เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DATA FOR THE PEOPLE รู้อะไรไม่สู้ รู้ดาต้าBANLUEBOOKS
บทนำ: การปฏิวัติข้อมูลทางโซเชียล

  • ทุกการปฏิวัติล้วนเกิดขึ้นในความคิดของคนคนหนึ่ง แล้วพอความคิดเ
    ดียวกันนั้นเกิดขึ้นในหัวของอีกคน นั่นล่ะคือกุญแจไปสู่ยุคสมัย 1
    -ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน-


                 ตอนเช้าเวลา 6:45 น. นาฬิกาปลุกในโทรศัพท์มือถือส่งเสียงปลุกผม ผมหยิบมือถือเดินไปห้องครัวด้วยความกระตือรือร้นที่จะเริ่มต้นวันใหม่พร้อมกับอ่านอีเมลและข้อความแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กไปด้วย เครื่องรับสัญญาณจีพีเอสในมือถือกับระบบไวไฟตรวจจับการเคลื่อนตำแหน่งได้ จึงบันทึกการเคลื่อนที่สองสามเมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของผม ขณะรินกาแฟแล้วเริ่มตื่นอย่างเต็มที่ มาตรความเร่ง (accelerometer) ในโทรศัพท์มือถือก็คอยตรวจจับความเร็วในการเดินของผม ส่วนมาตรวัดความดันบรรยากาศก็สามารถตรวจจับได้ว่าผมเดินขึ้นไปอยู่ชั้นบนแล้ว ด้วยแอปมากมายของกูเกิล (Google) ที่ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ กูเกิลจึงมีบันทึกของข้อมูลทั้งหมดนี้

                 เมื่อกินอาหารเช้าเสร็จ ผมก็พร้อมที่จะเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าได้ติดตั้งมิเตอร์แบบ “สมาร์ต” เอาไว้ในบ้านผม ซึ่งมันจะตรวจจับการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเมื่อผมปิดไฟและถอดสายอุปกรณ์มือถือ พอเปิดประตูโรงรถปุ๊บ มิเตอร์ก็ตรวจจับการใช้ไฟอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนั้นอีก ดังนั้นเมื่อถึงตอนที่ผมถอยรถออกสู่ถนน ผู้ให้บริการไฟฟ้าก็มีข้อมูลเพียงพอที่จะรู้ว่าผมออกจากบ้านแล้ว แล้วพอสัญญาณมือถือของผมถูกเปลี่ยนไปยังเสาสัญญาณต้นใหม่ ทีนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ก็รู้ไปด้วยอีกราย 

             กล้องตัวหนึ่งที่ติดตั้งไว้ตรงหัวมุมถนนถ่ายป้ายทะเบียนรถของผมไว้ เผื่อว่าผมจะขับฝ่าไฟแดงอะไรอย่างนี้ แต่โชคดีที่วันนั้นผมทำตัวดี มันจึงไม่มีใบสั่งไปรอผมอยู่ในตู้รับจดหมายที่บ้าน อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผมขับรถไปเรื่อยๆ ป้ายทะเบียนของผมก็ถูกถ่ายภาพครั้งแล้วครั้งเล่า โดยกล้องบางตัวเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่บางตัวก็เป็นของบริษัทเอกชนที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุรูปแบบการจราจร...แล้วนำไปขายให้กรมตำรวจ ผู้พัฒนาที่ดิน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ 

                เมื่อถึงมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมจ่ายค่าจอดรถด้วยแอปอีซีพาร์ก(EasyPark) ในโทรศัพท์มือถือ เงินถูกตัดจากบัญชีธนาคารโดยอัตโนมัติ ทีมงานที่ดูแลลานจอดรถของมหาวิทยาลัยจะได้รับแจ้งว่าผมจ่ายเงินแล้ว ทีนี้ทั้งมหาวิทยาลัยและธนาคารต่างก็รู้กันหมดว่าผมมาถึงวิทยาเขตตอน 9:03 น. พอโทรศัพท์ของผมหยุดเคลื่อนที่ไปพร้อมกับรถยนต์ กูเกิลก็อนุมานว่านี่คือจุดที่ผมจอดรถแล้วทำการบันทึกตำแหน่ง เผื่อว่าถ้าผมหารถไม่เจอในภายหลัง ผมจะได้เปิดมือถือขึ้นมาดูได้ว่ารถอยู่ตรงไหน ถึงเวลาตรวจสอบแอปเมโทรไมล์ (Metromile) ของบริษัทประกันแล้ว แอปนี้จะดึงข้อมูลการขับขี่ของผมจากระบบวิเคราะห์การเดินทางที่ติดตั้งมากับตัวรถมันช่วยให้ผมเห็นทันทีว่าประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของผมลดต่ำลงในวันนี้...คือสิบเก้าไมล์ต่อหนึ่งแกลลอน...เท่ากับผมเสียค่าน้ำมันไป 2.05 เหรียญในการเดินทางเช้านี้


  • หลังเลิกงานที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมมีแผนว่าจะไปพบเพื่อนใหม่คนหนึ่งที่เมืองซานฟรานซิสโก ก่อนหน้านี้เราได้พบกัน “แบบเสมือน” ตอนไปร่วมตอบคอมเมนต์ในโพสต์เฟซบุ๊กของเพื่อนที่รู้จักร่วมกัน และต่างชื่นชอบความคิดเห็นของอีกฝ่าย ปรากฏว่าเราสองคนมีเพื่อนที่รู้จักร่วมกันบนเฟซบุ๊กมากกว่าสามสิบคน เป็นเหตุผลอันเกินพอให้เราสองคนนัดพบกัน 

          กูเกิลแมปส์ (Google Maps) พยากรณ์ว่าผมจะไปถึงบ้านของเพื่อนใหม่คนนี้เวลา 19:12 น. ซึ่งการพยากรณ์นี้ก็ถูกต้องเช่นเคย โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงสองหรือสามนาที ปรากฏว่าเพื่อนผมคนนี้อาศัยอยู่ชั้นบนของร้านที่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงของกระจุกกระจิกที่ใช้สำหรับการสูบกัญชา เครื่องรับสัญญาณจีพีเอสในสมาร์ตโฟนของผมไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างส่วนอยู่อาศัยชั้นบนกับร้านค้าชั้นล่าง เท่าที่ผู้ให้บริการมือถือและกูเกิลทราบว่า ผมใช้เวลาช่วงท้ายของวันไปกับการเดินซื้อของในร้านใบยาสูบ...และที่ผมรู้อย่างนี้ก็เพราะดูจากโฆษณาที่กูเกิลเลือกมาแสดงให้ผมเห็นในขณะที่ผมเปิดดูพยากรณ์อากาศก่อนเข้านอน 

