริกาตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังลงพื้นที่ไปจับและฆ่าหัวหน้าแก๊ง Zetas ในที่สุด 

    นี่คือผลลัพธ์ของแฟรนไชส์ที่มีผลต่อแบรนด์และลูกน้องที่มีผลต่อหัวหน้า


    บทที่ 7 : การค้นคว้าวิจัย

    ในประเทศที่เข้าถึงยาเสพติดยากอย่างนิวซีแลนด์ ประเทศที่มีประชากรน้อยและห่างไกล ไหนจะไม่มีเที่ยวบินบินตรงจากโคลอมเบียหรือเม็กซิโกอีก ไม่มีใครสนใจไปเปิดตลาดยาเสพติดที่นั่นหรอก  

    ชาวกีวี่จึงต้องหันมาพึ่งพาตัวเอง พื้นที่ของนิวซีแลนด์สามารถปลูกกัญชาได้เอง ประชากร 1 ใน 7 เคยสูบกัญชามาก่อน เมื่อนำเข้ายากนัก พวกเขาก็เริ่มผลิตเอง โดยสารเสพติดที่นิยมคือ "ยาบ้า" แต่ไม่นานนัก ยาบ้าก็ถูกกวาดล้าง Matt Bowden (ปัจจุบันเป็นนักดนตรีร็อกภายใต้ชื่อ Starboy) จึงก้าวเข้าสู่วงการ

    Matt Bowden

    หลังจากมีคนรู้จักเสียชีวิตจากการเสพสารเสพติดเกินขนาด แมตต์หันมาคิดค้นยาสูตรใหม่โดยใช้ Benzylpiperazine หรือเรียกว่า BZP ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมายและค้าขายกันได้ทั่วไป ผู้คนจึงมักนำไปใช้ในปาร์ตี้ ภายหลังสารดังกล่าวก็โดนแบนจากตลาดตามหลังยาบ้าไป แต่งานวิจัยไม่หยุดเพียงเท่านั้น ต่อมามี TFMPP, DMAA และอีกหลากหลายรูปแบบออกมาวางจำหน่าย หลังจากนั้นสารดังกล่าวก็ถูกแบนตามไปติด ๆ เราเรียกสารเสพติดเหล่านี้ว่า "Legal High" หรือยาเสพติดถูกกฎหมาย แต่หารู้ไม่ว่ามันอันตรายเสียยิ่งกว่ายาเสพติดดั้งเดิมอีก เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างแล้ว ยังไม่รู้ว่าโดสยามากน้อยแค่ไหนด้วย รัฐบาลดำเนินการแบนยาเหล่านี้ไปทีละตัว ๆ แต่ไม่ทันไรก็มีตัวใหม่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แถมยังต้องผลิตอะไรที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ผลผลิตก็มีแต่จะแปลกและอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ มียาตัวใหม่-โดนแบน-มียาอีกตัวขึ้นมาอีก-โดนแบน  เป็นการวิ่งไล่จับที่ไม่มีวันจบสิ้น ด้วยกระบวนการที่เชื่องช้าของการตรวจสอบ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะทำยังไง คนพวกนี้ก็นำหน้าอยู่ก่อนเสมอ


    บทที่ 8 : E-commerce

    หลังจากมีอินเทอร์เน็ต ธุรกิจการค้ายาก็เปลี่ยนไป ภายหลังมีการใช้ dark web หรือตลาดมืดออนไลน์ โดยผ่านเว็บเบราเซอร์ที่ตรวจสอบประวัติการค้นหาไม่ได้ เช่น TOR และจ่ายเงินแบบปกปิดตัวตนผ่านบริการอย่าง BitCoin โดยดำเนินการไม่ต่างอะไรจาก ebay หรือเว็บขายของออนไลน์อื่นเลยแม้แต่น้อย มีทั้งเรตติ้งและคอมเม้นท์จากผู้ซื้อว่าบริการเจ้านี้เป็นที่พึงพอใจหรือไม่ ผู้ขายบางคนถึงกับมีประกันของสูญหายหากส่งไปไม่ถึงมือด้วย ดังนั้นการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จึงง่ายกว่ามาก ไม่ต้องออกไปรับความเสี่ยงโดยตรง 
    อ้างอิง : Nicolas Kourtellis

