เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังหนึ่งคืน | OnenightCinemaOnenightz.
Green Book : เรื่องราวใต้ถังไก่ทอด
  • Green Book (2018) ??‍???
    Director : Peter Ferrelly
    Genres : Biography ,Drama ,Music ,Comedy
    My Score : 9.0 / 10
    .
    - ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ได้เขียนถึงคำคมจากหนังเรื่อง Green Book และได้เกริ่นๆว่าอยากจะนำฉากๆนึงนำมาเสนอผ่านบทความ และเมื่อพูดถึงหนังเรื่องนี้ ฉากแรกๆในหัวที่หลายคนที่เคยดูจะต้องนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ เลยก็คงไม่พ้นฉากรับประทานไก่ทอดบนรถของตัวละครทั้งสอง ซึ่งเป็นฉากที่มีบทสนทนาและการแสดงที่ชวนหัว เป็นฉากที่เป็นภาพจำสำคัญของหนัง และมีการพูดถึงแฟรนไชส์อาหารระดับโลก นั่นคือ KFC (Kentucky Fried Chicken) จนทำให้อยากจะหยิบยกและนำมาพูดถึง ให้คนอ่านได้เห็นประเด็นที่ซ่อนเร้นภายใต้ความตลกขบขำที่หนังได้นำเสนอ
    .


    ➡️ Scene Dialogue : บทสนทนาภายในฉาก

    - ระหว่างการเดินทางไปยังที่หมายจุดต่อไป Tony ได้พูดคุยถึงความสัมพันธ์ของ Dr. Shirley กับครอบครัว ทั้งสองพูดคุยจนเข้าเขตของมลรัฐ Kentucky โทนี่จึงชวนดอนแวะทานไก่ทอดซึ่งขึ้นชื่ออย่างมากเมื่อมาเยือนรัฐนี้ โทนี่ขับรถจนถึงร้านขายไก่ทอด และเห็นป้ายโฆษณาป้ายใหญ่ ซึ่งบนป้ายมีข้อความว่า "Kentucky Fried Chicken It's finger lickin good /1$" - ไก่ทอดเคนทักกี อร่อยจนต้องเลียนิ้ว /ราคาประมาณ 20.8 บาทต่อถัง (ในปีค.ศ 1962)
    - Tony แบกถังไก่ทอด 1 ถังขึ้นมาบนรถ และสตาร์ทรถออกเดินทาง ระหว่างทาง โทนี่หยิบไก่ทอดออกมากินอย่างมูมมาม และเริ่มบทสนทนา...
    Tony : ผมว่านี่เป็นไก่ทอดเคนทักกีที่เด็ดที่สุดที่เคยกิน แถวนี้ไก่คงสดกว่า ว่าไหม?
    Dr. Shirley : ผมไม่เคยเจอใครกินจุเหมือนคุณเลย
    Tony : ไม่ ผมซื้อทั้งถัง คุณจะได้กินด้วยไง
    Dr. Shirley : เกิดมาผมไม่เคยกินไก่ทอด
    Tony : ไปตอแหลที่อื่นเหอะ พวกคุณชอบกินไก่ทอด* กริตส์ (grits) กับคะน้าฝรั่ง (Collard greens) ผมก็ชอบนะ พ่อครัวนิโกรเคยทำตลอดสมัยผมเป็นทหาร
    Dr. Shirley : คุณประเมินผมแคบมากนะ โทนี่
    Tony : ใช่ไหมล่ะ ผมเก่งไง
    Dr. Shirley : ไม่เก่งเลย คุณไม่ได้เรื่อง เพียงเพราะนิโกรคนอื่นๆ ชอบดนตรีแบบนึง ไม่ได้แปลว่าผมต้องชอบ แล้วเราก็ไม่ได้กินเหมือนกันหมดด้วย
    Tony : เฮ้ย เดี๋ยวนะ ถ้าคุณบอกว่าคนอิตาลีชอบพิซซ่า แล้วก็สปาเกตตี้กับมีทบอลกันหมด ผมก็ไม่ถือสาอะไรนะ
    Dr. Shirley : คุณหลงประเด็น การที่ทึกทักว่านิโกรทุกคน...
