เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Board | Game | Universe จักรวาลกระดานเดียวSALMONBOOKS
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    RULE
    TURN 1

    ทุกคนเสมอภาค ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้อ่านที่เคยเล่น ‘เกมกระดาน’ หรือ ‘บอร์ดเกม’ มาอย่างโชกโชน เคยเล่นมาบ้าง หรือประสบการณ์เป็นศูนย์ ทุกคนจะต้องพลิกไปอ่าน PHASE 1 เพื่ออ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเจ๋งของเกมกระดาน อันเป็นสาเหตุเดียวกับที่สำนักพิมพ์แซลมอนยินดีนำเสนอหนังสือ BOARD | GAME | UNIVERSE จักรวาลกระดานเดียว สู่สายตาของผู้อ่าน

    หนังสือเล่มนี้เป็นงานรวบรวมจากคอลัมน์ เล่นจนเป็นเรื่อง ของ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ฮาร์ดคอร์บอร์ดเกมเมอร์’ หรือ ‘ตัวแม่’ ของวงการ หลักฐานก็คือกล่องเกมกระดานหลักร้อยเกมที่บ้านของเธอ และคำประกาศิตที่ว่า “จะตามซื้อและสะสมเกมกระดานจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

    TURN 2

    เมื่ออ่าน PHASE 1 จนรู้แล้วว่าเกมกระดานนั้น ‘เจ๋ง’ ตรงที่เป็นตัวแทนของการ ‘จำลอง’ ทำให้ผู้เล่นได้สวมหมวกของบุคคลอื่นที่อยู่ในฐานะแตกต่าง อาศัยกันคนละสถานที่ มีรูปแบบชีวิตห่างไกลจนเกินจินตนาการ หรือกระทั่งเป็นสิ่งมีชีวิตคนละสปีชีส์ก็ยังมี อีกทั้งยังเป็นการละเล่นที่กำลังเกิดกระแสในไทย
    ร้านบอร์ดเกมคาเฟ่ผุดเป็นดอกเห็ดในช่วงปีที่ผ่านมา กลายเป็นกิจกรรมใหม่สำหรับการ ‘แฮงเอาต์’ ของกลุ่มเพื่อนในยุคนี้

    ก็ขอให้พลิกไปดูใน PHASE 2 ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงเกมหลากหลายที่คัดสรรมาแล้วว่ามีแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องยืนยันว่าการเล่นเกมกระดานนั้นทำให้เราหลุดออกไปจากจักรวาลของตัวเองที่เคยอยู่ได้ไกลแค่ไหน เพราะคุณคนเดิมนี้อาจเป็นได้ทั้งเจ้าของโรงงานผลิตไฟฟ้า
    มาเฟียอิตาลี นักรบโรมัน นักการเมืองชาวกรีก หรือนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องอย่างกาลิเลโอ

    TURN 3

    ในแต่ละบทได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ผู้อ่านที่ต้องการ ‘ศึกษาเรื่องราว’ สนใจประวัติศาสตร์ ให้ดูส่วนแรกของแต่ละบทเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักสร้างเกมกระดาน ความเฉลียวฉลาดในการหยิบเหตุการณ์ในอดีต ตำนานในอีกซีกโลกหนึ่ง นวนิยายชื่อดัง ฯลฯ นำมาปะติดปะต่อโดยใช้กฎของเกมมาร้อยเรียงให้ผู้เล่นได้เข้าใจเหตุการณ์ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าเรื่องเอาไว้สนุกประหนึ่งนิยาย ถอดความคิดของผู้เล่นขึ้นมาให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างดี

    ส่วนผู้ที่ต้องการ ‘ศึกษาระบบของเกม’ ให้ดูส่วนกลางของทุกบท ผู้เขียนได้เล่าถึง ‘ระบบ’ และวิธีเล่นในแต่ละตาของแต่ละเกม สิ่งที่ผู้เล่นจะต้องทำในแต่ละการเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงกฎข้อบังคับที่เรียกร้องระบบความคิดที่จำลองมาจากบุคคลในเรื่องราวของเกมให้ผู้เล่นต้องมองจากมุมนั้น แสดงความ
    แยบยลแยบคายตามสไตล์การเล่นแต่ละคน ที่เมื่อได้เล่นจริงก็จะได้เห็นท่าทีของผู้ร่วมกระดาน ศึกษานิสัยใจคอของเพื่อนที่อาจไม่เคยได้เห็น จนอาจพูดได้ว่าเราหาสิ่งเหล่านี้ได้ยากเหลือเกินในโลกของเกมคอนโซล

