เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Board | Game | Universe จักรวาลกระดานเดียวSALMONBOOKS
02: ความเจ๋งและประเภทของบอร์ดเกม


  • ความ ‘เจ๋ง’ ส่วนหนึ่งของบอร์ดเกมสมัยใหม่อยู่ที่นักออกแบบ ‘กำจัด’ ข้อจำกัดใหญ่ของ เกมเศรษฐี ได้สำเร็จ

    ข้อจำกัดที่ว่านี้คือ การอาศัยโชคเป็นหลัก

    ใครโชคร้ายทอยลูกเต๋าออกมาไม่ดีก็มีโอกาสชนะเกมน้อยมาก ใครโชคดีเวลาทอยลูกเต๋าก็ชนะได้ไม่ยาก แถมวิธีชนะในเกมก็ไม่ได้มีหลายวิธี ‘กลยุทธ์’ เดียวที่ใช้ได้คือ ซื้อที่ดิน บ้าน และโรงแรมเท่าที่เรามีเงินซื้อในทุกที่ที่เราเดินไปตก เสร็จแล้วก็ร้องเพลงรอเก็บค่าเช่าจากผู้โชคร้ายที่บังเอิญเดินมาตกในที่ของเรา

    ใครชนะเกมนี้อย่างมากก็รู้สึกดีใจที่โชคดี (หรือสะใจที่คนอื่นแพ้) แต่ไม่รู้สึกภูมิใจอะไรมากมาย เกมเศรษฐี ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทำให้มัน ‘ไม่สนุก’ สำหรับคนที่ชอบความท้าทาย อยากวางแผนมากกว่ารอให้ฟ้าดินเข้าข้าง

    ยกตัวอย่าง อยู่ดีๆ ถ้าใครจับได้ไพ่ ‘ไปคุก’ กับ ‘ล้มละลาย’ คนคนนั้นก็ต้องไปเข้าคุกหรือล้มละลายทันทีทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด (ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเกลียดไพ่ ‘ล้มละลาย’ มาก เพราะคิดว่าไม่ยุติธรรม ทำไมคนที่สร้างโรงแรมได้เยอะแยะ เงินทองกำลังไหลมาเทมา อยู่ดีๆ ถึงจะล้มละลายได้ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงฉีกไพ่ใบนี้ลงถังขยะ หลังจากที่เล่นเกมนี้ไปไม่กี่รอบ)

    ข้อจำกัดเหล่านี้อาจไม่เคยเป็นข้อจำกัดในสายตาของคนที่ไม่เคยเล่นเกมอื่นนอกเหนือจากเกมเศรษฐี จึงไม่รู้ว่าบอร์ดเกมทำอะไรได้มากกว่าการให้เราทอยลูกเต๋าแล้วเลือกตัดสินใจแค่ไม่กี่อย่างว่าจะทำอะไร

    บอร์ดเกมสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนักเล่นเกมว่า ‘สนุก’ และ ‘เจ๋ง’ มีมากมายหลายแบบ แต่ผู้เขียนสังเกตว่ามีลักษณะร่วมกันหลักๆ ดังต่อไปนี้
  • 1. ไม่กำจัดผู้เล่นก่อนเกมจบ

    ลักษณะหนึ่งของบอร์ดเกมสมัยเก่าคือ เป็นไปได้ที่ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะเล่นเก่งมากๆ (หรือที่เป็นไปได้มากกว่าคือ โชคดีกว่าคนอื่นมาก) ทำคะแนนนำคนอื่นจนไม่มีทางที่ใครจะตามทัน

    ยกตัวอย่าง เกมเศรษฐี ถ้าใครได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ในเกม คนคนนั้นก็น่าจะชนะแบบไม่ต้องลุ้น ทำให้คนอื่นอาจเบื่อที่จะต้องทนเล่นจนจบเกม เพราะเล่นอย่างไรก็แซงหน้าไม่ได้ เท่ากับว่าผู้เล่นหลายคนถูก ‘กำจัด’ (แพ้แน่ๆ) นานหลายตาก่อนเกมจบ

    นักออกแบบเกมสมัยใหม่มองว่า การกำจัดผู้เล่นก่อนเกมจบเป็น ‘บาป’ ประการหนึ่งซึ่งไม่ควรทำ เพราะการเล่นบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมกลุ่มของคนหลายคน ถ้ามีใครถูกทิ้งห่างมากและไม่มีทางพลิกสถานการณ์ได้ คนคนนั้นหรือหลายคนนั้นก็จะเบื่อไม่อยากเล่น สุดท้ายคนที่มีคะแนนนำก็จะสนุกอยู่คนเดียว ช่วงท้ายๆ ของเกมจึงอาจเปลี่ยนจาก ‘กิจกรรมกลุ่ม’ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างสนุกสนาน กลายเป็น ‘กิจกรรมข้ามาคนเดียว’ ที่คนอื่นนั่งดูด้วยความเซ็ง

