เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Thaiฤทธิ์อ่าน-คิด-เขียน
จะเป็นอย่างไร หากตัวละครวรรณคดีไทยกลับชาติมาเกิด?

  • เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้าง
    ผลงานสืบเนื่องจากโปรเจ็ค #Thaiฤทธิ์ 
    “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย” รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2560

    ติดตาม "อ่าน-คิด-เขียน" ได้ที่นี่



    ด้วยการปะทะสังสรรค์ระหว่างชุดค่านิยมใน "โลกวรรณคดี" กับ "โลกแห่งความเป็นจริง"                    จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้

    .

    จะเป็นอย่างไร หากตัวละครวรรณคดีไทยกลับชาติมาเกิด? 




    “นางยักษ์” หุ่นเพรียวเคี้ยวสลัด

    ย้อนความไปในวรรณคดีไทยในเกือบทุกเรื่องทุกสมัย นางยักษ์ในวรรณคดีมักถูกจัดให้เป็นตัวละครที่น่าเกลียดน่ากลัว เพราะรูปลักษณ์ที่ไม่งดงามตามขนบวรรณคดีไทย ที่สำคัญคือตัวอ้วน ตัวใหญ่จนพระนางต้องกลัวและคอยหลบหนีอยู่ร่ำไป ไม่ว่าจะเป็น “นางผีเสื้อสมุทร” ที่ถูกสามีอย่างพระอภัยมณีลวงให้ไปถือศีลอยู่ถึง 3 วัน พระอภัยมณีกลับหนีไปกับนางเงือกแสนสวย รูปร่างหน้าตางดงาม ทำให้นางผีเสื้อสมุทรต้องเจ็บช้ำคั่งแค้น นอกจากนี้ก็ยังมี “นางพันธุรัตน์” ในเรื่อง สังข์ทอง นางรับดูแลพระสังข์มาแต่เล็กแต่น้อย รักเสมือนลูกแท้ๆ ของตัวเอง แต่เมื่อพระสังข์ได้รู้ความจริงว่าแม่ของตนเป็นยักษ์ก็กลัวและหนีนางไป กล่าวได้ว่านางยักษ์ในวรรณคดีมีชะตากรรมที่น่าสงสาร ทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตาและความรักที่ไม่สมหวัง 

    แม้ในปัจจุบัน คนในสังคมจะตระหนักถึงความหลากหลายของความงามในแบบของตนเอง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยมเรื่องสวยต้องผอมยังเป็นวาทกรรมความงามกระแสหลักที่ครอบงำวิธีคิดของคนจำนวนมาก

    ลองจินตนาการดู ว่าหากนางยักษ์มีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร

    เราตั้งใจนำเสนอภาพนางยักษ์กำลังกินสลัด เพราะต้องการสื่อถึงค่านิยมในสังคมไทยปัจจุบันที่ยังคงไม่ต่างจากโลกในวรรณคดีเสียเท่าไหร่ ค่านิยมที่เชิดชูคนที่มีรูปร่างงดงาม หุ่นเพรียวสวย หน้าตาน่ารัก และละเลยคนที่รูปร่างอ้วนอวบ หน้าตาไม่งดงาม การตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอกโดยละเลยความงามภายใน ทำให้มีผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายหลายคนต้องลุกขึ้นมาทำตัวเองให้เป็นไปตามค่านิยม ภาพของยักษ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนอ้วนที่ต้องกินสลัดเพื่อให้ตัวเองผอมเพรียวนั้น แม้จะเข้ากับค่านิยมในสังคมปัจจุบัน แต่กลับขัดกับความเป็นปกติวิสัยของยักษ์ในโลกวรรณคดีที่ต้องกินเนื้อ เราจึงอยากชี้ชวนให้ทุกคนคิดต่อว่า เราจะยินยอมโดยดุษณีให้สังคมได้หล่อหลอมคนคนหนึ่งจนสามารถหลงลืมความเป็นตัวเองและนำความเป็นตัวของตัวเองไปแขวนไว้กับค่านิยมที่สังคมกำหนดขึ้นเช่นนั้นหรือ

