เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดรามา สุตราSALMONBOOKS
บทนำ ความขัดแย้ง วัตถุ และประวัติศาสตร์


  •          
              เคยเป็นกันใช่มั้ยครับที่ต้องฟาดฟันกับสารพัดปัญหาที่แห่แหนเข้ามาในชีวิตอย่างขยันขันแข็งเสียเหลือเกิน ตั้งแต่พ่อแม่ป่วย  เจ้านายสั่งงานหนักแต่ให้เวลาทำน้อย จ่ายค่าเทอมลูก ผ่อนบ้านไม่ทัน
    เพื่อนบ้านขี้เสือก ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจซบเซา การเมืองผันผวนหรือสงครามระหว่างประเทศที่ทำให้หุ้นที่คุณถือครองอยู่ในมือกลายเป็นตัวแดง ฯลฯ
              สภาวะที่ว่ามา ถ้าพูดกันตามภาษาสมัยนี้คงเรียกว่า‘ดรามา’ ซึ่งเอาเข้าจริง ไอ้ดรามาที่เรียกกัน รวมไปถึงพื้นฐานหลักๆ ของสารพัดปัญหาที่รายล้อมตัวเรา ล้วนแต่วางอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความขัดแย้ง’ ทั้งสิ้น
              แต่เวลาที่พูดคำว่า ‘ความขัดแย้ง’ ขึ้นมา หลายคนมักจะมองไปที่เรื่องใหญ่ๆ ไกลตัวไว้ก่อน อย่างสงคราม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือม็อบสองสีตบตีกัน ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็คือความขัดแย้งด้วย เพียงแต่มันไม่ได้จำกัดเฉพาะสิ่งที่มีระยะห่างจากตัวเราเท่านั้น แค่ผัดกะเพราไก่ราดข้าวใส่ หรือไม่ใส่ถั่วฝักยาว ก็ถือเป็นเรื่องของความขัดแย้งเช่นกัน เพราะสามารถอภิปรายไปได้ถึงรสนิยมการกิน กระทั่งต้นทุนทางเศรษฐกิจก็ยังได้ หรือการที่เจ้านายสั่งงานดูเว่อร์เกินความจริง ก็เป็นปัญหาที่วางอยู่บนความขัดแย้งในการประเมินของฝั่งลูกจ้างกับผู้จ้างงาน
              ว่าง่ายๆ ความขัดแย้งอยู่กับเราทุกที่นั่นแหละครับ และมักจะเป็นต้นตอของปัญหาแทบทั้งมวลด้วย มนุษย์เราจึงหาวิธีจัดการกับความขัดแย้งหรือหาทางยุติ ‘ดรามา’ มานานแล้ว
              แต่บ่อยครั้งหลังจากจัดการกับปัญหาอย่างหนึ่งไปได้ ความขัดแย้งอีกแบบก็จะโผล่ขึ้นมาแทนเสมอๆ ชีวิตของพวกเราจึงดูเหมือนจะต้องพบกับปัญหาไม่จบไม่สิ้น
              อย่างไรก็ตาม ถึงผมจะบอกว่าปัญหามักจะเกิดจากความขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความขัดแย้งจะแย่ไปเสียหมดนะครับ หลายๆ ครั้งความขัดแย้ง ความกล้าที่จะ ‘สร้างดรามา’ หรือ ‘ทำให้
    ดรามามีอยู่ต่อไป’ นั้นกลับเป็นเรื่องที่ดี
              แนวคิด ทฤษฎี คำอธิบาย การทดลอง หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ นั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ หรอกครับ หากไม่มีความพยายามที่จะ ‘ขัดแย้งกับสภาพแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นอยู่’ ฉะนั้นอาจพูดได้ว่าความขัดแย้งเองก็นำไปสู่สิ่งใหม่ ที่แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่อย่างน้อยก็สร้างดรามาไว้ ให้คนสามารถ ‘นึก’ ถึงความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ด้วยนั่นเอง
              ยกตัวอย่างเช่น กาลิเลโอ ที่หากใช้ภาษาแบบเฟซบุ๊กก็คงเรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อสายดรามา
    สายเปิดวอร์เต็มที่ เพราะปู่แกเล่นไปยืนยันข้อเสนอของโคเปอร์นิคัส ว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลบ้าง ไปท้าทายคำสอนเรื่องการตกของวัตถุที่อริสโตเติล เคยว่าไว้ (และศาสนจักรเชื่อถือและยึดถือ) บ้าง และอีกสารพัดอย่างจนเป็นดรามาหนักหน่วง ท้ายที่สุดกาลิเลโอก็โดนศาสนจักรขู่ให้เลิก เลยต้องยอม ‘หุบปาก’ และ ‘หยุดดรามา’ (ในเวลาต่อมา เราจะเห็นว่าการสร้างดรามาของกาลิเลโอ เป็นเหมือนการกระทุ้งความคิดใหม่ๆ และเป็นอะไรที่มีค่ามากๆ)
              แต่ในขณะเดียวกัน การไปยุติดรามาหรือความขัดแย้งอย่างกรณีที่ศาสนจักรทำกับกาลิเลโอนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

  • ความขัดแย้ง

              “Ubi dubium ibi libertas”
              สุภาษิตละตินข้างต้น แปลได้ว่า ‘ที่ใดมีคำถาม (หรือความสงสัย) ที่นั่นมีเสรีภาพ’
              ทำไม ‘คำถาม’ หรือ ‘ความสงสัย’ ถึงเป็นอาหารหลักของเสรีภาพ? และที่สำคัญคือ ‘คำถาม’ หรือ ‘เสรีภาพ’ เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้ง?
