เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Unfinished PieceK.
ยุคที่ผู้คนเอาเวลานอนไปแลกกับงาน
  •            ปัจจุบันมีการวิเคราะห์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมจาก Nighttime Light (NTL) หรือ ดัชนีแสงสว่างในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บจากภาพถ่ายทางดาวเทียม การประเมินสังคมโดย NTL ยังเป็นการประเมินที่ไม่ได้ให้ผลแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถเป็นตัวแสดงภาพการเติบโตของสังคมคร่าวๆได้ ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ Nighttime Light ของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2001-2013 ที่นำเสนอโดย Art Martinez นักวิจัยทางสถิติของ Asia Development Bank (ADB) หรือ ธนาคารพัฒนาเอเชียในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ Martinez กล่าวว่าภาพการเปลี่ยนแปลงของจุดแสงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของสังคมเมืองที่มากขึ้น

    ภาพ NTL ของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2001-2013


    "แต่อะไรกันล่ะที่อยู่ภายใต้การเจริญเติบโตของสังคมเมือง ไม่ใช่การทำงานที่มากขึ้นของผู้คนงั้นหรือ"

    ภาพ Nighttime Light นี้กลับสร้างคำถามนี้ขึ้นในใจผู้เขียน คล้ายกับการนำภาพนี้ไปให้คนที่มีจุดยืนแตกต่างกันดูแล้วถามว่าคุณเห็นอะไร

    จิตกรอาจตอบว่า

       "สิ่งนี้คืองานศิลปะ มันคือการแต้มจุดสีขาวบนพื้นหลังสีดำ"

    นักวิทยาศาสตร์อาจตอบว่า 

       "มันคือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน ของเมือง"

    แต่หากคุณลองผ่านไปถามลูกจ้างที่ทำงานกะกลางคืนเพื่อหาเงินเขาจะตอบคุณว่า 

       "นั่นคือเวลานอนที่หายไปของผม"

    .

    ในสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้คนมีความจำเป็นต้องทำงานในจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น จนบางครั้งกลายเป็นบรรทัดฐานที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น วัฒนธรรมการทำงานหนักของคนสิงคโปร์ จากบทความ Breaking Singapore’s workaholic culture โดย Louisa Tang แสดงให้เห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ผู้คนทำงานหนักเกินเวลาปกติ จากสถิติในปี 2015 คนสิงคโปร์มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยมากเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วคือ 45.6 ชั่วโมง รองจากฮ่องกงที่ค่าอยู่ที่ 50.1 ชั่วโมง รายงานในปี 2016 โดย Manpowergroup เผยให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลหรือกลุ่มคน Gen Y มีชั่วโมงการทำงานมากถึง 48 ชั่วโมง เป็นอันดับสองเท่ากันกับจีนและเม็กซิโก อันดับหนึ่งคือ อินเดีย อยู่ที่ 52 ชั่วโมง ซึ่งแม้ทางรัฐบาลได้ออกนโยบาย 'Work-life balance' และพยายามลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ผลที่ได้กลับไม่ต่างจากเดิมมากนัก




    ผลเสียจากการทำงานจนเลยเวลานอน

    แล้วพวกเราต้องแลกอะไรไปกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำบ้าง
    • ความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคที่เกิดจากระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ, โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคอ้วน เป็นต้น
    • ภาวะอดนอน หรือ sleep deprivation
    • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า จากการที่ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอทำให้การหลั่งสารเคมีในร่างกายเกิดความผิดปกติ
    • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ ไม่ตื่นตัวในการทำงาน
    • ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากความสามารถในการตัดสินใจลดลง การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆช้าลง
    • ปัญหาทางสังคม เช่น การเกิดระยะห่างกับครอบครัวและสังคมซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เรามีความสุขลดลง


    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและกำลังเกิดขึ้นในตอนนี้เลยคือ ผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 

    วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020 สำนักข่าว LA Times เปิดเผยยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 18 คน ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง โดยจำนวนนี้ไม่ใช่แค่ผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส แต่ยังนับรวมคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและปัจจัยด้านความเครียดที่เป็นผลจากการทำงานหนักภายใต้แรงกดดันเป็นเวลานาน

    .

    การทำงานตอนกลางคืนเป็นการฝืนนาฬิกาชีวภาพหรือวงจรการทำงานปกติของร่างกาย ผู้เขียนจึงอยากให้ใครก็ตามที่กำลังตัดสินใจเรื่องการทำงานตอนกลางคืนคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา พิจารณาให้รอบคอบก่อนว่ามันคุ้มค่าจริงๆหรือไม่ที่จะเอาสุขภาพเราไปแลกกับการทำงานในเวลาที่เราควรนอนหลับพักผ่อน ในสังคมปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำสูง บางคนโชคดีที่ยังได้หยุดพิจารณาคำถามนี้ ในขณะที่บางคนไม่มีโอกาสเลือกเวลาทำงานของตนเองด้วยซ้ำ


    ดังนั้น ในสังคมที่เดินหน้าทางวัตถุอย่างรวดเร็ว มีความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ในฐานะคนคนนึง เราจะทำอะไรได้บ้างกับแสงไฟของเมืองที่ไม่ให้เราได้หยุดพักนี้



    content source
    • development.asia
    • channelnewsasia.com
    • weforum.org
    • sleepfoundation.org
    • advisory.com

    image source
    • Gauthier DELECROIX, Flickr
    • Lena Vasiljeva, Flickr
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in