    แท้ที่จริงแล้ว ทุกคนมีความงดงามเฉพาะในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นที่บุคลิกภาพ ลักษณะทางกายภาพ หรือภายในจิตใจ รูปลักษณ์ภายนอกจึงไม่ควรเป็นสิ่งที่จะนำมาตัดสินคุณค่าของคน 



  • “ขุนแผน” รักสนุกแต่ไม่ผูกพัน

    “ขุนแผน” เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ขุนแผนมีหน้าตารูปร่างที่ดูดี มีความสามารถ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความกล้าหาญ และเสียสละ อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์สำคัญของขุนแผนที่ทุกๆ คนทราบกันดีนั่นคือความเจ้าชู้ ขุนแผนได้ผู้หญิงห้าคนมาเป็นเมีย ได้แก่ นางวันทอง นางลาวทอง นางแก้วกิริยา นางสายทอง และนางบัวคลี่

    ไม่เพียงแต่ขุนแผนเท่านั้นที่ขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าชู้ ตัวละครชายในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ก็มีนิสัยเจ้าชู้ เป็นนักรัก-นักทอดไมตรี อย่างอิเหนาก็มีชายาที่แต่งตั้งถึงสิบคน ตำแหน่งละสองคน ฝ่ายซ้ายและขวา ได้แก่ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี (โชคดีที่ไม่มีหน้าหลัง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นมีชายาถึง 20 คน) จะต่างกันออกไปตรงที่ตัวละครใดดูแลรับผิดชอบชีวิตของเมียๆ ตนได้ดีกว่า ก็เท่านั้น

    ไม่ว่าเวลาผ่านมานานกี่ร้อยปี ถึงแม้ขนบธรรมเนียม ค่านิยม และวิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ก็คือ “ความสากลของความเจ้าชู้” ความเจ้าชู้ที่เราพูดถึงมิได้อยู่ในเลเวลแค่โปรยเสน่ห์ แต่ล้ำลึกไปถึงการมีความสัมพันธ์ทางร่างกาย 

    ในปัจจุบัน เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ได้รับการเปิดเผยมากขึ้นในสังคม มีความสัมพันธ์หลากรูปแบบ เช่น (ร่วม)รักชั่วข้ามคืน (One Night Stand) หรือความสัมพันธ์แบบ Friends With Benefits ความสัมพันธ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน วงกลมเรื่องความรักกับวงกลมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์มิได้ซ้อนทับกันสนิทอีกต่อไป เราสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้เป็นสามีหรือภรรยาของเราได้ (หากเรายังโสด) และตราบเท่าที่เพศสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความยินยอม (consent) ของคู่ความสัมพันธ์ เพียงแค่ต้องป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย อย่างไรก็ตาม วงกลมทั้งสองก็ไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง การมีเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของคู่รัก 

    หากเราศึกษาวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เราจะพบว่า ตัวขุนแผนเองก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ชายในยุคปัจจุบันเท่าไหร่ ขุนแผนมีเมียถึงห้าคน แต่ก็มิได้รักเมียทุกคน มีเมียบางคนที่เจอกันเพียงครั้งแรกก็มีเพศสัมพันธ์กันทั้งที่ไม่ได้รักอย่างนางแก้วกิริยาซึ่งก็ค่อนข้างตรงกับความสัมพันธ์แบบ One Night Stand ในปัจจุบัน นั่นคือเจอกัน มีเพศสัมพันธ์ และแยกย้าย 

    ลองจินตนาการดู ว่าหากขุนแผนมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร

    ในภาพเราให้ขุนแผนถือถุงยางอนามัย นั่นก็คือหากขุนแผนมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เขาก็จะเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เหมือนขุนแผนเมื่อหลายร้อยปีก่อน เพียงแต่ขุนแผนอาจจะไม่ได้มีเมียแค่ห้าคน และเราคงอาจเรียกพวกเธอว่าเป็น “เมีย” ของขุนแผนได้ไม่เต็มปาก เพราะตัวขุนแผนเองคงจะไม่ยอมผูกมัดตนเองกับความสัมพันธ์ฉัน “ผัว-เมีย” ที่มาพร้อม “ความรับผิดชอบ”ต่อกัน ขุนแผนอาจจะรักสนุกกับความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดเหมือนกับหลายๆคนในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

