สวัสดีครับ
ตลกดีเหมือนกันที่เกือบสี่ปีที่ผ่านมา ชีวิตมหา’ลัยของตัวเองจะดำเนินไปอย่างผาดโผน มีทั้งเรื่องราวที่ทั้งน่าจดจำ และน่าจำไว้เฉย ๆ แต่ “ไม่ต้องพู๊ดดด” แล้ววันหนึ่ง (วันที่เขียนนี่แหละ) ทุกอย่างก็จบลงเพียงกดหยุดอัดวิดีโอพรีเซนต์ และส่งงานผ่านเมลแค่ไม่กี่คลิก ง่าย ๆ อย่างนั้น… กระนั้นก็ดี เทอมสุดท้ายนี้ก็เปี่ยมชีวิตชีวาขึ้นมากโข เพราะได้ออกไปคณะบ้าง ได้ร่วม (หรืออย่างน้อยก็เห็นข่าวคราว) กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนพี่น้องตั้งใจเตรียมการกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน (และจำต้องเรียนอย่างเต็มใจ)
.
ต่อไปนี้คือรีวิววิชาอักษรฯ ครั้งสุดท้ายในชีวิตป.ตรีของเรา แม้ครั้งนี้จะมีแต่วิชาเอกฝรั่งเศสล้วน ๆ (ซึ่งตัด A ที่ 80% อิงเกณฑ์เหมือนเคย ดี!) แต่ส่วนถัดไปจะเขียนสั้น ๆ ถึงวิชาที่เราชอบที่สุดในรั้วจุฬาฯ ซึ่งมีทั้งวิชาจากในและนอกอักษรฯ ครับ เช่นเคย ขอเตือนไว้ก่อนว่า เนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงวันเวลาต่าง ๆ อาจะเปลี่ยนไปในแต่ละเทอมหรือปีการศึกษา ลองนำรหัสวิชาไปเช็คที่ Reg Chula กันก่อนนะ
.
Alors, on y va.
.
.
2231475 Selected Study in French Literature (ทุกวันอังคาร 9:00-12:00 น.)
เรียนอะไรบ้าง
- ทฤษฎีการอ่านและการวิเคราะห์วรรณกรรม/วรรณคดีฝรั่งเศส
- เรื่องสั้นและนวนิยายขนาดสั้นฝรั่งเศสที่เขียนช่วงศตวรรษที่ 20 ได้แก่ Le dernier amour du prince Genghi ควบ La veuve Aphrodissia, L’aire du Muguet, Tous les matins du monde และ Chien de printemps
.
การเก็บคะแนน
- contrôle continu 3 ครั้ง ครั้งละ 20 คะแนน (take home 2 + สอบในชั้นเรียนออนไลน์ 1), exposé เกี่ยวเนื่องกับรายงาน 20 คะแนน, rapport final 20 คะแนน
.
นี่น่าจะเป็นวิชาที่บ้าดีเดือดที่สุดวิชานึงของเอกฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ *หน้ายิ้มมือปาดน้ำตาเบา ๆ* ไม่ใช่เพราะว่าอาจารย์ดุหรือเรียนกันไม่รู้เรื่องนะฮะ แต่ต้องอ่านหนังสือกันตาแตกทั้งครูทั้งศิษย์ แถมอ่านไปยังต้องคำนวณเวลา ค.ศ. หรืออายุของตัวละครไป จนงงเป็นพัก ๆ ว่านี่เราเรียนวิชาวรรณกรรมหรือเลขกันแน่นะ และเกิดอาการหลอนตามมีมนี้:
ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นวิชาที่สนุกทีเดียวเลยแหละ เราเห็นได้ถึงความตั้งใจของอ.วรุณีที่ “ปล่องของ” เต็มที่ เหมือนไม่ได้สอนวิชานี้มานานมาก อธิบายภาษาและความหมายในเรื่องนั้น ๆ ไม่พอ ยังต้องเสริมเรื่องบริบท (contexte) ที่เด็กอาจจะไม่รู้เข้าไปด้วย เรียกว่าสอนละเอียดซะจนเกรงใจ (แม้ช่วงครึ่งหลังจะสอนเกินเวลาบ่อย ๆ เพราะไม่ทันจริง ๆ แต่ก็โกรธไม่ลง) อีกอย่างเกี่ยวกับอาจารย์คือ เขาจะปักแนวคำตอบไว้แล้วประมาณนึงเวลาที่เราทำพวกงานเก็บคะแนนหลังเรียน (contrôle continu) ยังไงก็ตาม ใช่ว่าจะเสนอการวิเคราะห์อะไรใหม่ ๆ ไม่ได้เลย แค่ต้องหาหลักฐานจากใน texte ให้ได้ และเขียนโน้มน้าวอาจารย์ให้เป็น… ส่วนเนื้อหาทั้งห้าเรื่องก็มีทั้งสนุกและชวนหาวผสม ๆ กัน แต่ถือว่า แต่ละเรื่องที่คุมตีมได้ค่อนข้างดี (อันนี้ก็ต้อง remercier อาจารย์ที่ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่เนียน ๆ) มีความหลากหลาย และสำนวนภาษาไม่ได้ยากหลุดโลกแบบงานเขียนสมัยเก่า ๆ ถึงอย่างนั้นแล้ว นี่ก็เป็นวิชาที่ร้องขอพลังกายใจ เวลา(ว่าง) และความสนใจในวรรณกรรมจากผู้เรียนอย่างมหาศาล เลยขอสรุปไว้ว่า หากใครชอบอ่าน ชอบงานวรรณกรรมฝรั่งเศส หรืออยาก ”ลองเชิง” ดูว่าจะเรียนด้านนี้ไหวไหม (ถ้าคิดว่าจะเรียนต่อด้านนี้ป.โท) วิชานี้จะตอบโจทย์คุณแน่นอน (แต่ถ้าลองจนเชิงหัก ก็ถอนนะครับ อาจารย์เขาไม่ว่า 55555)
.
.
2231372 French-Thai Translation I (ทุกวันอังคาร 13:00-16:00 น.)
เรียนอะไรบ้าง
- ทฤษฎีการแปลภาษาฝรั่งเศสเป็นไทย เครื่องมือในการแปล แหล่งอ้างอิงสืบค้น ปัญหาในการแปล ฯลฯ
- ทำและเฉลยแบบฝึกหัดร่วมกันในห้อง
.
การเก็บคะแนน
- การเก็บคะแนนตลอดภาคการศึกษา (แบบฝึกหัด การบ้าน และงานทดสอบเก็บคะแนน) 100 คะแนน
.
ถ้าเช้าวันอังคารคือความบ้าคลั่งแล้ว ช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้นกลับเป็นทะเลสงบ ๆ สบาย ๆ โดยเฉพาะช่วงต้น ๆ เทอมที่ฟังอาจารย์เลกเชอร์ซะเป็นส่วนใหญ่ มีทำแบบฝึกหัดในห้องเรื่อย ๆ แต่ถึง texte ที่ให้มาจะ “ดูไม่ยาก” และตอนเรียนก็พอเข้าใจ แต่ไหงคะแนนเก็บแบบฝึกหัดแต่ละรอบมันไม่ได้ดีเหมือนที่คิดไว้นะ… ส่วนบทความที่ใช้สอบปลายก็ไม่ได้ยากมาก (เกี่ยวกับเรื่องเกษตรยุคใหม่ในนอร์มองดี) มีให้ชวนงงเล่น ๆ บ้าง แต่พอเปิดดิกได้อะไรได้ตามประสาการสอบออนไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องกดดันอะไร… พอได้มาเรียนวิชานี้ ก็พอจะเข้าใจเหตุผลของอาจารย์วรุณีว่า ทำไมถึงเก็บวิชาแปลมาสอนปีสี่ตอนเทอมปลาย เพราะบางที การ(เรียนการ)แปลก็ต้องใช้ประสบการณ์และเวลาจริง ๆ (autrement dit คือต้องไปโดนทุบจากวิชา compo กับ rapport ก่อน ถึงจะมาชิล ๆ ได้หน่อยกับวิชานี้) แต่สิ่งที่เสียดายอย่างนึงคือ สาขาวิชาฯ น่าจะเปิดวิชาแปลไทย-ฝรศ. อีกขานึงด้วย ติดที่ว่าไม่มีคนสอนนี่สิ เฮ้อ… Quel dommage
.
