เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
เจาะลึก The Young Pope : Opening Sequence

  • ผู้กำกับ : Paolo Sorrentino
    นักแสดงนำ : Jude Law, Diane Keaton, Silvio Orlando etc.


             The Young Pope เป็นซีรีส์ของ Paolo Sorrentino ผู้กำกับชาวอิตาลี ซีรีส์นี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเลนนี่ เบอราโด หรือสันตะปาปาปิอุสที่ 13 (แสดงโดย Jude Law) ที่ขึ้นเป็นสันตะปาปาชาวอเมริกันคนแรกด้วยอายุเพียง 47 ปี ซีรีส์พาเราไปรู้จักกับการเมืองในวาติกัน การต้้งคำถามถึงการมีอยู่ของพระเจ้า และเรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งในฐานะโป๊ป



    ------ ต่อจากนี้มีสปอยล์ ------



             ซีเควนซ์ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อไปนี้เป็นภาพความฝันของเลนนี่ที่กินความยาวกว่า 10 นาทีของตอนแรก เป็นการเปิดฉากที่มีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องในตอนถัดๆ ไป บอกถึงตัวตน ความขัดแย้ง จิตใต้สำนึกของเลนนี่ และนำเสนอเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง ขอแบ่งพูดเป็นทั้งหมดสี่ฉากแล้วกันนะ


    Scene 1 : Dream sequence within a dream sequence 

    เปิดมาด้วยภาพของเด็กทารกกำลังคลานอยู่บนกองทารกหลากหลายเชื้อชาติ

    แล้วเปลี่ยนไปเป็นภาพของเลนนี่กำลังคลานออกมาแทน

    เลนนี่เดินออกมาสู่วาติกันเวลากลางคืนที่ไร้ผู้คน

          โดยมีเบื้องหลังเป็นกองทารก

             ฉากนี้ใช้การแทรคกล้องตามตัวละครจากทารกที่กำลังคลานไปข้างหน้าสู่มุมสูงที่ปรากฎเป็นเลนนี่ในชุดโป๊ปออกมาแทน นอกจากเสื้อผ้าจะช่วยแนะนำให้รู้จักสถานะของตัวละครแล้ว ยังช่วยให้เกิดความแตกต่างระหว่างตัวละครและฉาก (สีขาวบนสีดำ) ทำให้ตัวละครเด่นและเป็นจุดสนใจมากกว่าโดยรอบ จากนั้นเลนนี่ก็ลุกขึ้น กล้องเครนลงและเอียงขึ้นปรับภาพให้กลับไปสู่ระดับสายตา เราจะเห็นเมืองวาติกันในยามค่ำคืนที่ไร้ผู้คน แสงที่ใช้เป็นโทนมืด อาศัยการใช้ไฟจากสองข้างทางเป็นเส้นสายตา ให้เห็นพื้นที่กว้างโอบล้อมตัวละคร สร้างความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง หรือแม้แต่ความหวาดกลัว ซีนนี้ไม่ได้เน้นที่การกระทำหรืออารมณ์ของตัวละคร จึงเห็นตัวละครหันหลังเพื่อปกปิดสีหน้า และใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ long shot เพื่อให้เห็นบรรยากาศโดยรอบ จากนั้นภาพจึงตัดมาที่ extreme long shot ทำให้เราเห็นสถานที่ในมุมมองที่กว้างขึ้นและเทียบให้เห็นขนาดของกองทารกที่สูงท่วมตึกกับขนาดตัวของเลนนี่ที่แทบมองไม่เห็น ก่อนที่ Paolo Sorrentino จะหลอกให้คนดูคิดว่าความฝันของเลนนี่จบลงด้วยการลืมตาตื่นขึ้นมา
             การจัดองค์ประกอบของภาพในเฟรมต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียว โดยจัดให้มีความสมมาตรและสมดุล ฉากนี้ไม่มีบทพูด มีเพียงเสียงหัวเราะของทารกที่ดังก้องสะท้อนมาจากที่ไหนสักแห่ง (non-diegetic sound) และเสียงรองเท้าของเลนนี่ขณะเดินที่เป็นเสียงเดียวที่เกิดขึ้นในฉาก (diegetic sound) เหมือนเรากำลังอยู่ในหัวของเลนนี่และได้ยินเสียงนั้นไปพร้อมกัน 

             ฉากนี้สร้างเซ็ตติ้งที่เหนือจริง ทำให้อนุมานได้ว่าเรากำลังอยู่ในหัวของเลนนี่และในนั้นเป็นสถานที่ที่ว่างเปล่า มีเพียงเขาเพียงลำพัง แสดงถึงความโดดเดี่ยวภายในจิตใจ อาจเป็นเพราะเลนนี่มีปมเรื่องที่เขาเป็นเด็กกำพร้า ทารกที่กองซ้อนกันอยู่เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าเขาเป็นหนึ่งในบรรดาทารกที่ถูกทอดทิ้ง และเขากำลังจะถือกำเนิดหรือเริ่มต้นชีวิตในสถานะใหม่ ซึ่งก็คือในฐานะโป๊ป และอาจจะบอกเหตุล่วงหน้าเรื่องต่อต้านการทำแท้งของตัวเลนนี่เองด้วย