           ยินดีต้อนรับสู่การปฏิวัติข้อมูลทางโซเชียล



            • ให้เพื่อรับ
              ในแต่ละวัน มีคนมากกว่าหนึ่งพันล้านที่ช่วยกันสร้างและแชร์ข้อมูลทางโซเชียลในลักษณะนี้ ข้อมูลทางโซเชียลก็คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณนั่นเอง เช่นการเคลื่อนที่ พฤติกรรม และความสนใจของคุณ เช่นเดียวกับข้อมูลทางด้านความสัมพันธ์ที่คุณมีต่อบุคคล สถานที่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้กระทั่งคตินิยมของคุณด้วยข้อมูลบางชุดเหล่านี้ถูกแชร์ภายใต้การรับรู้และความยินยอม อย่างเช่นในตอนที่คุณลงชื่อเข้าใช้กูเกิลแมปส์แล้วพิมพ์จุดหมายปลายทางลงไปโดยไม่คิดอะไรมาก ซึ่งนี่ล่ะคือแก่นของความสะดวกสบายในการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือในบางกรณีเป็นที่ชัดเจนว่าการแชร์ข้อมูลคือเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการใช้บริการ เช่นกูเกิลจะไม่สามารถแสดงเส้นทางที่ดีที่สุดได้หากคุณไม่ยอมบอกมันว่าคุณกำลังอยู่ที่ไหนและต้องการจะไปที่ไหน ในกรณีอื่นๆ คุณอาจยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างหน้าชื่นตาบาน อย่างเช่นตอนคุณกด “ไลก์” โพสต์เฟซบุ๊กของเพื่อน หรือเวลาที่คุณสนับสนุนงานของเพื่อนร่วมงานในลิงกด์อิน (LinkedIn)แค่เพราะคุณอยากหาวิธีอะไรบางอย่างในการช่วยเหลือเธอคนนั้น 

             ข้อมูลทางโซเชียลมีความแม่นยำยิ่งยวด คือสามารถระบุพิกัดของคุณโดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่ถึงหนึ่งเมตร แต่บ่อยครั้งที่ข้อมูลทางโซเชียลนั้นเป็นแค่ภาพเค้าโครงร่าง ที่พูดอย่างนี้หมายถึงในแง่ที่ว่ามันไม่สมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่นนอกเสียจากว่าผมจะไซน์อินเข้าแอปที่แสดงการอ่านค่าของสมาร์ตมิเตอร์ (สมมติเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าผมปิดไฟหมดทุกดวงแล้วขณะเดินทางไปสนามบิน) บริษัทไฟฟ้าก็จะรู้ว่าผมไม่อยู่บ้าน แต่ไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น นี่เป็นข้อมูลหยาบๆ ที่อาจมีหรืออาจไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็ได้ ในตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน ตอนที่ผมไปหาเพื่อนใหม่คนนี้ที่เมืองซานฟรานซิสโก แม้การระบุพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงจะตรงเป๊ะ แต่การอนุมานเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผมไปทำในค่ำวันนั้นกลับผิดจังๆ ข้อมูลทางโซเชียลกลายเป็นภาพโครงร่างที่เลือนรางยิ่งกว่าเดิมในแง่ที่ว่าข้อมูลแม้จะถูกต้องตรงเผง มันกลับเปิดให้ตีความได้กว้างเกินไป ข้อมูลโครงร่างแบบนี้มีแนวโน้มที่จะไม่สมประกอบ ผิดพลาดง่าย และ...ในบางกรณี...ถึงกับถูกนำไปใช้ในทางฉ้อฉล3

                  โดยรวมแล้ว...ไม่ว่าจะจำยอมหรือยินดี จำเป็นหรือสมัครใจ แม่นยำหรือเลือนราง...ปริมาณของข้อมูลทางโซเชียลก็ยังเพิ่มขึ้นเป็นอัตรายกกำลังอยู่ดี ในทุกวันนี้ ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการปล่อยให้ข้อมูลทางโซเชียลเติบโตเป็นเท่าตัวคือสิบแปดเดือน ในห้าปีข้างหน้า ปริมาณข้อมูลทางโซเชียลจะเพิ่มขึ้นราวสิบเท่า แต่หลังจากสิบปีไปแล้ว มันจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งร้อยเท่า พูดอีกอย่างก็คือข้อมูลทั้งหมดที่เราเคยสร้างขึ้นตลอดปี 2000 ในทุกวันนี้เรากลับสร้างข้อมูลปริมาณเดียวกันนั้นภายในเวลาหนึ่งวัน และด้วยอัตราการเติบโตแบบนี้ ในปี 2020 เราจะสร้างข้อมูลปริมาณนั้นภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง 

              เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่า “ข้อมูลทางโซเชียล” นั้นไม่ได้เป็นแค่คำฮิตติดปากในสื่อโซเชียลเท่านั้น สื่อโซเชียลหลายแพลตฟอร์มได้รับการออกแบบมาเพื่อการป่าวประกาศอย่างกรณีของทวิตเตอร์ (Twitter) การสื่อสารแทบเคลื่อนไปในทิศทางเดียวโดยสิ้นเชิง คือจากเซเลบ ผู้มีอำนาจ หรือนักการตลาดไปสู่มวลชน แต่ข้อมูลทางโซเชียลมีความเป็นประชาธิปไตยกว่านั้นมาก คือคุณอาจแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณเอง บริษัทของคุณ ความสำเร็จของคุณ และความคิดเห็นของคุณผ่านทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก แต่ร่องรอยทางดิจิทัลจะลงลึกและกินวงกว้างกว่านั้นมาก การเสิร์ชกูเกิลของคุณ การซื้อของผ่านเว็บแอมะซอน การโทรออกผ่านสไกป์ (Skype) 



