"ผมเป็นใครมาจากไหน ทำไมอยากฝึกงานที่บันบุ๊คส์"
คำถามนี้จะว่ายากที่สุดก็ไม่ไกลเกินความจริงนัก แต่ในความยากนั้นก็มีความง่ายแฝงอยู่ มีงานเขียนอยู่ประเภทหนึ่งที่ผมชอบมากงานเขียนประเภทความเรียงสั้น ๆ ไม่เกินสิบบรรทัดซึ่งแต่ละถ้อยคำที่ได้รับการถ่ายทอดออกมานั้นราวกับพูดออกมาจากหัวใจ ผมถือว่านักเขียนเหล่านี้เป็นเหมือนนัก"จับความรู้สึก" ที่อยู่ข้างในความรู้สึกอันเป็นพื้นฐานที่คนทุกคนมี ทั้งความฝัน ความหวัง ความหวาดกลัว เขาหยิบออกมาตีแผ่ร้อยเรียงด้วยภาษานุ่มสลวยและจับใจยิ่งนัก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงบอกว่าการตอบคำถามข้อนี้ยากและง่ายในเวลาเดียวกัน มันยากก็ตรงที่จะเรียบเรียงออกมาให้คนอ่านได้เข้าใจถึงความรู้สึกที่อยู่ลึกลงไปของผู้เขียนได้อย่างไรแต่ที่มันง่ายก็เพราะผมรู้สึกอยู่เต็มอก มันแผ่ขยายอยู่เต็มพื้นที่ทุกตารางนิ้วของหัวใจ คงถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องจับมันออกมาตีแผ่ให้ทุกคนได้รับรู้
ย้อนกลับไปเจ็ดปีก่อน สมัยที่ผมยังเป็นเด็กมัธยมปลาย ผมจำรายละเอียดได้ไม่มากนักแต่จำอารมณ์ในช่วงนั้นได้ดี มันเป็นค่ำคืนหนึ่งของวันที่ดูเหมือนปกติอย่างมาก แต่ตัวผมเองที่ทำให้มันปกติน้อยลงไป มันคงเป็นความผิดอะไรที่ผมทำไปเพราะความคึกคะนองของวัยรุ่นมันทำให้พ่อผมไม่พอใจเป็นอย่างมาก ด้วยความผิดที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ค่อนข้างร้ายแรงทำให้ผมถูกลงโทษให้ไปนอนที่ระเบียงนอกบ้าน ด้วยความมืดมิดของราตรีกาลในตอนนั้นเองที่มีเพียงเส้นใยบางๆ ที่กั้นระหว่างความผิดหวังและจิตใจของผมที่อ่อนแอเป็นเส้นใยกระดาษเย็บเล่มที่มีชื่อว่า “คู่มือมนุษย์” ที่เขียนโดยท่านพุทธทาสภิกขุ การได้นั่งอ่านหนังสือเล่มนั้นในค่ำคืนที่สับสนของชีวิตวัยรุ่นได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ข้างในตัวผม แม้จะเป็นหนังสือธรรมมะแต่ภายในกลับเต็มไปด้วยหลักคิดต่างๆ มากมายที่มันค่อนข้างสมเหตุสมผลเชิงวิทยาศาสตร์ แต่นั่นอาจเป็นเพราะความเชื่อมโยงที่ผมสร้างขึ้นมาเองจากการชอบอ่านเรื่องราวทางจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ทางสมอง
เรื่องเล่าสนุกๆ ทุกเรื่องน่าจะมีจุดจุดพลิกผันที่บิดสมองของผู้อ่านให้ได้ประหลาดใจ ผมก็อยากทำอย่างนั้น แต่ความจริงก็คือเรื่องนี้มันไม่ได้เป็นจุดพลิกผันเพราะก่อนหน้านี้มาตั้งแต่วัยเด็กมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้ชีวิตของผมไปข้องเกี่ยวกับหนังสือ มันมีอิทธิพลทางความคิดมากจนซึมลึกกลืนไปกับตัวตน หนังสือสร้างตัวผม แล้วผมก็ยิ่งอ่านมากขึ้นอีก เสมือนวงจรสะท้อนกลับเชิงบวก (Positive feedback loop)
