เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DREAM CRUSHER ภารกิจ ยุติฝันSALMONBOOKS
ฝันอยากเป็นหมอ

  • ฝันอยากเป็นหมอ

    ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ...
    แต่มึงต้องอยู่กับโรคตลอดเวลานะ

    ประโยคโฆษณาที่น่ารำคาญมากที่สุดในรอบสองปี—“อยากเป็นหมอ”

    หมอพ่องดิ พูดอยู่ได้ รุงรังฉิบหาย

    แต่ประโยคน่ารำคาญนี้กำลังบอกอะไรกับเรา?

    โฆษณาคือสิ่งที่ว่าด้วยกระแส เป็นการพูดแทงใจดำกลุ่มเป้าหมาย อย่างน้อยที่สุดครีเอทีฟที่ทำโฆษณาชิ้นนั้นก็ไม่นั่งนึกขึ้นมาลอยๆ แล้วจับประโยคนรกนี้ยัดใส่ปากน้องพรีเซ็นเตอร์เปียคู่ที่หน้าน้องควรจะเลยสถานะการเป็นนักศึกษามานานแล้ว (หรือถ้าน้องยังไม่เลยวัยนักศึกษา พี่ว่าน้องควรเลิกกินน้ำดื่มบำรุงสมองแล้วหันมาบำรุงหน้าแทนนะครับ) อาจเป็นเพราะการสอบเข้าเพื่อเรียนหมอเป็นการสอบที่ยากที่สุดอย่างหนึ่ง เรามีความเชื่อว่า การเป็นหมอต้องเป็นคนเก่ง...จริงๆ ก็ไม่ต้องใช้ความเชื่ออะไรหรอกเพราะการจะเป็นหมอได้ก็ต้องเรียนเก่งจริงนั่นแหละ หมอบางคนเป็นคนเรียนเก่งอยู่แล้ว แต่หมอบางคนเคยเรียนไม่เก่งแต่พยายามถีบตัวเองให้เก่งขึ้นเพราะว่าอยากเป็นหมอ

    ไอ้การที่มีโฆษณามาตะโกนบอกทุกคนว่า “อยากเป็นหมอ” มันจึงสะท้อนอะไรบางอย่างที่เป็นความฝันระดับคลาสสิกของวัยรุ่น—ฝันอยากเป็นหมอ แต่ไม่ว่าจะฝันด้วยตัวเอง หรือโดนสั่งให้ฝันโดยพ่อแม่ หมอเป็นอาชีพหนึ่งที่ควรจะคิดกันให้ดีว่าอยากเป็นหมอจริงๆ เหรอ? เป็นหมอมันไม่ได้เหมือนกับในละครทีวีนะ หมอมันปวดหัวนะ หมอต้องเจอคนป่วยตลอดเวลานะ เจอคนป่วยตลอดเวลาไม่พอ เจอญาติคนป่วยที่ถึงไม่ป่วยก็เหมือนป่วยด้วยนะ

    ถ้ายังมีเวลาเลือกก็อย่าไปเป็นมันเลยหมออะ เป็นอย่างอื่นเหอะ

    การเขียนต้นฉบับคราวนี้โชคดีที่มีโอกาสพูดคุยกับหมอใหญ่ที่ทำงานหมอมาแล้วโคตรหลายปี ซึ่งตอนแรกที่ติดต่อขอเข้าไปเก็บข้อมูล น้าแกก็อึกๆ อักๆ พอ สมควร แต่พอบอกว่าอยากได้ข้อมูลประมาณไหน แกก็ตอบมาสั้นๆ ว่า...

    “จะเป็นหมอกันทำไมวะ ไปทำอย่างอื่นเหอะ”

  • “ทำไมอะครับหมอ”

    “อาชีพหมอ มันไม่ได้สวยหรูเลยนะ”

    “ไม่สวยหรูยังไงครับหมอ”

    “ดี มีเรื่องอัดอั้นพอดีเลย” หมอพูดพร้อมขยับเก้าอี้ ข้อศอกเท้าโต๊ะ

    อืม...ตกลงกลายเป็นหมอจริงมาพบจิตแพทย์ (คือวิชัย) บำบัดอาการเครียดจากการเป็นหมอแทนซะงั้น