  • รวมถึงพิกัดรายนาทีของโทรศัพท์มือถือของคุณ...ทั้งหมดนี้และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อีกมากถูกนำมาผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นภาพเหมือนของตัวคุณในฐานะปัจเจกบุคคลซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร 

          ที่ล้ำไปกว่านั้นคือข้อมูลทางโซเชียลไม่ได้จบที่คุณ คุณสร้างและแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างคุณกับครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงาน ผ่านทางรูปแบบการสื่อสารของคุณ คุณได้สร้างข้อมูลทั้งแบบที่เกี่ยวพันกับเพื่อนฝูงและคนแปลกหน้าไปพร้อมๆกัน...ยกตัวอย่างเช่นตอนคุณรีวิวผลิตภัณฑ์หรือแท็กรูปภาพในอินสตาแกรม (Instagram) ตอนคุณยืนยันตัวตนในระหว่างการเซ็ตแอ็กเคานต์ในเว็บแอร์บีเอ็นบี(Airbnb)แพลตฟอร์มสำหรับเช่าห้องหรือบ้าน และตอนคุณใช้เฟซบุ๊กโปรไฟล์เป็นการยืนยันตัวตนนอกเหนือไปจากการใช้บัตรประจำตัวที่ออกโดยภาครัฐ ข้อมูลทางโซเชียลกำลังถูกติดตั้งในบ้านผ่านตัวควบคุมอุณหภูมิเทอร์มอสแตต (thermostat) ถูกติดตั้งในรถยนต์ผ่านระบบนำทางและในที่ทำงานผ่านซอฟต์แวร์ระบบทีม ข้อมูลเหล่านั้นเริ่มที่จะกลายเป็นองค์ประกอบในห้องเรียนของเรารวมถึงในห้องตรวจโรคของโรงพยาบาล ในขณะที่โทรศัพท์มือถือเริ่มมาพร้อมเซนเซอร์กับแอปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อุปกรณ์ใหม่ๆ เริ่มตรวจจับพฤติกรรมของเราทั้งในบ้าน ในห้างสรรพสินค้าและในที่ทำงาน คุณก็จะเริ่มมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน...รวมถึงความปรารถนาลึกๆ ของคุณ...น้อยลงทุกที นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเริ่มมีความเป็นนักสืบและศิลปินมากขึ้น พวกเขาจะนำร่องรอยทางดิจิทัลมาวาดเส้นซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะได้ภาพพฤติกรรมอันชัดเจนของเรา

    ร่องรอยทางดิจิทัลเหล่านี้จะถูกตรวจสอบและถูกกลั่นกรองเพื่อเปิดเผยความชอบส่วนตัวของเรา เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม และเพื่อการพยากรณ์ การพยากรณ์ว่าคุณอาจเลือกซื้อสินค้าชิ้นใดก็เป็นหนึ่งในนั้น ในช่วงทำงานประจำเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ให้กับบริษัทแอมะซอน ผมได้ร่วมงานกับเจฟฟ์ เบซอส เพื่อพัฒนากลยุทธ์ทางข้อมูลให้แก่บริษัทรวมถึงพัฒนาวัฒนธรรมแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เราได้ทำการทดลองอันหลากหลายเพื่อดูว่าผู้บริโภคจะพอใจอะไรมากกว่ากันระหว่างการอ่านรีวิวสินค้าที่เขียนโดยบรรณาธิการกับรีวิวสินค้าที่เขียนโดยผู้บริโภคตัวจริง เราทำการทดลองเพื่อดูว่าข้อเสนอแนะที่อิงจากโปรไฟล์ทางด้านประชากรศาสตร์แบบดั้งเดิมหรือจากการคลิกของปัจเจกบุคคลจะมีอัตราประสบความสำเร็จสูงกว่ากัน เราเห็นว่าการสื่อสารที่มาจากใจจริงมีอำนาจเหนือการโปรโมตจากเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง เครื่องมือปรับแต่งที่เราสร้างให้แอมะซอนได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้คนไปเลย และกลายมาเป็นมาตรฐานของอีคอมเมิร์ซในยุคปัจจุบัน 

                หลังลาออกจากแอมะซอน ผมได้สอนคอร์ส “การปฏิวัติข้อมูลทางโซเชียล” ให้แก่นักศึกษาหลายพันคนตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาโท ตั้งแต่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ตั้งแต่วิทยาลัยธุรกิจจีนฟูตันวิทยาลัยธุรกิจนานาชาติไชน่ายุโรปในเมืองเซี่ยงไฮ้ไปจนถึงมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง ซึ่งในขณะเดียวกันผมก็ยังคงบริหารโซเชียลดาต้าแล็บ (Social Data Lab) ซึ่งผมได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ที่นี่รวบรวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและผู้นำทางความคิดมากมายหลายคน ในการทำงานร่วมกับบริษัทอาลีบาบา เอทีแอนด์ที (AT&T) ห้างวอลมาร์ต (Walmart) บริษัทประกันสุขภาพยูไนเต็ดเฮลท์แคร์ (United Health care) สายการบินหลักๆ บริษัทการเงิน และเว็บไซต์หาคู่เดตหลายแห่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ผมได้สนับสนุนให้มีการแบ่งปันอำนาจทางข้อมูลซึ่งมีส่วนช่วยในการตัดสินใจไปสู่ลูกค้าและผู้ใช้...ซึ่งก็คือคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ...มาโดยตลอด


  •            ไม่มีใครที่จะลุยไปในข้อมูลยุคปัจจุบันเพื่อที่จะทำการตัดสินใจอย่าง “ละเอียดถี่ถ้วน” เกี่ยวกับแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของชีวิตได้เพียงลำพัง แต่ใครล่ะจะมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาและสนองความต้องการของเรา ความชื่นชอบ แนวโน้ม และการพยากรณ์ทั้งหลายที่เราสกัดออกมาจากข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้โดยองค์กรเพียงไม่กี่แห่งหรือมันจะมีไว้สำหรับเราทุกคนกันแน่และเราจะต้องจ่ายค่าตอบแทนเท่าใดในการปกปักรักษาดอกผลอันเกิดจากข้อมูลทางโซเชียลเหล่านั้น 