    บอร์ดเกมสมัยใหม่หลายเกมขจัดปัญหานี้ด้วยการออกแบบให้ผู้เล่นมีวิธีได้คะแนนหลายวิธี ซึ่งคะแนนส่วนหนึ่งต้องรอลุ้นผลในตอนจบ เช่น คะแนนครึ่งหนึ่งในบอร์ดเกมเกี่ยวกับโจรสลัด Merchants & Marauders มาจากสมบัติที่ผู้เล่น (โจรสลัด) แต่ละคนใส่เข้าหีบระหว่างผจญภัย ไม่มีใครรู้แน่ว่าแต่ละคนสะสมสมบัติได้เท่าไร จนกระทั่งทุกคนเปิดหีบออกมานับหลังจากจบเกมแล้วเท่านั้น

    ผู้ชนะจึงอาจไม่ใช่คนที่มีคะแนนนำมาตลอดก็ได้

    บอร์ดเกมที่ได้รับความนิยมจึงมักจะเป็นบอร์ดเกมที่ให้ทุกคนรู้สึกว่า ‘มีลุ้น’ ก่อนเกมจบ และมีวิธีพลิกสถานการณ์ได้หลายวิธี

    เมื่อมีลุ้น ทุกคนก็จะรู้สึกสนุกไปตลอดเกม และไม่มีใครถูกเพื่อนทิ้งห่างไว้ข้างหลัง

  • 2. ได้ฝึกสมองและประลองทักษะกันจริงๆ

    บอร์ดเกมสมัยใหม่มีมากมายหลายชนิดและรูปแบบ เกมที่ออกแบบสำหรับครอบครัวก็จะทำมาให้ ‘เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นดี’ มักจะมีความบังเอิญหรือ ‘ดวง’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะเด็กๆ ไม่สามารถวางแผนได้อย่างแยบยล (และเต็มไปด้วยเล่ห์กลเท่ากับผู้ใหญ่ การใช้ดวง (ส่วนใหญ่ด้วยการทอยลูกเต๋าหรือจั่วไพ่) จึงเป็นกลไกที่ทำให้เด็กมี ‘แต้มต่อ’ พอที่จะแข่งกับผู้ใหญ่ได้

    นอกจากนี้ การใช้ดวงเป็นส่วนสำคัญยังทำให้อธิบายกติกาง่าย และใช้เวลาไม่นาน มันจึงถูกใช้เป็นกลไกหลักของเกมขนาดสั้นด้วย

    (ทุกวันนี้มีกระแสฮิตกระแสหนึ่งในธุรกิจบอร์ดเกม คือการนำเกมแนววางแผนหนักๆ ที่ปกติต้องใช้เวลาเล่น 2-3 ชั่วโมงมา ‘ย่อย’ เป็น ‘ฉบับลูกเต๋า’ หรือ ‘ฉบับไพ่’ ขนาดกะทัดรัด สำหรับแฟนเกมที่อยากค่อยๆ แนะนำผู้เล่นหน้าใหม่ให้รู้จักเกมที่ตัวเองชื่นชอบ หรือพกเกมไปเล่นระหว่างเที่ยวพักผ่อน ตัวอย่างเกมแนวนี้ เช่น Nations ย่อยเป็น Nations: The Dice Game, เกม Through the Ages ย่อยเป็น Roll Through the Ages, เกม Dominant Species ย่อยเป็น Dominant Species: The Card Game เป็นต้น)

    ส่วนเกมที่เน้นให้ผู้ใหญ่เล่นมักจะถูกออกแบบมาอย่างรัดกุม เปิดโอกาสให้ใช้ทักษะการวางแผนมากกว่าดวงหรือรอลูกฟลุก