              คำตอบของคำถามนี้ หากพูดแบบหักดิบที่สุด สามารถอภิปรายได้ครับว่า ทุกความขัดแย้งมีฐานอยู่ที่การตั้งคำถามบางอย่างขึ้นมาก่อน ซึ่งหลายครั้งก็เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่บางครั้งก็กลายเป็นการตั้งคำถามที่นำไปสู่คำถามใหม่ๆ มากกว่า จะ นำพาไปสู่คำตอบที่ถ้วนทั่วชัดเจน ความขัดแย้งกับคำถามจึงเป็นของที่อยู่คู่กันเสมอ
              แต่หากคำถามกับเสรีภาพเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันอย่างที่สุภาษิตละตินโบราณข้างต้นว่าไว้ ความขัดแย้งก็คงต้องเกี่ยวกับเสรีภาพด้วยสิว่าแต่มันเกี่ยวโยงกันยังไง?อย่างนี้ครับ คือการใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างที่
              เราคุ้นชินนั้นไม่ได้พิสูจน์การมีอยู่ของความเสรีโดยตัวมันเอง เราอาจแค่ได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างที่เราเคยชินไปก็ได้ เพราะความเคยชินมันไม่วุ่นวาย ความเคยชินทำให้ทุกอย่างนิ่งสงบ ไม่ลำบาก ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเข้าไปจัดการ เช่น เจ้านายสั่งให้ช่วยทำนู่นทำนี่นอกเวลางานเราก็ทำตามสั่งไป แม้จะแอบเบื่อแอบรำคาญบ้าง แต่จะได้ไม่ต้องมายุ่งยากลำบากทีหลัง หรือหลายครั้งก็ทำตามความคุ้นชินว่านายสั่งก็ต้องทำ โดยไม่ตั้งคำถามว่า “เขามีสิทธิ์อะไรมาใช้เรานอกเวลางานได้?” เป็นต้น
              เพราะอย่างนี้ เราจึงจะรู้สึก หรือสัมผัสกับเสรีภาพได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราสามารถตั้งคำถามต่อสภาวะที่เคยชินเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องหลบซ่อน โดยเฉพาะการถามถึงแกนกลางของความเคยชินแล้ว กลับตาลปัตรมันเสียต่อเมื่อเราสามารถ ‘มีคำถาม’ ในลักษณะนี้ได้เท่านั้น เราจึงรู้สึกถึงเสรีภาพคำอธิบายเรื่องนี้มาจากนักคิดนักปรัชญาหลายคน แต่ที่มาแรงแซงทางโค้งในช่วงหลังคงจะเป็น สลาวอย ชิเชก (Slavo  jžižek) นักปรัชญาชาวสโลวีเนีย ที่หากอธิบายอย่างย่นย่อก็คือ ไม่ใช่ว่าทุกคำถามจะแสดงถึงความมีเสรีภาพได้เหมือนกันหมด อย่างคำถามว่า “ห้องน้ำไปทางไหน?” เป็นคำถามที่ระบบโครงสร้าง
              ซึ่งครอบเราอยู่นั้นอนุญาตให้ถามได้ แปลได้ว่าในระบบโครงสร้างที่เราอยู่นั้นมีคำถามที่ถามกันได้โดยทั่วไป อนุญาตให้ถามได้ กับคำถามซึ่งอยู่ในพรมแดนที่ไม่ถูกอนุญาตให้ถาม
              นั่นแปลว่า คำถามที่ชนเพดานขอบเขตของการ ‘ถามได้-ไม่ได้’ เท่านั้นที่เป็นคำถาม ซึ่งท้าทายหรือตรวจสอบการมีอยู่เสรีภาพของเราแล้วที่ว่านำไปสู่การกลับตาลปัตรคืออะไร? 