              ขณะที่เรากำลังจะร่วมกันเปิดเผยคุณค่าของข้อมูลทางโซเชียล ผมเชื่อว่าเราควรต้องโฟกัสไปที่การลงมือปฏิบัติด้วย ไม่ใช่โฟกัสเรื่องการเข้าถึงข้อมูลเพียงอย่างเดียว ในแต่ละวันเราได้เผชิญกับการตัดสินใจเลือกจำนวนมาก ซึ่งการตัดสินใจเลือกบางอย่างอาจปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่ข้อมูลทางโซเชียลที่เราสร้างขึ้นในทุกวันนี้กลับมีอายุการจัดเก็บที่ยาวนานมาก พฤติกรรมของเราในวันนี้อาจส่งผลต่อตัวเลือกที่เราอาจได้เผชิญในอนาคตไปไกลถึงหลายทศวรรษ น้อยคนนักที่มีความสามารถในการสังเกตรู้ถึงทุกรายละเอียดแห่งการกระทำของตนหรือมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ว่าพฤติกรรมหนึ่งๆ อาจส่งผลต่อพวกเขาอย่างไรบ้างไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว การวิเคราะห์ข้อมูลทางโซเชียลช่วยให้เราสามารถระบุความเป็นไปได้และความน่าจะเป็นต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่การเลือกในขั้นตอนสุดท้ายก็ยังต้องมาจากการตรึกตรองอยู่ดี 

             สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ทำไม่ได้คือการตัดสินใจ...แทนปัจเจกบุคคลหรือแทนสังคม...ว่าอนาคตแบบไหนที่เราต้องการกฎหมายในหลายประเทศที่มีไว้ปกป้องปัจเจกบุคคลจากการกีดกันด้านการทำงานหรือระบบประกันสุขภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอาจไม่มีอีกแล้วในวันพรุ่งนี้...ซึ่งในบางประเทศมันก็ไม่มีแต่แรกด้วยซ้ำ ลองนึกภาพหากคุณเลือกแชร์ข้อมูลในแอปเกี่ยวกับสุขภาพว่าคุณกำลังเป็นห่วงเรื่องคอเลสเตอรอลสูงหรือเลือกแชร์ข้อมูลแบบนี้ในเว็บไซต์บางเว็บเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับสูตรคุมอาหารหรือออกกำลังกายแล้วคุณคิดว่าข้อกังวลเหล่านั้นจะย้อนมาทำร้ายคุณได้ไหม ลองนึกภาพสิว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้ากฎหมายเปิดช่องให้บริษัทประกันสุขภาพคิดเงินคุณแพงขึ้นหลังจากที่พวกเขาแจกแจงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของคุณออกมาเป็นข้อๆ พร้อมทั้งเสนอตัวเลือกอาหารเฮลท์ตี้อื่นๆ ให้คุณแล้วแต่คุณยังดันทุรังกินอาหารทอดและนั่งจ่อมอยู่บนโซฟาทั้งวันอยู่ดี ถ้าเกิดมีผู้จัดการบริษัทสักคนใช้บริการสืบค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณแล้วนำข้อมูลนั้นมาฟันธงว่าไลฟ์สไตล์ของคุณไม่เหมาะกับงานในบริษัทของเขา สุดท้ายก็เลยไม่จ้างคุณล่ะ ความเสี่ยงพวกนี้มันมีอยู่จริงนะครับ 
              ถ้าคนคนเดียวที่สร้างและแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณก็คือตัวคุณคนเดียว แบบนี้ก็พอมีทางที่จะยับยั้งข้อมูลเสี่ยงๆ เอาไว้ได้ มันอาจทำให้คุณใช้ชีวิตลำบากขึ้นมาก แต่ก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกแบบนั้น เพราะคุณไม่สามารถควบคุมข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวเองได้มากนักหรอก ซึ่งมันจะยิ่งเห็นชัดขึ้นเวลาที่ข้อมูลทางโซเชียลถูกนำไปใช้โดยกลุ่มธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่างๆ

             ด้วยความที่ข้อมูลทางโซเชียลมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก คำถามจึงตกอยู่ที่พวกเราทุกคนว่าเราจะรับมือกับมันให้ดีที่สุดได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมากและบริษัทต่างๆซึ่งเป็นผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นโดยหลักแล้วอยู่ในธุรกิจของการสร้างสรรค์และจัดระเบียบข้อมูลไม่ใช่การสร้างสรรค์และจัดระเบียบหลักการ คำถามเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาพิจารณาเฉพาะเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เผลอๆ อาจจะไม่มีใครสนใจที่จะพิจารณาเลยก็ได้ และเราก็ไม่ควรยกการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักการซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่ออนาคตของเราไปอยู่ภายใต้การตัดสินใจของบริษัทข้อมูล 

          เราสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ว่าข้อมูลทั้งหมดควรถูกรวบรวม ควบรวม หล่อหลอม และวิเคราะห์เพื่อให้เราอยู่ในฐานะที่จะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น แต่วิจารณญาณของมนุษย์คือสิ่งสำคัญในการพิจารณาข้อดีข้อเสียเหล่านั้นให้ลึกถึงเนื้อแท้ ชีวิตของคนเราไม่ควรถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูล แต่ควรได้รับพลังจากข้อมูลต่างหาก 


             • หลักการสำหรับยุค “หลังความเป็นส่วนตัว”
                ขณะที่ปัจจุบันเรากำลังชื่นชมกับข้อมูลซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เคยมีความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองมาหลายครั้งแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1970
    สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปได้เสนอหลักการเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลอย่างเป็นธรรมเอาไว้กว้างๆ พวกเขาบอกว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าใครเป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนตัวของเราไป และข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง เราถึงกับมีสิทธิ์ที่จะแก้ไขข้อมูลส่วนตัวซึ่งเห็นว่าไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ แต่ความคุ้มครองเหล่านี้ถือว่าทั้งแข็งไปและอ่อนไปสำหรับโลกแห่งการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งกำลังถูกสร้างขึ้นในทุกวันนี้ 