    Scene 2 : Wake up, Lenny

             
             เริ่มจาก extreme close-up ภาพดวงตาเลนนี่ที่ลืมขึ้นมาและมองไปยังด้านบน โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่นอกจอ (offscreen space) นำสายตาให้เห็นว่าเลนนี่กำลังจ้องอะไรบางอย่างที่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็น จากนั้นตัดมาที่ภาพ close-up รูปปั้นพระเยซูกลับหัวและค่อยขยายออกมาให้เห็นภาพกว้างขึ้น เฉลยให้เราเห็นว่ามันเป็นรูปปั้นประดับอยู่บนหัวเตียงของเลนนี่ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าภาพกลับหัวที่เห็นครั้งแรกนั้นมาจากมุมมองสายตาของเลนนี่ (point of view shot)

             ต่อมาเลนนี่ลุกไปห้องน้ำเพื่อทำกิจวัตรประจำวัน ระหว่างนั้นวิทยุก็ส่งเสียงซ่าออกมา

            
              หลังจากเลนนี่เดินออกมาจากห้องน้ำ เขาทำสีหน้าฉงนมองไปยังวิทยุที่สัญญาณขาดๆ หายๆ โดยภาพวิทยุที่เราเห็นในตอนนี้ถูกฉายในมุมต่ำ เสมือนเรากำลังมองวิทยุจากสายตาของตัวเลนนี่เอง ส่วนการจัดองค์ประกอบในภาพนั้น Paolo Sorrentino วางตัวละครให้ห่างจากกลางภาพไปทางขวาเล็กน้อย แต่สร้างความสมดุลโดยการให้ตัวละครหันมองไปทางซ้ายเพื่อชดเชยช่องว่างที่ขาดและเผื่อที่สำหรับการเคลื่อนไหวของตัวละครในเวลาถัดไป
             การเคลื่อนกล้องและการตัดต่อในฉากนี้มีผลช่วยกระตุ้นอารมณ์คนดู นอกจากการตัดต่อสลับภาพระหว่างวิทยุและใบหน้าของเลนนี่แล้ว การเคลื่อนกล้องแบบซูมเข้าไปมากขึ้นในแต่ละช็อตที่ตัดสลับมานั้นช่วยสร้างความรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น 
             ด้านดนตรีประกอบก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยการใช้เพลงอย่าง Requiem, Op. 48 ของ Gabriel Fauré ที่ถูกขัดด้วยสัญญาณวิทยุขาดๆ หายๆ ก่อนจะเริ่มด้วยเสียงที่ไต่ระดับพิทช์ขึ้นในตอนต้นใน Labradford ทำให้คนดูจดจ่อและลุ้นว่ากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป แต่แล้วเสียงนั้นก็หยุดลงและตามมาด้วยเสียงทุ้มต่ำและสงบนิ่งของเบส ซึ่งเป็นตัวกลางที่ดีเพราะเสียงทุ้มต่ำของเบสนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนภายใน ทำให้เรารับรู้ด้วยร่างกาย เหมาะในการสร้างความรู้สึกลึกลับหรือมีอะไรซ่อนเร้น นอกจากนี้เสียงเบสยังมีความคล้ายกับเสียงเต้นของหัวใจด้วย 


             เลนนี่เดินมายังตู้เสื้อผ้าและเปิดให้เห็นชุดเครื่องแบบสะท้อนกับกระจก ก่อนที่เขาจะเปลื้องผ้าแล้วตัดภาพมาที่ long shot จากมุมห้องน้ำ จากนั้นกล้องจึงแทรคถอยหลังมาและประตูทั้งสองบานค่อยๆ ปิดลง

    จะเห็นว่ามีสิ่งของที่สื่อความหมายในฉากนี้หลายอย่าง 

    1. รูปปั้นพระเยซู
             จะเห็นว่าเมื่อเขาลุกขึ้นมาบนเตียง ศีรษะของเลนนี่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของรูปแกะสลักพอดิบพอดี การจัดวางลักษณะนี้เสมือนบอกว่าเขาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ทว่ามุมมองแรกที่ตื่นมา เขากลับเห็นภาพพระเยซูห้อยศีรษะลงมา ซึ่งเปรียบได้กับกางเขนกลับหัวที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านศาสนาคริสต์ แสดงให้เห็นว่าเลนนี่มีความเคลือบแคลงสงสัยในพระเจ้า (แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว มีการใช้กางเขนกลับหัวในคริสตศาสนจักรกันมานานแล้ว จากครั้งที่นักบุญเปโตรขอให้จนถูกตรึงกางเขนกลับหัว เพราะไม่อยากตีตนเสมอพระเยซูเจ้า) แต่ในที่นี้แสดงความคิดในจิตใจของเลนนี่ว่าเขากำลังสงสัยและตั้งคำถามต่อพระองค์