    Tony : นี่!!! จะกินหรือไม่กิน
    Dr. Shirley : ไม่กิน
    Tony : หน่อยน่า อย่าบอกนะว่าไม่หอมน่ะ
    Dr. Shirley : กลิ่นใช้ได้ แต่ผมไม่อยากให้ผ้าห่มเปื้อนน้ำมัน
    Tony : โอ้ยย~ ผ้าห่มหนูเปื้อนน้ำมันแน่เลย สักชิ้นน่า ไม่ตายหรอก เอาไปกินซะ
    Dr. Shirley : ไม่
    Tony : เอาไป ผมจะโยนไปข้างหลัง
    Dr. Shirley : อย่าเชียวนะ
    Tony : ไม่งั้นก็รับไปสิ
    Dr. Shirley : กินยังไง? มีจานหรือมีดกับส้อมไหม?
    Tony : เวรตะไล ใช้มือไง เขากินกันแบบนี้
    Dr. Shirley : ผมทำไม่ได้
    Tony : กินซะ รับไป ผมต้องขับรถ จับพวงมาลัยสองมือ รับไปๆ เร็วๆ ... แบบนั้นแหละ
    Dr. Shirley : ผ...ผมทำไม่ได้ โทนี่
    Tony : กินๆ เข้าไปเถอะน่า บ้าฉิบ
    ..ดอนกัดเนื้อไก่อย่างเก้ๆกังๆ...
    Tony : อะไร ไม่อร่อยหรอ?
    ..ดอนนึกภาพรสชาติของเนื้อไก่ที่ได้ลิ้มรสอยู่ในหัว และลองกัดชิ้นเนื้อนั้นอีกที..
    Dr. Shirley : มันดู..ไม่ถูกสุขลักษณะเลย
    Tony : ใครสน ทำตัวสบายๆ กินให้อร่อย ... รู้ไหม พ่อผมเคยบอกว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทำให้เต็มร้อย ตอนทำงานก็ทำงาน ตอนหัวเราะก็หัวเราะ พอกินก็กินให้เหมือนมื้อสุดท้าย* เอาอีกชิ้นมั้ย? เอ้านี่ อกไก่ อร่อยเหาะ เอาไป... นั่นแหละ
    Dr. Shirley : แล้วทำยังไงกับกระดูก?
    ..โทนี่ลดกระจกรถ และโยนกระดูกไก่ที่เพิ่งเเทะเลมจนหมด โยนออกนอกตัวรถ..
    Tony : ทำแบบนี้
    ..เขาหยิบเศษกระดูกจากถังไก่ และเริ่มโยนออกไปอีก..
    Tony : แบบนี้ไงล่ะ
    ..ดอนเห็นโทนี่ทำอย่างนั้น ก็ยิ้มมุมปาก และโยนกระดูกไก่จากในมือออกไปบ้าง เขารู้สึกชอบใจ..
    Tony : นั่นแหละ 5555
    ..โทนี่ได้ใจ เขาโยนแก้วน้ำออกนอกรถ ดอนเห็นสิ่งที่โทนี่เพิ่งทำไป เขาประหลาดใจ และมองคล้อยไปข้างหลัง..
    ..ฉากตัดมา เห็นรถถอยกลับมายังจุดที่แก้วน้ำตก..
    Tony : เรื่องใหญ่ตรงไหน ด็อก เดี๋ยวกระรอกก็มากินอยู่ดี
    Dr. Shirley : เก็บขึ้นมา โทนี่
    Tony : ธรรมชาติดูแลโลกอยู่แล้ว!*
    Dr. Shirley : เก็บขึ้นมา
    Tony : เวร~
    .


