ดูโน่นแน่แม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน…
บางส่วนของกลอนที่ผู้เขียนจำแม่นที่สุด และจำได้ยาวที่สุดติดกันหลายบท จากเรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ฉากที่นางสุวรรณมาลีชี้ชวนให้สินสมุทรและนางอรุณรัศมี ลูกบุญธรรมกับหลานป้า ดูดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
ที่จำได้แม่นจนถึงวันนี้ ไม่เพียงเพราะหูได้ยินเสียงเสนาะร่ายกลอนของอาจารย์ผู้คุมเครื่องฉายดาว แต่ระหว่างนั้นสองตาก็เบิ่งกว้าง เพ่งมองหมู่ดาวระยิบระยับค่อยๆ ปรากฏ พร้อมเส้นลากเชื่อมจุดเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์บนโดมทรงกลมเหนือหัว ซึ่งมืดสนิทลงไปแล้ว
รู้ทั้งรู้อยู่ว่านี่คือท้องฟ้าเทียม แต่ ค่ำคืนปลอมในท้องฟ้าจำลองก็สวยงามตื่นตายิ่งกว่าของจริงในความรู้สึก โดยเฉพาะกับเด็กกรุงเทพฯ ที่ไม่มีทางได้เห็นกลางคืนที่ฟ้าเปิดในเมืองหลวง ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่หลงรัก เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักว่ามีวิธีที่จะย่อส่วนจักรวาลมาอยู่ใกล้ตัว และความมหัศจรรย์ที่ได้สัมผัสในวัยประถมวันนั้น ก็จุดประกายให้ชอบดูดาวและติดตามข่าวสารดาราศาสตร์ เลยไปถึงเรื่องเร้นลับและลึกลับไร้คำอธิบายทั้งหลาย
รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นคนชอบแวะดูพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณา ฯลฯ ไปแล้วเรียบร้อย
ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ถ้าเห็นป้าย ‘พิพิธภัณฑ์’ หรือสถานจัดแสดงอะไรสักอย่าง เป็นต้องอยากแวะเข้าไปดูก่อนเข้าประตูก็นึกลุ้นอยู่ในใจว่า เจ้าของหรือคนจัดนิทรรศการที่นี่เขาอยากเล่าเรื่องอะไรให้เราฟังกันนะ
ภาวนาว่าไม่ใช่ใครสักคนที่สักแต่ทำ ‘โกดังเก็บของ’ แล้วแขวนป้าย ‘พิพิธภัณฑ์’ เรียกแขก หรือเป็นหน่วยงานอะไรสักอย่างที่ถูกมอบหมายมาให้ทำ ทั้งที่ไม่ได้สนใจในเรื่องนั้นจริงๆ ก็เลยทำแบบขอไปที หรืออย่างเสียไม่ได้
พิพิธภัณฑ์ที่ ‘ดี’ ในความคิดของผู้เขียน มีความหมายง่ายๆ แบบนี้ไม่จำเป็นจะต้องไฮเทค ไฮโซ มีอุปกรณ์หรูหราราคาแพง หรือจัดแสดงของหายากแต่อย่างใด ขอเพียงเข้าไปแล้วสัมผัสได้ถึงความหลงใหลในอะไรสักอย่าง ส่วนเสี้ยวของความรักในความรู้ ความภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง หรือความกระหายอยากอธิบายให้คนนอก ‘เข้าใจ’ หรือได้รู้สึก ‘พิศวง’
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้รวบรวมและเรียบเรียงจากเพจ ‘โลกในนิทรรศการ’ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้เขียนตั้งใจทำเพื่อแบ่งปันข้าวของ หรือนิทรรศการที่ตัวเองชอบในพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่โปรดปรานเป็นพิเศษ เท่าที่มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมา อยากให้
ผู้อ่านได้อารมณ์เหมือนกับก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ลึกลับ ราวกับต้องจับสลากดูของแต่ละชิ้น
ฉะนั้นจึงพยายามเขียนสลับไปมาระหว่างนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ ระหว่างซีกโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก ของเล็กกับของใหญ่ พื้นบ้านกับทางการ และของ ‘เทศ’ กับของ ‘ไทย’ ด้วยความหวังเล็กๆ ว่า บางตอนในหนังสือเล่มนี้อาจจุดประกายให้ผู้อ่านไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ และสำหรับผู้อ่านที่อาชีพการงานต้องข้องแวะกับพิพิธภัณฑ์ ก็อาจได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ไม่มากก็น้อยในการคัดสรรและเรียบเรียง ‘เรื่องราว’ ที่อยากจะเล่าให้คนอื่นรับรู้
ผู้เขียนขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และสถานที่ทุกแห่งที่เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้ เพราะหากแม้นไม่มีพวกท่าน โลกทัศน์ของผู้เขียนก็ย่อมคับแคบกว่านี้ และการเดินทางท่องโลกก็จะน่าตื่นเต้นสนุกสนานน้อยลงมาก
ท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการเล่ม และบรรณาธิการบริหาร รวมถึง ธีรภัทร์ เจนใจ กองบรรณาธิการ และทีมงานสำนักพิมพ์แซลมอน ที่กรุณามอบโอกาสให้ข้อเขียนดิจิทัลบนหน้าจอได้ผ่านการเรียบเรียงและออกแบบอย่างประณีต จนกลายเป็นหนังสือที่อยู่ในมือของท่าน
พร้อมที่จะเปิดจินตนาการสู่โลก ของ นิทรรศการ และโลก ใน นิทรรศการ
ขอให้ท่านมีความสุขกับการอ่าน และชวนร่วมกันจินตนาการถึงความหมาย ที่ทาง และบทบาทของ ‘พิพิธภัณฑ์’ ในสังคมก้มหน้าแห่งศตวรรษที่ 21
สฤณี อาชวานันทกุล
กุมภาพันธ์ 2561
เพจ ‘โลกในนิทรรศการ’: facebook.com/worldexhibits
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in