.
2231376 French for Journalism II (ทุกวันพุธ 13:00-16:00 น.)
เรียนอะไรบ้างวะ เอ่อ… อ๋อ…
- การฝึกเขียนบทความขนาดสั้นประเภทต่าง ๆ (opinion, reportage, argument) เพื่อลงในแพลตฟอร์มออนไลน์นิตยสาร L’Amateur เป็นเนือง ๆ
.
การเก็บคะแนน
- การเข้าคลาสและมีส่วนร่วม 30 คะแนน, คุณภาพของเนื้อหาบทความ (เช่น ข้อมูลประกอบและการสัมภาษณ์) 50 คะแนน, คุณภาพของภาษาและไวยากรณ์ในบทความ 70 คะแนน, ทักษะและการใช้เทคนิคการเขียนเชิงวิชาชีพ 50 คะแนน
.
วิชาฝรศ.เพื่อการหนังสือพิมพ์ตัวนี้ เป็นภาคต่อของการไหลไปตามน้ำทางการศึกษาที่แท้ เข้าไปแต่ละวีค ก็ยังเดาไม่ค่อยจะออกว่าจะต้องเจอกับอะไรแบบ exactement ก็งงว่าอ. Philippe เขาไม่ทำแพลนทำเพลินตาม esprit français สักหน่อยเหรอ… แต่สถานการณ์เทอมนี้ดีกว่าเทอมที่แล้วมาก เพราะได้เรียนในห้องบ่อย (เลยคุยกันพอรู้เรื่องขึ้น) บวกกับได้ออกไปทำงานนอกสนาม (แบบเป็นทางการครั้งนึง และแบบจู่ ๆ ก็ออกไปแบบปุบปับอีกครั้ง) เลยตัดปัญหากับ Zoom ไปในตัว (แต่สอนแบบไฮบริดนะ ซึ่งคนเปิด Zoom ก็คือทีเอจำแลงกางเกงเขียวคนดีคนเดิมคนนี้นี่เอง เหอะ ๆ) ความสนุกอีกอย่างคือ ได้เป็นนิสิตรุ่นเปิดแอคเคาท์โซเชียลมีเดียของ L’Amateur ให้ชีวิตได้มีคอนเทนต์ภ.ฝรศ. บ้าง ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ฝากติดตามเพจ L’Amateur ทาง Facebook และ Instagram ตามลิงค์ด้านล่างกันด้วยครับ ช่วงปิดเทอมนี้ก็อาจมีบทความใหม่ ๆ ลงบ้างก่อนที่จะให้รุ่นถัดไปเทคโอเวอร์ ส่วน plainte อื่น ๆ เราจัดไปใน CUCAS แล้ว ก็หวังว่าทางสาขาและผู้สอนจะได้อ่านเพื่อพัฒนาวิชานี้ต่อไปครับ…
.
ปล. Facebook L’Amateur Chulalongkorn / IG: @lamateurchula
.
.
2231377 French Drama (ทุกวันศุกร์ 14:30-17:30 น.)
เรียนอะไรบ้าง
- บทละครฝรั่งเศสฉบับคัดย่อจำนวนแปดเรื่อง ตั้งแต่ยุคกลางยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ Le Jeu d’Adam, Le Véritable Saint Genest, Phèdre, Tartuffe, Le Mariage de Figaro, Lorenzaccio, Antigone, En Attendant Godot และ Dissident, il va sans dire
- พิเศษคาบสุดท้าย: การบรรยายเบื้องหลัง พ่อ - Le Père โดยอ.วณิชชา ผู้แปลบทจากฝรั่งเศสเป็นไทย
.
การเก็บคะแนน
- Compo 7 ครั้ง ครั้งละ 10 คะแนน (เลือก 6 ครั้งแรกที่ดีที่สุด = 60 คะแนน), exposé individuel ถึงบทละครฝรั่งเศสศตวรรษที่ 21 10 คะแนน, exposé en groupe ถึงการจำลอง mise-en-scène บทละครที่เรียนมา 30 คะแนน
.