    ยกตัวอย่างเช่น Power Grid ซึ่งให้เราแข่งกันบริหารโรงไฟฟ้า เราจะได้เงินในเกม (ใช้ซื้อหรืออัพเกรดโรงไฟฟ้าใหม่ๆ) ก็ต่อเมื่อเราสามารถส่งไฟฟ้าขายเมืองต่างๆ ได้ เราจึงต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบ ตั้งแต่คิดว่าจะประมูลซื้อโรงไฟฟ้าโรงไหน ใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนระหว่างถ่านหิน น้ำมัน
    นิวเคลียร์ ขยะ (ชีวมวล) หรือพลังงานลม (ถ่านหินถูกที่สุด แต่มีทรัพยากรน้อยลงเรื่อยๆ) จะซื้อเชื้อเพลิงกี่ชนิดในปริมาณเท่าไร (เผื่อตาหน้าราคามันจะแพงขึ้นเพราะมีทรัพยากรน้อยลงหรือกั๊กเชื้อเพลิงแกล้งคู่แข่งเล่นๆ) และจะส่งไฟฟ้าให้กับเมืองไหนบ้าง

    เพราะเหตุนี้คนเล่น Power Grid จึงต้องวางแผนมากกว่าคนเล่น เกมเศรษฐี หลายเท่า

    คนเล่น เกมเศรษฐี ได้เงินจากความโชคร้ายของคนอื่น แต่กว่านักอุตสาหรรมใน Power Grid จะได้เงินแต่ละที ต้องคิดกลยุทธ์เลือดตาแทบกระเด็น คนชนะจึงไม่ได้มาด้วยดวงแน่ๆ
  • 3. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น

    ในโลกที่เกมคอมพิวเตอร์กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก เด็กตัวเล็กๆ หลายคนกดคีย์บอร์ดเปน็ กอ่ นจะพูดได้เป็นประโยค เสน่ห์ของบอร์ดเกมสมัยใหม่ที่พอจะสู้เกมคอมพิวเตอร์ได้คือ การได้หยอกล้อ กลั่นแกล้ง แข่งขัน หรือร่วมมือกันซึ่งหน้า

    ถ้าเราอยากรู้ว่าเพื่อนเป็นคนอย่างไร การเล่นบอร์ดเกมก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีพอสมควร เพราะบอร์ดเกมสมัยใหม่ที่เจ๋งจริงนั้นถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจริงๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาเล่นโดยไม่ต้องสนใจคนอื่น เงยหน้าขึ้นมาทีเดียวแค่ตอนจบเกม

    4. มี ‘หน้าเค้ก’ ล่อตาล่อใจ และกลไกการ ‘สอน’ ที่แนบเนียน

    บอร์ดเกมยอดนิยมหลายเกมมี ‘หน้าเค้ก’ เป็นสีสันที่ชวนดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่อย่างไม่ยากเย็น เช่น ออกแบบชิ้นส่วนและกระดานมาอย่างสวยงามน่าเล่น เปรียบได้กับปกหนังสือที่ดูสวยงามน่าหยิบ

    หลายเกมไม่ได้เป็นแค่เกมนามธรรมเหมือนกับหมากรุกหรือหมากล้อม แต่มี ‘ธีม’ น่าสนใจที่สอดรับกับกลไกการเล่นทำให้บอร์ดเกมถูกนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้อย่างดีเยี่ยม

    ยกตัวอย่างเช่น เกม London ให้เราแข่งกันฟื้นฟูลอนดอนหลังถูกไฟไหม้ใหญ่ โดยตัวเกมอ้างอิงจากช่วงปี 1666 จนถึงปี 1900 ขณะที่เราสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ เราจึงต้องรับมือกับความยากจนที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนั้นด้วย (ยิ่งจนยิ่งทำให้คะแนนติดลบ) เหมือนกับประวัติศาสตร์ของลอนดอนจริงๆ

    ความสนุกอีกอย่างของบอร์ดเกมสมัยใหม่คือ มีให้เลือกลองเล่นและหลงใหลมากมายหลายประเภท ตอบโจทย์คนเล่นได้ทุกรสนิยม ไม่แพ้ภาพยนตร์ หนังสือ หรือสื่อสาระบันเทิงชนิดอื่น 

    บางคนอาจสงสัยว่าคนนิยมเล่นบอร์ดเกมจะมี ‘รสนิยม’ แตกต่างกันได้ขนาดไหน แค่เล่นแล้วรู้สึก ‘สนุก’ ก็พอแล้วมิใช่หรือ

    ความสนุกที่จริงนั้นมีหลายแบบหลายแนว บางคนสนุกเวลาได้แกล้งเพื่อน (และเพื่อนไม่ถือสา) บางคนสนุกกับการลุ้นว่าโชคชะตาจะเข้าข้างหรือไม่ และบางคนก็สนุกกับการได้ลุ้นว่ากลยุทธ์ที่วางไว้ตอนต้นเกมจะผลิดอกออกผลหรือเปล่า (โดยไม่ถูกโชคชะตาหรือกลยุทธ์ ‘เกรียน’ ของคนอื่นตีรวน)
  • ปัจจุบันถ้าไม่นับเกมที่ถูกออกแบบมาให้เด็กเล่นโดยเฉพาะบอร์ดเกมสามารถแยกออกได้เป็น 3 ประเภทกว้างๆ

