เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กสมัยนี้โตไวเนอะKyokung Worawut K
การศึกษา (New beginning 7)
  • ถามว่าทำไมมีแต่วิชาที่ฉันอยากให้ปรับลด วิชาที่อยากให้ปรับเพิ่มในทรรศนะของฉันนั้นมีไหม บอกได้เลยว่า ไม่! เพราะวิชาอีกมากมายที่เราไม่ได้เรียนมันมีอยู่จริงตามหลักสูตรกระทรวงศึกษานะเพียงแต่มันเป็นวิชาเลือก โรงเรียนต่างๆ ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ หลายโรงเรียนไม่จัดการเรียนการสอน เพราะไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ (แน่ล่ะ ก็เล่นเปิดรับแต่คนมีประสบการณ์ มีใบประกอบวิชาชีพ มีเส้นสาย มีระบบราชการที่ซับซ้อนยุ่งยาก แล้วมันจะมีสักกี่คนที่ถูกใจคุณ) อย่างในระดับมัธยมต้นมีทั้งวิชาโยธวาทิต อาหารอบ อาหารพื้นเมือง นาฏศิลป์พื้นเมือง นาฏยประดิษฐ์ การออกแบบลวดลาย การออกแบบโฆษณา การขายปลีก การผลิตกล้าไม้ หรือในระดับมัธยมปลายและปวช. ก็มีทั้งวิชาจิตรกรรม อาหารชาววัง อาหารภูมิปัญญาไทย งานมัดย้อม งานกระดาษสา การปลูกกล้วยไม้ งานประชาสัมพันธ์ งานบริการท่องเที่ยว การโรงแรม ตลาดการเงิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คอมพิวเตอร์เอนิเมชัน การออกแบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การประกอบและติดตั้งคอมพิวเตอร์ โปรแกรมประยุกต์เชิงมัลติมีเดีย ฯลฯ (เฮ้ย! วิชาการแสดงไปไหนวะ หรือมีแต่ในวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือเห็นว่าเรียนการแสดงมันไม่สำคัญ จบมาแล้วปลูกข้าวไม่ได้?)


    ทั้งหมดเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว โลกแห่งการเรียนรู้ไม่ว่าศาสตร์หรือศิลป์แขนงใด ถ้าหยุดนิ่งก็เท่ากับเป็นสิ่งที่ตายแล้ว ดังนั้น เราควรหมั่นปรับตัวให้ทันโลก อย่าคิดแต่จะเพิ่มหลักสูตรหรือวิทยาเขต ควรเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพบ้าง ไม่ใช่ว่าเปิดรับสมัครงานทีก็กำหนดอายุและประสบการณ์เสียมากมาย คนที่จบใหม่ ไม่เคยทำงานสายนั้นๆ มาก่อน หรือคนจบนานแล้ว มีอายุงาน แต่อยากเปลี่ยนสายงานจะทำอย่างไร แค่เรื่องเส้นสายก็สู้กันแทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว


    วิชาที่น่าจะมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันน่าจะเป็นภูมิศาสตร์ เพื่อนรุ่นก่อนของฉันอย่างคุณฮิมิโตะ ณ เกียวโต (ซึ่งเขาเป็นเพื่อนเราเพราะเรามีหนังสือของเขาเป็นเพื่อน แต่เราไม่ใช่เพื่อนเขาเพราะเราไม่เคยมีผลงานให้เขาได้อ่านสักชิ้น) ได้แชร์เรื่องการเรียนวิชานี้ของเด็กประถมปลายในญี่ปุ่นไว้ในหนังสือ "จดหมายจากสันคะยอม" ของเธอไว้ว่า ครูจะสั่งให้นักเรียนออกเดินทางเป็นกลุ่ม ๆ สามสี่คนพร้อมคู่มือนำเที่ยวเมืองเกียวโตเล่มเล็กที่มีแผนที่เมือง เส้นทางรถไฟ และรถเมล์อยู่ในนั้น ซึ่งต่างจากไทยมาก ไทยเราไม่มีอะไรที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบนี้เลย ไม่มีรถเมล์ที่มาตรงเวลา แค่จะจอดให้ตรงป้ายยังยากเลย บางคันก็ไปไม่สุดสาย เพราะเป็นรถเสริม ถ้าจะให้แก้ที่การวางผังเมืองก็ยิ่งยากไปใหญ่ อย่าว่าแต่รถไฟความเร็วสูงเลย จะสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินแต่ละที คนก็ออกมาโวยกันจะแย่ เพราะฉะนั้น ถ้าไปไหนไม่ถูก หรือโดนใครจับไปปล่อยที่ไหน ก็ตายคาที่อยู่ตรงนั้นไปนะจ๊ะหนู ๆ


    การเปรียบเทียบการศึกษาไทยในปัจจุบันกับชาติอื่นยุคสมัยอื่น มันทำให้ฉันเห็นว่า ประเทศไทยสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาได้จริงๆ และคงต้องเรียกตัวเองอย่างนี้ไปอีกนาน เพราะปัจจุบันในโรงเรียนไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องทรงผมอันล้าหลัง แม้จะมีกฎกระทรวงฯ มารองรับ และเริ่มมีการผ่อนผันในบางโรงเรียน แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ดี เด็กไทยต้องพูดถึงปัญหานี้ไปอีกนานเท่าไรกันนะ?


    ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเพลิดเพลินได้ที่บทความเรื่อง “ปริญญาบัตร วัดการศึกษาได้จริงหรือ?” และ “ข้อสอบ O-NET วัดสติปัญญาของผู้สอบหรือผู้ออกข้อสอบ” ในหนังสือ “คิดเล่นเห็นต่าง” โดย คำ ผกา และ อรรถ บุนนาค สำนักพิมพ์มติชน หรือซื้อมือสองได้ที่นี่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in