ที่ผ่านมาในช่วงชีวิตการอ่านของผมส่วนมากจึงเป็นการอ่านเพื่อสนองต่อความกระหายใคร่รู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกหรือทางจิตวิญญาณอย่างพวกจิตวิทยาหรือปรัชญา ยามเหงาผมก็อ่านหนังสือ ครูสอนน่าเบื่อผมก็หาหนังสือที่สอนเรื่องเดียวกันที่เล่าได้สนุกกว่ามาอ่านแทน เวลาผมสับสนต่อทางเดินชีวิตก็มีหนังสือ “ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้” ของบัณฑิต อึ้งรังษีเป็นตัวนำทาง มันเป็นเช่นนั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผมเข้าสู่มหาวิทยาลัย
ในขณะนั้นผมเลือกทางเดินชีวิตด้วยปรัชญาว่า เลือกเรียนในสิ่งที่รัก ความรักทำให้ผมถนัดหรือเพราะผมถนัดผมจึงรักมัน หรือทั้งสองอย่าง… “ชีววิทยา” คำนี้กลายเป็นตัวตนส่วนหนึ่งในชีวิตผม ผมทำมันได้ดีมากจนกระทั่งได้ไปเข้าค่ายโอลิมปิกชีววิทยาแล้วมาลงเอยด้วยการตัดสินใจเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์เอกชีววิทยา ยื่นโควตาไม่ต้องไปแข่งขันกับสนามประลองอื่นๆ
ในช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากที่สุดในแง่ของการเจริญเติบโตทางความคิดและในทางวิทยาศาสตร์สมอง (Neuroscience) ถือว่ามันยังเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่หากสมองได้รับการรดน้ำพรวนดินมันจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดช่วงเวลานั้นเองที่ผมตื่นตาตื่นใจไปกับคลังหนังสือมหาศาลที่อยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่สำคัญคือ ฟรี 555+
จากวันแรกที่เดินเข้าไปในห้องสมุดจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ สิงห้องสมุด ผมอ่านเยอะมากและเป็นต่อเนื่องอยู่อย่างนั้นไม่เคยแผ่วถึงสามปี แต่ด้วยมุมมองที่ไม่ได้กว้างไกลมากนัก การอ่านของผมก็ไม่ได้ต่างไปจากตอนมัธยมปลายคือเพื่อสนองความใคร่รู้โดยไม่เคยรับรู้ว่ามีกลุ่มคนหนึ่งในสังคมที่ได้ทำงานกับหนังสืออย่างเข้มข้นและใกล้ชิดมาก
คืนวันผันผ่านกาลเวลาผันเปลี่ยน ผมอยู่ปีสี่เรียนใกล้เรียนจบแล้ว ด้วยความที่สาขาที่เรียนไม่ได้เป็นวิชาชีพอย่างพวก บัญชี นิติศาสตร์ แพทย์จึงไม่มีกรอบใดจะมากำหนดได้ว่า จบแล้วไปไหน ในแง่หนึ่งคือความหวาดกลัว ในแง่หนึ่งก็คืออิสระ (ดื่มด่ำความรู้สึกนี้เพิ่มได้ในบทความในแฟ้มสะสมผลงานที่ชื่อว่า “The brain that can change itself”) ที่ผ่านมาในชีวิต ผมชอบที่จะวางแผนว่าอยากทำสิ่งใด เป็นเหมือนการลากเส้นต่อจุดที่ Steve Jobs เคยพูดไว้ในงานปัจฉิมนิเทศของมหาวิทยาลัย Oxford
ชีวิตการเรียนของผมก็เหมือนกับชีวิตการอ่าน ผมก็เรียนมาเรื่อยๆ ในสิ่งที่ผมชอบโดยไม่คิดอะไรมากหวังว่าสักวันเส้นทางที่เดินมามันจะตอบโจทย์ในตัวมันเองในตอนปิดเทอมปีสามขึ้นปีสี่มีอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ “การฝึกงาน” ผมตัดสินใจเลือกฝึกที่สถาบันวิจัยใหญ่โตแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียง ที่นั่นผมได้รับประสบการณ์ทางการวิจัยเรื่องเซลล์มะเร็งอย่างเข้มข้น จุดค่อยๆ ลากต่อมาจนถึงเกือบปลายสายของลูกปัดแห่งชีวิต