เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Thaiฤทธิ์อ่าน-คิด-เขียน
เรียน Gen-ed วิชาอะไร? วรรณคดีไทย มีคำตอบให้คุณ
  • #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed



    ถึงวันลงทะเบียนเรียนแล้ว  แต่ยังไม่รู้จะลงวิชา gen-ed อะไรดี ตัวละครในวรรณคดีไทยขอมีเอี่ยว ร่วมค้นฟ้าคว้าดาว เอ้ย!! ค้นฟ้าคว้า “วิชาที่ใช่ เนื้อหาที่ชอบ” จากปัญหาของตัวละครในวรรณคดีกลายเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจที่ว่า “ถ้าหากตัวละครในวรรณคดีกลับมาเกิดในยุคนี้ และได้เลือกลงทะเบียนเรียนวิชา Gen-ed เราควรจะแนะนำให้เขาและเธอผู้มาจากโลกวรรณคดีจะเลือกวิชาใดบ้างเพื่อบรรเทาทุกข์ในใจกันนะ?” นอกจากคุณอาจได้พบเจนเอ็ดวิชาที่ปั๊วะๆ ปัง ๆ แล้ว คุณจะยังได้มองตัวละครวรรณคดีไทยในฐานะที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องร่วมสุขร่วมทุกข์กับคุณในโลกความเป็นจริงด้วย #Thaiฤทธิ์
    .
    ** รายวิชาที่ปรากฏเป็นรายวิชาการศึกษาทั่วไป(Gen-ed) ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทีมผู้สร้างผลงานลองนำวรรณคดีไทยมาใช้สร้างสีสันให้กับการนำเสนอรายวิชาดังกล่าว**

    **คอนเทนต์นี้เป็นผลงานสืบเนื่องจาก project “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย” รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2560 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น**



    01_พระพันวษา จากเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 


    อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา   กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย
    หญิงกาลกิณีอีแพศยา       มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย
    ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป    มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้
    เร่งเร็วเหวยพระยายมราช    ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี
    อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี  อย่าให้มีโลหิตติดดินกู
    เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน  ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่
    ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู    สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย 

    พระพันวษารับสั่งกับขุนช้างกับขุนแผนว่าพระองค์จะทรงหาเมียใหม่ให้ แล้วรับสั่งให้นำนางวันทองไปประหารชีวิต เอาขวานผ่าอกอย่าได้ปรานี แล้วให้นำใบตองมารองเลือดให้หมากิน อย่าให้เลือดอัปรีย์กาลีตกถึงพื้นดินเลย รับสั่งเสร็จก็เสด็จเข้าสู่ปราสาทที่ประทับ

    ใครที่ได้อ่านตอนนี้คงจะรู้สึกว่า “มันช่างไม่ยุติธรรมเลย” พระพันวษากลายเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีผิดพลาดและไม่ถูกต้องตามหลักการนัก หากลองมองในบริบทที่เป็นยุคสมัยของตัวบท เรื่องราวโศกนาฏกรรมนี้อาจเกิดจากการที่พระพันวษาไม่ได้ฟังความนางวันทองให้ถี่ถ้วน หรือซักถามนางถึงคำตอบให้ชัดเจน แล้วจึงค่อยตัดสินประหารชีวิตนาง เนื่องจากนางวันทองได้กล่าวว่านางรักขุนแผน แต่นางไม่ได้กล่าวถึงขุนช้างและพลายแก้วด้วยคำว่ารักเลย ซึ่งอาจตีความได้ว่า นางวันทองได้เลือกแล้วว่าตนต้องการใช้ชีวิตร่วมกับใคร  


    02 _พระพันวษา X Intro to law #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed


    จากปัญหาเรื่องการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าว เราขอแนะนำให้พระพันวษาเรียนรายวิชา “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป” (Intro to law ) เชื่อว่าถ้าตั้งอกตั้งใจเรียนเมื่อปิดคอร์สแล้วจะกลายเป็นคนใหม่ที่ตัดสินโทษผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรม ถูกต้องตามหลักการมากขึ้น