    เวลา

    น้าหมอบ่นว่าคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การเป็นหมอมันดีเพราะจะได้มีเวลาเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ซึ่งมันจะเป็นจริงได้ก็เฉพาะหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนในเมืองใหญ่เท่านั้น ส่วนหมอที่ทำงานโรงพยาบาลเล็กๆ ตามต่างจังหวัด ความฝันลมๆ แล้งๆ แบบนั้นคือลืมไปได้เลย มันไม่มีจริง เพราะชั่วโมงทำงานของหมอโหดสัสๆ

    โรงพยาบาลต่างจังหวัดบางแห่งอาจมีหมอประจำการประมาณสามคน โดยสามคนนี้จะต้องจัดตารางเวรกันเองว่าใครจะเข้าเช้า ใครจะเข้าบ่าย ใครจะเข้าดึกเวียนกะทำงานกัน 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 วันต่อสัปดาห์ 4 สัปดาห์ต่อเดือน ถ้าไปโรงพยาบาลตอนกลางวันส่วนมากมักจะเจอหมอแก่ๆ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะจะให้หมอแก่เข้าเวรรอบดึกก็ไม่ดีอีกเพราะแกอาจจะง่วงนอนและคงทำงานไม่ค่อยจะไหว ก็ต้องเป็นหมอหนุ่มๆ นี่แหละที่ทำงานกะดึกกันเข้าไป เห็นมั้ย แค่เวลานอนมึงก็จะไม่มีแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปดูแลพ่อแม่?

    หรือที่โหดกว่านั้น โรงพยาบาลต่างจังหวัดบางที่มีหมอประจำแค่หนึ่งคน โดยหนึ่งคนนี้ก็ต้องประจำ 24 ชั่วโมงทั้งวันทั้งเดือน...

    ไม่ได้พูดโอเวอร์นะ เรื่องจริง! หนึ่งคน 24 ชั่วโมง และเหมือนจะเป็นเรื่องตลกจากพระเจ้า เมื่อไหร่ที่หมออยู่คนเดียวมันจะยุ่งขึ้นมาทุกที กูอยู่เวรมาน็อกรอบเข็มนาฬิกาแล้วทำไมยังไม่หายยุ่งอีกวะ!? พอหมอทำงานนานๆ ก็มีอาการล้า แต่อาการล้าของหมอก็เป็นสิ่งไม่สามารถแสดงออกได้ เพราะอาชีพหมอเป็นอาชีพที่อยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ อยู่กับความหวังของคนไข้ เราจะมาทำตัวเหนื่อยอ่อนไม่ได้ เพราะเขามาพึ่งพาสติปัญญาและความรู้ของหมอ...พอคนไข้เห็นหมอโทรมๆ ก็เริ่มมีอาการไม่ไว้ใจ ขอยาเพิ่ม ขอให้ทำนั่นเพิ่ม ทำนี่เพิ่ม จากที่ยุ่งอยู่แล้วกูยิ่งยุ่งหนักเข้าไปใหญ่ ทำงานอย่างกับเฟืองนาฬิกาแบบนี้ เรื่องวันหยุดหรือลาพักร้อนนี่ลืมไปได้เลยครับ


  • โรคภัยและความตายไม่มีวันหยุด หมอก็เช่นกัน

    ในกรณีที่โรงพยาบาลมีหมอหลายคนก็ยังพอจะหมุนเวียนให้มีวันหยุดได้บ้างนิดหน่อย แต่ทุกๆ ครั้งที่หมอหยุด หมายความว่าจะมีหมออีกคนรับหน้าที่คูณสองเข้าไป ส่วนโรงพยาบาลไหนที่มีหมอแค่คนเดียว...มึงก็ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฝังตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเสาเอกโรงพยาบาลนั่นแหละ การทำงานของหมอที่ว่าหนักและยาวนานแล้ว การขอย้ายโรงพยาบาล (โรงพยาบาลรัฐบาลที่อยู่ต่างจังหวัด) ยังจัดว่าเป็นเรื่องที่ยากและหนักอีกต่างหาก ยากตรงที่ในฐานข้อมูลของรัฐโรงพยาบาลแต่ละที่จะมีโควต้าอยู่ว่าโรงพยาบาลนี้มีเตียงผู้ป่วยอยู่จำนวนเท่านี้ จะต้องมีหมอเท่านี้เท่านั้น ห้ามมากกว่านี้ เวลาที่หมอจะย้ายแต่ละทีก็ต้องย้ายตามฐานข้อมูลที่ว่านั่น แต่ปัญหามีอยู่นิดเดียวตรงที่ อีฐานข้อมูลกับจำนวนหมอจริงๆ มันไม่ค่อยจะตรงกัน