ที่ผ่านมาผมคิดว่าเมื่อเรียนจบจะต่อปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์ทันที แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างทำให้ผมรู้สึกว่าผมชอบวิทยาศาสตร์ก็จริง ชอบมากๆ แต่ผมก็ไม่ได้เอนจอยไปกับการ เป็นนักวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือผมไม่ได้ชอบทำวิจับอยู่ในห้องแล็บสักเท่าไหร่นั่นจึงทำให้ผมตัดสินใจว่าหลังจบปีสี่จะ take gap years เพื่อหยุดคิดพิจารณาว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี ลึกๆ ก็รู้สึกแล้วว่าไม่ได้อยากต่อโทเพื่อเรียนเป็นนักวิจัยจบมาเป็นครูบาอาจารย์อะไรเทือกนั้นอีกต่อไปมันเหมือนฝันสลายเหมือนกันนะที่รู้ว่าสิ่งที่เราคิดและเชื่อที่จะทำมาโดยตลอดนั้นได้ “สั่นคลอนไป”
เวลาหนึ่งปีจึงเป็น “ของขวัญ” ที่ผมจะมอบให้กับตัวเอง มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ผมขุดลึกลงไปในจิตใจของตัวเองว่าเราเองมีความสามารถความถนัดความชอบอะไรบ้าง สิ่งที่เป็นตัวเราแต่ถูกปกคลุมด้วยความฝันที่ใหญ่กว่ามาโดยตลอดแม้จะถูกคลุมอยู่แต่มันก็ไม่ได้หนีความจริงที่ว่าสิ่งที่อยู่ใต้พรมนั้นช่างบริสุทธิ์ เนื่องจากมันไม่เคยถูกเจือไปด้วยความคาดหวังของความฝัน มันไม่เคยต้องถูกบังคับให้ทำไปเพราะค่านิยมหรือความเชื่อของสังคม มันจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ไร้เดียงสาและหลอมรวมก่อสร้างเป็นตัวตนของผมโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม สิ่งนั้นก็คือความรักในหนังสือ แทบไม่มีอาทิตย์ไหนในชีวิตที่ไม่แวะเข้าร้านหนังสือ ความรู้สึกเหมือนเด็กได้ของเล่นเวลาเห็นปกหนังสือใหม่ๆ แผ่หลาอยู่บนชั้น ภาพปกหนังสือนับร้อยที่ผมถ่ายเก็บไว้ดูเล่นไม่กล้าบอกใคร พอคลุกคลีอยู่กับมันมากก็ทำให้เห็นมาก พอเห็นมากก็เกิดเป็นความถนัดความเชี่ยวชาญขึ้นมา ไม่รู้จะเรียกความสามารถนี้ว่าอะไรในการที่เราเห็นปกหนังสือเยอะ สแกนมาเยอะรู้ว่าหนังสือมีแนวไหนบ้าง แนวไหนขายดี แนวไหนหลอกลวงประชาชนสำนักพิมพ์นี้ตีพิมพ์แนวไหน และอีกมากมาย
หนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่งหากเราได้อ่านมันอย่างถูกที่ถูกเวลาและตรงกับสภาพจิตใจในตอนนั้นอาจเปลี่ยนความคิดของเราได้อย่างมากมาย ในค่ำคืนที่ผมนอนกระสับกระส่ายถึงอนาคต ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยซื้อไว้เมื่อสองปีก่อนที่อ่านค้างไว้ครึ่งเล่ม เป็นหนังสือที่บอกเรื่องราวของวงการหนังสือไล่ตั้งแต่นักเขียน ระบบการทำงานของสำนักพิมพ์ รวมถึงธุรกิจร้านหนังสือ ถูกแล้วครับ ผมเคยสนใจวงการหนังสือมากถึงขนาดซื้อหนังสือมาอ่าน แต่มันคงจะเป็นฝันที่ถูกวางทิ้งไว้ในจุดหนึ่งของเวลา แต่พอมาตอนนี้มันกลับเด่นชัดมากขึ้น ในตอนแรกผมอยากจะลองเริ่มจากการแปลหนังสือแนวจิตวิทยาสมอง (ลงมือแปลไปแล้วเกือบสองบท) เนื่องจากเป็นการรวมเอาสองอย่างที่ผมชอบคือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง และชีววิทยาที่ผมเรียนมา ผ่านไปสักพักความฝันก็ค่อยๆ ลุกลามไปถึงการวางโครงเรื่องอยากจะเขียนหนังสือมองให้ดีแล้วจะพบว่าผมไม่เคยทิ้งวิทยาศาสตร์ที่ผมรักไป ผมอยากจะนำเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจของมันมาทำการเรียบเรียงบอกเล่าด้วยวิธีของผมเอง