    หากใครริจะรักสนุกแบบไม่ผูกพันแบบขุนแผนในวรรณคดี ก็อย่าลืมว่าสมัยปัจจุบัน ขุนแผนต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งนะครับ และต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย คุณและเธอต้องเข้าใจตรงกันว่าหลังจาก “คืนนี้” ไป เราจะ “ไม่ผูกมัด”กันด้วย “ความรับผิดชอบ” เพราะหากเข้าใจไม่ตรงกันล่ะก็ ผมคิดว่าคุณควรต้องหันกลับมาทบทวน “คืนนี้” ใหม่ ก่อนที่อะไรๆ จะเลยเถิดไปจนถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตและหัวใจของอีกฝ่ายหลังจากผ่านพ้นคืนนี้ไป ต่อให้เทคโนโลยีการคุมกำเนิดก้าวหน้าเพียงใด แต่ของบางอย่างก็เรียกคืนกันไม่ได้ง่ายๆ นะครับ


  • “พิกุล”…ทอง

    พิกุลทองเป็นตัวละครที่งามตามขนบกุลสตรีคือ มีรูปโฉมงดงาม ผมมีกลิ่นหอม เมื่อนางเอื้อนเอ่ยวจีที่ดีออกมา จะมีดอกพิกุลทองร่วงออกมาจากปาก สำนวน “กลัวดอกพิกุลจะร่วง” มีที่มาจากเรื่องพิกุลทอง หมายถึง “อาการที่นิ่งไม่พูด” ใช้ในเชิงเหน็บแนมถึงการกระทำของคนที่นั่งนิ่ง ไม่ยอมพูดอะไร 

    ลองจินตนาการดู ว่าหากพิกุลทองมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร

    จากภาพจะเห็นว่านางพิกุลทองกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรส และมีดอกพิกุลร่วงโรยลงจากปากของนางเป็นจำนวนมาก นี้เป็นภาพสะท้อนว่าผู้หญิงในปัจจุบันได้ก้าวผ่านคำว่า “เรียบร้อยเหมือนผ้าพับ” ไว้ตามค่านิยมแบบเดิมแล้ว 

    ผู้หญิงยุคปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องสำรวมพูดน้อย หรือกลัวว่าดอกพิกุลจะร่วงออกจากปากเหมือนกับพิกุลทอง ความจริงแล้วใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะเป็นเหมือนผ้าที่รีดเรียบ แต่อาจเป็นเหมือนผ้ายับที่ถูกพับไว้โดยกรอบของสังคม คุณค่าของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเธอเป็นผ้าที่เรียบหรือเป็นผ้าที่ยับ คุณค่าของผู้หญิงไม่ได้อยู่ที่ว่าเธอเรียบร้อยหรือไม่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผู้หญิงทุกคนมีอิสระในการแสดงออก ผู้หญิงทุกคนมีคุณค่าในแบบของเธอเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องให้สังคมมาพับหรือตีกรอบคุณค่าของพวกเธออีกต่อไป

    เราควรรักษาสิทธิที่มนุษย์พึงไว้ แต่หากเมื่อไหร่ที่เราเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองจนไปเดือดร้อนชีวิตของผู้อื่นหรือทำไปโดยไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจ การเรียกร้องสิทธิ์ของเราจะไม่ใช่ตัวเอกแบบพิกุลทองแต่เป็นกลายเป็นพี่สาวตัวร้ายที่พูดที่ไรก็จะมีหนอนชอนไชออกมาจากปากทุกครั้ง ระวังกันด้วยนะคะ

    edited 31 ก.ค. 63
    เพจขอขอบคุณความเห็นต่างๆ ของผู้อ่าน เราน้อมรับและนำมาปรับเนื้อหา "พิกุลทอง" ให้ถูกต้องชัดเจนมากขึ้นค่ะ