    ต่อมาพูดถึง Betweenness centrality พบว่าการกำจัดหัวหน้าใหญ่ของแก๊งค้ายาหรือพวกรายย่อยที่ขายตามตรอกซอกซอยไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีเท่าที่ควร มันเป็นเรื่องของคอนเน็กชั่น ใครเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ค้าและผู้ขายมากที่สุด นั่นก็คือคนที่มี Betweenness centrality สูง ดังนั้นการกำจัดคนกลางเหล่านี้จึงมีผลมากกว่า


    อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือการศึกษาความสัมพันธ์ของเด็กในไฮสคูลซึ่งใช้เป็นโมเดลของการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสนับสนุนความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว (single partner) อาจจะดูดี ถ้าไม่ไปมั่วสุมก็ไม่ติดโรค แต่จากโมเดลจะเห็นว่าไม่จริง เพราะอยู่สุดสายก็ผ่านคนที่มีความสัมพันธ์มามาก ต่อมาถ้าเราลองไปป้องกันกลุ่มเสี่ยงดูล่ะ เช่น ผู้ที่ค้าบริการทางเพศ พวกค้ายา เด็กวัยรุ่น ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะคนกลางที่มีความสัมพันธ์มากที่สุดต่างหากที่ควรป้องกัน
     

    บทที่ 9 : ขยายกิจการ

    Walt Disney เริ่มต้นจากสวนสนุก จากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์หรือขายของที่เกี่ยวกับดิสนีย์เพิ่มขึ้นมา เมื่อธุรกิจค้ายาอย่างเดียวไม่เพียงพอ บางกลุ่มก็เริ่มขยับขยายกิจการ ขายชีส ส่งออกผักผลไม้ หรือลักลอบคนเข้าประเทศ พวกนี้เปลี่ยนจากแค่คนค้ายาไปเป็น TCOs (Transnational Crime Organisations) แทน กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การกระจายธุรกิจแนวราบ (Horizontal Diversification) คือ การหาทางเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เดิมมาดึงดูดลูกค้ารายใหม่ และในขณะนั้นเอง แก๊งค้ายาก็เริ่มหันมาสนใจ "เฮโรอีน"

    เฮโรอีนสามารถผลิตได้เองในเม็กซิโก ทั้งยังไม่ต้องส่งเงินกลับไปให้โคลอมเบียอีก แล้วทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่สนใจล่ะ สาเหตุที่ทำให้พวกเขาลังเลมี 2 ประเด็น

    1. เหตุผลด้านอุปสงค์ 

    เฮโรอีนมีชื่อเสียงไม่ดีในอเมริกา แม้จะนิยมใช้กันมาก แต่ก็มีข่าวเซเลบคนดังตายเพราะใช้ยาเกินขนาดบ่อยครั้ง เนื่องจากเฮโรอีนมีช่วงระหว่างโดสที่ทำให้เมา (effective dose) กับโดสที่ทำให้ตาย (lethal dose) แคบมาก ดังนั้นถ้าได้รับยาเกินขนาดแค่นิดเดียวก็มีโอกาสตายได้ เฮโรอีนจึงเป็นสารเสพติดที่อันตรายมาก

    จากภาพแสดงอัตราส่วนระหว่าง effective dose ต่อ lethal dose

    เฮโรอีน 6 : 1
    แอลกอฮอล์ 10 : 1
    โคเคน 15 : 1
    LSD 1000 : 1
    กัญชา >1000 : 1

    2. เหตุผลด้านอุปทาน 

    แม้จะสามารถปลูกเองได้ก็จริง แต่สถานที่ปลูกในเม็กซิโกมีหน่วยลาดตระเวนอยู่ประจำ การทำธุรกิจเลยไม่ง่ายอย่างที่คิด

    มีเคสตัวอย่างของผู้หญิงสูงวัยที่ติดเฮโรอีนเพราะบาดเจ็บที่สะโพก เธอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วได้รับยาแก้ปวด OxyContin ที่เป็นสารสังเคราะห์โอปิออยด์ เมื่อได้รับเข้าไปมาก ๆ ก็สามารถทำให้ติดยาได้ หลังจากหมอจ่ายยาให้เป็นประจำ เธอก็เริ่มใช้ยาเกินขนาดและติดยาในที่สุด โชคไม่ดีเมื่อเธอกลับไปโรงพยาบาลกลับพบว่าหมอคนนั้นได้ออกไปแล้ว หมอคนใหม่ลดขนาดยาแก้ปวดลง เธอจึงต้องหันไปซื้อยาเองในตลาดมืด ปรากฎว่า OxyContin มีราคาแพงมาก เธอเลยได้รับคำแนะนำให้สัมผัสกับยาใหม่ที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า นั่นก็คือเฮโรอีน