จุดพลิกผันอีกหนึ่งครั้งมาถึงเมื่อผมบังเอิญไปเจอหน้าเพจ “omnivore” ลุกลามไปถึงการฟัง Radio Read และ Get talks จนสุดท้ายมันมาจบที่ Giraffe CAST ซึ่งผมรับว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้จักแม็กกาซีนนี้มาก่อนเลย ส่วนที่ดึงความสนใจมันมากที่สุดก็คงจะเป็นชื่อแต่ละตอน ไม่ว่าจะเป็น trekking (ชอบเดินป่าอยู่แล้ว) depression (วิทยาศาสตร์สมอง) universe (ชอบมาจากการฟัง Witcast) ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้ผมคิดไปถึง 101 percent channel โดยเฉพาะวัฒนธรรมชุบแป้งทอด (ตอนแรกคิดว่าจะไม่ทำต่อแล้ว)
ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดที่อยากจะทำบรรณาธิการหนังสือเป็นหลักเนื่องจากพบว่านิตยสารที่มีอยู่ในท้องตลาดไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์เท่าไหร่ยกตัวอย่างเช่น ผมไม่ค่อยสนใจแฟชั่นการแต่งตัว ส่วนแนวสุขภาพผมก็มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้วเลยชอบค้นหาเองผ่านสื่อออนไลน์ มากไปกว่านั้นผมก็พอจะรู้มาบ้างว่าอนาคตของวงการนิตยสารไม่ค่อยจะสดใสเท่าไหร่เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของดิจิทัลคอนเทนต์ที่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไป
แต่ความคิดผมค่อยๆ เปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มเข้าไปในเว็บแซลมอนแล้วได้รู้ว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอยู่กับนิตยสารยีราฟพ่วงไปถึงบันบุ๊คส์ลากยาวไปถึงนักเขียนที่ผมชอบต่างๆ เช่น พี่แชมป์ พี่นิ้วกลม พี่หนุ่ม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแซลมอน ได้รู้จักกับมินิมอร์ และล่าสุดโครงการใหม่ที่พี่แชมป์จะทำคล้ายๆ กับสำนักข่าวออนไลน์ คล้ายๆ ที่ทำอยู่ในมินิมอร์ฟีดมันทำให้รู้สึกว่าเครือข่ายนี้เป็นอะไรที่น้องใหม่ไฟแรงในการผลิตสื่อแนวใหม่ที่ผมรู้สึกถูกใจมาก และมีอีกหลายความเชื่อมโยงที่ผมพบ ทำให้ผมอยากเข้าไปร่วมงานด้วยแล้วผมก็ไปพบกับการประกาศรับสมัครตำแหน่งกองบรรธิการของนิตยสารยีราฟ ที่ทำให้ผมแทบจะอ้าปากค้าง core ของแต่ละเล่มที่ผ่านมามันเจ๋งมากๆ แล้ววันนี้ผมมีโอกาสลอยมาอยู่ตรงหน้าที่ผมจะมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรังสรรค์มันขึ้นมา เสียงของพี่ม๊อป พี่เนย พี่ป่าน ลอยขึ้นมาในตอนนั้น ผมตัดสินใจทันทีแล้วว่าจะสมัครไปอย่างแน่นอน ทว่ามีอยู่สองปัญหาที่ผมกังวลอยู่ในใจ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ รักวงการ"หนังสือ" แต่เรียนจบไม่ตรงสาย---เมื่อเด็กวิทย์อยากเป็นบรรณาธิการ) อยู่หนึ่งเหตุผลหลักคือผมเรียนจบมาไม่ตรงสาย ไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์หรืออักษรศาสตร์มา ในขณะนั้นเองที่ผมพยายายามเสิร์ชหากิจกรรมค่ายอบรมต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด ทำให้ผมได้รู้จักค่ายดีๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นค่ายอะทีมจูเนียร์ของอะเดย์ ค่ายเขียนสารคดีของสำนักพิมพ์สารคดี ค่ายจัดอบรมงานเขียนแนวต่างๆ ของมินิมอร์ ค่ายอบรมนักเขียนของ 101 percent channel ค่ายเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์มากในแง่ของการหาประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมขาดหากจะไปสมัครงานตำแหน่งกองบรรณาธิการของนิตยสารยีราฟ แต่ที่โชคร้ายก็คือค่ายต่างๆ เหล่านั้นได้ปิดรับสมัครไปหมดแล้ว (T^T)
แต่แล้ววันหนึ่งผมก็ได้เจอประกาศรับนักศึกษาฝึกงานจากบันบุ๊คส์ในตอนนั้นเองผมก็ได้พบกับ “จิ๊กซอ” ที่ขาดหายไป ระยะเวลาการฝึกงานที่ยาวนานถึงสองถึงสามเดือนที่ผมจะได้รับการฝึกฝนการทำงานจริงในสำนักพิมพ์ที่โคตรเจ๋ง เห็นภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำคือต้นฉบับของนักเขียนไปจนถึงการทำการตลาดและส่งไปจัดพิมพ์บรรจุลังกระดาษส่งตรงถึงงานหนังสือครั้งที่สองของปีราวๆ เดือนตุลาคม ไม่มีโอกาสไหนอีกแล้วที่จะน่าสนใจขนาดนี้
จากที่เล่ามาทั้งหมดพี่ๆก็คงจะพอทราบแล้วถึงเบื้องหลังที่ “ผลักดัน” ผมให้ตัดสินใจยื่นใบสมัครฝึกงานตำแหน่งกองบรรณาธิการนี้คืออะไร มีสิ่งเดียวที่ผมกังวลคือผมอยู่ชั้นปีที่สี่ ซึ่งจะเรียนจบและพร้อมทำงานในเดือนมิถุนายน 2559 นี้แล้ว ซึ่งอาจจะแตกต่างจากเด็กคนอื่นที่อาจจะมาฝึกงานในชั้นปีที่ สามเพื่อเก็บเป็นรายวิชาฝึกงานไปในตัว แม้ว่าจะ prefer เด็กปีสามมากกว่าก็ตาม แต่ผมก็ถือว่าผมไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขอดีตอะไรได้ทำได้เพียง “ซื่อสัตย์” กับความฝันครั้งใหม่ที่ก่อนหน้านี้ถูกซ่อนอยู่ใต้พรมมาโดยตลอด สุดท้ายก็หวังว่าพี่ๆ จะให้โอกาสกับผม ให้การฝึกงานครั้งนี้เป็นเหมือน “จุด” เชื่อมโยงใหม่ที่สำคัญให้ผมได้ลากไปสู่อนาคตที่ผมฝันไว้ ขอบคุณครับ
จบลงไปแล้วนะครับ ใครอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็ขอขอบคุณมากจริงๆ
สัญญาว่าโพสต์ต่อๆ ไปจะไม่ยาวขนาดนี้ จะน่ารักมุ้งมิ้งมากขึ้น (ไม่จริง)
จะลดความซีเรียสลง จดหมายสมัคร(ฝึก)งานใครจะไปกล้าเขียนเล่น(วะ)ครับ
แล้วพบกันใหม่เร็วๆ นี้ เพราะจะปล่อยของกันทุกอาทิตย์แหละ
...มาดูกันว่าคนที่ทำขนมปังปิ้งไฟฟ้าไหม้อย่างผม จะทำมาการองสีหวานแหววกับเขาได้สำเร็จไหม
ยินดีต้อนรับสู่ร้านขนมปังบันบุ๊คส์... แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ
หนุ่ย
กองบรรณาธิการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in