    TURN 4

    สำหรับผู้ที่อยากศึกษาระบบของเกมแบบเข้าใจถ่องแท้ การอ่านผ่านตัวอักษรอาจชวนสับสนและเข้าใจได้ยาก เราแนะนำให้อ่านและคิดตามหลายๆ ครั้ง แต่นั่นก็คงไม่ดีเท่ากับการได้ลองเล่น หรือได้ดูการเล่นจริงๆ แบบภาพเคลื่อนไหว จึงควรหาดูวิดีโอในยูทูบประกอบหรือหาโอกาสเล่นเอง อาจเป็นกลุ่มเพื่อนหรืออาจลองไปบอร์ดเกมคาเฟ่สักแห่งเพื่อความอินและความเข้าใจอันถ่องแท้

    TURN 5

    สำหรับผู้อ่านที่อ่านจนจบและได้ทดลองเล่นแล้ว ก็คงจะพอเข้าใจได้ว่า การถ่ายทอดความรู้ การศึกษาแนวคิดของแต่ละสายอาชีพ หรือทำความเข้าใจเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือตำนานต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานศึกษา ตำราเรียน บทความวิชาการ หรืออะไรที่ดูทางการเท่านั้น แต่กับ ‘เกม’ ก็สามารถทำได้ แถมยังทำได้ดีและสนุกอีกต่างหาก

    มากไปกว่านั้น—ถ้าคุณรู้สึกพร้อมแล้วที่จะเปิดใจรับเรื่องราวจากดินแดนต่างๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปจากเดิม ทลายทัศนคติเก่าๆ ในการแสวงหาความรู้ที่เคยพานพบ โดยมีบางขณะก็อยากจะเป็นผู้เล่าบ้าง รู้สึกอยากออกแบบ และหยิบจับองค์ความรู้ต่างๆ มานำเสนอในแบบของคุณบ้างไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง—ยินดีด้วย—คุณชนะเกมนี้แล้ว


    สำนักพิมพ์แซลมอน

  • A SHORT HISTORY OF A BOARDGAMER
    (เสมือนคำนิยม)

    1

    เขาก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

    เป็นไปได้ที่เธอจะโทรศัพท์มาหาเขา หรือไม่ก็ส่งเมสเซจทางโทรศัพท์ แต่ไม่น่าจะเป็นการใช้ไลน์หรือเฟซบุ๊ค เพราะ (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ) เมื่อห้าปีก่อน สิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้านเช่นทุกวันนี้

    อย่างไรก็ตาม เขาจำได้ถนัดว่า เธอถามเขาเพียงสั้นๆ ประมาณว่า “มาเล่นเกมกันไหมคะ”

    และโดยแทบไม่ได้ใช้สมองส่วนใด เขาตอบคล้ายใช้รีเฟล็กซ์จากกระดูกสันหลังว่า “ไปๆ”

    แล้วเขาก็แทบจะไปมันเดี๋ยวนั้น

    ไปเล่นเกมที่เขาไม่รู้จัก

    เขาไม่รู้เลยว่า นั่นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล

    (และเขาไม่ได้พูดเล่น!)

    2

    เกมที่เธอชวนเขาไปเล่น ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์ประเภทที่ต้องไปนั่งเล่นด้วยกัน และไม่ใช่เกมประเภทหมากล้อมหมากรุกหรือไพ่ตองกบดำกบแดง ทว่าเป็นเกมที่ให้ ‘ประสบการณ์เกม’ ใหม่เอี่่ยมอย่างที่เขาไม่เคยพบมาก่อนเลยในชีวิต มันเป็นเกมประเภทที่รวบรวมทุกสิ่งสรรพในโลกหล้านี้เข้าไว้ด้วยกัน กับความหลากหลายของเกม กับอัจฉริยภาพของผู้สร้างเกม กับการเดินทางสู่อนาคตไปในยานอวกาศ กับการย้อนสู่อดีตอันหลากหลายและรุ่มรวยของภูมิภาคต่างๆ ในโลก กับการเดินทางไปในโลกแฟนตาซีที่มีกฎเกณฑ์ประหลาดเป็นของตัวเอง หรือกับการเดินทางสู่โลกแห่งนามธรรมที่เปี่ยมอรรถรสแปลกใหม่