    2. กระจก 
             ในที่นี้เราจะเห็นกระจกสะท้อนเงาของเลนนี่ในห้องน้ำและชุดสันตะปาปาที่ตู้เสื้อผ้า อย่างที่รู้กันว่ากระจกเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนทั้งภายนอกและภายใน ดังนั้นกระจกจึงบ่งบอกถึงความขัดแย้งในตัวเลนนี่ แม้ว่าภายนอกเขาจะดูแข็งแกร่ง หยาบกร้าน ทว่าภายในกลับอ่อนไหวและมีปมด้อย นอกจากนี้ยังอธิบายถึงมุมมองที่ตรงกันข้ามกับคนอื่นและสะท้อนผลของการกระทำที่จะตามมา แต่การที่เลนนี่มองเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกนั้น สามารถบอกได้ว่าเขายังยอมรับการสะท้อนตัวตนและยังสามารถแก้ไขมันได้

    3. วิทยุ 
             เป็นตัวสื่อความหมายสำคัญในฉากนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง "การสื่อสาร" เพราะฉะนั้นสัญญาณที่ติดขัดจึงสื่อถึงการสื่อสารที่ไม่ราบรื่น เหมือนตัวเลนนี่และคนรอบข้างที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไรนัก นอกจากนี้ยังหมายถึง "สัญญาณ" ระหว่างเลนนี่กับพระเจ้าด้วย อย่างที่ได้เห็นในเรื่องว่าเลนนี่ภาวนากับพระเจ้าบ่อยครั้ง แต่บางครั้งคำภาวนานั้นก็ไม่มีการตอบรับจากเบื้องบน 

    4. การเปลื้องผ้า 
             ที่จริง Paolo Sorrentino ไม่จำเป็นต้องใส่ฉากนี้มาก็ได้ และจุดประสงค์คงไม่ใช่แค่การโชว์เรือนร่างของ Jude Law แต่การเปลื้องผ้าของเลนนี่คือการปลดเปลื้องให้เห็นตัวตนที่แท้จริง หรือบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงได้เช่นกัน

    Scene 3 : Intro to Pope 101


    ซีนนี้แนะนำเลนนี่ในฐานะโป๊ป รวมถึงตัวละครอื่นที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่อไป


             ช็อตนี้ใช้ backlight จากหน้าต่างเป็นแหล่งให้แสงธรรมชาติ โดย backlight นั้นทำให้เกิด rim light หรือแสงรอบตัวละคร จึงสามารถแยกตัวละครออกจากพื้นหลังได้


             ในฉากนี้เรากำลังสวมรอยมองผ่านกรอบสายตาของเลนนี่อีกครั้ง โดย Paolo Sorrentino จัด blocking และองค์ประกอบในฉากนี้ให้ดูแปลกประหลาดจากความเป็นจริง ทั้งระยะการยืนของตัวละครที่ห่างกัน การสับหว่างที่ไม่มีการซ้อนทับ ทำให้มันกลายเป็นเหมือนภาพศิลปะมากกว่าภาพเสมือนจริง ในขณะเดียวกันก็นำเสนอความอึดอัดโดยอาศัยความนิ่งและการรวมจุดสายตามายังกล้อง ประกอบกับดนตรีที่มีเสียงร้องโซปราโน่กระตุ้นอารมณ์อยู่เบื้องหลัง


             การแสดงของ Jude Law ในซีนนี้เน้นที่การแสดงสีหน้าเป็นส่วนใหญ่ หากไม่ได้สังเกตอาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนนัก ทว่ามันบอกความสัมพันธ์ของตัวละครได้ดีทีเดียว จะเห็นว่าตอนที่เลนนี่เดินผ่านพระคาร์ดินัลคนหนึ่ง เขาส่งยิ้มให้และมุมปากของเลนนี่หยักขึ้นเล็กน้อยเพื่อทักทาย หลังจากเดินผ่านพระคาร์ดินัลองค์นั้นไปแล้ว สีหน้าเลนนี่กลับมาขมึงทึง คิ้วขมวดกันเพื่อแสดงอารมณ์กังวลและตึงเครียดแทน สุดท้ายเรามารู้ทีหลังว่าพระคาร์ดินัลองค์นั้นคือแอนดรูว์ เพื่อนสมัยเด็กของเลนนี่นั่นเอง แม้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่เห็นได้ว่า Jude Law ใส่รายละเอียดลงไปได้ดีทีเดียว