                  มันแข็งไปตรงที่ผู้ออกกฎคิดว่าคนเราจะสามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวซึ่งถูกเก็บไปได้ครบทั้งหมด แอมะซอนอาจอธิบายได้อย่างละเอียดยิบว่าพวกเขานำข้อมูลของคุณไปใช้อย่างไรบ้าอาจสามารถอธิบายได้ชัดเสียจนช่วยให้คุณสามารถทำการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่การทบทวนข้อมูลทั้งหมดอาจต้องใช้เวลามหาศาล มีสักกี่คนกันที่จะยอมขุดคุ้ยข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้น มันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณไหมที่จะไปดูว่าแอมะซอนให้น้ำหนักข้อมูลแต่ละชิ้นอย่างไร หรือคุณจะเลือกเอาผลสรุปของข้อมูลเหล่านั้นไปเลยดีกว่า5
     


  •            ในขณะเดียวกัน ความคุ้มครองดังกล่าวก็อ่อนไปตรงที่ต่อให้คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณที่ถูกสร้างและถูกแชร์ด้วยตัวคุณเองได้ครบ คุณก็ยังไม่เห็นภาพเต็มอยู่ดี เพราะภาพเต็มของข้อมูลนั้นเกิดจากข้อมูลที่ถูกสร้างและถูกแชร์โดยบุคคลอื่น เช่น ครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงาน และนายจ้างด้วย กิจการต่างๆ ที่คุณเข้าไปเยี่ยมชมออนไลน์ล้วนสร้าง (และบางครั้งก็แชร์) ข้อมูลไม่ต่างไปจากกิจการที่คุณเดินเข้าไปเยี่ยมชมในชีวิตจริง เช่นเดียวกับคนแปลกหน้าและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่คุณไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย แล้วใครล่ะจะเป็นผู้ตัดสินว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ ด้วยความที่ข้อมูลในทุกวันนี้มาจากหลายมุมมองเหลือเกิน การมีสิทธิ์ในการแก้ไขข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณจึงยังไปไม่ไกลพอ สุดท้าย แม้แต่ข้อมูลที่ถูกต้องยังอาจเป็นโทษต่อคุณได้เลย 

             ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในด้านการสร้าง การสื่อสาร และการประมวลข้อมูล มันก็ชัดเจนว่าสิทธิ์ที่จะรู้และสิทธิ์ที่จะแก้ไขนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ความพยายามที่จะอัปเดตไกด์ไลน์เหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การรักษาความเป็นส่วนตัวเสียเกือบหมด6  โชคร้ายที่แนวทางนี้ถือกำเนิดขึ้นจากอุดมคติและประสบการณ์ซึ่งในทางเทคนิคแล้วถือว่าล้าสมัยไปสักหนึ่งศตวรรษเห็นจะได้อีกทั้งมาตรฐานการรักษาความเป็นส่วนตัวดังกล่าวยังบังคับให้บุคคลต้องทำสัญญาอันไม่เป็นธรรมกับบริษัทข้อมูลอีกด้วย เช่นถ้าคุณอยากนำข้อมูลมาใช้เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้ดีขึ้น ปกติแล้วคุณจะต้องยินยอมให้มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของคุณตามเงื่อนไขของหน่วยงานผู้เก็บข้อมูลรายนั้น เมื่อยินยอมไปแล้วก็เท่ากับบริษัทข้อมูลทำตามกฎหมาย (หมายถึงการยอมให้บุคคลสามารถ “ควบคุม” ข้อมูลของตนได้) เป็นที่เรียบร้อย โดยไม่คำนึงเลยว่าคุณมีทางเลือกจริงๆ มากน้อยแค่ไหน หรือผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของคุณจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าคุณอยากรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้ คุณอาจเลือกที่จะไม่ยินยอมให้มีการเก็บข้อมูล แต่ก็จะอดเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านั้น ซึ่งจะไปลดประโยชน์ที่คุณอาจได้รับจากข้อมูลของคุณเอง สนุกกับการควบคุมความเป็นส่วนตัวกันให้เต็มที่ 

           ทุกวันนี้สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีคือมาตรฐานที่ยอมให้เราประเมินความเสี่ยงและคุณประโยชน์ที่ได้รับจากการแชร์และควบรวมข้อมูล มาตรฐานซึ่งให้มาตรการในการทวงถามความรับผิดชอบจากบริษัทต่างๆจากการทำงานกับบริษัทข้อมูลมาสองทศวรรษ
    ผมเชื่อว่าหลักการด้านความโปร่งใส (transparency) และหลักดำเนินการ (agency) คือความหวังอันสูงสุดที่จะทำให้เรารอดพ้นจากการนำข้อมูลไปใช้ผิดๆ โดยที่ยังสามารถเพิ่มประโยชน์จากข้อมูลที่เราเก็บเกี่ยวมาใช้ได้อีกด้วย 

    ความโปร่งใส   หมายรวมถึงสิทธิ์ของบุคคลในการที่จะรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง คือรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง ไปที่ไหนบ้าง และส่งอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่ผู้ใช้จะได้รับอย่างไรบ้าง บริษัทแห่งหนึ่งกำลังแอบดูคุณอยู่จาก “ด้านลับ” ของกระจกสังเกตการณ์หรือไม่ หรือมีการเปิดช่องเอาไว้ให้คุณดูว่าบริษัทนั้นๆนำข้อมูลไปใช้อย่างไร เพื่อที่คุณจะตัดสินใจได้ว่าผลประโยชน์ของบริษัทและของคุณมันสอดคล้องกันหรือเปล่า (หรือเมื่อไหร่บ้างที่มันสอดคล้องกัน)คุณต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากแค่ไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คุณต้องการ เมื่อดูจากประวัติศาสตร์เราจะพบความไม่สมมาตรอย่างใหญ่หลวงระหว่างหน่วยงานสถาบันกับปัจเจกบุคคล โดยที่หน่วยงานสถาบันมักเป็นฝ่ายได้เปรียบ คือไม่ใช่แค่มีความสามารถในการเก็บรวบรวมมากกว่า แต่ยังสามารถนำข้อมูลของคุณไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของคนอื่นได้อีกด้วย คุณควรได้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คุณให้กับสิ่งที่คุณได้รับ 

