Dunkirk (2017)
ผู้กำกับ : คริสโตเฟอร์ โนแลน
Dunkirk เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองกำลังสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสถูกล้อมจากเยอรมัน จะทำอย่างไรเพื่อให้กองทัพกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยภายใต้การกดดันจากศัตรู พวกเขาเริ่ม "ปฏิบัติการไดนาโม" ขึ้นมา
ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราไม่ใช่คนที่มีความพยายามดั้นด้นไปดู IMAX ขนาดนั้น แต่พอเป็นเรื่องนี้เรามีความตั้งใจว่าต้องไปดูให้ได้ เพราะโนแลนขึ้นชื่อว่าพิถีพิถันกับงานภาพมากและเคลมว่ามันสร้างประสบการณ์ที่สมจริง
ก่อนอื่นขออธิบายเล็กน้อย ระบบ 70 มม. เนี่ยมันมีสัดส่วนจอภาพ 1.43 : 1 ซึ่งต่างจาก IMAX ดิจิทัลที่ปกติ 1.90 : 1 และจอหนังทั่วไปคือ 2.40 : 1 อ่านแล้วก็งงว่าพูดอะไรของมันอธิบายง่าย ๆ คือคนดูจะเห็นภาพด้านบนกับด้านล่างมากขึ้น เรียกได้ว่ามองจากสวรรค์เห็นยันนรก (ก็เวอร์ไปนิด) และอีกประการหนึ่งคือภาพจะดูเป็นสี่เหลี่ยมมากขึ้นเนื่องจากเราจับยืดส่วนแนวตั้งออกไปมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดในใจ(หรือสบถออกมา)ว่า "เออ ตูเข้าใจนานแล้วโว้ย" เพราะฉะนั้นเรามาพูดถึงตอนสัมผัสประสบการณ์จริงในโรงกันบ้าง ขั้นแรกก็คือแพง ขั้นที่สองก็คือเมื่อยเนื่องจากต้องเดินขึ้นบันไดไปสูง เอาล่ะ เชิญอ่านหัวข้อถัดไปได้ เฮ้ย...เดี๋ยว!มันได้ผลอย่างที่เขาพูดกันจริงนะ ตั้งแต่ซีนเปิดก็รู้สึกเหมือนเอาเก้าอี้ไปตั้งอยู่กลางถนนล้อมรอบด้วยเสียงปืนที่กระหน่ำเข้ามาจากทุกทิศ พอมันไม่มีขอบดำบนล่างแล้วทำให้มุมมองเราโฟกัสไปที่จอได้แบบไม่มีข้อจำกัด เหมือนทุกอย่างไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็น first person ขนาดนั้น แต่ก็กดดันเหมือนอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับตัวละครเหมือนกัน ยิ่งฉากที่ลุ้นระทึกและกดดันหน่อยแทบจะรู้สึกได้ว่าตัวเองถูกบีบรัดเข้ามาจากทุกฝั่ง เพราะรูปทรงที่มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมจตุรัสมันอึดอัดกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้า มาคิดดูแล้วถ้าดูจอปกติก็คงเสียดายเหมือนกันเพราะคงไม่ได้ประสบการณ์ใกล้เคียงกับที่โนแลนต้องการจะสื่อสักเท่าไร
ว่าด้วยเรื่องของหนัง มันก็คือการเล่นแร่แปรธาตุกับ space และ time ดี ๆ นี่เอง โนแลนเองก็โดดเด่นเรื่องการบิดเบือนกาลเวลามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วเขาสามารถเปิดมิตินี้ไปสู่มิตินู้นได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีหรือกระโดดกลับไปกลับมาเล่าเรื่องเป็นช่วง ๆ ก็ยังได้ เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งกาลเวลาที่สับขาหลอกคนดูมานักต่อนัก แต่ Dunkirk ไม่ได้ฉวัดเฉวียนเวียนเศียรขนาดนั้นเพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นพล็อตที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงเหมือนเรื่องอื่น
