เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
SPLIT : มองโรคให้กว้าง

  • Director : M. Night Shyamalan
    Casts :  James McAvoy, Anya Taylor-Joy


    **มี SPOILERS**


    Split เป็นหนึ่งในบรรดาหนัง psychological thriller ที่ถูกพูดถึงอย่างมากตั้งแต่เริ่มเผยข้อมูลออกมาแรกๆ ด้วยความท้าทายจากการเล่นบท 24 บุคลิกภาพในคนคนเดียวของ James McAvoy (ที่จริงๆ เล่นแค่ 9) ทำให้เกิดกระแสตื่นตาตื่นใจและเป็นหนังที่หลายคนเฝ้ารอดูอย่างมาก

    Split เล่าเรื่องของชายหนุ่มที่เป็นโรคหลายบุคลิก เขาลักพาตัวหญิงสาว 3 คนไปเพื่อเหตุผลบางประการที่ควรไปดูเองในโรง ในขณะที่หลายคนจินตนาการว่ามันเป็นหนังระทึกขวัญ ตื่นตาตื่นใจ และรอคอยการหักมุมที่น่าจับตาของ M. Night แต่พอได้ดูเองกับตัวแล้วกลับรู้สึกแปลกใจ เพราะ Split เป็นมากกว่าหนังพวกนั้น


    Dissociative Identity Disorder


    "ฉันควบคุมตัวเองไม่ได้ ฉันเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแต่หยุดมันไม่ได้"

    "มารู้ตัวอีกที ฉันกำลังยืนอยู่แถวใกล้บ้าน แต่กลับจำไม่ได้ว่าจอดรถไว้ที่ไหน"

    "ฉันร้องไห้ฟูมฟามแต่อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร"

    "บางครั้งคนเรียกฉันด้วยชื่ออื่น แต่ฉันจำไม่ได้และไม่รู้ว่าเขาคือใคร"


    ข้างบนเป็นคำพูดจากปากของคนที่เป็น Dissociative identity disorder (DID) หรือโรคหลายบุคลิก ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งคือ Multiple personality disorder มีคนกล่าวว่าโรคนี้เหมือนกับการ "ไฮแจ็ค" ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีใครไม่รู้มายึดครองร่างกายและสมองของเราไป นั่นแหละโรค DID


    อาการและการวินิจฉัย

    ตาม DSM-5 หรือเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชปี 2013 ให้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลายบุคลิกเอาไว้ดังนี้

    A. มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน 2 บุคลิกภาพขึ้นไปซึ่งทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของ sense of self (ทัศนคติ ความชอบส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้า อาหาร) และ sense of agency (มีความรู้สึกว่าอารมณ์ ความคิด หรือการกระทำต่างๆ ไม่ใช่ของตนเอง) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความจำ การรับรู้ สติปัญญา และ/หรือการทำงานของระบบประสาท โดยอาการและอาการแสดงเหล่านี้อาจสังเกตเห็นได้จากผู้อื่นหรือตัวผู้ป่วยเอง

    B. มีปัญหาในการระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ข้อมูลส่วนบุคคล หรือเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ

    C. อาการเหล่านี้ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือทำให้การเข้าสังคม การประกอบอาชีพ หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน

    D. อาการดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทางวัฒนธรรมหรือศาสนา

    E. อาการต่างๆ ไม่ได้เกิดจากการผลกระทบของการใช้สารเสพติด (เช่น อาการหมดสติหรือวุ่นวายจากแอลกอฮอล์) หรือจากสภาวะการเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ภาวะชัก)


    สาเหตุ

    1. ปัจจัยด้านจิตสังคม เป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศในวัยเด็ก รวมไปถึงการละเลยในการดูแลและสื่อสารกับเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปขัดขวางการสร้างบุคลิกภาพในช่วงแรก แทนที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงแยกแตกแขนงออกมา เด็กเหล่านี้สร้างบุคลิกใหม่เพื่อมาจัดการกับบาดแผลในใจ ให้เหมือนเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นกับคนอื่น

    2. ปัจจัยด้านชีวภาพ เกิดจากความผิดปกติของคลื่นสมองและการไหลเวียนเลือดไปสู่สมองส่วนต่างๆ


    การรักษา

    เป้าหมายหลักของการรักษาไม่ใช่เพื่อกำจัดบุคลิกอื่นๆ ให้หมดสิ้นไป แต่เป็นการพยายามรวบรวมและประสานบุคลิกต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านการทำจิตบำบัด (psychotherapy) และอาจมีการใช้ยาเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์บางประการ