    เดิมเฮโรอีนเป็นยาของวัยรุ่นจน ๆ แต่หลังจากเกิดปรากฎการณ์ยาแก้ปวด คนที่หันมาใช้โคเคนเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้นและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีอายุ จึงอาจพูดได้ว่ายาแก้ปวดชนิดนี้เป็นยาเปิดทางสู่เฮโรอีน 

    เฮโรอีนเริ่มบูมขึ้นมา ประจวบเหมาะกับที่คาลเดรอนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเม็กซิโกพอดี คาลเดรอนประกาศสงครามกับแก๊งค้ายา กองกำลังทั้งหลายจึงถูกโยกย้ายไปประจำการที่ฮัวเรซ คนลาดตระเวนรอบนอกก็ลดลง พวกค้ายาเลยหันมาใช้โอกาสนี้ผลิตเฮโรอีน


    บทที่ 10 : สูงสุดสู่สามัญ


    ปัจจุบันหลายรัฐในอเมริกาเริ่มหันมาทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เริ่มต้นที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด หลังจากนั้นธุรกิจกัญชาก็เจริญรุ่งเรือง เริ่มสร้างพื้นที่ปลูกกัญชาอย่างเป็นจริงเป็นจัง คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ช็อกโกแลตกัญชา คุ้กกี้กัญชา น้ำอัดลมกัญชา สารพัดจะสรรหามาทำ 

    ข้อดีก็คือลดอำนาจแก๊งค้ายา สามารถคุมคุณภาพได้ ตรวจสอบได้ว่าระดับยาเท่าไร คุณสมบัติเป็นยังไง แถมได้คุณภาพกัญชาที่ดีกว่าปลูกตามแปลงหลบ ๆ ซ่อน ๆ สายตาตำรวจ ทั้งยังสามารถเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ที่แก๊งค้ายาเข้าถึงไม่ได้ เช่น พวกนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจและอยากลิ้มลองประสบการณ์ใหม่ (และพบว่าส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน) นอกจากนี้รัฐยังได้ภาษีจากการขายและลดรายจ่ายในการจับกุมผู้ค้าอีกด้วย

    ข้อเสียคือรัฐที่กัญชาถูกกฎหมายกลับกลายเป็นแหล่งส่งออกกัญชาอย่างผิดกฎหมายเอง มีการลักลอบกัญชาไปยังรัฐอื่นที่กัญชาไม่ได้รับอนุญาตมากขึ้น และถึงแม้ว่ากัญชาจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง มันก็ทำลายชีวิตคนมาแล้ว ซึ่งเป็นผลของฤทธิ์ยาที่ได้รับมากเกินไป (ส่วนใหญ่เจอในรูปแบบของการกินเพราะออกฤทธิ์ช้า) ทำให้เกิดภาพหลอน มีเคสหนึ่งได้รับรายงานว่าใช้มีดแทงคอตัวเองตาย ส่วนอีกคนก็กระโจนออกจากระเบียงเสียชีวิต


    บทสรุป : ข้อผิดพลาดของการปราบปรามยาเสพติด


    1. สนใจแต่อุปทาน

    อย่างที่กล่าวไปในบทแรก การเพิ่มราคาสินค้าไม่ได้ส่งผลให้คนซื้อน้อยลง รัฐลงทุนไปมากแต่กลับได้ผลตอบแทนน้อย หากลองเปลี่ยนไปพิจารณาแง่อุปสงค์ ลดความต้องการซื้อโดยการทำแคมเปญจน์รณรงค์สุขภาพ การบำบัดผู้ติดยาเสพติดเพื่อช่วยให้ความต้องการยาเสพติดลดลง เมื่อคนไม่ซื้อยาเสพติดแล้ว ผู้ผลิตก็จะได้รับผลกระทบเอง 

    2. จัดสรรงบประมาณผิดพลาด

    รัฐบาลมักใช้งบไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพ แต่ถามว่ามันคุ้มกันไหมที่ลงทุนไปเยอะขนาดนั้นแทนที่จะเกลี่ยงบไปให้การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ให้การศึกษาและสร้างอาชีพในเรือนจำ ซึ่งตามการวิจัยแล้วสามารถลดการใช้ยาเสพติดได้ถึง 10 เท่า หากรัฐบาลลงทุนให้กับส่วนนี้ การปราบปรามยาเสพติดอาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    3. ทำระดับโลกในระดับชาติ

