เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
MOSTLY CLOUDY มีเมฆเป็นส่วนมากSALMONBOOKS
02: สูญศาสตร์
  • 1

    คุณเชื่อในการเริ่มต้นใหม่แบบที่เรียกว่า Clean Slate หรือ Fresh Start ไหมครับ?

    ในยุคก่อนที่คนยังอยู่กันเป็นหมู่บ้านขนาดย่อม หากมีชายหรือหญิงใดประพฤติมิชอบ มักถูกประณามหรือแปะป้ายให้เป็นตัวเสนียด แม่มด หรือปอบ ถ้าเจ้า ‘คนร้าย’ นี้ไม่ถูกรุมประชาทัณฑ์ด้วยการเผาทั้งเป็นหรือปาหินใส่จนเสียชีวิตก็อาจถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน อัปเปหิให้ไกลสายตา

    การถูกอัปเปหิออกไปนั้นยังถือเป็นโชคดี เพราะทันทีที่ชายหญิงที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเสนียด เป็นปอบ เป็นกาลกิณีไปเริ่มใช้ชีวิตในที่ใหม่ เคราะห์กรรมที่เคยติดตัวไว้ก็ราวกับจะถูกชะล้างออกไป ชาวบ้านในที่อยู่อาศัยใหม่คงไม่รู้ถึงประวัติแต่เก่าก่อนของเขาหรือเธอ หากถูกซักไซ้ไล่เลียงมากๆ เข้า อย่างดี เขาหรือเธออาจปั้นเรื่องขึ้นมาเพื่อเริ่มต้นอย่างสะอาดสะอ้าน Clean Slate กันไป

    นั่นคือยุคก่อนนะครับ แต่ในยุคนี้ ผมคิดว่าการเริ่มต้นอย่างขาวสะอาดนั้นทำได้ยากกว่าเดิมมาก

    หนึ่ง—เพราะเราบันทึกประวัติข้อมูลต่างๆ ทั้งของตนเองและของกันและกันไว้บนอินเทอร์เน็ต ไว้บนโครงข่ายที่สามารถเชื่อมโยง สืบเสาะได้ สอง—เพราะมีประดิษฐกรรมอย่างเสิร์ชเอนจิ้น ที่ช่วยให้การค้นหาข้อมูลที่ว่าง่ายขึ้น

    ยุคนี้ ก่อนจะรับใครเข้าทำงาน นายจ้างก็อาจไปเสิร์ชประวัติดูก่อนว่าคนที่จะจ้างนั้นเคยด่างพร้อยมาจากที่ทำงานเก่าหรือไม่ มีคดีติดตัวมาไหม หรือถ้าอยากสืบลึกลงไปกว่าผลการค้นหาธรรมดา อาจลองไปแอดเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คเพื่อดูทัศนคติว่าจะเข้ากับที่ทำงานใหม่ได้หรือเปล่าประกอบการพิจารณา (ถึงแม้นี่จะเป็นการกระทำที่อาจถูกมองว่า ‘ข้ามเส้น’ไปบ้างก็ตาม) แม้แต่คนจะเริ่มเดตกันอาจต้องไปค้นหาประวัติของอีกฝ่ายเพื่อหาข้อมูลประกอบการพิจารณาความปลอดภัยในการลงทุนลงใจไว้ก่อนด้วย

    การเริ่มต้นอย่าง Clean Slate จึงเป็นไปได้ยากเต็มที

    โอกาสครั้งที่สองอาจไขว่คว้าได้ไม่ง่ายดังในอดีต
  • 2

    ชายชาวสเปนคนหนึ่งต้องการเริ่มต้นใหม่—อย่างขาวสะอาด

    การต่อสู้เพื่อเริ่มต้นใหม่ของเขาเริ่มในปี 2009 เมื่อเขาค้นพบว่าถ้าค้นหาชื่อของตัวเองในกูเกิล สิ่งที่โผล่ขึ้นมาคือเอกสารทางกฎหมายชิ้นเก่าตั้งแต่ปี 1998 เอกสารชิ้นนี้มีความยาวเพียง 36 คำ เนื้อหาบอกว่าบ้านของเขาถูกยึดไปประมูลเพื่อนำเงินที่ได้มาจ่ายให้เจ้าหนี้ที่เขาติดค้างอยู่ในตอนนั้น—เป็นคดีในอดีตที่ผ่านมาแล้วสิบปี แต่เป็นอดีตที่ยังหลอกหลอนเขาอยู่