           ลองพิจารณาเรื่องความโปร่งใสที่แอมะซอนนำมาปรับใช้เทียบกับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมดูสิ เวลาคุณจะซื้อสินค้าสักชิ้น คนขายของในร้านค้าปลีกจะทักท้วงไหมว่าคุณเคยซื้อสินค้าชิ้นนี้ไปแล้ว ซึ่งถ้าทักไปก็อาจทำให้เสียโอกาสในการขาย แต่ที่แอมะซอน ถ้าคุณจะซื้อหนังสือสักเล่มผ่านทางเว็บไซต์ แต่เคยซื้อไปแล้ว คุณจะเห็นข้อความเด้งขึ้นมาว่า “คุณแน่ใจหรือ? คุณเคยซื้อสินค้าชิ้นนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2013” ถ้าคุณเคยซื้อเพลงเพลงหนึ่งไป แล้วตัดสินใจจะซื้อทั้งอัลบั้มที่เหลือ แอมะซอนจะ “ทำการซื้อขายให้สมบูรณ์” โดยอัตโนมัติ ซึ่งก็คือการชำระเงินทั้งอัลบั้มโดยหักส่วนลดสำหรับเพลงที่ซื้อไปแล้ว แอมะซอนเวียนว่ายและใช้ประโยชน์จากข้อมูลการซื้อสินค้าในอดีตของคุณในรูปแบบนี้เพราะบริษัทต้องการลดประสบการณ์แย่ๆ ของลูกค้าให้เหลือน้อยที่สุด เช่นเดียวกันกับรายการสะสมไมล์ของสายการบิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทจะส่งข้อความมาแจ้งเตือนเมื่อไมล์สะสมของคุณใกล้หมดอายุ แทนที่จะปล่อยให้มันหายไปจากบัญชีอย่างเงียบๆ 

    โชคร้ายที่ความโปร่งใสในปัจจุบันนั้นอยู่ต่ำกว่าบรรทัดฐานไปมาก ลองพิจารณาประสบการณ์ที่เราได้พบเจอบ่อยๆเวลาโทรหาฝ่ายบริการลูกค้า แรกสุดเราจะได้รับคำเตือนโดยไม่สามารถเลี่ยงได้ว่า “บริษัทอาจบันทึกการสนทนานี้เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงการให้บริการ” คุณไม่มีทางเลือก



  • คือคุณจำต้องยอมรับเงื่อนไขของบริษัทหากจะคุยกับเจ้าหน้าที่ แต่ทำไมมีแต่ฝ่ายบริษัทเท่านั้นล่ะที่เข้าถึงบันทึกการสนทนานั้นได้ เอาจริงๆ นะคำว่า “จุดประสงค์ในการปรับปรุงการให้บริการ” นั้นหมายถึงการที่มีแค่ฝ่ายเดียวในการสนทนานั้นที่สามารถเข้าถึงเทปบันทึกเสียงได้อย่างนั้นหรือ หากยึดหลักความสมมาตรทางข้อมูลแล้ว ลูกค้าผู้จ่ายเงินให้บริษัทก็ควรจะเข้าถึงเทปบันทึกเสียงนั้นได้ด้วย 

              เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินว่าบทสนทนาของผมอาจถูกบันทึกไว้ ผมจะประกาศต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าเลยว่าผมเองก็อาจจะบันทึกการสนทนานี้เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงการให้บริการเหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่บริษัทก็เล่นตามน้ำ แต่นานๆ ครั้งก็มีบางคนที่วางสายไปเลยแน่นอนว่าถ้าผมจะอัดเสียงโดยไม่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่บริษัทคนนั้นก่อน ผมก็ทำได้...แต่ต้องแจ้งไว้ด้วยว่านี่ถือว่าผิดกฎหมายในบางรัฐ เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว หากผมไม่ได้รับบริการที่บริษัทสัญญาว่าจะมอบให้ ผมก็สามารถนำหลักฐานไปร้องเรียนต่อผู้จัดการได้ หรือถ้ายังไม่ได้ผลอีก ผมก็สามารถนำไฟล์เสียงอัปโหลดขึ้นเน็ตได้โดยหวังว่ามันจะกลายเป็นไวรัลไปกดดันบริษัทให้แก้ไขปัญหาในทันที...ดังเช่นที่คอมแคสต์ (Comcast) เคยเผชิญมาก่อนเมื่อลูกค้าคนหนึ่งพยายามยกเลิกบริการ แต่ถูกบอกปัดครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จเมื่อเสียงสนทนาที่เขาบันทึกไว้แพร่หลายในทวิตเตอร์8

          แต่คุณก็ไม่ควรไปงัดข้อกับใครด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายแบบนี้ ในการที่จะทำให้ความโปร่งใสกลายเป็นค่าตั้งต้นซึ่งควรมีมาแต่แรก ในยุคใหม่ คุณจำเป็นต้องทำให้ข้อมูลมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

          แต่ความโปร่งใสเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ คุณยังจำเป็นต้องมีหลักดำเนินการอีกด้วยหลักดำเนินการหมายรวมถึงสิทธิ์ของบุคคลในการที่จะกระทำสิ่งใดต่อข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง คุณสามารถหาคำตอบเกี่ยวกับการตั้ง “ค่าตั้งต้น” ของบริษัทข้อมูลได้ง่ายแค่ไหน และคุณได้รับอนุญาตให้ปรับแต่งมันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามหรือเปล่า คุณสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากบริษัทข้อมูลมาใช้ในทางที่คุณเลือกได้หรือเปล่า หรือคุณถูกรุน (บางครั้งก็ผลักเลย!) ให้เดินไปหาทางเลือกอะไรบางอย่าง...ซึ่งโดยมากมักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท คุณสามารถเล่นกับตัวแปรเสริมและสำรวจเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้หรือไม่ หลักดำเนินการคืออำนาจของบุคคลในการสร้างทางเลือกอันอิสระโดยอิงจากตัวเลือกที่ชื่นชอบและจากรูปแบบที่ตรวจพบโดยบริษัทข้อมูล นี่รวมถึงความสามารถในการขอให้บริษัทปล่อยข้อมูลให้คุณตามเงื่อนไขที่คุณเป็นผู้กำหนดด้วย 