              ถ้าการตั้งคำถามที่จ่อเพดานแบบที่ว่าเท่านั้นถึงจะตรวจสอบสภาวะความมีเสรีภาพของโครงสร้างที่มีอยู่ได้ หากเราถามคำถามที่จ่อเพดานนั้นออกไป แล้วถูกทำให้กลายเป็นเรื่องห้ามถาม  (ไม่กลับตาลปัตร) ก็แปลว่ามันไม่มีเสรีภาพอะไรในการถามหรอก
              แต่เมื่อคำถามที่จ่อเพดานนั้นสามารถผลักพรมแดนของการ ‘ถามได้’ ให้ไกลออกไปมากขึ้น (ว่าง่ายๆ ก็คือคำถามที่จ่อเพดานนั้นได้ถูกทำให้เป็นเรื่องที่ถามได้ ซึ่งเท่ากับมันไปขยายขอบเขตของเรื่องที่ถามได้ให้มากยิ่งขึ้น) นั่นถึงจะเป็นการกลับตาลปัตรสภาวะที่เราเคยชิน จากที่เคยคิดว่าถามไม่ได้ ให้กลายเป็นเรื่องปกติที่จะถามได้
              และเฉพาะสภาวะแบบนี้เท่านั้นที่แปลว่าเสรีภาพยังคงมีอยู่ ซึ่งตรงกับสุภาษิตที่ว่า ‘ที่ใดมีคำถาม ที่นั่นมีเสรีภาพ’ ด้วย
              ผมขอลองยกตัวอย่างใกล้ตัวสักนิด เช่น คนจำนวนมากที่ต่อให้โดนเจ้านายสั่งงานเยอะในระดับที่ไม่มีทางทำเสร็จได้ทัน แล้วเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่ตอบโต้ เพราะการอยู่นิ่งๆ รับคำสั่งตามที่เคยชินดูจะเป็นเรื่องที่ชักชวนให้ทำมากกว่า ดูปลอดภัยกว่า และเราก็รู้ว่าการถามเจ้านายกลับไปว่า
              “คิดอะไรอยู่ถึงสั่งงานเยอะขนาดนี้? ประเมินความเป็นจริงเป็นมั้ย?”
              นั้นมันจ่อเพดานของการ ‘ถามไม่ได้’ ไปแล้ว แต่เฉพาะคำถามแบบนี้แหละครับ ที่จะพิสูจน์สถานะของเสรีภาพในโครงสร้างที่ครอบเราอยู่ได้ หากถามแล้วเจ้านายโกรธและกลายเป็นคำถามต้องห้าม เหตุการณ์อาจจะจบลงที่ความขัดแย้งหรือดรามาใหญ่ในออฟฟิศ แต่หากเจ้านายโอเคกับคำถามที่เราไม่คุ้นชินที่จะถามและจ่อเพดานแบบนี้ นั่นต่างหากคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าโครงสร้างที่กำลังครอบเราอยู่นั้นมีเสรีภาพ
              ‘คำถาม’ ในเซนส์นี้ จึงเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย โดยเฉพาะคำถามชวนมองความคุ้นชินที่เรียบนิ่งจากมุมมองที่ผิดจากความเคยชิน เพราะคำถามเหล่านั้นส่งผลให้สภาวะคุ้นชินที่นิ่งอยู่กระเพื่อมและขุ่นมัวได้
              ความขุ่นมัวจากน้ำมือของคำถามจึงเป็นบ่อเกิดสำคัญหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะมันป่าวร้องสิ่งที่ไม่ควรจะนึกถึง และทำลายวิถีอันเป็นปกติของชุมชนการเมืองที่อยู่รายล้อมมัน
    ในแง่นี้ เราก็พอจะพูดได้ว่า ‘เสรีภาพ’ วางอยู่บนกองซากของ ‘ความขัดแย้ง’

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in