    เช่น โรงพยาบาล A มีจำนวนหมอในฐานข้อมูล 5 คน เต็มจำนวนโควต้าหมอแปลว่าไม่สามารถย้ายเข้าไปเพิ่มได้แล้ว

    แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาล A แม่งมีหมอที่กำลังจะกลายเป็นเมือกเป็นไขติดลงไปอยู่กับพื้นแล้ว 3 คนเท่านั้น

    ทีนี้ หมอที่อยากจะย้ายไปโรงพยาบาล A ก็ย้ายเข้าไปไม่ได้

    ส่วนหมอที่ทำงานอยู่โรงพยาบาล A ต้องการหมอเพิ่ม ก็ไม่ได้อีก

    “เอาง่ายๆ อะครับ ผมลาออกจากโรงพยาบาล B มาแล้วสองปี ไปดูในฐานข้อมูล ชื่อผมยังทำงานอยู่อีโรงพยาบาล B อยู่เลยครับ” ‘จารย์หมอบอก วิชัยเพลีย


    คอขาดบาดตาย

    หมอเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับโรคภัย ทุกคนมาหาหมอด้วยความหวังที่ว่าไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไรมา หมอจะต้องรักษาหายได้ และเรื่องของทุกคนจะเป็นเรื่องสำคัญระดับคอขาดบาดตายเสมอ ในโรงพยาบาลที่หมอมีจำนวนไม่พอกับคนไข้ นอกจากหมอจะต้องลงตารางดูแลคนไข้ที่นอนแอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วยังต้องมา ดูคนไข้ที่แวะเวียนมาหาหมออีก ว่ากันตรงๆ หมอเขาทำอะไรไม่ทันหรอกครับ

    คนไข้ที่หมอดูแลได้ดีที่สุด ก็คือคนไข้ที่หมอกำลังดูแลอยู่นั่นแหละ ส่วนคนที่รออยู่ข้างนอกก็ว่ากันอีกที แต่ส่วนใหญ่คนที่มาหาหมอจะมาด้วยความรู้สึกว่า โรคของตัวเองสำคัญและด่วนที่สุด จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะถ้าเขาสบายดีก็คงไม่มาหาหมอให้เสียเวลาหรอก ถึงกระนั้นหมอก็รับเต็มๆ อยู่ดี

    “เนี่ย...คนไข้มารอ 20 คน ก็ไม่เห็นมีใครโวยวายอะไรนะ แต่พอต้องมีเคสไปปั๊มหัวใจทีไร มันต้องมีคนโวยวายเสียงดังหาว่าวินิจฉัยช้าทุกที ไม่เข้าใจ คือเขาก็เห็นว่าเรากำลังเอามือประสานมือนาบอกคนไข้เลยนะ แต่ก็ยังเปิดประตูเข้ามาถามอีกว่า 

    “ทำไมตรวจช้าจัง”

  • ...

    อาจารย์หมอบ่น

    พอตรวจช้า หมอก็โดนร้องเรียน โทษฐานที่ทำให้คนไข้เสียเวลารอ พอถึงคิวไอ้คนที่มีปัญหา มันก็จะเป็นปัญหาคาราคาซัง หมอจะกลายเป็นคนที่ตรวจโรคโดยที่มีอคติของคนไข้มาเป็นไส้กรองคำวินิจฉัยอีกที จริงหรือเปล่า? หมอตรวจดีแล้วเหรอ

    พอหมอตรวจเร็ว...ก็หาว่าไม่ใส่ใจอีก หนักๆ เข้านี่ก็เหมาเลยว่าหมอตรวจเร็วเพราะหมอไม่พอใจที่โดนร้องเรียน!

    “ไม่อยากตรวจกับหมอคนนี้ อยากเปลี่ยนหมอ หมอหน้าอ่อนแบบนี้จะรู้เรื่องเหรอ”

    ...กูหน้าอ่อนก็ผิดอีก

    “ตรวจนานแบบนี้ มันรู้เรื่องจริงเหรอ”

    ...ขอตรวจละเอียดนิดนึงได้มั้ยครับน้า

    “ตรวจเร็วแบบนี้ ละเอียดแล้วเหรอ”

    ...

