เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หลับตาดูหนังHappening store
เดวิด โฮล์มส์ ดีเจประกอบหนัง


  • คุณเคยดูหนังที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในงานค็อกเทลปาร์ตี้หรูๆ มีสไตล์ คลาสสิกบวกไฮโซ แต่ยังโมเดิร์นล้ำสมัยบ้างไหม?

    ลองนึกถึงหนังที่มีเพลงประกอบภาพหลากหลาย ตั้งแต่ดนตรีสไตล์โชว์ฟู่ฟ่าใน ลาส เวกัส อย่างเพลงของ เพอร์รี โคโม, เพอร์ซี เฟธ และ เอลวิส เพรสลีย์ ไปจนถึงดนตรีฮิปฮอปเท่ๆ และเพลงแจ๊ซฟังก์ฟังสบาย มีตั้งแต่เพลงที่ให้บรรยากาศชิลล์ๆ ไปจนถึงชวนให้เรากระดิกเท้าตาม...ให้อารมณ์เหมือนเรากำลังอยู่ในงานรื่นเริงกับหมู่เพื่อนฝูงที่มีฐานะดีแต่งตัวกิ๊บเก๋

    แล้วหนังเรื่องที่ว่าน่ะ มันเรื่องอะไรเหรอ? 

    …ไม่ต้องคิดไกล ลองนึกถึงภาพยนตร์โจรกรรมสนุกๆ เท่ๆ และสุดจะป๊อปอย่าง Out of Sight (1998) หรือหนังไตรภาคที่ป๊อปยิ่งกว่าอย่าง Ocean's Eleven (2001), Ocean's Twelve (2004), Ocean's Thirteen (2007) ดูก็แล้วกัน 

    เพลงประกอบหลายหลากแนวแต่มีสไตล์ในหนังค็อกเทลปาร์ตี้จากหนังเหล่านี้ มาจากการคัดสรรจัดวางของดีเจหนุ่มที่ชื่อ เดวิด โฮล์มส์

    เดวิด โฮล์มส์ (David Holmes) เกิดในวันแห่งความรักของปี 1969 เขาเป็นชาวเมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ และเป็นลูกคนสุดท้องของพี่น้อง 10 คน 

    เด็กชายเดวิดฟังเพลงพังก์ร็อกตั้งแต่วัยประถม พออายุ 15 ปีก็ริรับงานดีเจในคลับยามค่ำคืน

    ประสบการณ์ดีเจภาคค่ำที่เขาตระเวนทำไปทั่วเมืองเบลฟาสต์นี่แหละ ที่ถีบบานประตูของดนตรีแนวต่างๆ ให้เปิดกว้างแก่ดีเจวัยรุ่นคนนี้อย่างมากมาย เขาฟังเพลงแนวต่างๆ ทั้งโซล, อาร์แอนด์บี, ลาติน, ร็อก, สกอร์เพลงประกอบภาพยนตร์ และดนตรีเต้นรำทุกแขนงอย่างบ้าคลั่ง นอกจากงานกลางคืนจะทำให้เขากลายเป็นคนติดบุหรี่ขั้นหนัก มันยังเปิดโอกาสให้เขาริเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตและยังลองหัดทำนิตยสารดนตรีแบบเฉพาะกลุ่มอีกด้วย

    ประสบการณ์ทั้งหมด ทำให้ เดวิด กลายเป็นคนที่มีเซนส์และรสนิยมทางดนตรีดีเยี่ยม ชนิดที่โปรดิวเซอร์มืออาชีพหลายคนยังไม่อาจเทียบเท่า

    แม้ว่าสิ่งที่เขาเกี่ยวข้องกับโลกดนตรีคือการฟังเพลง เปิดเพลง แนะนำเพลง ...โดยไม่ได้เกี่ยวกับการลงมือเล่นดนตรีด้วยตัวเองสักเท่าไหร่เลย!
  • เมื่อประสบการณ์เพิ่มพูนและคอนเน็กชันยืดยาวออกไป ส่งผลให้เดวิดเริ่มได้งานเปิดแผ่นที่อังกฤษด้วย เขาไปๆ มาๆ ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์อยู่พักใหญ่ ก่อนจะได้รู้จักกับดีเจอีกคนที่ชื่อ แอชลีย์ บีเดิล แล้วร่วมกันทำงานในสตูดิโอโดยโปรดิวซ์เพลงชื่อ DeNiro ในนาม Disco Evangelists และมันก็กลายเป็นเพลงดังตามแดนซ์ฟลอร์อยู่ช่วงหนึ่ง

    นั่นคือจุดเริ่มต้นที่น่าประทับใจสำหรับการทำงานเพลงของ เดวิด โฮล์มส์ จนทำให้เขาเริ่มทยอยผลิตเพลงแดนซ์และเพลงรีมิกซ์ออกมาอีก