    เนื้ออหารายวิชา – หลักทั่วไปแห่งกฎหมาย ลักษณะประเภท และเนื้อหาที่มาของกฎหมาย กฎหมายลายลักษณ์อักษร การจัดทำ การใช้ การยกเลิกกฎหมาย กฎหมายลักษณะต่างๆ 




    03_นางผีเสื้อสมุทร จากเรื่อง “พระอภัยมณี”                          ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร


    “นางผีเสื้อเหลือโกรธโลดทะลึ่ง โตดังหนึ่งยุคุนธร์ขุนไศล
    ลุยทะเลโครมครามตามออกไป สมุทรไทแทบจะล่มถล่มทลาย
    เหล่าละเมาะเกาะขวางหนทางยักษ์ ภูเขาหักหินหลุดซุดฉลาย
    เสียงครึกครื้นคลื่นล้มขึ้นกลุ้มกาย ผีเสื้อร้ายรีบรุดไม่หยุดยืน ฯ”

    หลังจากที่พระอภัยมมณีและสินสมุทรได้หลอกให้นางผีเสื้อสมุทรไปบำเพ็ญศีล เพื่อตนเองจะได้หนีไปแล้ว เมื่อนางกลับมาแล้วรู้เรื่องราวทั้งหมดก็โกรธแรงมากแม่ !!! นางบุกพุ่งออกไปในทะเลจนท้องทะเลปั่นป่วน เกาะแก่งพังทลายไปเลยจ้า




    04_นางผีเสื้อสมุทร X Under water world #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed

    อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า ตามไปก็เสียเวลาเปล่า นอกจากพระอภัยมณีและสินสมุทรจะไม่ยอมกลับมากับนางแล้ว นางยังถูกเพลงปี่ของพระอภัยฯ (ที่ไม่อภัย) จนต้องอกแตกตายด้วย (เศร้าไปไหม?) เราขอแนะนำวิชาที่จะเยียวยาจิตใจให้นางผีเสื้อสมุทร คือ รายวิชา “เปิดโลกใต้ทะเลไทย” (Under water world) ลูกผัวไม่เอาเรา โนสน โนแคร์จ้า มาใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์เพื่อท้องทะเลที่รักดีกว่า จะเห็นว่าแรงโกรธของนางทำให้ท้องทะเลปั่นป่วน เกาะแก่งพังทลายไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่สุด ถ้าได้เรียนวิชานี้นะ นอกจากจะทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใต้ท้องทะเลไทยแล้ว ยังอาจคิดอ่านทำแคมเปญเพื่อรักษาทรัพยากรใต้ท้องทะเลได้อีกนะ ฉายา “ผีเสื้อรักษ์โลก” แน่นอนได้มงไปครองจ้ะ

    เนื้ออหารายวิชา - ความหมาย และความสำคัญของปะการังและระบบนิเวศแนวปะการัง แนวปะการังในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อแนวปะการัง การใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง มาตรการอนุรักษ์แนวปะการัง และการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย



    05_อิเหนาและท้าวกุเรปัน จากเรื่อง “อิเหนา”

    อิเหนากับท้าวกุเรปันผู้พ่อ มีปัญหาขัดแย้งกัน เพราะอิเหนาได้นางจินตะหราเป็นชายาและลงหลักปักฐานอยู่เมืองหมันหยา โดยที่ไม่เหลียวแลคู่ตุนาหงันอย่างนางบุษบา บุตรีของท้าวดาหาซึ่งเป็นวงศ์เทวัญเดียวกัน ศึกที่ประชิดเมืองดาหาเป็นปัญหาสืบเนื่องจากการที่อิเหนาไม่แต่งกับบุษบา ท้าวกุเรปันผู้พ่อส่งสารไปถึงอิเหนาที่เมืองหมันยา ประกาศตัดพ่อ-ลูก!!! หากอิเหนาไม่ยกทัพมาช่วยในการศึกครั้งนี้

    บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
    เสียงงานการวิวาห์จลาจล ต่างคนต่างข้องหม่องใจ 
    การสงครามครั้งนี้มิไปช่วย ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน 
    จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี



    06_อิเหนาและท้าวกุเรปัน x Family Relation #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed

    จากปัญหาผิดใจกันระหว่างอิเหนากับท้าวกุเรปัน เราขอแนะนำให้พ่อ-ลูกคู่นี้ลงทะเบียนเรียนรายวิชา “ครอบครัวสัมพันธ์” (Family Relation) คนหนึ่งชอบคลุมถุงชนลูกชาย อีกคนก็ดื้อแพ่ง ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วยการพยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์และจัดวางตนเองให้อยู่ในบทบาทของคู่ความสัมพันธ์ที่เหมาะควร เรียนคอร์สนี้จบ อิเหนาไม่มีทางได้เจอบุษบานาจา (อ้าว! แล้วเรื่องอิเหนาจะเดินต่อไปยังไงล่ะนี่) เพราะคุณพ่ออย่างท้าวกุเรปันคงใจกว้างสุดๆ ยอมรับจินตะหราเป็นลูกสะใภ้เรียบร้อยโดยไม่ต้องประกาศตัดพ่อ-ลูกกันละ
    .
    เนื้อหารายวิชา ความหมายและความสำคัญของครอบครัวในมุมมองด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ปัจจัยเอื้อต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว กระบวนการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว การวิเคราะห์และคลี่คลายปัญหาครอบครัวจากมุมมองแบบองค์รวม 


    07_ขุนช้าง จากเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

    “เข็มขัดรัดเอวดูพลุ่มผลุ อลุฉุไม่สมกับผ้านุ่ง
    ขนอกรกเต็มตลอดพุง มุมุ่งด่วนเดินลงจากเรือน
    บ่าวไพร่ตามหลังมาพรั่งพรู ขุนช้างเห็นคนดูอยู่กล่นเกลื่อน
    ดุบ่าวตามนายทำกรายเชือน กูจะเฆี่ยนหลังเปื้อนระงมไป”

    ตอน “ขุนช้างขอนางพิม” 

    ปัญหาหลักๆ ของขุนช้างเป็นเรื่องน้ำหนัก จะสวมใส่อะไรก็ไม่ค่อยเข้าทีนัก ทั้งๆ ที่ความรักมีให้นางวันทองเต็มร้อย รักแบบหมดใจให้เธอทุกอย่าง แต่ก็มักโดนตัดสินจากรูปกายภายนอก ยิ่งพอมาเปรียบเทียบกับ “ขุนแผน” ผู้มีรูปอันหล่อเหลาแล้ว ก็เลยกลายเป็น “รอง” ไปเสียทุกเรื่อง (ยกเว้นเรื่องมีฐานะดีกว่า สายเปย์)



    08_ขุนช้าง x WEIGHT CONTROL #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed

    ไม่ต้องห่วงเลยจ้า ถ้าขุนช้างอยู่ยุคสมัยนี้ เราขอแนะนำให้ไปลงเรียนรายวิชา “การควบคุมน้ำหนัก” (WEIGHT CONTROL) เรียนจบครบคอร์ส ได้วิธีการดูแลตัวเองเพียบ ทั้งวิธีออกกำลังกายและเรื่องโภชนาการและการกำหนดอาหาร รับรองว่าลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้อย่างถูกวิธี ไม่เป็นอันตราย รับรองว่าเล่นเอาขุนแผนที่เน้นหน้าหล่อๆ แต่มากรัก ต้องตะลึงไปเลยจ้า #ทีมขุนช้าง

    เนื้อหารายวิชา ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับสุขภาพ สารอาหารแต่ละชนิดที่มีผลกระทบต่อน้ำหนักตัว สารอาหารและการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักและการควบคุมน้ำหนัก 




    09_ทศกัณฐ์ จากเรื่อง “รามเกียรติ์”

    ๏ เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี
    ยิ่งฟังยิ่งเฟือนสมประดี ที่ในรูปทรงนางสีดา
    ตั้งแต่น้องท้าวมากล่าวถึง ให้คะนึงในความเสน่หา
    แสนรักสุดรักกัลยา อสุราคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ
    แล้วว่าพระรามผู้สามี จะเปรียบงามกับพี่นี้ไฉน
    ถ้าได้มาร่วมภิรมย์ใน เห็นจะรักใคร่นะบังอร ฯ