    1. เกมครอบครัว (Family Game)

    เกมที่มีกฎกติกาไม่ซับซ้อน อธิบายให้คนที่ไม่เคยเล่นเข้าใจได้ภายใน 5-10 นาที แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยจนพ่อแม่รู้สึกว่าไม่ท้าทาย

    ในเมื่อถูกออกแบบมาให้เด็กเล่นได้ผู้ใหญ่เล่นดี บอร์ดเกมแนวครอบครัวจึงมักจะมีสีสันสวยงาม เน้นให้ผู้เล่นต้องพูดคุย ถกเถียง หรือหาโอกาสแกล้งกันค่อนข้างมากระหว่างเล่นเนื้อเรื่อง ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงหรือประเด็นหนักๆ สามารถเล่นจบได้ภายใน 15-60 นาที

    เกมครอบครัวจึงเป็นเกมที่มี ‘ตลาด’ กว้างที่สุด ชักชวนให้เพื่อนๆ ที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาลองเล่นได้ง่ายที่สุด คนยิ่งลองเล่นยิ่งก็ติดใจ เกมครอบครัวจึงเป็นเหมือน ‘พระเอก’ ที่ทำให้บอร์ดเกมสมัยใหม่เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก

    2. เกมวางแผน (Strategy Game)

    เกมที่ต้องใช้ทักษะในการวางแผนมากกว่าเกมครอบครัว เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเล่นเกมที่ท้าทายขึ้น และ ‘เกมเมอร์’ ที่ชอบเล่นเกมในแพลตฟอร์มอื่นอย่างเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะแนววางแผนอย่าง Civilization แนวจัดทัพโจมตีอย่าง StarCraft หรือเกมกระดานคลาสสิกอย่างหมากรุกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

    เกมวางแผนอาจมี ‘ดวง’ เป็นส่วนประกอบบ้าง ใช้เวลาเล่น 60-120 นาที แต่บางเกมอาจยาวถึง 180 นาที หรือเป็นมหากาพย์ 5-6 ชั่วโมงได้เลย

    เกมวางแผนนับได้ว่าเป็นบอร์ดเกมที่เก่าแก่ที่สุด แรกเริ่มถูกใช้เพื่อ ‘จำลอง’ สถานการณ์สงครามก่อนรบจริงสำหรับเหล่านายทหาร รายละเอียดบนกระดานจึงต้องสมจริงที่สุด ครอบคลุมการตัดสินใจต่างๆ ที่เป็นไปได้ของฝ่ายศัตรู หลังจากนั้นเกมวางแผนก็แพร่หลายออกไปในหมู่ผู้พิสมัยเกมสงคราม ราวทศวรรษ 1980 (หรือประมาณสิบปีก่อนที่บอร์ดเกมสมัยใหม่จะฮิต) ในยุคนั้นเกมวางแผนที่เล่นกันนอกฐานทัพจะใช้ ‘กระดาน’ ขนาดใหญ่จำลองสมรภูมิรบ มีตัวเล่นหรือ Counter ทำจากกระดาษ แทนหน่วยทหาร เครื่องบินรบ ปนื ใหญ่ เรือดำ น้ำ ฯลฯ บริษัทผู้ผลิตเกมแนวนี้ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ Avalon Hill และ SPI จากสหรัฐฯ เกมประเภทนี้นิยมเล่นโดยนายทหารที่เกษียณแล้วหรือคนธรรมดาที่เป็นแฟนพันธุ์แท้สงครามในประวัติศาสตร์ ช่วงยุคบุกเบิกนักเล่นเกมแนวนี้จะไม่เรียกมันว่าบอร์ดเกม แต่จะเรียกว่า
    ‘เกมซิมูเลชัน’ (เพราะมัน Simulate จำลองฉากรบจริงๆ) หรือ ‘เกมจำลองสงคราม’ เพื่อให้แตกต่างจากเกมแนวครอบครัวสมัยนั้น
  • ใครที่อยากเล่นเกมวางแผนต้องใช้เวลากับความอุตสาหะอย่างมาก เพราะมีตัวเล่นมากมาย กฎกติกาหนาเป็นคัมภีร์ ระหว่างเล่นต้องคอยคิดคำนวณตัวแปรต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อประเมินว่ามีใครเข้าเงื่อนไขชนะหรือยัง