    “ตรวจดีๆ ตรวจไม่ดีผมมีสิทธิ์ฟ้องคุณได้นะ”

    ...อืม...

    เอา...เอาเข้าไป หมอทั้งนั้น


    สมรู้ร่วมคิด

    หมอคือตัวกลางของนโยบายรัฐบาลแปลกๆ โง่ๆ ที่ทำจริงไม่ได้ หรือยังไม่ได้รับการอนุมัติ เช่น โรคชนิดหนึ่งที่เขาสรุปกันแล้วว่าต้องรักษาแบบนี้เท่านั้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะเจอ...นักการเมืองท้องถิ่นที่กร่างเข้ามาพร้อมกับบอกให้ออกยาอีกชนิด เพราะเป็นนโยบาย (ตอนหาเสียง) ของรัฐบาล อืม...แล้วหมอก็หือพี่เขาไม่ได้นะครับ เพราะเป็นแค่หมอ ไปขัดเขาเราก็ซวยอีก เผลอๆ ทำไปทำมาจะโดนโรงพยาบาลที่สังกัดเล่นงานอีก...สุดท้ายพอรักษาไม่ได้

  • คนไข้ก็บอกว่าเป็นความผิดหมออีก!

    เอา...เอาเข้าไป หมอทั้งนั้น

    แล้วก็เป็นหมออีกนั่นแหละที่ต้องออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งบ่อยครั้งที่หมอทำหน้าที่หมออยู่ดีๆ ก็กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทุจริตกับคดีอะไรสักอย่างโดยที่เราไม่ตั้งใจ เช่น ผู้มีอิทธิพลขับรถไปชนคนขาหัก แต่ดันให้เราออกใบรับรองแพทย์ว่าผู้เสียหายแค่ซี่โครงยอก ไม่เป็นอะไรมาก โอเค...ออกให้ก็ได้ แต่ถ้ามีการฟ้องร้องขึ้นมา หมอก็เตรียมตัวไปยืนยิ้มในศาลได้เลย

    หนักสุดที่อาจารย์หมอเล่าให้ฟังคือ มีการให้ออกใบรับรองแพทย์เพื่อไปทำใบขับขี่ เพราะคนไข้ไปทำใบขับขี่แล้วทางขนส่งไม่ยอมให้ทำ แต่แทนที่จะไม่ให้ทำแล้วจบไป เสือกมีภาคต่อให้ลุ้นว่า ถ้าอยากทำก็ไปขอใบรับรองแพทย์กับหมอมาก่อน หวยก็เลยมาออกที่หมอ...ตรงที่อีคนที่มาขอใบรับรองแพทย์เพื่อจะให้ยืนยันว่าร่างกายสมบูรณ์เนี่ย ขาขาดหนึ่งข้าง...

    กูจะบ้าครับ ขาขาดหนึ่งข้าง จะให้ออกใบรับรองแพทย์ว่าสมบูรณ์เนี่ยนะ!?

    ขาดสองข้างก็เคยมาขอใบรับรองแพทย์ด้วย! โดยยืนยันว่าขาขาดสองข้างขับรถยนต์ได้จริงจริ๊ง!

    แหม...มันก็จริงที่ว่าขาขาดสองข้างก็ยังขับรถได้อยู่ และน่าจะขับได้ปลอดภัยมากกว่าพวกเมาแล้วขับด้วย แต่ก็นะ...ขาขาดสองข้างกับใบรับรองแพทย์ว่า ร่างกาย ‘สมบูรณ์’ เนี่ยนะ! มันไม่ใช่มั้ง! สุดท้ายพอไม่ออกใบให้ ก็ไปลงที่อีหรอบนี้

    “หมอแม่งไร้มนุษยธรรม ใจดำ ไม่มีน้ำใจ”

    เอา...เอาเข้าไป กูทั้งนั้นแหละ


    รักษาโรค

    หมอคือแฟนพันธุ์แท้ ‘โรคภัยไข้เจ็บ’

    แต่ปัญหาคือตำราแฟนพันธุ์แท้ของหมอแต่ละคนนั้นอัปเดตให้เป็นฉบับปัจจุบันหรือยัง เพราะโรคภัยไข้เจ็บมันมีการวิวัฒนาการตลอดเวลา