    ➡️ Scene Analysis : ความหมายในฉากหนัง

    ? "You people love the fried chicken." - ไก่ทอดกับการเหมารวมวัฒนธรรมการกินของคนผิวดำ
    - เราเริ่มตีความจากประโยคสั้นๆนี้ของ Tony "พวกคุณชอบกินไก่ทอด" ในมุมมองของโทนี่ คนผิวดำต้องคุ้นเคยไก่ทอด เพราะมันคือภาพจำที่มีต่อคนดำ ที่เขาเข้าใจมาเสมอ การที่โทนี่เห็น Dr. Shirley ปฏิเสธการกินไก่ทอด ทำให้เขาเกิดความประหลาดใจ ซึ่งดอนก็อธิบายว่าการที่โทนี่เข้าใจแบบนั้น คือความเข้าใจที่ผิด "เพียงเพราะนิโกรคนอื่นๆ ชอบดนตรีแบบนึง ไม่ได้แปลว่าผมต้องชอบ แล้วเราก็ไม่ได้กินเหมือนกันหมดด้วย" ซึ่งโทนี่ได้อธิบายเสริมอีกว่า "ถ้าคุณบอกว่าคนอิตาลีชอบพิซซ่า แล้วก็สปาเกตตี้กับมีทบอลกันหมด ผมก็ไม่ถือสาอะไรนะ" ซึ่งประเด็นทั้งหมดในบทสนทนาช่วงนี้ คือประเด็นการเหมารวมทางชาติพันธุ์
    - การเหมารวมทางชาติพันธุ์ (Stereotype) เป็นหนึ่งในรูปแบบของการเหยียด (Racism) โดยสร้างความเชื่อว่าใครต่อใครที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันก็จะเป็นเหมือนกันหมดไปโดยปริยาย ซึ่งเกิดจากทัศนคติจากประสบการณ์ที่เคยเจอ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งมีต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เพศ ไปจนถึงกลุ่มการชอบที่เป็น sub-culture ของสังคม จนกลายเป็นมาตรฐานในการตัดสิน และเชื่อไปว่าพวกเขาเป็นแบบนั้นเหมือนกันหมด ทั้งที่ยังไม่รู้จักตัวตนจริงๆ โดยอาจเป็นได้ทั้งในทางที่ดี และไม่ดี แต่แนวคิดของการเหมารวมส่วนใหญ่มักมาพร้อมอคติ จนกลายเป็นการเหมา ที่ไม่ค่อยยุติธรรมกับบางคนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป
    - ซึ่งต้นตอที่ทำให้ไก่ทอดกลายเป็นอาหารของคนดำ เกิดขึ้นในหนังเรื่อง The Birth of a Nation กำกับโดย D. W. Griffith ในปีค.ศ 1915 โดยหนังได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับที่เป็นหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกของโลก แต่ขณะเดียวกันมันก็ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น 'หนังที่เหยียดมนุษย์ที่สุด เท่าที่โลกเคยสร้างมา'
    - หนังพูดถึงความหวาดกลัวของคนขาวที่มีต่อคนดำในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกาและยุคบูรณะ (Reconstruction Era) ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งประกาศเลิกทาสใหม่ๆ ทำให้คนดำมีสิทธิพลเมืองเต็มที่เทียบเท่าคนขาว โดยให้ภาพคนดำคุกคามคนขาวเยี่ยงสัตว์ร้าย ที่ดูจะเลวร้ายอย่างมากคือการเป็นสัตว์หื่นกระหายที่ไล่ข่มขืนหญิงสาว และยังมีสภาคนดำที่วางแผนจะยึดอเมริกาไว้ในครอบครองด้วย ระดับความเหยียดของหนังเรื่องนี้ลึกลงไปถึงการให้คนดำในหนังเรื่องนี้รับบทโดยคนขาวที่ทาหน้าดำเป็นส่วนใหญ่ โดยมีฉากหนึ่ง เป็นฉากที่ทำให้ไก่ทอดกลายเป็นการเหมารวมรสนิยมคนดำคือภาพในสภาคนดำที่มีคนยกขาขึ้นมาพาดโต๊ะ ขณะที่อีกคนก็แทะไก่ทอดดูไร้มารยาท ฉากนี้ปรากฏเพียงสั้นๆ แต่ทำให้คนดำและไก่ทอดไม่ใช่ภาพจำที่ดีนักต่อชาวอเมริกัน