    ปี 1995 เดวิดอายุ 26 ปี เขามีอัลบั้มแรกของตัวเองออกวางขาย มันมีชื่อกวนๆ ว่า This Film’s Crap, Let’s Slash the Seats นอกจากงานนี้จะโชว์คอนเน็กชันในแวดวงดนตรีได้ไม่น้อย เพราะเดวิดได้แขกรับเชิญอย่าง ซาร่า แครกเนล นักร้องนำของวง Saint Etienne มาช่วยร้อง และได้มือกีตาร์แนวโปรเกรสซีฟระดับตำนาน สตีฟ ฮิลเลจ มาช่วยเล่น แต่สิ่งที่น่าทึ่งมากๆ ก็คือคอนเซปต์ของงานนี้
     
    เดวิดบอกว่า มันเป็นอัลบั้มซาวนด์แทร็กความยาวชั่วโมงกว่าๆ สำหรับ ‘หนังที่ยังไม่ได้สร้าง’ 

    นอกจากเพลง No Man’s Land ที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อสนองความรู้สึกประทับใจที่เขามีต่อหนังที่ว่าด้วยความวุ่นวายทางการเมืองและความสัมพันธ์ในครอบครัวของชาวไอร์แลนด์เหนือจากฝีมือการกำกับของ จิม เชอริเดน เรื่อง In the Name of the Father (1993) แล้ว ดูเหมือนว่าเพลงอื่นๆ ก็เป็นเพลงบรรเลงและสุ้มซาวนด์นานาชนิดที่เหมือนใช้ประกอบบรรยากาศแบบต่างๆ บางแทร็กก็ยาวเหยียดจนพร้อมจะเอาไปรองรับเรื่องเล่าอะไรบางอย่างได้เป็นอย่างดี 

    แล้วในที่สุดมันก็ถูกนำไปใช้ในหนังหลายๆ เรื่องจริงๆ เสียด้วยสิ!

    เริ่มจากภาพยนตร์ซีรีส์ทางโทรทัศน์ชุด Supply & Demand (1998) ของผู้กำกับหญิง ลินดา เลอ เพลนเต้ คว้าหลายๆ แทร็กในอัลบั้มนี้ไปใช้ ส่วนหนังฟอร์มใหญ่ The Game (1997) ก็คว้าอีกแทร็กไปใช้ในหนังที่มีดารานำอย่าง ไมเคิล ดักลาส และ ฌอน เพนน์ แถมยังตามมาด้วย Meet Joe Black (1998) ที่มีดารานำอย่าง แบรต พิตต์ เสียด้วย

    หนังเรื่องแรกที่ เดวิด ได้ทำเพลงประกอบให้จริงๆ (โดยตั้งใจ) ก็คือภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ มาร์ก อีแวนส์ เรื่อง Resurrection Man (1998) 

    ถึงมันไม่ใช่หนังที่มีใครจำได้สักเท่าไหร่ แต่การไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กเพื่อทำซาวนด์แทร็กให้หนังเรื่องนี้ก็เอาอะไรมาเพิ่มเติมให้กับชีวิตเดวิดไม่น้อย

    อย่างหนึ่งก็คืออัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 2 ที่ชื่อ Let’s Get Killed ที่เขาตระเวนอัดเสียงต่างๆ ของมหานครนิวยอร์ก ทั้งเสียงบรรยากาศ เสียงบทสนทนาของผู้คนแล้วเอามายำรวมกับดนตรีหลากชนิดทั้ง เทคโน, ดรัมแอนด์เบส, ลาติน, บลูส์ และ แจ๊ซ กลายเป็นอัลบั้มที่ฟัง ‘คล้าย’ ซาวนด์แทร็กของอะไรสักอย่างอีกครั้ง แต่คราวนี้สื่อหลายแห่งยกให้มันเป็นงานชิ้นเยี่ยม นิตยสารดนตรีหลายเล่มก็พร้อมใจกันยกให้ Let’s Get Killed เป็นอัลบั้มดีเด่นประจำเดือน

    ตอนนี้แหละที่ใครๆ ในอเมริกาเริ่มหันมาสนใจ เดวิด โฮล์มส์
  • ลองมาวิเคราะห์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Out of Sight (1998) ดูสักนิดไหม?