    ปมขัดแย้งสำคัญที่ทำให้เรื่อง “รามเกียรติ์” ขยายออกไปยาวมากๆ ก็เกิดจากการที่ทศกัณฐ์โดนนางสำมะนักขาซึ่งแอบหลงรักพระรามเป่าหู ทศกัณฐ์หลงความงามของนางสีดามากถึงขั้นไปลักนางมาเป็นเมีย เรื่องราวก็ขยายกันไปใหญ่โตกลายเป็นศึกใหญ่ระหว่างฝั่งพระรามและฝั่งทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ส่งใครไปรบ ก็พ่ายแพ้ตลอด จนในท้ายที่สุดแล้วต้องจบชีวิตลงในศึกครั้งสุดท้าย




    10_ทศกัณฐ์ X ปรัชญาและ ตรรกะวิทยา #Thaiฤทธิ์ x Gen-ed

    จากปัญหาเรื่องขาดสติ มัวเมาอยู่ในความหลงแบบควบคุมไม่ได้ จนต้องลักนางสีดามา แล้วก็ยังคิดไม่ได้สักทีว่า ไม่ใช่! ไม่ถูกต้อง! กระโดดลงสนามทำศึกกับฝั่งพระรามอย่างยืดเยื้อยาวนานจนกลายเป็นการรบที่ค่อยๆ ส่งเผ่าพงศ์วงศ์ยักษ์ของตนเองไปตายทีละตนสองตน (จนหมดวงศ์เว้นพิเภกซึ่งได้ครองกรุงลงกาต่อจ้า) เราขอแนะนำให้ทศกัณฐ์เรียนรายวิชา “ปรัชญาและตรรกะวิทยา” (PHILOS LOGIC) ซึ่งน่าจะช่วยให้ทศกัณฐ์มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีการไตร่ตรองด้วยหลักการที่ดี มีตรรกะในการคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ปล่อยให้ตนเองถูกชัดเชิดยุแยงไปนทางเสื่อมได้

    เนื้อหารายวิชา ความรู้และที่มาของความรู้ปัญหาด้านจริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และ ปรัชญาประยุกต์ตรรกะวิทยาในฐานะเครื่องมือของปรัชญา ลักษณะการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยและนิรนัย หลักเกณฑ์และความสมเหตุสมผลในการอ้างเหตุผล เป็นต้น

    ---------

     บรรณานุกรม

    ขุนช้างขุนแผนฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ. ตอนที่ ๕ ขุนช้างขอนางพิม. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561จาก http://vajirayana.org/

     ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. ตอนที่-๑๗-ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง-ได้นางแก้วกิริยา. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561จาก http://vajirayana.org/

     รามเกียรติ์ฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ.สมุดไทยเล่มที่๒๗. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561 จาก http://vajirayana.org/

     บทละครเรื่อง ระเด่นลันได. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561 จากhttp://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/raden.htm

     ขุนช้างขุนแผนฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ. ตอนที่  35 ขุนช้างถวายฎีกา. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561จาก http://vajirayana.org/

     Chulalongkorn University General Education Center. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561จาก http://www.gefair.gened.chula.ac.th/

     บทละครเรื่องอิเหนา. (2556). ตอนศึกกะหมังกุหนิง. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561 จากhttp://santayakom.blogspot.com/2013/10/blog-post_18.html

     บทกลอนพระอภัยมณี. (ม.ป.ป.). ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2561 จาก https://sites.google.com/site/botkoncom/


    ---------


    ** คอนเทนต์นี้เป็นผลงานสืบเนื่องจาก project “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย” รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2560 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
    .
    สร้างสรรค์เนื้อหาโดย พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์, ชนัญญา เมธมโนศักดิ์, ภาณุวัฒน์ คำมาบุตร,พิชญา จิระวรรธนะ, ศศิชา ปาปะแพ, ปาณัสม์ อรรถวัน นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    Graphic by Looktan Simaporn
    .
    บรรณาธิกรต้นฉบับ หัตถกาญจน์ อารีศิลป 
    .
    **ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้างผลงาน"



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in