    การวินิจฉัยโรค มันก็คือการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ช่วงเปิดแผ่นป้ายคุณสมบัตินั่นแหละครับ เช่น มีคนไข้มาหาหมอ คนไข้บอกอาการมาสักอย่าง สิ่งที่หมอทำได้คือวิเคราะห์ว่าอาการเหล่านี้มีโรคที่เข้าข่ายกี่โรค สมมติว่าเข้าข่ายอยู่สามโรค หมอที่ดีจะต้องวิเคราะห์ต่อว่าในสามโรคนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคไหนมากที่สุดและจ่ายยาตามความเป็นไปได้ที่เราวิเคราะห์

  • ถ้าบิงโก การรักษาก็จบ แต่ถ้าไม่ ก็ค่อยมาว่ากันอีกที แต่คนไข้ส่วนใหญ่มักจะมาด้วยความเข้าใจว่า รักษาไปเนี่ยจะต้องหายเลย ซึ่งไม่ใช่เสมอไป

    อีกเรื่องที่คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจคือ โรคหลายโรคมีวงจรอายุของมัน ยกตัวอย่าง (สมมตินะครับ) โรคหลายๆ โรคเริ่มต้นอาการเหมือนกันคือ เป็นไข้ตัวร้อน ถ้ามาหาหมอด้วยอาการนี้หมอจะวิเคราะห์ยาก เหมือนแฟนพันธุ์แท้นักร้องไทยยุคเก้าศูนย์ เปิดแผ่นป้ายคุณสมบัติได้ว่า ‘เป็นผู้ชาย’ แล้วต้องทายว่านักร้องคนนี้ชื่ออะไร มันก็ตอบยากใช่มั้ย? ถึงต้องรอดูป้ายหรืออาการต่อไป ถ้าอาการต่อมาคือเจ็บต่อมทอนซิล ความเป็นไปได้ของโรคก็จะแคบลง หมอจะรักษาง่ายขึ้น ต่างจากสิ่งที่คนไข้อยากให้หมอทำคือ ฟังจังหวะการเต้นของหัวใจ เอาไฟส่องปาก แล้วก็บอกได้เลยว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งทางออกของหมอบางคนคือใช้วิธีให้ยาดักแม่งทุกโรคที่คิดว่าเป็นไปได้เลย มันก็ป้องกันได้จริง แต่เปลืองตังค์คนไข้ (ถูกด่าอีก หาว่าขูดเลือดขูดเนื้อ)

    หมอบางคนพยายามให้ยาตรงอาการ เพราะอยากให้คนไข้มีค่าใช้จ่ายน้อยๆ แต่ก็คงไม่ถูกใจของคนไข้ไปทุกคนหรอก ดังนั้นหมอแทบทุกคนก็จะโดนสาปแช่งไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

    ที่แย่กว่านั้นคือ วงจรของโรคบางชนิดมันทำให้เราไม่สบาย มีอาการปวดหัว ตัว-ร้อน ที่จริงพักผ่อนให้เพียงพอ กินน้ำเยอะๆ ร่างกายจะซ่อมตัวเองเป็นปกติอยู่แล้วแต่คนไข้ลงทุนเดินทางมาหาหมอ หมอวิเคราะห์คร่าวๆ ว่าเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เบื้องต้นแค่กินยาและพักผ่อน ไม่เกิน 7 วันก็หาย คนไข้กลับบ้าน...กินยาพักผ่อน ผ่านไป 5 วันยังไม่หาย เพื่อนมาบ้านหยิบยาไปดู “อ้าว! นี่มันยาพาราฯกระจอกๆ นี่หว่า!” บอกให้คนไข้หาซื้อยานี้ๆ ไปกิน...คนไข้ก็เชื่อ ไปร้านขายยาซื้อยาตัวแรงมากิน วันที่ 7 หาย สรุปความบรรทัดสุดท้าย “หมอแม่งเลี้ยงไข้”