  • “บุษบา” เสี่ยงทินเดอร์

    “บุษบา” หรือ “ระเด่นบุษบา” เป็นตัวละครเอกจากจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา บทละครในเรื่องอิเหนา ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน ได้เล่าเรื่องราวว่าบุษบาต้องทำการเสี่ยงเทียนต่อหน้าองค์พระปฏิมาเพื่อทำนายว่าใครจะเหมาะสมเป็นคู่ครองของนาง พิธีกรรมดังกล่าวตั้งอยู่บนความเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลให้เจอคู่แท้ที่เหมาะสมกัน หรือให้รู้เรื่องในอนาคต 

    ลองจินตนาการดู ว่าหากบุษบามีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร

    ตัวละครบุษบาที่เห็นในภาพกำลังถือโทรศัพท์ที่เปิดแอพลิเคชั่นทินเดอร์ (tinder) ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นหาคู่ แอพฯ นี้จะสุ่มคนในบริเวณใกล้เคียง หรือในระยะห่างตามที่ผู้ใช้กำหนด ไม่ว่าจะห่างกันเพียงไม่กี่เมตร หรือห่างกันไกลคนละทวีป แค่ใช้นิ้วปัดหน้าจอ แอพฯ นี้ก็จะสุ่มผู้คนจากทั่วโลกมาให้เราเจอ และมีโอกาสทำความรู้จักไปจนถึงสานต่อความสัมพันธ์ แล้ว “บุษบา” ในภาพนี้สะท้อนความเหมือนหรือความแตกต่างจาก “บุษบา” ในวรรณคดีอย่างไร

    ภาพถ่ายนี้สะท้อนให้เห็นบุคลิกและวิถีชีวิตของบุษบาที่เปลี่ยนไปตามสังคม หญิงงามในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรมเสี่ยงเทียนอีกต่อไป ยุคโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ทำให้การหาคู่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ปลายนิ้วกด “บุษบา” ในปัจจุบันก็สามารถเลือกเชื่อมความสัมพันธ์กับคนที่ต้องการได้แล้ว รอยยิ้มบนใบหน้าของบุษบาสื่อถึง “อิสรภาพของเพศหญิง” ในปัจจุบันที่ไม่ต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ที่คนอื่นมากำหนดชีวิตให้อีกต่อไป

    ผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง บรรดาหญิงงามในวรรณคดีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนางบุษบาจากเรื่องอิเหนา นางวันทองจากเรื่องขุนช้างขุนแผน นางลำหับจากเรื่องเงาะป่า นางรจนาจากเรื่องสังข์ทอง นางเอื้อยจากเรื่องปลาบู่ทอง และอีกมากมาย ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความต้องการของคนรอบข้าง ไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกหรือความต้องการของตนเองได้ต่างกันกับสังคมในปัจจุบันที่ผู้หญิงไม่ต้องรอให้ใครเลือกคู่ครองให้ตน และไม่ต้องรอให้ใครเลือกตนเป็นคู่ครอง 


  • “ลำหับ” ฉันจะจับคู่ให้ตัวเอง

    “ลำหับ” เป็นนางในวรรณคดีจากเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เงาะป่าเป็นเรื่องราวความรักของลำหับ ซมพลา และฮเนา ตัวละครทั้งสามมีมุมมองความรักที่เหมือนกันตรงที่ทุกตัวต่างรักเดียวใจเดียว จะต่างกันออกไปก็ตรงที่การแสดงออกต่อความรักซึ่งเป็นไปตามบุคลิกของตัวละคร เช่น ซมพลาเป็นคนมุทะลุกับความรัก ดังจะเห็นได้จากการไปลักพาตัวลำหับหนีระหว่างพิธีแต่งงานของนางกับฮเนา ฮเนาเป็นคนเสียสละต่อความรัก ดังจะเห็นได้ในตอนที่ฮเนาบอกว่า หากรู้ว่าลำหับรักกับซมพลาก็จะยอมหลีกทางให้ ส่วนลำหับก็เป็นคนซื่อสัตย์ต่อความรัก กล่าวคือ ในตอนท้ายเรื่อง นางยอมตายตามซมพลา ไม่ยอมเป็นภรรยาของคนที่ไม่ได้รักอย่างฮเนาตามที่ซมพลาฝากฝังไว้

