เดเมียน by Hermann Hesse
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางสังคม ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่งๆ การค้นหาตัวตนก็เช่นกัน ซินแคลร์ นักเขียนนิรนามได้พยายามอธิบายการประกอบสร้างตัวตน ผ่านการเล่าถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างพื้นที่ทางศาสนา และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เพื่อนำไปสู่การค้นพบตัวตนที่แท้จริง และบรรลุความอิสระได้อย่างไร้ข้อกังขา
.
.
.
Synopsis เอมิล ซินแคลร์ เด็กชายผู้ซึ่งพยายามค้นหาจิตวิญญาณที่แท้จริงของตน เขาบังเอิญรู้จักกับ โครเมอร์ เด็กหนุ่มที่ทำให้ตัวเขาต้องเข้ามาพัวพันในโลกของความชั่วช้า ซึ่งผิดกับพื้นที่ที่เขาเคยอาศัย โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความใสสะอาด และความบริสุทธิ์ ครอบครัวของซินแคลร์เคร่งศาสนาตามที่ผู้คนยุคนั้นควรจะเป็น นั่นทำให้เขายิ่งรู้สึกแปดเปื้อน จนได้มาพบกับ "แมกซ์ เดเมียน" เขาผู้ซึ่งแตกต่าง ใบหน้าไร้กาลเวลา ไร้ซึ่งเพศ และคำพูดที่ไม่เหมือนคนอื่นกลับทำให้ซินแคลร์ประหลาดใจ แม้จะมีข่าวลือเกี่ยวกับบุคคลนี้มากมายแค่ไหน ถ้อยคำของเดเมียนกลับเป็นสิ่งนำทางให้เขาไขว่คว้าถึงตัวตนที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากค้นพบ...นั่นคือสิ่งที่บุคคลจะได้อิสระอย่างแท้จริง
Rate : 8/10
(ระดับความยากในการอ่าน : 9/10)
For Whom?
นิยายเรื่อง DEMIAN เหมาะสำหรับนักอ่านที่ชื่นชอบความซับซ้อนของเนื้อหา การตีความ และการทำความเข้าใจในสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม รวมถึงการค้นหาตัวตนภายในตนเอง หากต้องการหาคำตอบที่ว่า "ตัวตนของเราคือใคร" หนังสือเล่มนี้สามารถชักนำคุณ หยิบยื่นชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้คุณได้อย่างละเมียดละไม ก่อนจะค่อยๆประกอบความเป็นอัตลักษณ์ของคุณขึ้นมา ผ่านตัวอักษรและมุมมองที่คุณจะได้มองผ่านตัวละครอย่าง เอมิล ซินแคลร์ คุณจะมีเดเมียนเป็นที่ปรึกษาว่าหนทางข้างหน้าคุณควรจะค้นหาตนเองต่อไปอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหนังสือเล่มนี้มีพื้นฐานแนวคิดของทฤษฎีจิตวิเคราะห์อยู่พอสมควร เพียงแต่คุณจะได้อ่านมันในรูปแบบของการเล่าเชิงศาสนาเท่านั้น
What you need to know before reading this book?
I. ประวัติศาสตร์ : เดเมียนเป็นนวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1919 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง หรือแม้แต่ด้านศาสนา ผู้คนในยุคนั้นต่างก็สูญสิ้นความเป็นแก่นแกนในตนเอง และต่างตั้งคำถามว่า ตัวเราคือใคร และกำลังทำอะไรอยู่กันแน่ ทำให้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจสภาวะทางสังคมในช่วงสงครามโลกไปพร้อมๆกับการทำความเข้าใจตัวละครหลักอย่าง ซินแคลร์
II. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ : เนื่องจากพื้นฐานทางความรู้และความเข้าใจส่วนใหญ่ของหนังสือเรื่อง เดเมียน มาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (หากต้องการอ่านให้เข้าใจ) ผู้อ่านควรมีพื้นฐานความเข้าใจในกรอบแนวนี้คิดนี้อยู่ไม่มากก็น้อย เช่น พัฒนาการทางบุคคลิกภาพของแต่ละคนย่อมเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย โดยคนเราจะมี Id (บุคคลิกที่ติดมาแต่กำเนิด ไร้จิตสำนึก และคำนึงเพียงความต้องการของตนเท่านั้น) Ego (บุคคลิกที่พัฒนามาจาก Id หลังได้ปฎิสัมพันธ์กับโลกภายนอก) และ SuperEgo (มโนธรรมที่พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์โดยอาศัยหลักของศีลธรรมเป็นตัวกำหนด) เมื่อนำความเข้าใจจากแนวคิดนี้มารวมเข้ากับเนื้อหาภายในหนังสือ จะทำให้เราสามารถลื่นไหลไปกับตัวละครได้มากและลึกซึ้งขึ้น
III. ภาษา : ต้องยอมรับว่าเดเมียนเป็นนวนิยายอีกเรื่องที่อ่านยากพอสมควร หนึ่งในนั้นก็เนื่องมาจากภาษาที่ผู้แปลใช้ในการแปล และถ่ายทอดออกมาให้ได้รับรู้ (ไม่นับเนื้อเรื่องที่มีความซับซ้อนเป็นทุนเดิม) คุณสดใสใช้ภาษาในการแปลได้สวยงาม และสอดคล้อง อาจเพราะคุณสดใสแปลเรื่องของ เฮอร์มานน์ เฮสเส มาแล้วหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ยากแก่การเข้าใจคือการใช้คำ เช่นคำว่า โลกุตระ โลกีย์ ปุถุชน ซึ่งอาจะไม่เหมาะกับผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นชินกับภาษาในระดับนี้
From my perspective.
รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากผู้เขียน เป็นการรับรองชั้นดีว่าหนังสือเรื่อง เดเมียน จะสามารถส่งอิธิพลไปถึงผู้อ่านได้ราวกับสายฟ้าฟาด ทั้งลีลาการเขียน การใช้คำ และเนื้อหาจากปลายปากกาที่จะดึงให้ผู้อ่านถลำลึกเข้าไปยังโลกทั้งสองใบ โลกที่เป็นดั่งพื้นที่ศักสิทธิ์ โลกที่มีแต่ความชั่วร้าย หรือแท้จริงแล้วโลกที่ว่าก็เป็นเพียงแค่พื้นที่ที่เราสร้างมันขึ้นมาเท่านั้น
ความโรแมนติก ความสับสน ความย้อนแย้ง และอารมณ์ขันที่แสนจะหม่นหมอง ทั้งหมดมันเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นสำหรับหนังสือเล่มนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคุณอ่านเดเมียนจบ คุณจะพบกับคำถามที่ว่า...
แล้วตัวตนแท้จริงของเรา คืออะไรกันแน่
Publisher : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
Translator : สดใส
Price : 310 บาท (ปกแข็ง)
.
.
Ps : เพื่อป้องกันการสับสน เดิมทีผู้เขียนใช้นามปากกาว่า ซินแคลร์ ทำให้ไม่มีใครทราบถึงตัวตนของผู้เขียนหรืออาจะเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนนิรนามเนื่องจากปัญหาทางการเมือง(นาซีเกรงว่าผลงานของเฮสเสจะเป็นภัยต่อพวกเขา) จนกระทั่งการตีพิมพ์ครั้งที่10 เฮสเสตัดจึงสินใจใช้ชื่อของเขาออกมาในการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in