    เราก็ได้รู้จักโรค DID กันพอสมควรแล้ว คราวนี้ย้อนกลับมาถึงส่วนที่ถกเถียงกันหลังจากหนังเรื่องนี้ (และหนังเรื่องก่อนๆ หน้านี้) เข้าฉายบ้าง ต้องยอมรับว่าการหยิบยกประเด็นทางจิตเวชมาใช้ เช่นเดียวกับประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ ย่อมหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสายตาคนในสังคม เพราะนอกจากโรคจิตเวชจะถูกมองเป็น stigma หรือตราบาปทางสังคมอยู่แล้ว การไปซ้ำเติมหรือให้ความเข้าใจผิดๆ อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการที่หนังเอาตัวละครหลักเป็นโรคจิตเวชมาใช้จึงต้องละเอียดลออและระมัดระวังอย่างมาก

    ในขณะที่ M. Night Shyamalan สร้างตัวละครที่เสมือนจริง (และได้อิทธิพลมาจากเรื่องจริง) ออกมาได้ประณีตถี่ถ้วนดี ทว่ามันเหมือนดาบสองคม เพราะการตีแผ่ความรุนแรงของคนที่เป็นโรคจิตเวช ทำให้คนขยาดและหวาดกลัวคนกลุ่มนี้มากขึ้น หลายคนเกรงว่ามันจะสร้างความเข้าใจแบบผิดๆ กับบุคคลกลุ่มนี้ เพราะคนที่เป็นโรค DID นั้น ใช่ว่าจะมีบุคลิกรุนแรงแบบนี้เสมอไป ที่จริงแล้วพบได้น้อยมากด้วยซ้ำ ทว่าอีกแง่หนึ่ง M. Night ก็พยายามสื่อสารโดยการใส่ Dr. Karen Fletcher จิตแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยเข้ามาในเรื่อง การพยายามเข้าใจตัวคนไข้ของเธอทำให้หนังดูมีมิติและนุ่มนวลมากขึ้น หลายคนกลับบ้านไปค้นหาโรค DID และให้ความสนใจโรคทางจิตเวชมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราว่าเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนดูด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าเข้าไปดูอย่างเป็นกลาง ไม่มีอคติอะไรในใจ ก็จะเห็นทั้งสองด้านของเรื่องราวที่นำเสนอ


    Predator VS Prey

    หนังเรื่องนี้พูดถึงเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ความรุนแรงในครอบครัวและการทารุณกรรมเด็ก โดยแฝงผ่านเบื้องหลังของตัวละครหลักทั้งสอง ในขณะที่ตัวเอกชายของเราคิดว่าตัวเองเป็น "ผู้ล่า" เขาจับเด็กสาวมาขัง กุมอำนาจเหนือกว่า แต่หารู้ไม่ว่าเขานั่นแหละคือ "เหยื่อ" เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เราจึงได้รู้ว่าเควินเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นเหตุให้เขาสร้างบุคลิกภาพหลากหลายนี้ขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเคซีย์ เราได้รับรู้ผ่าน flashback ของเธอว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้เป็นอาตั้งแต่เด็ก ความเจ็บปวดและบาดแผลในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อทั้งคู่ในทางที่แตกต่างกัน บางคนอาจรับมือกับมันได้ (แม้จะไม่สมบูรณ์มากนัก) อย่างเคซีย์ หลายคนอาจส่งผลกระทบรุนแรงแบบเควิน แต่ในความเป็นจริง หลายคนอาจไม่โชคดีเช่นนั้นและลงเอยด้วยชีวิต ดังนั้นศัตรูที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ใช่ใคร แต่เป็นคนในครอบครัวต่างหาก


    Revolution

    หนังเล่นประเด็นเรื่องอำนาจและลำดับชั้น ขนาดในตัวคนๆ เดียวยังมีการวางลำดับแย่ง "แสง" ที่จะออกมาเฉิดฉายเบื้องหน้า แสดงถึงความเป็นใหญ่กับการกุมอำนาจ ความแข็งแกร่งและความอ่อนแอ คนที่มีอำนาจน้อยกว่า อ่อนแอกว่า ก็จะถูกกดและต้องดิ้นรนพยายามขึ้นมาสู่เบื้องหน้า แม้หนังไม่ได้สื่อออกมาตรงๆ แต่ก็แอบกระซิบผ่านทางเฮดวิก เด็ก 9 ขวบที่ถูกดุด่าว่ากล่าว ถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอๆ สุดท้ายคนที่ถูกมองว่าอ่อนแอเหล่านี้นี่แหละที่จะทนไม่ได้และรวมหัวก่อกบฏขึ้นมาในที่สุด