    เอา...เอาเข้าไป หมอทั้งนั้น

    ที่แย่ที่สุดคือ คนไข้เดี๋ยวนี้เริ่มรู้มาก เข้านงเข้าเน็ต อ่านเจอมาว่ายานี้ยานั้นรักษาโรคนี้โรคนั้นได้ พอมาโรงพยาบาลหาหมอก็จะมาเบ่งพลังแห่งปัญญา บังคับให้หมอจ่ายยานี้ยานั้นที่อ่านเจอในอินเทอร์เน็ตให้ พอหมอไม่ให้ก็ไม่พอใจ คือหมอก็รู้อะนะว่ายาที่พูดมามันมีอยู่จริงๆ รักษาได้จริงๆ แต่ในเมื่อคุณเป็นหวัดธรรมดาๆ กินพาราฯ แล้วนอนเยอะๆ กินน้ำเยอะๆ มันก็หายป่วยได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องจ่ายแพงขึ้นเลย ถึงจะบอกว่าคนไข้ยินดีที่จะจ่าย แต่โรงพยาบาลเนี่ยไม่ได้มียาทุกชนิดในโลกเก็บเอาไว้หรอกนะ

    โรงพยาบาลรับยามาตามเทรนด์การป่วยของคนไข้ละแวกนั้น เหมือนร้านขายซีดี ถ้าช่วงนั้นเพลงของบี้ เดอะสตาร์กำลังดัง ร้านก็จะรับซีดีเพลงของบี้มาลงเยอะ ส่วนเพลงป๊อปอินดี้นอกกระแสจากประเทศบังกลาเทศจะเอาเข้ามาทำไมเยอะๆ ทีนี้พอคนมาหาซื้อเพลงแปลกๆมันก็ไม่ได้แปลกที่ร้านซีดีบางร้านจะไม่มีขาย...โรงพยาบาลก็เป็นอย่างนี้แหละ

    แต่คนซื้อซีดีก็มักจะเข้าใจว่าคนขายซีดีคือเจ้าของร้าน ทั้งๆ ที่บางทีอาจเป็น แค่ลูกจ้างธรรมดาๆ เหมือนกับที่คนไข้มักจะเข้าใจว่าหมอเป็นเจ้าของโรงพยาบาล หรือเป็นคนที่มีหน้าที่สั่งยาเข้าโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่หมอก็เป็นแค่ลูกจ้างคน นึงเท่านั้น

  • หมอคือคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างความถูกต้องกับระบบที่ถูกวางเอาไว้

    เวลาหมอวินิจฉัยโรคแล้วจ่ายยา หมอก็จำเป็นต้องจ่ายยาที่โรงพยาบาลจัดเตรียมเอาไว้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามียาที่ดีกว่าอยู่ แต่หมอก็ทำอะไรไม่ได้นะครับ เพราะโรงพยาบาลไม่ได้จัดยาตัวที่ว่านั้นเอาไว้ให้ พวกเครื่องมือทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน หมอก็รู้หรอกครับว่าบางครั้งโรงพยาบาลก็เตรียมเครื่องมือเอาไว้ไม่เพียงพอต่อคนไข้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอย่างที่บอก สุดท้ายแล้วหมอก็เป็นแค่ลูกจ้างคนนึง ยังต้องทำตามกฎระเบียบขององค์กรหรือระบบที่ถูกวางเอาไว้อยู่ดี แต่สิ่งที่หมอจะต้องเจอทุกวันคือคนไข้ที่หวังจะหายเร็วๆ โดยไม่เข้าใจสิ่งที่หมอเผชิญ

    เนี่ย อย่าเป็นเลยหมอ เพราะเป็นหมอแล้วจะป่วยจะไข้ไม่ได้เลยนะ เสียเชิงหมอฉิบหายหมด นอกจากหมอเองจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงแข็งแกร่งแล้ว ยังต้องมีภูมิต้านทานจากโลกคนเป็นและโรคคนป่วยอีกด้วยนะ และคนเป็นหมอถึงจะได้รับค่าตอบแทนสูง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกัน แล้วค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มักจ่ายเป็นเวลา จ่ายเป็นตัวตน จ่ายด้วยความเยาว์ จ่ายด้วยอุดมการณ์ที่พวกเขาเคยมี จ่ายด้วยความฝันที่เคยเฝ้ารอ จ่ายด้วยการทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เข้าใจ

    คนเป็นหมอจ่ายเยอะจริงๆ เราน่ะจะกล้าจ่ายหรือเปล่า ถ้ายังไม่แน่ใจ อย่าไปเป็นมันเลยแก

    “อย่าทำเลย หมอมันห่วยจริงๆ นะ” น้าหมอย้ำอีกครั้ง

    “คิดดูดิ...ขนาดป่วย ยังลางานไปหาหมอที่โรงพยาบาลไม่ได้เลยอะ”

    “โห”

    ...

    แต่...เดี๋ยวนะ?


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in