    - แต่ก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆ Griffith จะจับยัดฉากไก่ทอดเข้ามาในหนัง มันพอจะมีที่มาที่ไปอยู่บ้าง แม้ว่าอันที่จริงไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไก่ทอดแบบหนังกรอบด้วยแป้งกับเกล็ดขนมปังนั้นมาจากไหน เพราะวัฒนธรรมการปรุงอาหารแบบ deep-fry ว่ากันว่ามาจากแอฟริกาฝั่งตะวันตก แต่ไก่ทอดดูเหมือนจะเป็นอาหารที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศอเมริกาทางตอนใต้มากกว่า โดยสูตรไก่ทอดชิ้นแรกสุดปรากฏอยู่ในหนังสือ The Art of Cookery Made Plain and Easy ของ Hannah Glasse ชาวอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ 1747 ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากจนแม่บ้านในประเทศอเมริกาตอนใต้ ซึ่งบังคับให้ทาสผิวดำในเรือนพวกเธอเอาสูตรนี้มาดัดแปลง
    - ซึ่งพอมองย้อนกลับมาถึงบทสนทนาภายในฉาก จะแสดงให้ชัดถึงมุมมองของ Tony ที่มีต่อ Dr. Shirley ที่ดอนเหมารวมว่าดอนซึ่งเป็นคนผิวดำต้องชอบกินไก่ทอด รวมถึงการนิยามการเหมารวมในชาติพันธุ์ของตนเอง ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนว่า "ถ้าคุณบอกว่าคนอิตาลีชอบพิซซ่า แล้วก็สปาเกตตี้กับมีทบอลกันหมด ผมก็ไม่ถือสาอะไรนะ" ซึ่งถ้ามองอย่างพิจารณา จะเห็นได้ว่าการเหมารวมที่พูดถึง "คนผิวดำชอบกินไก่ทอด" นั้นเกิดจากการนิยามของคนภายนอกที่นิยามและสถาปนา "การกินไก่ทอด" ให้กับคนผิวดำเพื่อกดทับและกดขี่ทางวัฒนธรรม ทำให้คนผิวดำมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี กล่าวคือการกินไก่ทอดที่มีอิริยาบทที่มูมมาม ส่วนการเหมารวมที่พูดถึง "คนอิตาลีต้องกินพิซซ่า" จะมีความแตกต่างทางความรู้สึกอย่างมากถ้าเทียบกับการเหมารวมข้างต้น เพราะพิซซ่าคือวัฒนธรรมการปรุงอาหารของชาวอิตาเลียน ซึ่งคือความภาคภูมิใจของชาติพันธุ์ การที่โทนี่นำการเหมารวมทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน จึงเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งความจริงชาติพันธุ์ไม่ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรมหรือรสนิยมแต่อย่างใด เพราะคนเราเลือกที่จะเป็นตัวเองได้ มีความรู้สึกนึกคิด หนังเข้าใจจุดนี้และดึงมาใช้ให้เห็นตลอดผ่านเรื่องราวการจำกัดรสนิยมดนตรีของดอน โดยความคิดของตัวโทนี่ เช่น ต้องฟังเพลงแจ๊ส ดื่มวิสกี้ และที่สำคัญไก่ทอดคืออาหารคู่กาย แต่ดอนแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ความชื่นชอบส่วนบุคคลและการเสพย์วัฒนธรรมเป็นสิทธิ์โดยชอบ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเอง สีผิวไม่ใช่เหตุผลที่เราจะโดนจำกัดว่าต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง
    .


    ? ความขัดแยังในอัตลักษณ์ของสองตัวละคร

    - จากฉากต่อมาหลังจากที่ Dr. Shirley รับไก่ทอดจาก Tony มาทาน จะทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมของสองตัวละคร โดยเราจะเห็นได้ว่า ดอนจะมีบุคลิกที่ดูเรียบร้อย ดูเป็นผู้ดีมีการศึกษา โดยลักษณะการรับประทานไก่ทอดที่ต้องถามถึงช้อนส้อมและกลัวผ้าห่มรองตักจะเปื้อน ต่างจากตัวละครของโทนี่ ที่ต้องใช้คำว่า"กิน"อย่างมูมมาม มือเต็มไปด้วยคราบมัน และพื้นที่หน้ารถของเขาก็ดูไม่สะอาดตา เต็มไปด้วยอาหารและเศษอาหาร ทำให้เราได้เห็นภาพที่เราจะไม่ค่อยได้เห็นจากหนังเรื่องอื่นๆ คือ คนผิวดำที่ดูสุภาพ และคนผิวขาวที่ดูก้าวร้าว ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ที่หนังต้องการนำเสนอ