    เขาไม่เคยรู้มาก่อน—ว่านี่คือสิ่งที่เรียกขานกันว่า—บอร์ดเกม

    3

    สำหรับเขา บอร์ดเกมไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากโลกอีกใบที่แยกขาดทว่าซ้อนทับอยู่กับโลกใบนี้ มีเกมนับไม่ถ้วนที่สร้างขึ้นจาก ‘ความจริง’ ของโลก แล้วนำความจริงนั้นไปบิดผันด้วยวิธีการต่างๆ นานา บ้างด้วยอารมณ์ขัน บ้างด้วยกลไกที่แล่นลึกเข้าไปในจิต บ้างด้วยหัวใจ อารมณ์ และโชคชะตา บ้างก็ด้วยสมอง การไตร่ตรอง และวางแผน

    มันคือโลกที่ใหญ่เสียยิ่งกว่าส่วนเสี้ยวของโลกที่เราแต่ละคนอาศัยอยู่!

    เขาจำเกมแรกที่เล่นไม่ได้แน่ชัด มันน่าจะเป็นเกมเล็กๆ ที่เธอเลือกหยิบมาเล่นก่อน คล้ายเป็น ‘เหยื่อ’ ชิ้นเล็กๆ ให้งับง่าย เพราะในตอนนั้น ทั้งเธอและเขาไม่รู้เลยจริงๆ ว่า ต่อให้ไม่ต้องมีใครล่อหลอกอะไร เขาก็พร้อมจะติดกับ

    เป็นการติดกับชั่วชีวิตอย่างเต็มใจเสียด้วย!

    เกมแรกที่เขาซื้อหามาอยู่ในครอบครอง คือเกมขายผลไม้

    บนเกาะมายอร์กาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชื่อเกมว่า Finca เป็นเกมขนาดกลางๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็ก กติกาอธิบายง่าย มีกลไกเกมน่าทึ่งที่สร้างขึ้นจากการหมุนของกังหัน ทุกองค์ประกอบทำให้เขาหลงรัก ตั้งแต่การซื้อขายมะกอก ส้ม อัลมอนด์ โดยมีลาเป็นตัวขนของ แม้เขาจะทำแค่นั่งอยู่ตรงนั้นในบ้านของตัวเอง แต่ทุกอย่างช่างสมจริง เกมพาเขาไปสูดกลิ่นเมดิเตอร์เรเนียน และจริงจังกับการเป็นพ่อค้าผลไม้

    นับจากนั้นมา เขาก็ไม่อาจถอนตัวจากการเล่นบอร์ดเกมได้อีก

    4

    จะเป็นพ่อค้าผลไม้ จะเป็นนักขุดเพชร จะเป็นนักสืบที่ไปสืบความลับในบ้านผีสิง จะเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่างๆ นานา จะเป็นคนทรยศบนยานอวกาศ จะเป็นกษัตริย์คอยสร้างวัง จะเป็นโชกุนขุนทหาร จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเยอรมนีหรือฝรั่งเศส หรือจะอะไรก็ตาม การเล่นบอร์ดเกมนั้นต้องการ ‘ก๊วน’ เพื่อนเล่นที่รู้ใจกันพอสมควร (เว้นไว้เสียแต่การเล่นโซโลเกม)

    กับกลุ่มบอร์ดเกมที่เขาเล่นด้วยประจำ (ซึ่งแน่นอน—มี ‘เธอ’ เป็นศูนย์กลางผู้คอยอ่านกฎและควบคุมกติกาทั้งหลาย) แต่ละคนมีบุคลิกประจำตัวแตกต่างกันออกไป บางคนเป็นคล้ายแม่เสือที่ทำให้คนอื่นต้องยำเกรงตลอดเวลา บางคนคิดละเอียดถี่ถ้วนจะทำอะไรก็ร้อง “เดี๋ยวๆ” จนได้ฉายาว่า คุณเดี๋ยว บางคน
    ก็อ่อนหวานในถ้อยคำแต่ร้ายกาจในกลยุทธ์เสียจนถูกเรียกว่าแม่ Sugar-Coated หรือนางซินเดอเรลลา บางคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการขายมักจะเก่งในเกมที่มีเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยว ถ้าไม่มีเงินบางครั้งก็ไปไม่เป็นเลยทีเดียว และบางคนก็ซ่อนดาบไว้ในรอยยิ้ม คอยชักใยความคิดของคนอื่นอยู่เบื้องหลังราวกับตัวบึ้ง