    จากเรื่อง ลำหับเป็นหญิงที่ค่อนข้างน่าสงสาร เนื่องจากไม่มีอิสรภาพในเรื่องความรัก ลำหับต้องแต่งงานกับฮเนาเหตุเพราะทั้งสองเป็นคู่หมั้นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วนางไม่ได้รักฮเนาเลย แต่กลับมีใจให้ซมพลา เพราะเมื่อซมพลาถูกเนื้อต้องตัวลำหับแล้ว นางก็ถือว่าซมพลาเป็นเสมือนสามีตามธรรมเนียม 

    ลองจินตนาการดู ว่าหากลำหับมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร   

    ลำหับในปัจจุบันคงไม่ต้องถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่พ่อแม่หมั้นหมายให้อย่างฮเนา และบางทีก็อาจไม่ต้องลงเอยกับซมพลา โทษฐานที่นางถูกซมพลาถูกเนื้อต้องตัว (ส่วนจะลงเอยกันเพราะมีใจให้ซมพลาอยู่เป็นฐานก็ว่าไป) ภาพนี้แสดงให้เห็นค่านิยมที่เปลี่ยนไปในสังคมว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้น ผู้หญิงสามารถเลือกคู่ครองเองได้โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของใคร การใช้เชือกแทนการครอบงำของครอบครัวหรือสิ่งต่างๆ ที่บงการชีวิตของผู้หญิงในอดีต ตัวนางลำหับแทนผู้หญิงในยุคนั้น แต่สิ่งที่ลำหับในภาพแตกต่างจากนางลำหับในวรรณคดีก็คือ นางพยายามที่จะไม่อยู่ภายใต้การบังคับของใคร ดังจะเห็นได้จากการที่นางดึงเชือกไว้ สื่อว่านางมีสิทธิต่อรอง ไม่จำเป็นต้องยอมทำตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการให้ทำ ภาพนี้ไม่ได้ต้องการสื่อสารให้จำกัดเรื่องอยู่ที่การแต่งงานเท่านั้น แต่เราอยากสื่อว่าผู้หญิงก็มีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต สามารถเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการได้ แม้มีการบังคับใช้เชือก ไม่ว่าเชือกนั้นเป็นครอบครัว หรือ เพศชาย หรือปัจจัยใดๆ แต่ผู้หญิงก็มีสิทธิ์ที่จะต่อรอง และจัดการกับอำนาจนั้นๆ ตามวิถีของตนเอง

    จริงอยู่ที่ในปัจจุบัน ความเสมอภาคเป็นชุดคุณค่าสำคัญที่ทำให้คนเรามีเสรีภาพในการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บุคคลควรต้องคำนึงไว้ก็คือ การใช้สิทธิ์ในแต่ละครั้งของเรา ต้องไม่เป็นการก้าวล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น


  • ถ้าไก่งามเพราะขน “แก้วหน้าม้า” ก็งามเพราะแต่ง


    “แก้วหน้าม้า” เป็นฉายาที่ไม่มีใครอยากนำมาไว้ต่อท้ายชื่อ เพราะเป็นนิยามของความอัปลักษณ์ทางหน้าตา แก้วหน้าม้าเป็นหญิงสาวที่เกิดมาหน้าเหมือนม้า แต่มีจิตใจงามและอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส เป็นที่รักของคนในหมู่บ้าน วันหนึ่งเธอถูกหลอกว่าจะได้รับตัวไปเป็นมเหสีของพระปิ่นทอง เมื่อเธอเข้าไปอยู่ในวังก็มิวายถูกกลั่นแกล้งเพราะหน้าตาและรูปลักษณ์ แต่แล้ววันหนึ่ง แก้วหน้าม้าก็ได้รับอาวุธวิเศษจากฤๅษีให้สามารถถอดรูปกลายเป็นหญิงงามได้ นางคอยช่วยเหลือพระปิ่นทองผู้เป็นสามีอย่างลับๆ เมื่อพระปิ่นทองได้รู้ความจริงก็สำนึกได้และลงเอยด้วยการแต่งงานกันในที่สุด