    หากลองแยกประเทศตามสายงาน จะสามารถแยกได้ ดังนี้ 

    1. ผลิต - โคลอมเบีย
    2. ขนส่ง - เม็กซิโก
    3. บริโภค - ยุโรป อเมริกา

    โคลอมเบียมองปัญหาในแง่ผู้ผลิต อเมริกามองปัญหาในแง่ผู้บริโภค ประเทศที่เป็นผู้บริโภคก็อยากตัดการผลิต ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตหรือขนส่งอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้นเพราะผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศตัวเองแต่ไปปรากฎที่ประเทศผู้บริโภค แล้วจะเสียเวลานองเลือดกันไปทำไม ถ้าประเทศตัวเองไม่เห็นผลมากมายอะไรนัก

    ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องระดับโลกแต่ทุกประเทศมักใส่ใจแต่ปัญหาของตน เมื่อกำจัดปัญหาในประเทศได้ ทุกคนก็เฉลิมฉลอง แต่ปัญหายาเสพติดไม่ได้หมดไปจากโลก มันกลับไปผุดขึ้นที่ประเทศอื่นแทน เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "squeezing the balloon" หรือ "cockroach effect" เมื่อครั้งที่กำจัดยาเสพติดในประเทศเปรู ยาเสพติดก็ไปผุดขึ้นที่โคลอมเบียแทน เมื่อโคลอมเบียปราบปรามได้สำเร็จ แก๊งเหล่านี้ก็ย้ายกลับไปที่เปรู

    ต่อมาเมื่อการตัดผลผลิตไม่ได้ผล ประเทศผู้บริโภคก็เริ่มผลิตเอง รัฐจึงหันมาทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมายแทน

    4. สับสนระหว่าง "การห้าม" และ "การควบคุม"

    การทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเห็นดีเห็นงามว่ายาเสพติดพวกนั้นมันดี แต่เพราะว่ามันไม่ดีต่างหาก เราจึงต้องเข้าไปควบคุมและวิธีการควบคุมก็คือการทำให้มันถูกกฎหมาย ทำให้มันหลุดจากมือของพวกมาเฟีย ยกตัวอย่างเช่นในเดนเวอร์ที่ได้กล่าวไป 

    แล้วยาอื่นนอกจากกัญชาล่ะ?

    บางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ หรือสวิตเซอร์แลนด์ สามารถให้แพทย์สั่งเฮโรอีนเพื่อการบำบัดได้อย่างถูกกฎหมายในระดับที่กำหนด ผลลัพธ์คือในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่เสพติดเฮโรอีนหายจากอาการได้ถึง 90% และนั่นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี


    แม้จะยังมีข้อโต้แย้งและถกเถียงกันอยู่มากในการแก้ปัญหายาเสพติด แต่หวังว่าในอนาคต เราจะได้เห็นการแก้ปัญหายาเสพติดในระยะยาวและตรงเป้าหมายมากขึ้น

    ________________________

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nufilm Saendet (@fb1338936646210)
ผมขออนุญาตถามหน่อยครับ ไม่ผิดกฏหมายเหรอครับ ที่อธิบายการผลิตยาไว้ในหนังสือ
puroii (@puroii)
@fb1338936646210 อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันค่า
@fb1338936646210 ถ้าเขาผลิตถึงผิดครับ
ilysm (@ilysm)
ได้ความรู้สุดๆเลยค่ะ ขอบคุณที่มาแบ่งปันนะคะ เพราะความรู้แง่อาชญากรรมอาจจะหาไม่ได้ง่ายนัก55555555
pnpyc (@pnpyc)
เล่มนี้เป็นแปลไทยหรือไม่แปลคะ อยากหามาอ่านมาก
puroii (@puroii)
@pnpyc แปลไทยน่าจะยังไม่มีนะคะ เราอ่านฉบับภาษาอังกฤษค่า
pnpyc (@pnpyc)
@puroii ;-; ขอบคุณค่ะ
sunnyside1909 (@sunnyside1909)
เรากำลังดู narcos เลย เขียนได้น่าสนใจมากก
puroii (@puroii)
@sunnyside1909 เราก็เริ่มหันมาอ่านอะไรแบบนี้หลังดู Narcos เหมือนกันค่ะ 555 ยังไงก็ขอบคุณที่อ่านนะคะ