            ในระดับพื้นฐาน หลักดำเนินการเป็นเรื่องของการทำให้ผู้คนมีความสามารถที่จะสร้างข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา อย่างแอมะซอนนั้นน้อมรับรีวิวสินค้าจากลูกค้าโดยไม่มีการเซ็นเซอร์แต่อย่างใด ไม่สำคัญว่ารีวิวนั้นจะดีหรือแย่ ให้ห้าดาวหรือว่าหนึ่งดาว เขียนขึ้นจากความปรารถนาที่จะเอาใจคนอื่นหรือความปรารถนาที่จะบรรลุความฝันในการเป็นนักวิจารณ์หนังสือ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ซึ่งรีวิวนั้นๆ มีต่อลูกค้ารายอื่นๆ ที่กำลังเลือกสินค้าอยู่ การรีวิวจะช่วยเปิดเผยว่าความจริงแล้วลูกค้าสักคนรู้สึกผิดหวังหรือไม่ ต่อให้เธอคนนั้นจะไม่ได้คืนสินค้าเพื่อขอเงินคืนก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ว่าสินค้าที่ถูกแนะนำสักชิ้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาหรือไม่ แอมะซอนเสนอหลักดำเนินการให้ลูกค้ามากขึ้น

           นักการตลาดหลายคนมักพูดถึงการเล็งกลุ่มเป้าหมาย การแบ่งกลุ่ม และการเปลี่ยนคนให้เป็นลูกค้า สำหรับคุณผมไม่รู้นะ แต่ผมน่ะไม่อยากจะถูกเล็ง ถูกแบ่งกลุ่ม ถูกเปลี่ยนเป็นลูกค้า หรือถูกหั่นถูกสับอะไรก็ตามแต่ นี่ไม่ใช่การแสดงออกถึงหลักดำเนินการ เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าผู้นำของบริษัททุกแห่งจะน้อมรับหลักการแห่งความโปร่งใสและหลักดำเนินการไปใช้ด้วยตัวของพวกเขาเอง อีกทั้งเรายังต้องไปให้ไกลกว่าหลักการทั้งสองข้อนี้อีก เราจำเป็นต้องมีสิทธิ์อย่างชัดเจน สิทธิ์ที่จะบ่งบอกถึงวิธีในการแปลงความโปร่งใสและหลักดำเนินการให้เป็นเครื่องมืออันจับต้องได้ 

         ถ้าเราสามารถทำให้บริษัทข้อมูลยินยอมกำหนดสิทธิและเครื่องมืออันมีความหมายอย่างแท้จริงได้ มันจะนำไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า “การพลิกเกม”...ซึ่งก็คือการกลับทิศทางของความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างบุคคลและหน่วยงานสถาบัน การที่แอมะซอนตัดสินใจปล่อยให้ลูกค้าเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดเองก็ถือเป็นการพลิกเกมอย่างหนึ่ง ซึ่งการปฏิวัติข้อมูลทางโซเชียลก็จะสร้างโอกาสแบบเดียวกันนี้ตามมาอีกมากมาย ในขณะที่บุคคลมีเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น การตลาดและลูกเล่นการขายแบบโบราณก็จะหมดอำนาจลงเรื่อยๆ วันคืนที่บริษัทเป็นฝ่ายชี้นำลูกค้าผู้สิ้นไร้ไม้ตอกว่าพวกเขาจะต้องซื้ออะไรได้ผ่านพ้นไปแล้ว อีกไม่นานคุณจะเป็นผู้บอกบริษัทเองว่าพวกเขาจะต้องผลิตอะไรให้คุณซื้อ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นแล้วจริงๆ ในบางสถานที่ 

          การพลิกเกมเป็นองค์ประกอบสำคัญในมุมมองที่นักฟิสิกส์มองโลกด้วยเช่นกัน พวกเขาคุ้นเคยดีกับขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็คือการที่ความเปลี่ยนแปลงภายนอกส่งผลต่อคุณสมบัติของสสารอย่างฉับพลัน...อย่างเช่นที่น้ำเปลี่ยนจากสถานะของเหลวเป็นก๊าซเมื่อได้รับความร้อนถึงจุดเดือด สังคมที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลมากขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับระบบที่ได้รับความร้อนเพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะบางประการ (คือเมื่อบริษัทข้อมูลต่างๆ น้อมรับหลักการแห่งความโปร่งใสและหลักดำเนินการมาใช้) การพลิกเกมก็จะเกิดขึ้นโดยเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลมากกว่าหน่วยงานสถาบัน หมายความว่ามันจะเป็นผลดีต่อคุณ ไม่ใช่ต่อบริษัทหรือหัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทนั้นๆ 






  •         พวกเราทุกคนต่างมีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิวัติข้อมูลทางโซเชียลด้วยกันทั้งนั้น และถ้าคุณอยากได้ประโยชน์จากข้อมูลทางโซเชียล คุณก็ต้องยอมแชร์ข้อมูลของคุณเองด้วย คุณค่าที่คุณได้รับมักมาในรูปของความสามารถในการตัดสินใจที่ดีขึ้น ทั้งในการเจรจาธุรกิจ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ การขอสินเชื่อ การหางาน การเข้าถึงการศึกษาและประกันสุขภาพ และการพัฒนาชุมชนของคุณเอง อย่างน้อยที่สุด ราคาที่คุณจ่ายและความเสี่ยงที่คุณเปิดรับจะต้องคุ้มค่ากับประโยชน์ที่คุณได้มา ความโปร่งใสเกี่ยวกับสิ่งที่บริษัทข้อมูลเรียนรู้และทำนั้นคือสิ่งสำคัญ เฉก-เช่นเดียวกับความสามารถของคุณที่จะควบคุมผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านข้อมูล ไม่อย่างนั้นแล้วคุณจะชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่คุณยอมเสียกับสิ่งที่คุณได้รับได้อย่างไรกัน 