    เกมวางแผนสมัยนั้นจึงเป็นที่นิยมแค่ในวงแคบ

    ต่อมาเมื่อบอร์ดเกมสมัยใหม่เริ่มได้รับความนิยม ประกอบกับมีผู้เล่นหลายคนที่อยากลองเล่นเกมที่ท้าทายขึ้น นักออกแบบบอร์ดเกมจึงตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ด้วยการยกระดับเกมวางแผนให้มีตัวเล่นและบอร์ดที่สวยงามไม่แพ้เกมครอบครัว มีเรื่องราวที่ไม่เน้นความรุนแรง (เช่น ให้แข่ง
    ขยายเครือข่ายทางรถไฟ แทนที่จะสู้กันให้ตายไปข้าง) และที่สำคัญกว่านั้นคือ ‘ย่อย’ กฎกติกาที่จุกจิกและเข้าใจยากให้เป็นกลไกที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาศึกษาไม่นาน

    ปัจจุบันเกมวางแผนแข่งกันที่ ‘ความเรียบง่าย’ (Elegance) ของกติกา เทียบกับ ‘ความท้าทาย’ ต้องขบคิดระหว่างเล่น และ ‘ความซับซ้อน’ ของผลลัพธ์การเล่น ยิ่งกติกาของเกมเรียบง่าย แต่ตัวเกมมีความท้าทาย ให้ผลลัพธ์ที่สลับซับซ้อน คนเล่นก็จะยิ่งรู้สึกว่าเกมนั้น ‘สนุก’ และไม่ซ้ำซาก เล่นซ้ำกี่รอบก็ไม่เบื่อ

    ยิ่งมีอุปกรณ์การเล่นที่สุ่มมาใช้เพียงคราวละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ (เช่น จั่วไพ่มาใช้เพียง 20 ใบตลอดทั้งเกม จากทั้งสำรับ 200 ใบ) ยิ่งเล่นซ้ำได้หลายรอบ ประสบการณ์ไม่ซ้ำเดิม

    จะว่าไปก็คล้ายกับเกมกระดานโบราณอย่างหมากรุก ต่างที่เกมวางแผนสมัยใหม่มีเรื่องราวร้อยแปดพันเก้า

    และนักออกแบบเกมก็ช่างประดิษฐ์คิดค้นกลไกใหม่ๆ มาให้คอเกมตื่นเต้นกันอยู่เรื่อยๆ
  • 3. ปาร์ตี้เกม (Party Game)

    ‘ปาร์ตี้เกม’ ถูกออกแบบมาสำหรับเล่นเป็นหมู่คณะ ปกติหมายถึง 8-20 คนหรือมากกว่า ปาร์ตี้เกมที่สนุกคือเกมที่อธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ภายใน 5-10 นาที มีอุปกรณ์ไม่มาก

    เกมประเภทนี้อาจมีดวงเกี่ยวข้องด้วยเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์และปฏิภาณไหวพริบ เช่น หากเป็นเกมที่ต้องจับตัวสายลับที่แฝงตัวมา เราก็ต้องคอยสังเกต น้ำเสียง สีหน้า แววตาท่าทางของเพื่อนว่าส่อพิรุธไหม น่าจะเป็นสายลับที่แฝงตัวมาตามเนื้อเรื่องของเกมหรือเปล่า

    ความสนุกของปาร์ตี้เกมจึงละม้ายคล้ายกับความสนุกของงานปาร์ตี้ คือได้สังสรรค์อย่างหรรษากับคนอื่นอีกหลายคน

    ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเล่นบอร์ดเกมแบบไหน ระหว่างเล่นเราก็จะได้เรียนรู้นิสัยใจคอของเพื่อนที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น คนนี้ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ คนนั้นคิดเยอะ คนโน้นคิดเล็กคิดน้อย คนนู้นใจแคบ ฯลฯ
    เพราะบอร์ดเกมถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเล่น ‘อิน’ ไปกับมัน

    และเมื่ออิน ก็จะเผยสันดานบางอย่างของตัวเองออกมาโดยไม่รู้ตัว

    นอกจากจะสนุกและได้ฝึกสมองแล้ว บอร์ดเกมจึงเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ดี สำหรับทดสอบนิสัยที่แท้จริงของแฟน เพื่อน และคนที่ยังไม่แน่ใจว่าอยากคบเป็นแฟนหรือเปล่า ;)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in