    Symbols

    สัตว์ประหลาด

    The Beast หรือตัวตนที่ 24 ถูกสร้างขึ้นจากการเลียนแบบสัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์ ทำให้มันเป็นปีศาจที่แข็งแกร่ง ไร้เทียมทาน สามารถปกป้องตนเองจากอันตรายต่างๆ ได้ นอกจากความแข็งแกร่งแล้ว สัตว์ประหลาดยังสื่อถึงความแตกต่าง เพราะเขารู้สึกแปลกแยกและต้องการความช่วยเหลือ ทว่าสิ่งต่างๆ กลับล้มเหลว จึงเลือกที่จะสวมความแตกต่างนั้นเป็นเกราะป้องกันตัว

    บันไดวน

    เรามักจะเห็นฉากมุมสูงที่ฉายให้เห็นบันไดวนหลายครั้ง นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ใส่มาเฉยๆ เพราะบันไดวนในเรื่องนี้สื่อถึงสภาวะสมองที่ลึกลับซับซ้อนและสภาพจิตใจที่สับสนวุ่นวายของตัวละคร มันหมุนวนลงไปด้านล่างจนเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด การเปิดประตูเข้าไปสู่ตัวตนและจิตใจของเขาจึงไม่ใช่เรื่องที่ใคร จะทำได้ง่ายๆ

    สิงโต

    ในตอนท้ายเราจะเห็นสิงโตเดินไปเดินมาอยู่ในกรงและรูปปั้นของพวกมันที่ตั้งโชว์อยู่ในสวนสัตว์ เป็นที่รู้กันว่าสิงโตเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่ง กล้าหาญ และเป็นผู้นำ ตอนท้ายเคซีย์มองไปยังรูปปั้นสิงโต ก่อนที่ตำรวจจะมาบอกว่าผู้ปกครองของเธอมาแล้ว ทว่าเธอไม่ได้ก้าวออกจากรถไปในทันที หนังไม่ได้เฉลยว่าสุดท้ายเธอตัดสินใจอย่างไร ตอนเด็กเคซีย์ไม่กล้ายิงปืนใส่อาในตอนนั้น แต่ตอนนี้เธอกล้าที่จะเล็งปากกระบอกปืนไปยังสัตว์ประหลาดนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเธออาจจะตัดสินใจที่จะต่อสู้และไม่กลับไปยังวังวนเดิมๆ ก็เป็นได้

    ______________________________________


    Split เป็นหนังที่เราดูแล้วไม่ได้ตื่นเต้นหรือกดดันมากอย่างที่คิด แต่เป็นหนังที่จดจ่อกับการดูมาก ทุกการขยับกล้ามเนื้อใบหน้าของตัวละครมีความสำคัญ เราเลยชอบจับตาดูการแสดงของเจมส์ มันเป็นบทบาทที่ท้าทายและหลายคนคาดหวังเอาไว้มาก แต่เขาก็ทำออกมาได้ไม่เลวเลยทีเดียว อาจจะไม่ใช่การแสดงที่เจ๋งที่สุด แต่ก็เป็นที่พึงพอใจสำหรับเรา อีกอย่างต้องยกความดีความชอบให้ Anya ที่เล่นบทนิ่งๆ ออกมาได้จับใจเหมือนกัน การกำกับของ M. Night เองก็ไม่ธรรมดา แม้จะดำเนินเรื่องช้าแต่การตัดสลับกับ flashback ของเคซีย์ทำให้เรื่องดำเนินไปโดยไม่เบื่อหน่าย เขาเลือกใช้มุมกล้องที่เหมาะกับหนัง suspense โดยเฉพาะการเอียงกล้องที่สร้างภาวะไม่ปกติในใจ โดยรวมแล้วเป็นหนังที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรายังลังเลกับตอนจบที่ดูจะทำเพื่อต่อยอดให้หนังในอนาคต เพราะถ้าจบแบบอื่นอาจจะลงตัวกว่า


    References

    1. Dissociative Identity Disorder (Multiple Personality Disorder)
    2. หนังสือจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงใหม่ครั้งที่ 3

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in