    ที่จริง กลุ่มบอร์ดเกมที่เขาเล่นด้วยบ่อยๆ มีสองสามกลุ่ม นอกจากกลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มรุ่นน้องที่ทำงาน ซึ่งเวลาเล่นนั้นเอาจริงเอาจังกันมาก ต้องคิดต้องวางแผนซับซ้อนวุ่นวายไปหมด แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน สาเหตุที่เขาไปเล่นด้วยเป็นประจำก็เพราะเล่นด้วยแล้วสนุก

    สนุกในความหมายที่ว่า ไม่มีใครเอาเป็นเอาตายกับผลแพ้ชนะ แม้เวลาเล่นจะจริงจัง แต่เมื่อเล่นเสร็จแล้วไม่ได้มีใครถือสาอาฆาต แม้ผู้แพ้อาจมีการกลับบ้านไปฝัน (ร้าย) บ้างว่าน่าจะวางแผนแบบนี้ๆ มากกว่าที่เล่นไปแล้ว แต่ก็หาได้ไปลอบจ้างมือปืนมายิงคนที่ชนะให้ตายตกไปตามกันแต่ประการใด

    สำหรับเขา การเล่นบอร์ดเกมทำให้ผู้เล่นแต่ละคนเปิดเผยนิสัยใจจริงออกมาอย่างหมดเปลือกตั้งแต่เล่นเกมกันครั้งแรกๆ และทำให้ตัวเขาเองได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ด้วย ว่าจริงๆ แล้วเขาชอบเล่นเกมเพื่อความสวยงาม ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในเกม และเล่นเพื่อรักษามิตรภาพให้ยืนนานมากกว่าจะมุ่งเอาชนะคะคานอันเป็นเพียงเปลือกเป็นกระพี้ของการเล่นเกม หาใช่แก่นอันควรจะเป็นไม่

    “โกหก!”

    “ใครเชื่อก็แย่แล้ว!”

    “คนเขารู้กันหมดแล้วว่าแกน่ะมันเหี้ยม”

    “ชอบชักใยคนอื่น!”

    “ร้ายกาจจะตาย!”

    “นิสัย!”

    โอ๊ย! ขอจงอย่าไปฟังเสียงนกเสียงกาใดๆ เลย ได้โปรดเชื่อเถิด ว่าการเล่นบอร์ดเกมนั้นให้แต่อะไรดีๆ เช่นว่ามิตรภาพและความรัก...

    “หลอกลวง!”

    “สาไถย!”

    (ตัดจบ)

    5

    จะเชื่อเขาว่าบอร์ดเกมช่วยทำนุบำรุงความสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ในกลุ่มบอร์ดเกมที่เขาเล่นประจำ ก็มีคู่รักคู่หนึ่งที่ได้แต่งงานกันไปเพราะมีบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือเปิดเผยให้รู้ว่าอีกฝ่ายมีนิสัยอย่างไรมาแล้ว

    จริงอยู่ ถ้าไม่มีบอร์ดเกม คู่รักคู่นี้ก็คงแต่งงานกันอยู่ดี แต่บอร์ดเกมช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ระหว่างกันให้เร็วขึ้น เล่นกันแค่เกมสองเกมก็รู้แล้วว่าอีกฝ่ายเป็นลูกแกะหรือหมาป่า ไม่ว่าจะห่มคลุมร่างมาด้วยขนจามรีหรือขนแมวก็ตามที

    ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือแฟน จะเป็นมิตรภาพหรือความรัก บอร์ดเกมช่วยให้เรารู้จักทั้งคนในกลุ่มและเรื่องราวต่างๆ นานาที่แฝงเร้นอยู่ในเกม ไม่ว่าจะเป็นมิติทางประวัติศาสตร์ของบางเรื่อง การวางแผนลึกลับซับซ้อน หรือการสนุกไปกับสัดส่วนของโชคผ่านการทอยลูกเต๋า ดังนั้น ถึงที่สุด บอร์ดเกมจึงช่วยให้เราได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ด้วย

    6

    ทุกวันนี้ เขายังคงเล่นบอร์ดเกม และสำนึกอยู่เสมอว่าหากไม่มีเธอ—ผู้ชักชวนเขาในวันนั้น เขาก็อาจยังไม่รู้จักบอร์ดเกมและกลุ่มบอร์ดเกมเหล่านี้ก็ได้

    แล้วเขาก็จะไม่รู้เลย,

    ว่าตัวเองได้พลาดอะไรไปบ้างในชีวิต...