    ทุกครั้งที่มีคนค้นหาชื่อของเขา อดีตชิ้นนี้ก็เหมือนจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

    ด้วยความต้องการให้อดีตนี้ลบเลือนไป เขาจึงแจ้งคำร้องไปที่องค์กรป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของสเปนให้เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เอาเอกสารชิ้นนี้ ‘ออก’ จากอินเทอร์เน็ต แต่ไม่เป็นผล องค์กรฯ ปฏิเสธคำร้องของเขาด้วยเหตุผลที่ว่าเอกสารที่เขาแจ้งให้ ‘ถอดออก’ นั้น เป็นเอกสารที่ถูกต้องแม่นยำตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม องค์กรฯ รับคำร้องอีกส่วนของเขาที่ขอให้กูเกิล ‘ถอด’ ผลการค้นหาไปยังเอกสารชิ้นนี้ออก (ก็ยังดี)

    คดีเล็กๆ คดีนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เมื่อถูกใช้เป็นคดีตัวอย่างในศาลสหภาพยุโรป ว่าด้วย ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ (Right to be forgotten) 

    เดือนพฤษภาคม 2014 ศาลสหภาพยุโรปตัดสินคดีได้ผลออกมาว่าต่อจากนี้หากมีคำร้องให้กูเกิล ‘ซ่อน’ ผลการค้นหาใดๆ ที่จะมีผลเสียต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กูเกิลจะต้องทำตาม โดยมีเงื่อนไขว่าผลการค้นหานั้นจะต้องเชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บไซต์ที่ ‘ไม่แม่นยำ ขาดคุณภาพ ไม่เชื่อมโยงกับปัจจุบันแล้ว หรือให้ข้อมูลมากเกินความจำเป็น’ (where the information is inaccurate, inadequate, irrelevant or excessive)

    อย่างที่บอกครับว่าการตัดสินครั้งนี้กลายเป็นการตั้งบรรทัดฐานครั้งสำคัญ เพราะถ้านับเพียงแค่ตัวกูเกิล กูเกิลเองครองตลาดเสิร์ชเอนจิ้นในยุโรปมากถึง 90% แล้ว เท่านั้นยังไม่พอ คำตัดสินนี้อาจถูกใช้เป็นมาตรฐานที่ถูกอ้างถึงได้ในคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันทั่วโลกด้วย

    หลังจากที่ศาลมีคำตัดสินออกมา กูเกิลยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี ด้วยการเปิดแบบฟอร์มให้บุคคลทั่วไปมากรอกยื่นคำร้อง หากต้องการให้ผลการค้นหาของตนเองชิ้นไหน ‘ถูกลืม’ จากกูเกิลก็สามารถยื่นคำร้องเข้ามาได้

    เพียงเปิดรับวันแรก มีคนยื่นคำร้อง ‘ขอให้ลืม’ มากถึง 12,000 ฉบับ และภายในครึ่งปีก็ได้รับมากถึง 70,000 ฉบับ (สถิติล่าสุดเป็นของเดือนธันวาคม 2014)

    ดูเหมือนว่ามีคนอยากเริ่มต้นใหม่แบบ ‘ขาวสะอาด’ มากพอดู
  • 3 

    กรกฎาคม 2014 สื่อในอังกฤษหลายเจ้า เช่น BBC และ The Guardian ได้รับจดหมายส่งตรงจากกูเกิล 