    หนังเรื่องนั้นของ สตีเวน โชเดอร์เบิร์ก เป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุกไม่เบา สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผู้ชมจนหลายคนยกให้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Out of Sight ก็คือดนตรีนี่แหละ ดนตรีในหนังเรื่องนี้มีคลาสและเท่เหลือใจ ตั้งแต่สแตนดาร์ดป๊อปอย่างเพลงของ ดีน มาร์ติน, ดนตรีโซลของ The Isley Brothers, ดนตรีลาตินสมัยใหม่ ไปจนถึงสกอร์ดนตรีฟังก์, แจ๊ซ, เทคโนบางๆ และชิลล์เอาต์เท่ๆ ที่มาจากฝีมือการประพันธ์ของเดวิดเอง ซึ่งบางแทร็กก็ผสมผสานดนตรีหลายๆ แนวเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนได้ในความแตกต่างหลากหลาย

    Out of Sight จึงเป็นหนังที่มีดนตรีโดดเด่นเหลือหลายและมีการจัดเรียงลำดับอารมณ์อย่างดี และมันก็คล้ายๆ กับเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันระหว่าง สตีเวน โชเดอร์เบิร์ก กับ เดวิด โฮล์มส์ อ้อ...แล้วก็ จอร์จ คลูนีย์ ด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการทำหนังไตรภาคที่ขึ้นต้นว่า Ocean’s ทั้ง 3 เรื่องนั่นเอง

    ความโดดเด่นของดนตรีในหนังเรื่องนี้ทำให้ปีนั้นนิตยสาร Entertainment Weekly เลือกให้ เดวิด เป็นหนึ่งใน Top 100 Creative People in Entertainment. และทำให้ เดวิด ได้ทำงานรีมิกซ์เพลงให้กับศิลปินดังๆ อีกเพียบในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างรายชื่อให้พอตื่นเต้นเล่นๆ ก็ได้แก่ ศิลปินสายร็อกหลากหลายแนวทาง อย่าง U2, The Manic Street Preachers, Primal Scream, Plant & Page ไปจนกระทั่งศิลปินฮิปฮอปอย่าง Ice Cube

    สำหรับคนที่อยากลองติดตามอัลบั้มซาวนด์แทร็กจากฝีมือการเล่นและการเลือกของ เดวิด โฮล์ม ขอให้ข้อมูลน่ารักอีกหน่อยว่า มีกิมมิกเล็กๆ ที่เป็นเหมือนลายเซ็นของ เดวิด โฮล์มส์ อยู่ นั่นก็คือในอัลบั้มซาวนด์แทร็กของหนังที่เขาดูแลเรื่องดนตรีประกอบให้ มักจะมีการดึงเอาบทสนทนาในหนังเรื่องนั้นๆ มาแทรกระหว่างแต่ละแทร็กอยู่เสมอ ทั้งอัลบั้มเพลงประกอบจาก Out of Sight และไตรภาค Ocean’s ล้วนมีการใช้ลูกเล่นนี้ ซึ่งฟังแล้วก็นึกถึงวิธีคิดแบบการใช้เสียงพูดปะปนกับดนตรีในอัลบั้ม Let’s Get Killed ที่สร้างชื่อให้เขาอยู่เหมือนกัน
  • เล่าเรื่องของดีเจคนนี้มายาวเหยียดแล้ว เรายังไม่ได้ใช้คำว่า ‘คอมโพสเซอร์’ กับ เดวิด โฮล์มส์ เลยใช่ไหม?

    จริงๆ แล้วจากพื้นฐานที่เป็นดีเจหลากหลายแนวดนตรี จนเริ่มมาทำงานในสตูดิโอ กลายเป็นรีมิกเซอร์ และเป็นคนทำดนตรีประกอบหนังในที่สุด เราเรียกเขาว่า ‘คอมโพสเซอร์’ ได้เต็มปากเต็มคำเลยล่ะ 

    แต่ลองมาฟังเขาให้คำจำกัดความตัวเองกันสักหน่อย

    “ผมเป็นนักแต่งเพลงประเภทที่ใช้แต่หัวนะ การทำงานของผมคือการใช้เวลาทั้งวันอยู่ในบ้าน ฟังเพลงโน้นเพลงนี้ ทำดนตรีนิดๆ หน่อยๆ เลือกเสียงเบส เลือกเสียงเปียโน แล้วก็จัดวางไอ้โน่นไอ้นี่ลงไป ผมอาจจะเป็นคนประเภทที่ไม่เล่นดนตรีด้วยตัวเอง แต่มีไอเดียอยู่เยอะไปหมดน่ะ” เดวิด โฮล์มส์เคยพูดถึงตัวเองไว้อย่างนี้

    เล่นดนตรีไม่ค่อยเก่ง แต่มีไอเดีย ก็สามารถเอาดีในโลกดนตรีได้

    เพราะ ‘ไอเดีย’ นี่เอง ที่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ศิลปินชั้นเยี่ยมควรจะมี ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดนตรี เป็นดีเจประจำงานปาร์ตี้ หรือเป็นดีเจที่ทำหน้าที่คัดสรรดนตรีสำหรับภาพยนตร์ก็ตาม!

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in