    หมายเหตุ: เธอคนนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่คือผู้เขียนหนังสือที่คุณกำลังถืออยู่นี้...นี่เอง

    โตมร ศุขปรีชา

  • คำนำผู้เขียน


    ‘การเล่น’ อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานแสนนาน แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากยังคงมอง ‘เกม’ เป็นเรื่องของเด็ก

    การเห็นเด็กจับเจ่าเฝ้าจอคอมพิวเตอร์ เล่นเกมข้ามคืนในเน็ตคาเฟ่คงไม่ทำให้ใครแปลกใจ

    แต่การเห็นผู้ใหญ่วัยทำงานหรือวัยกลางคนจับกลุ่มกันรอบโต๊ะ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดหรือกระโดดโลดเต้นหน้ากระดานไม้หรือกระดาษหลากสี ไร้ซึ่งชิ้นส่วนดิจิทัลใดๆ อาจทำให้หลายคนเหลียวหลังและเดินมามองด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าเล่นอะไรกันอยู่

    “เล่นอะไรน่ะ เหมือน เกมเศรษฐี ปะ”

    คนส่วนใหญ่ถามไปก็อมยิ้มไป คงเพราะอดงงไม่ได้ว่า ในยุค Internet of Things ที่เสื้อผ้ากับข้าวของเครื่องใช้ต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา รถยนต์กำลังจะแล่นเองได้ ทำไมแกยังมานั่งเล่นกระดาษบ้านๆ อยู่อีก

    ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ยินคำถามนี้ ก็รู้สึกเหมือนกับเวลาขับรถยนต์แล้วมีคนมาทักว่า “นี่ๆ ขับอะไรอยู่น่ะ เหมือนเกวียนปะ”

    ‘เกมกระดาน’ หรือ ‘บอร์ดเกมสมัยใหม่’ แตกต่างจากเกมครึ่งศตวรรษก่อนหน้าอย่าง เกมเศรษฐี หรือ เกมบันไดงู พอๆ กับที่รถสปอร์ตแตกต่างจากเกวียนเทียมลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

    เล่นได้เหมือนกัน แต่ความสนุกและความเจ๋งต่างกันหลายขุม

    หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือแนะนำบอร์ดเกม หากแต่เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากความรัก โดยนักเล่นเกมที่กลายมาเป็นนักสะสมบอร์ดเกม และอยากโพนทะนาให้คนอื่นรู้ว่า บอร์ดเกมสมัยใหม่ ‘สนุก’ และ ‘เจ๋ง’ ขนาดไหน

    โดยเฉพาะเวลาที่มัน ‘เล่าเรื่อง’ ที่เหล่าคนเล่นจะตราตรึงไปนานข้ามเดือน ข้ามปี หรืออาจแม้แต่ชั่วชีวิต ถ้าหากว่าเกมนั้นเล่นแล้ว ‘ฟิน’ มากๆ

    ผู้เขียนอยากชวนท่านมาทำความเข้าใจวิธีเล่าเรื่องของบอร์ดเกมด้วยการ ‘แงะ’ กลไกกับกติกาขึ้นมาดู คล้ายกับถ้าเราอยากจะรู้ว่า อะไรที่ทำให้รถคันนี้วิ่งเร็วและแรง ก็หนีไม่พ้นต้องเปิดฝากระโปรงขึ้นมาศึกษาเครื่องยนต์กลไกข้างใน

    หวังว่าเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านลองไปเล่นบอร์ดเกมตามร้านต่างๆที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ และถ้าเล่นเกมอยู่แล้วก็อาจจะอยากไปหาเกมที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาลองเล่นบ้าง