ถ้า Edgar Wright มี The Cornetto Trilogy อ.พิริยะดิศก็คงมี “The Figaro Trilogy” ของตัวเองยังไหงยังงั้น เพราะวิชา théâtre นี่ก็เป็นเหมือน “ภาคจบ” ของวิชาบังคับเลือกสายวัฒนธรรมฝรั่งเศสที่อาจารย์สอน เช่นเคย เรียนกับอ.พ่อพรยด. ก็ต้องมีเรื่องจิตวิเคราะห์และ Freud เป็นธรรมดา… ส่วนแนวคิด/คอนเซปต์ของละครแต่ละยุคก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยากมากนัก ให้อธิบายก็คือ พัฒนาการของละครฝรศ.ก็ล้อ ๆ กันกับศิลปะ ปรัชญา และสภาพสังคมในแต่ละยุค (ดั่งที่นิสิตเอกนี้เคยร่ำเรียนกันมาจากวิชาก่อน ๆ แต่จำได้เยอะไหมก็ แหะ) วิชานี้ก็เลยตอกย้ำให้เราเห็นอีกครั้งว่า องคาพยพของวัฒนธรรมฝรั่งเศสนั้นมีความเป็นมาและมีลักษณะเป็นยังไง ที่ยากก็คือ ภาษาของตัวบทละครเก่า ๆ บางทีก็มาเป็น vers หรือไม่ก็ monologue ยาว ๆ (แถมชวนสัปหงก) ส่วนละครสมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย อ่านง่ายขึ้น แต่คอนเซปต์ก็ซับซ้อนตามไปด้วย (ดู En Attendant Godot เป็นตัวอย่างได้) ยังไงก็ดี รู้สึกว่าเทอมนี้เกณฑ์การให้คะแนนของอาจารย์จะโหดน้อยกว่าวิชาก่อน ๆ ถึงจะต้องแลกมากับภาระงานที่ซอยยิบย่อยขึ้นก็ตาม… แม้จะต้องเรียนออนไลน์ไปครึ่งเทอม และไม่ได้แสดงละครเป็นงานไฟนอลอย่างที่รุ่นพี่เคยทำ แต่ยังดีที่ได้เรียนวิชานี้ที่คณะบ่อยครั้งจนถึงคาบสุดท้าย และบังเอิญดีเหมือนกันที่อ.พรยด. เป็นอาจารย์เอกฝรศ. คนแรกและคนสุดท้ายที่เราได้เจอในช่วงป.ตรี
Recap วิชาในดวงใจ
1) 2204182 West Civilization [วิชาบังคับอักษรฯ ปี 1 เทอม 2]
- ถ้าถามว่า “เรียนอักษรศาสตร์ เพื่อพยายามทำความเข้าใจมนุษย์” มันเป็นยังไง จะเรียนไปทำไม วิชานี้ก็เป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมที่สุดคำตอบนึง อ่านรีวิวที่นี่
.
2) ไตรภาควิชาเขียนบทภาคละครฯ [เก็บเป็นเสรีเอง]:
2208202 Play Analysis + 337 Playwriting I + 488 Writing TV
- อยากขอบคุณครูบัว ครูสาว และครูปิ๊ก อีกครั้ง ที่ให้เด็กเอกฝรศ. คนนี้เข้าไปเรียนวิชาเด็กละครจ๋า ๆ ตามที่ฝันไว้ตั้งแต่เข้าคณะนี้มา ยังคิดถึงการเขียนบทเสมอ และหวังว่าหลังเรียนจบไป ผมจะได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจริง ๆ ไม่ว่าจะต้องเขียนในภาษาไหนก็ตามครับ (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)
.
3) Trilogía de español [เก็บเป็น Gen Lang + อยากเรียนเอง]
2233011 Spanish I + 012 Spanish II + 227 SP Compo Conver I
- นี่ก็เป็นอีกไตรภาคที่หาเรื่องเรียนเอง 55555 แม้ช่วงนี้สกิลการพูดจะกลับมาเหลวเป๋วเหมือนเดิม แต่ espero hablar español más en el futuro อันใกล้นี้ จะว่าไปแล้ว ก็โชคดีเหมือนกันที่ ความรู้ภาษาฝรั่งเศสช่วยเรียนสเปนได้มาก ๆ ตอนนั้น (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)
.