            • ควบคุมสมดุลของอำนาจ 
            ข้อมูลคือจุดศูนย์กลางของอำนาจ ใครมีข้อมูลมากกว่าคนนั้นย่อมได้เปรียบ เช่นในสถานการณ์ที่คนไม่มีความรู้ไปซื้อรถจากเซลส์ขายรถมือสอง ในขณะที่การสื่อสารและการประมวลผลมีราคาที่ถูกลงและเกิดขึ้นได้ในทุกที่ มันก็มีข้อมูลเพิ่มขึ้นตามมามากมาย...พร้อมกับความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สมดุลของข้อมูล เนื่องจากไม่มีบุคคลธรรมดาคนไหนจะไปหยิบฉวยข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้

            ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเราถูกสร้างและแชร์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นบ้านเราอยู่ที่ไหน เราทำงานที่ไหน เราไปไหน เราชอบใครไม่ชอบใคร เราอยู่กับใคร เรากินอะไรมื้อกลางวัน เราออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน เรากินยาอะไร เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรในบ้านบ้าง และสิ่งใดที่จะกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ ชีวิตของเราถือว่าโปร่งใสในสายตาของบริษัทข้อมูล (ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา) บางครั้งบริษัทเหล่านี้ยังข้องเกี่ยวกับการค้าข้อมูลเถื่อนและการเก็บข้อมูลไว้ใช้แต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย เราจำเป็นต้องมีสิทธิ์มีเสียงในการแก้ไข การแลกเปลี่ยน การขาย และการกำหนดเงื่อนไขการใช้ข้อมูลเหล่านั้น ทั้งสองฝ่าย (ผู้สร้างข้อมูลและบริษัทข้อมูล) จำต้องมีความโปร่งใสและหลักดำเนินการด้วยกันทั้งคู่ 
            นี่ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากของความคิดที่เรามีเกี่ยวกับข้อมูลและเกี่ยวกับตัวเราเอง ในบทแรก ผมจะอธิบายถึงวิธีการอันหลากหลายที่บริษัทข้อมูลทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำกระบวนการกลั่นมาใช้เป็นคำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพการแปลงข้อมูลดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการ ในบทที่ 2 ผมจะหันมาพูดเรื่องบุคคลกับคุณลักษณะของพวกเขา รวมถึงประเด็นที่ว่าร่องรอยทางดิจิทัลของเรา (ทั้งการเสิร์ช การคลิกการวิว การแตะ และการปัดหน้าจอ) กำลังทำลายภาพลวงตาแห่งความเป็นส่วนตัว สร้างคอนเซปต์ใหม่ให้แก่คำว่าอัตลักษณ์ของบุคคล และบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการนำไปหาผลประโยชน์ ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ ได้อย่างไร ในบทที่ 3 ผมจะเปลี่ยนจากบุคคลไปโฟกัสที่ความเกี่ยวโยงระหว่างบุคคล รวมถึงประเด็นที่ว่าเครือข่ายสังคมกำลังเปิดเผยและดัดแปลงรูปร่างหน้าตาของความเชื่อใจในยุคดิจิทัลไป ในบทที่ 4 เราจะมาพิจารณาเรื่องที่บริบทของตัวเรากำลังถูกบันทึกด้วยความละเอียดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เซนเซอร์ทุกประเภท (ไม่ใช่แค่ในกล้องถ่ายรูปอย่างเดียว)ได้เชื่อมต่อกันหมดแล้ว และข้อมูลที่ถูกเก็บไปก็สามารถนำมาอนุมานถึงตำแหน่ง อารมณ์ และระดับความสนใจของเราได้ 

             ด้วยรากฐานนี้ ผมได้นำเสนอสิทธิ์ 6 ประการซึ่งผมรู้สึกว่าสามารถทำให้ข้อมูลจากผู้คนและโดยผู้คนนั้นกลายเป็นข้อมูลที่มีไว้เพื่อผู้คนอย่างแท้จริงได้ สองข้อแรก (ซึ่งก็คือสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลและสิทธิ์ในการตรวจสอบบริษัทข้อมูล) ส่งผลทางตรงต่อความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น สี่ข้อที่เหลือมุ่งไปยังการเพิ่มหลักดำเนินการผ่านทางสิทธิ์ในการแก้ไขเพิ่มเติม สิทธิ์ในการเบลอ สิทธิ์ในการทดลอง และสิทธิ์ในการส่งต่อข้อมูลไปยังบริษัทอื่นๆ การนำสิทธิ์เหล่านี้มาปรับใช้จะส่งผลต่อวิธีการที่เราซื้อของ จ่ายเงิน ลงทุน ทำงาน ใช้ชีวิต เรียนรู้ และบริหารทรัพยากรสาธารณะ ดังที่เราจะได้อ่านในบทสุดท้ายซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสิทธิ์ทั้งหกประการนี้ให้กลายเป็นความจริง 
            เรากำลังห้อยอยู่บนจุดเปลี่ยนที่แกว่งไกวเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนผู้สร้างข้อมูลกับองค์กรที่สร้างผลิตภัณฑ์และบริการจากข้อมูลนั้นกำลังได้รับการนิยามใหม่หมด เราไม่ได้กำลังเล่นเกมเดิมๆ ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และราคาถูกลง หากแต่กำลังเล่นเกมใหม่ในเชิงปริมาณที่มาพร้อมกฎใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การนิยามความสัมพันธ์ใหม่หมด ไม่ว่าจะระหว่างลูกค้ากับร้านค้าปลีก นักลงทุนกับธนาคาร ลูกจ้างกับนายจ้าง คนไข้กับแพทย์ นักเรียนกับอาจารย์ และพลเมืองกับรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องยืนหยัดและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการใช้งานข้อมูล เพื่อที่เราจะตระหนักถึงผลประโยชน์และสามารถตรวจสอบผลลัพธ์ได้ จากนั้นค่อยมาประเมินว่าผลประโยชน์ของเรานั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทข้อมูลหรือไม่ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เกือบทั้งหมด มันไม่ใช่เครื่องจักรที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง การปฏิวัติจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนนำเครื่องจักรนั้นมาใช้ ปรับระดับความคาดหวังให้เหมาะสม และเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมให้สอดรับกัน

                ข้อมูลจากผู้คนและโดยผู้คนสามารถเป็นข้อมูลที่มีไว้เพื่อผู้คนได้...หากเรายืนขึ้นรับควาท้าทาย ผมขอเชิญชวนพวกคุณทุกท่านมาเข้าร่วมการปฏิวัตินี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in