    ผู้เขียนขอขอบคุณ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ที่กรุณาเปิดคอลัมน์ เล่นจนเป็นเรื่อง จนเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ขอบคุณ ณัฐชนน มหาอิทธิดล ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการเล่ม และทีมงานสำนักพิมพ์แซลมอนทุกท่าน สำหรับความพิถีพิถันและเอื้อเฟื้อในการจัดทำ รูปเล่มและตีพิมพ์ ขอบคุณร้าน Polar Play Games, Battlefield Bangkok และลานละเล่น ร้านบอร์ดเกมสามร้านสามสไตล์ในกรุงเทพฯ ที่เปิดโลกของบอร์ดเกมให้แก่ผู้เขียน

    เหนือสิ่งอื่นใด บอร์ดเกมไหนก็ตามย่อมไม่มีวันเล่าเรื่องอะไรที่น่าจดจำได้ ถ้าหากไม่ได้ ‘ก๊วนเกม’ ที่น่ารัก นอกเกมยังนับเพื่อนนับญาติกันได้ ไม่ว่าในเกมจะถูกกลั่นแกล้งอย่างโหดร้ายสักปานใด

    ผู้เขียนเชื่อว่า ลักษณะของก๊วนเกมที่ดี คือ สมาชิกทุกคน ควรต้อง ‘ซื่อสัตย์สุจริต กฎผิดก็ให้อภัย และมีน้ำใจนักกีฬา’

    ข้อแรกคือซื่อสัตย์นั้นตรงไปตรงมา ใครขี้โกง (ไม่นับการโกงที่ถูกกติกา เพราะบางเกมยอมให้โกง) ย่อมทำให้ประสบการณ์เล่นเกมไม่สนุก เพราะทุกคนรู้สึกว่าถูกหลอกอย่างไม่ยุติธรรม

    ข้อสองคือกฎผิดก็ให้อภัย เพราะผู้เขียนเป็นคนอ่านกฎประจำก๊วน แต่ด้วยความใจร้อนอยากเล่น หลายครั้งจะเริ่มเล่นโดยไม่อ่านกฎอย่างละเอียดก่อน เล่นไป 3 หรือ 5 ตาถึงจะเจอว่าอ่านกติกาผิด แต่หลังๆ ก็ดีขึ้นมากแล้ว ด้วยชั่วโมงบินการเล่นทำให้เพื่อนในก๊วนรู้สึกตะหงิดๆ และจะทักท้วงขึ้นมาทันทีที่คิดว่ากฎน่าจะผิด เพราะการเล่นไม่ราบรื่น ซึ่งเพื่อนๆ ก็พร้อมให้อภัยที่บางครั้งกฎจะผิด เพราะตัวเองก็ขี้เกียจอ่านกฎ (ฮา)

    ข้อสุดท้ายคือน้ำใจนักกีฬานั้นความหมายง่ายๆ คือ แพ้ก็ไม่ถือโทษโกรธเคือง ชนะก็ไม่ลิงโลดเยาะเย้ยคนอื่นข้ามปี (แค่ข้ามเดือนเท่านั้นเอง)

    ขอขอบคุณเพื่อนร่วมก๊วนทุกรุ่นทุกคนที่ทำให้การเล่นบอร์ดเกมของผู้เขียนเป็นไปอย่างรื่นรมย์ สนุกสนาน และมีเรื่องเล่าแทบทุกครั้งที่เล่น—พี่อ้อย ‘แม่มดฮิปปี้’ พี่หนุ่ม ‘แลนนิสเตอร์จอมเสี้ยม’ เอก ‘คุณเดี๋ยวผู้น่ารัก’ ลูกปลา ‘มือทอย (เต๋า) ประจำทีม’ บ๊วย ‘เหมือนเล่นๆ แต่ไม่ได้มาเล่นๆ’ ตั๋น ‘ไม่ค้าขายฉันไม่สน’ เตย ‘ซินดี้แอ๊บแบ๊ว’ กฤต ‘แผนข้าโลกต้องรู้’ กล้วย ‘สายโหดขอให้บอก’ และ ป๊อด ‘ยุทธศาสตร์ระยะไกล (ลิบ)’

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน และการกางกระดานตลอดไป


    สฤณี อาชวานันทกุล
    “คนชายขอบ” | www.fringer.org
    กุมภาพันธ์ 2559

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in