             ในซีนนี้มีการใช้ point of view shot และ close up shot เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนดูเห็นและรับรู้อารมณ์ของตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


             หลังจากเลนนี่ไปนั่งที่เก้าอี้ เสียงเพลงก็หยุดลง เขาถอนหายใจและหลับตา เราเห็นภาพของหญิงสาวคนหนึ่งเปลือยกายอยู่และตัดภาพมาที่เด็กผู้ชายกำลังยืนมองพลางยิ้มอยู่ริมต้นไม้ ซึ่งเป็นภาพความทรงจำในสมองของเลนนี่ เด็กคนนั้นคือเลนนี่และหญิงสาวคนนั้นคือแม่ของเขา


    ภาพตู้กดน้ำอาจเป็นการบอกเหตุล่วงหน้าเกี่ยวกับซิสเตอร์แอนโทเนียในตอนที่ 8 หรือสื่อถึงความบริสุทธิ์ในจิตใจ


             ช็อตนี้ใช้เทคนิคการถ่ายแบบ dolly zoom หรือ vertigo effect คือการซูมกล้องขณะที่แทรคกล้องไปด้วย เราจะเห็นตัวละครที่เป็น foreground คงที่ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมรอบข้างเคลื่อนไหว การใช้เทคนิคนี้ช่วยให้เกิดเรารู้สึกเหมือนดำดิ่งเข้าไปในสมองของเลนนี่



    หลังจากนั้นเลนนี่เดินแหวกม่านออกมาเพื่อที่จะเดินไปยังระเบียง เขามีสีหน้ากังวลและประหม่า


    การใช้แถบดำคาดทำให้โฟกัสส่วนที่สื่อความรู้สึก คือ ดวงตาและปากได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้แถบดำสามแถบนี้ยังเหมือนมู่ลี่ที่เรามองผ่านเข้าไปเห็นจากภายนอก เหมือนเรากำลังลอบมองเลนนี่อยู่จากอีกฝั่ง

    Scene 4 : I am the Pope.


             สิ่งที่โดดเด่นในฉากนี้คือบทพูดที่สร้างความแตกตื่นให้ทั้งตัวละครในเรื่องและคนดู 

    "พวกเราลืมที่จะช่วยตัวเอง ที่จะใช้ยาคุมกำเนิด ทำแท้ง สนับสนุนการแต่งงานของเกย์ ยินยอมให้นักบวชรักกันและแม้กระทั่งแต่งงานกัน! พวกเราลืมไปว่าเราตัดสินใจที่จะตายได้หากเราชิงชังที่จะมีชีวิตอยู่ พวกเราลืมที่จะมีเพศสัมพันธ์นอกเหนือจากการให้กำเนิดโดยไม่รู้สึกผิด! เพื่อหย่าร้าง ให้แม่ชีดำเนินพิธีกรรม เพื่อให้กำเนิดทารกโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบและจะถูกค้นพบในอนาคต"

             พอฟังแล้วหลายคนถึงกับลมจับ พระคาร์ดินัลหงายหลังล้มตึงกันไปเป็นแถบ แต่สุดท้ายแล้ว เลนนี่สรุปว่า "พวกเราลืมที่จะมีความสุข" 

             บทพูดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เลนนี่จะกระทำในตอนต่อๆ ไป ทว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขาคิดในจิตใต้สำนึกและมันเป็นความต้องการที่แท้จริงของเขา หากพิจารณาเทียบกับตอนที่ 10 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายแล้ว สาระสำคัญที่เลนนี่ต้องการบอกทุกคนก็คือ "ความสุข" 

             Paolo Sorrentino สร้างความแตกต่างระหว่างความจริงและความฝัน เพื่อที่สุดท้ายเขาจะได้ย้อนกลับมาบอกเราว่า ที่จริงแล้วมันคือสิ่งเดียวกัน แม้การกระทำและคำพูดของเลนนี่จะไม่เถรตรงเช่นความคิด แต่ท้ายที่สุดแล้วมันไม่แตกต่าง

             ภาพความฝันนี้เป็นสิบนาทีแรกที่แยบยล เทคนิคการกำกับและตัดต่อภาพละเอียดลออ ผ่านการคิดมาอย่างดีและแฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ นอกจากนี้การแสดงที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปของ Jude Law กับเสียงดนตรีประกอบยังเข้ากันได้อย่างลงตัว นับเป็นซีนเปิดเรื่องที่สำคัญอีกซีนหนึ่งที่ให้อะไรมากกว่าความสวยงามและความแปลกประหลาดที่เป็นที่กล่าวขานกัน

    ______________________________________________


    ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ ถ้าใครมีความคิดเพิ่มเติมประเด็นไหน ไปพูดคุยกันได้ที่ @PuRoii ตลอดเวลาเลย

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in