    ความงามไม่ว่าในผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในวรรณคดีไทยมักจะสร้างให้ตัวละครเอกมีหน้าตาสวยงาม เป็นผู้ชายก็ต้องหล่อเหลา ตัวอย่างเช่นพระลอ พระราม แม้นางแก้วหน้าม้าจะมีนิสัยดี ร่าเริงแจ่มใสเพียงใด แต่สุดท้ายเธอก็ต้องถูกแปลงโฉมให้เข้ากับการเป็นนางเอกในแบบฉบับตามความนิยมคนสวยที่หน้าตาก่อนอยู่ดี จึงจะได้สมหวังในความรัก

    ลองจินตนาการดู ว่าหากแก้วหน้าม้ามีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2563 จะเป็นอย่างไร   

    เราตั้งใจนำเสนอภาพแก้วหน้าม้าที่ต้องการแปลงโฉมตัวเองให้เป็นคนสวยด้วยเครื่องสำอางที่ผู้หญิงยุคใหม่ นิยมใช้กัน เพื่อสื่อสารว่า “ความงาม” ยังเป็นค่านิยมหลักในสังคมไทย และแม้โลกจะก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่เพียงใด เราก็ยังจมปลักอยู่กับความไม่สวยไม่หล่อเช่นเดิม ในวรรณคดี ตัวละครต้องรอพึ่งมนต์วิเศษเพื่อแปลงโฉม ขณะที่ในสังคมยุคใหม่ วิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ก้าวหน้าได้กลายมาเป็นทางออกของความไม่สวยและช่วยลบนามสกุลแก้วหน้าม้าของหลายๆ คนในสังคม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทำศัลยกรรมความงาม การฉีดโบท็อกซ์เพื่อชะลอวัย หรือแม้แต่มนต์ขลังของการแต่งหน้า นับว่ามีทางเลือกที่หลากหลายให้อดีตแก้วหน้าม้าได้เลือกสรร

    เมื่อคุณคิดแล้วว่าตัวเองเป็นแก้วหน้าม้าที่หน้าตาและยึดอยู่กับความเป็นจริงของโลกที่ไม่ได้ฝันไป เมื่อคุณรับรู้ความจริงที่ว่าอยู่เฉยๆ คงไม่มีฤๅษีมาถอดรูปแปลงโฉมให้อย่างในวรรณคดี นั่นก็หมายความว่าเป็นสิทธิที่คุณต้องเลือกที่จะปรับเปลี่ยนตนเองหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เราไม่ได้ต่อต้านหรือส่งเสริมการทำศัลยกรรม เพียงแต่อย่างชวนคิดว่า สิ่งสำคัญที่มากกว่าเรื่องภายนอกคือภายใน ไม่ว่าภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราได้แต่หวังว่า คุณจะไม่ลืม “จิตใจที่ดีงาม” แบบนางแก้วหน้าม้า นางเอกในวรรณคดีไทยของเรากันนะคะ 


    สร้างสรรค์เนื้อหาโดย ทีม “Wanna be วรรณคดี on top”
    ประกอบด้วย ชลดา ทวีอภิรดีวรากุล, ศศินา พรหมสมบูรณ์, จุติพร ยศอาจ, ณัฐนันท์ กริชเพชรพรรณ, ธรรมศิล สายแก้ว, อัครเดช หงสกุลทรัพย์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดทำขึ้นขณะเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1
    บรรณาธิกรต้นฉบับ หัตถกาญจน์ อารีศิลป 
    .
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้าง
    ผลงานสืบเนื่องจากโปรเจ็ค #Thaiฤทธิ์ “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย” รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2560

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in