    เนื้อความในจดหมายแจ้งว่า ต่อไปนี้ กูเกิลยุโรปจะไม่สามารถแสดงลิงก์ไปยังบางข่าวของเว็บไซต์สื่อนั้นๆ ได้อีกแล้ว โดยอ้างเหตุผลจากคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป

    ปัญหาคือข่าว ‘บางข่าว’ ที่ว่าเป็นข่าวที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ และยัง ‘เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน’ (Relevant) อยู่ชัดๆ เช่น ข่าวผู้ต้องหาถูกจับเพราะมีรูปกระทำชำเราเด็กไว้ในครอบครอง บทความวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองเกี่ยวกับการกระทำมิชอบ ข่าวกรรมการฟุตบอลโกงผลการตัดสิน ข่าวอดีตผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ Merrill Lynch ถูกปลด ไปจนถึงคอมเมนต์เสียๆ หายๆ ของพนักงานเทสโก้โลตัสที่มีต่อลูกค้าและรีวิวแง่ลบจากคนไข้ต่อนายแพทย์

    ทั้งหมดนี้เป็นข่าวหรือบทความที่ดูอย่างไร คนส่วนใหญ่น่าจะบอกว่าไม่เข้าข่ายคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป เพราะต่างก็เป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเป็นความจริงทั้งสิ้น ความกังวลจึงเกิดขึ้นเมื่อกูเกิลใช้ปฏิบัติการ ‘ลืม’ อย่างหว่านกระจายเช่นนี้ จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะกลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ของใครๆ ล้วนถูกเขียนขึ้นใหม่ได้ อดีตที่ไม่อยากให้คนอื่นจดจำ (แม้จะ ‘ฉาว’ เพียงใด) สามารถถูกลบออกได้เหมือนการลบรอยสิวในโปรแกรมโฟโต้ช็อป

    นักข่าวของ BBC ผู้เป็นเจ้าของบทความเรื่องอดีตผู้บริหารหลักทรัพย์ Merrill Lynch แสดงความไม่เข้าใจต่อท่าทีของกูเกิล โดยตั้งคำถามว่าเมื่อกูเกิลเป็นเส้นทางหลักในการค้นหาข้อมูลของประชาชน การถูกลบผลการค้นหาจากกูเกิลแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการลบบทความนั้นตรงๆ เลย ทำไมกูเกิลจึง ‘ฆ่า’ การทำข่าวชิ้นนี้ของเขาทิ้งเสียล่ะ?
  • มีผู้วิเคราะห์ว่าท่าทีแบบนี้ของกูเกิลเกิดขึ้นเพราะกูเกิลไม่พอใจคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป ตัวกูเกิลเองไม่ต้องการถูกบังคับใช้กฎหมาย ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ อยู่แล้ว เพราะเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อผลการค้นหาในเว็บไซต์ของตน แต่เมื่อคำตัดสินออกมาเช่นนี้ กูเกิลจึงต้องกระพือกระแสต่อต้านคำตัดสินให้มากที่สุด เพื่อสาธารณชนจะได้ออกมากดดันให้ศาลกลับหรือปรับคำตัดสินเสีย มีการตั้งข้อสังเกตว่าข่าวที่กูเกิล ‘ฝัง’ ล้วนสามารถสร้างความโกรธแค้นให้กับสาธารณชนได้ทั้งสิ้น และ ‘วิธี’ ในการแจ้งของกูเกิลก็แปร่งประหลาด เพราะคำตัดสินของศาลไม่ได้ระบุให้กูเกิลแจ้งไปยังสื่อใดๆ ว่าลิงก์ของสื่อนั้นจะถูก ‘ฝัง’ แต่กูเกิลกลับเลือกที่จะแจ้งในลักษณะดังกล่าว