4) 2202201 Academic English Oral Skills [วิชาภาคอิ้ง]
- เราอาจจะมีอคติที่ดีกับอ. Shane ด้วยแหละตอนนั้น แต่ ACAD คือวิชาโทอิ้งที่สปาร์คจอย และได้ฝึกทักษะเยอะสุดแล้ว อ่านรีวิวที่นี่
.
5) Trilogie de la culture française par M. Piriyadit [วิชาบังคับเลือกเอกฝรั่งเศส]
2231370 FR Visual Arts + 476 SEL STUD FR IDEAS + 377 FR Drama
- อย่างที่บอกไปด้านบนฮะว่า ทั้งสามวิชานี้ของอ.พ่อนั้น ทำให้เราเห็นองคาพยพของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ฉบับคร่าวจริง ๆ (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)
.
6) Duo littéraire par Mlle. Warunee
2231370 French Literature [บังคับเอกฝรั่งเศส] + 475 SEL STUD FR LIT [บังคับเลือก]
- สองวิชานี้ของอ.วรุณี ก็สนุกมาก ๆ ได้รู้จักงานวรรณกรรมฝรั่งเศสที่หลากหลาย และเหมือนได้ฝึกวิทยายุทธแบบเบาะ ๆ ก่อนเจอศึกหนักของจริง (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)
.
7) 2402357 GLOBAL POL FILM [อันนี้ก็เก็บเสรีอีกแล้ว]
- เราเชื่อว่า ไม่ว่าอ.กรพินธุ์ หรืออ.สรวิศจะเป็นคนสอน นิสิตที่ชอบทั้ง “ซอฟท์พาวเวอร์” สายภาพยนตร์ และประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ น่าจะชอบวิชานี้ได้ง่าย ๆ แม้ว่าภาระงานและเนื้อหาจะเยอะมากก็ตาม อ่านรีวิวที่นี่
ปิดฉาก
ก็อยากจะขอบคุณผู้อ่านผู้น่ารักทุกคนครับที่ติดตามอ่านรีวิว (แกมระบายความคิดความรู้สึก) ของผมตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จากเว็บ Dek-D จนย้ายมาสู่ minimore
.
ขอบคุณทุกคนในช่วงชีวิตอักษรฯ ทั้งคนที่ยังอยู่เคียงข้างกันจนถึงทุกวันนี้ คนที่เข้ามาและผ่านไป และคนที่เราเข้าหาและเดินออกมาเอง - ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ - และขอโทษผู้คนเหล่านี้ด้วย หากเราทำตัวหัวควยและไร้ความเห็นอกเห็นใจใส่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
.
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก หรือหากสถานการณ์สักอย่างบีบบังคับให้ต้องเลือกทางเดินชีวิตสักทาง ก็ขอให้ผ่านพ้นไปด้วยดีเช่นกัน
.
และขอให้พวกเราทั้งหลาย (รวมถึงผม) - กลุ่มคนที่เขาเรียกว่า “อนาคตของประเทศ” - เติบโตอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับความบ้าอำนาจ ความหัวแข็ง หรือติดอยู่ในความคิดคับแคบแบบที่หลายคนต้องประสบอย่างน่าเศร้า เมื่อพวกเขาเหล่านั้นก้าวสู่วัย “ผู้ใหญ่”
.
หวังว่าจะได้พบกันอีก
.
Au revoir, et bonne chance à toutes et à tous.
.
ปล. ขอเก็บเพลง เรื่องราว (Ours) ให้ตัวเองในอนาคตไว้ ณ ตรงนี้สักนิด เพราะช่วงนี้รู้สึกไปตามเพลงนี้เอามาก ๆ
.
.
Cover picture: บรรยากาศหลัง Blink by Phil Porter ละครเวทีอักษรฯ จบลง - 6 เมษายน 2565
Written by porrorchor
Instagram & Letterboxd: porrorchor
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in