Episode : The Power of Categories
Podcast : Invisibilia
Host : Lulu Miller และ Alix Spiegel
Time : 59 นาที
เป็น Podcast ที่น่าทึ่งมากๆ (ชอบที่สุด และทำให้กลับมาฟัง Podcast ใหม่ในรอบหลายปี) ผู้จัดรายการสองคนทำรายการนี้ออกมาได้เนียน น่าสนใจ และหาเคสตัวอย่างมาอธิบายแนวคิดที่ต้องการนำเสนอได้สุดยอดมากๆ เสียดายที่ตอนนี้หยุดพักไป น่าจะกลับมาใหม่ในอีกไม่นาน เพราะเป็น Podcast ที่ได้รับความนิยมมาก
Invisibilia พูดถึง Forces ต่างๆที่มองไม่เห็น แต่ทำให้มนุษย์เป็นอย่างที่เราเป็น อย่างตอน The Power of Categories นี้ แค่เปิดเรื่องมาก็น่าทึ่งแล้ว กับเคสของคนคนหนึ่ง ที่สมองของเขามีการ 'สวิตช์' สลับเพศไปมาได้ โดยเป็นการทำงานในระดับระบบประสาทของสมองเลย แต่เรื่องที่อยากเล่าให้คุณฟัง คือเรื่องของคนอินเดียคนหนึ่ง ที่ไปสร้างรีสอร์ตคล้ายๆ Indian Town ที่ฟลอริดา ภายในมีทั้งที่พัก ร้านอาหาร โบสถ์ ร้านกาแฟ บรรยากาศ เสียงเพลง ฯลฯ ที่เป็นอินเดียล้วนๆ
ปัญหามีอยู่อย่างเดียวก็คือ รีสอร์ตที่ว่านี้ สร้างเสร็จตอนเกิดวิกฤตซับไพรม์พอดี!
อพาร์ตเมนต์ที่เขาขายนั้นมีสองห้องนอน ราคาสองแสนห้าหมื่นเหรียญ แต่บ้านทั้งหลังที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนนอกเขต Indian Town มีสี่ห้องนอน ราคาตกลงมาเหลือแสนเหรียญ เขาคิดว่าแย่แล้ว ต้องล้มละลายแน่ๆ แต่ปรากฏว่า Indian Town ของเขากลับขายดี ขายหมดจนต้องสร้างเฟสที่สองขึ้นมา
เรื่องนี้อาจฟังดูลึกลับ อธิบายได้ยาก แต่ถ้าอธิบายด้วยแนวคิดแบบ Invisibilia ก็คือคนเราชอบอยู่กับคนที่เป็นประเภทเดียวกัน คืออยู่ใน Category ซึ่งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว และฝังอยู่ในวิวัฒนาการของเราด้วยซ้ำ Podcast ตอนนี้พานักวิชาการมาอธิบายว่า คนแต่ละชนชาติจะเห็นว่าตัวเองดีที่สุด และอยากอยู่แต่กับคนชนชาติเดียวกัน พอเขาไปสัมภาษณ์คนอินเดียที่อยู่ที่นั่น ก็พบว่าถึงคนเหล่านั้นจะพูดภาษาอังกฤษได้แคล่วคล่องไม่มีปัญหา และฟลอริดาก็ไม่ได้กีดกันอะไร แต่พวกเขารู้สึก 'ดี' กว่ามากที่จะได้อยู่ร่วมกันกับคนเชื้อสายเดียวกัน
นั่นทำให้ผมนึกถึง Podcast เรื่อง Spoken and Unspoken ของ Ted Radio Hour โดย Guy Raz ซึ่งก็อธิบายไว้คล้ายๆกัน เขาบอกว่าคนบนเกาะปาปัวนิวกินีนั้น มีภาษาหลายร้อยภาษา ทั้งที่เกาะไม่ได้ใหญ่มาก เรียกว่าจากหมู่บ้านหนึ่ง เดินไปแค่สองสามไมล์เจออีกหมู่บ้านหนึ่ง ก็พูดกันคนละภาษาแล้ว โดยนัยนี้ ภาษาจึงถูก 'ประดิษฐ์' ขึ้นมา ทั้งเพื่อ Include และ Exclude คือนับรวมคนพวกเดียวกันที่พูดภาษาเดียวกัน และเพื่อ 'กัน' คนแปลกหน้าที่ไม่สามารถรับรู้ภาษาแบบเดียวกับเราออกไปด้วย และมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะทำให้คนที่ไม่พูดภาษาเดียวกับเรากลายเป็นแค่ Sub-Human อันเป็นเรืองอันตรายยิ่ง
Podcast ตอน How We Love (ของ Ted Radio Hour) ก็แตะเรื่องนี้ไว้นิดหน่อย โดยตั้งคำถามว่า พอเข้าไปในงานปาร์ตี้แล้ว อะไรทำให้เราชอบหรือไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งบางทีอาจเป็นแค่ Wrong Accent หรือ 'สำเนียง' ภาษาที่ไม่ต้องตรงกับจริตของเราเท่านั้นก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของ Categorization ที่แม้มองไม่เห็น แต่ทรงพลังฝังแน่นอยู่ในรากวิวัฒนาการของเรา คำถามก็คือ ในโลกยุคใหม่นั้น เราควรจะสลัด Categorization ออกไปมากน้อยแค่ไหนถึงจะพอดี
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in