    - ความแตกต่างอย่างชนิดฟ้ากับเหวระหว่าง Tony กับ Dr. Shirley เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสีผิว แต่เป็นเรื่องของรากเหง้าและกำพืด ซึ่งโทนี่เหมือนหลุดมาจากหนังมาเฟีย ที่ดูเอะอะมะเทิ่ง ปราศจากทั้งความละเอียด อ่อนไหว ตลอดจนการขัดเกลาทั้งด้านการศึกษาและรสนิยม เขาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่แคร์ว่ามันจะดูโง่หรือฉลาดอย่างไร และนั่นตรงกันข้ามกับดอน ผู้ซึ่งจบด็อกเตอร์ด้านดนตรี และความสามารถในฐานะนักเปียโนของเขาได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญว่าอัจฉริยะ เขาแสดงออกอย่างห่างเหิน รัดกุม สำรวม และถือเนื้อถือตัว ข้อสำคัญ ไม่ปิดบังความเหนือกว่าทั้งฐานะ ชนชั้น และระดับสติปัญญา อันที่จริงในตอนที่เราได้เห็นตัวละครนี้ เขาแต่งเนื้อแต่งตัวราวกับเป็นเจ้าผู้ครองนคร นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่อาจเรียกได้ว่าบัลลังก์ และพูดกับโทนี่เหมือนเขาเป็นข้าทาสบริวาร แต่สิ่งหนึ่งที่สองตัวละครมีความเหมือนกัน คือความเป็นคนชายขอบของสังคม ดอนคือคนผิวดำ และโทนี่คือคนผิวขาวที่มีเชื้อสายอิตาเลียนและมีฐานะยากจน
    - จากความขัดแย้งในอัตลักษณ์ที่หนังนำเสนอ ทำให้เราคนดูได้เรียนรู้ถึงความไม่เสมอภาคตลอดเรื่อง ที่ทำให้เราได้วิพากษ์ชีวิตของตัวละครทั้งสองอย่างเท่าเทียมผ่านเหตุการณ์ต่างๆ โดยหนังจะทำให้เราเกิดคำถามต่อ"ภาพจำเหมารวม"ของเราที่มีต่อสีผิว ว่าระหว่างสองตัวละคร ใครได้รับผลกระทบมากกว่ากัน ซึ่งคนดูหลายๆคนอาจจะก้าวข้ามภาพจำเก่าๆ จนมองตัวละครทั้งสองอย่างเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมในตอนจบ
    .


    ? Good Quote - ประโยคนี้เด็ด

    ▫️" Whatever you do, do it 100%. When you work, work. When you laugh, laugh. When you eat, eat like it's your last meal." - "ไม่ว่าจะทำอะไร ทำให้เต็มร้อย ตอนทำงานก็ทำงาน ตอนหัวเราะก็หัวเราะ พอกินก็กินให้เหมือนมื้อสุดท้าย"
    ▫️" Nature takes care of the earth!" - "ธรรมชาติดูแลโลกอยู่แล้ว!"
    - ไม่มีอะไรมาก แค่คำพูดคมๆห้วนๆของ Tony สองประโยคนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูได้ ประโยคแรกคือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ประโยคที่สองคือการเข้าใจถึงความสำคัญของธรรมชาติ ถึงแม้ในประโยคที่สอง ตอนที่พูด ตัวเขาแทบจะไม่เข้าใจเรื่องนี้เลยก็เหอะ ?
    .
    ℹ ตลอดเวลาแค่ 3 นาที 34 วินาทีของฉากนี้ ที่มีทั้งความตลกเบาสมอง และสอดแทรกประเด็นทางวัฒนธรรมได้อย่างแยบยล รวมถึงสะท้อนการแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครภายในฉากที่ทำให้เห็นพัฒนาการในความสัมพันธ์ของทั้งสอง จึงทำให้ฉากสั้นๆนี้ เป็นฉากสำคัญที่เป็นรากฐานให้กับเหตุการณ์ต่างๆในฉากต่อๆไปภายในเรื่อง การที่หนังนำไก่ทอดมาใช้ภายในฉาก คือความฉลาดของคนเขียนบท ที่ทำให้ไก่ทอดสะท้อนถึงมุมมองของตัวละครทั้งสอง Tony มองว่าไก่ทอดคือตัวแทนของวัฒนธรรมอาหารของคนผิวดำทางตอนใต้ ที่ Dr. Shirley น่าจะคุ้นเคย ส่วนดอนมองว่า ไก่ทอดเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมของคนผิวดำที่เขาไม่อาจจะเชื่อมโยงด้วย การที่ทั้งสองได้แบ่งปันไก่ทอดทานกันในรถระหว่างเดินทาง นั่นคือภาพสะท้อนที่หนังบอกคนดูว่า ทั้งสองได้พบกันครึ่งทาง ได้เริ่มเปิดใจเรียนรู้กันและกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพของการเดินทางครั้งนี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in