    ทั้งนี้ก็มีผู้วิเคราะห์ว่าจริงๆ เรื่องไม่ได้มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดนั้น แต่เป็นเพียงแค่หลักง่ายๆ ว่า กูเกิลต้องรับคำร้องที่ต้องการจะถูกลืมมากถึง 70,000 ฉบับ การจะตรวจสอบว่าคำร้องใดมีหรือไม่มีเหตุผลนั้นยุ่งยากและใช้ทรัพยากรมาก ทางที่ง่ายกว่าก็คือการอนุมัติคำร้องส่วนมากไปเลย โดยใช้การตรวจสอบให้น้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของผลลัพธ์แบบนี้

    หลายคนมีสมมติฐานว่าบางบทความที่กูเกิล ‘ฝัง’ นั้นอยู่ในลักษณะของข่าว เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งไม่น่าจะเข้าหลักการถูก ‘ฝัง’ ได้ แต่ที่ถูกฝัง เหตุผลอาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะมีบางคอมเมนต์ (จากผู้ใช้) ในหน้าข่าวนั้นๆ มีลักษณะให้ร้ายบุคคลในข่าว ทำให้เว็บเพจหน้านั้นทั้งหน้าถูก 'ฝัง' ไปเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นความจริง หมายความว่าหากใครต้องการให้กูเกิล ‘ฝัง’ หน้าไหนทิ้ง ก็เพียงแค่ไปคอมเมนต์แรงๆ สาดเสียเทเสียในเว็บเพจหน้านั้น แล้วแจ้งไปที่กูเกิล กูเกิลก็จะ ‘ฝัง’ หน้านั้นโดยไม่ถามซ้ำสอง
  • 4

    ผู้บริหารของกูเกิลยุโรปออกมายอมรับว่า เรื่องสิทธิที่จะถูกลืมนี้เป็นเรื่องยาก และกูเกิลกำลังอยู่ในช่วง ‘เรียนรู้’ พรมแดนใหม่นี้เท่านั้นเอง และหลังจากที่สื่อต่างๆ ประโคมข่าวกันอย่างหนาหูหนาตาว่ากูเกิล ‘ฝัง’ ลิงก์ข่าวอย่างไม่เป็นธรรม กูเกิลก็ออกมาแก้เกมด้วยการปรับย้อนให้ผลการค้นหาดังกล่าว บางข่าวขึ้นมาเหมือนเดิม (แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ)

    กระบวนการในการพิจารณาว่าเรื่องไหนที่กูเกิลควรหรือไม่ควร ‘ฝัง’ ก็ต้องปรับปรุงเช่นกัน ปัจจุบันปัญหาหนึ่งคือ กูเกิลไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ‘ใคร’ ต้องการฝัง ‘ลิงก์ไหน’ (ที่ลิงก์นั้นๆ หายไปจากผลการค้นหานั้นเป็นคำร้องของใคร) เมื่อไม่สามารถบอกได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดในการตัดสินใจ ทำให้ทั้งกระบวนการขาดความโปร่งใส ไร้การตรวจสอบ ตามมาด้วยข้อครหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

    บทความหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า อันที่จริงแล้วปัญหาใหญ่ที่ครอบประเด็น ‘สิทธิในการถูกลืม’ ทั้งหมดนั้น เริ่มตั้งแต่การใช้คำว่า ‘สิทธิในการถูกลืม ’ แล้ว เพราะความเป็นจริง กูเกิลและใครๆ ก็ไม่ได้ ‘ลืม’ อะไรเลย เพียงแค่กูเกิลทำให้ลิงก์ดังกล่าว ‘เข้าถึงยาก’ ขึ้นเท่านั้นเอง การใช้คำว่า ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ จึงเป็นการใช้คำใหญ่ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความโรแมนติกมาครอบ เมื่อมีเมฆหมอกทางอารมณ์ปกคลุมอยู่หนาแน่นแบบนี้ทำให้เรามองเห็นอะไรได้ยาก ตีปัญหาให้ตรงจุดได้ยากขึ้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in