Dunkirk แบ่งเป็น 3 เส้นเวลา คือ 1 สัปดาห์ 1 วัน และ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้เอามาเล่าพร้อมกันภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง 46 นาที เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องจะไม่เรียงตามลำดับเวลา (non-linear)บางส่วนต้องยืด บางส่วนต้องหด ทำให้มีข้อจำกัดในการเล่าพอสมควรและทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมความยาวของหนังเรื่องนี้จึงมีแค่ 1 ชั่วโมง 46 นาที อาจจะมีบางช่วงบางตอนที่ดูแล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ...มันเกิดขึ้นไปแล้วนี่ ก็อย่าแปลกใจไปเพราะเวลาของเราไม่เท่ากัน (ความรักก็เช่นกัน) แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเส้นเรื่องทั้ง 3 เส้นก็มาบรรจบกันในที่สุด (เมื่อเรือสำราญรับคอลลินส์ขึ้นมา)
เอาจริงก็ไม่ได้ดูยากอะไรเลยถ้าเทียบกับเรื่องอื่น ไม่ต้องใช้สมองพยายามทำความเข้าใจอย่างหนักหน่วง ยังไงถ้าผ่านมาอ่านก็ขอบคุณที่เห็นใจมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ แต่ส่วนที่ยากสุดสำหรับเราน่าจะเป็นการยืดเวลา คิดดูว่า 1 สัปดาห์มันยังตัดภาพเหตุการณ์ได้ 1 วันโฟกัสที่เรือสำราญลำเดียวก็พอไหว แต่ 1 ชั่วโมงบนเครื่องบินนี่สิ ทำยังไงให้ไม่น่าเบื่อ (แต่จะบอกว่าเป็นพาร์ทที่เราชอบที่สุดเลยนะ) ที่จริงมีอะไรไม่มากแต่ได้ใจเราไปเต็ม ๆ หลังจากเกจน้ำมันพัง เครื่องบินเพื่อนค่อย ๆ หล่นไปจนเหลือตัวคนเดียว แถมคนข้างล่างกี่แสนชีวิตก็รอคอยความช่วยเหลืออยู่ มันเป็นความรู้สึกที่กดดันและโดดเดี่ยวมากนะ แฟริเออร์นับว่าเป็นคนที่แบกรับบทบาทสำคัญมากอีกบทบาทหนึ่งในเรื่อง ตอนจบเศร้าที่สุดในเรื่องแล้วสำหรับเรา ในขณะที่เขาทำหน้าที่สำเร็จแต่สุดท้ายต้องเสียสละชีวิตตัวเองแบบนั้น มันให้ความรู้สึกของความสำเร็จที่หม่น ๆ นะ จะดีใจก็ดีใจไม่สุด ยิ่งตัดภาพสลับกับตอนที่ทหารขึ้นรถไฟกลับบ้านพร้อมรอยยิ้มนี่โหวงมาก
โนแลนให้สัมภาษณ์บอกว่าใช้ "God shots" น้อย อธิบายให้ฟังง่ายๆ คือมุมมองของพระเจ้า (ที่มองลงมาจากฟากฟ้า) อาจเรียกอีกชื่อว่า bird's eye view, helicopter shot หรืออะไรก็ตาม แต่โนแลนบอกว่า ไม่เอาเว้ย! นั่นมันสามัญชนเขาถ่ายกัน! (โนแลนไม่ได้พูดหรอก เราพูดเอง) อย่างที่รู้กันว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นพล็อตเรื่องซับซ้อนหรือการดำเนินเรื่องที่หวือหวาแต่เน้นความสมจริงและประสบการณ์ของการเข้าไปเป็น 1 ใน 400,000 คนที่ดันเคิร์ก โนแลนเลยเน้นการถ่ายแบบ subjective หรือภาพแทนสายตาตัวละคร (หลายคนอาจคุ้นเคยในชื่อเรียกว่า point of view) ซึ่งมันต่างจากหนังส่วนใหญ่ตรงที่เราจะเห็นภาพแบบobjective หรือภาพแทนสายตาคนดู คอยเฝ้ามองตัวละครอยู่ห่าง ๆ เพราะฉะนั้นการถ่ายทำก็จะวางกล้องในตำแหน่งที่นักแสดงอยู่จริงตั้งไว้บนหาดปะปนกับบรรดาทหาร ตั้งไว้บนเรือที่แล่นอยู่ หรือแม้แต่บนเครื่องบินก็ยังเอาไปตั้งจนได้อันหลังถือว่าโหดหินอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
เรายุ่งกับศัพท์เทคนิคกันมาพอสมควรแล้วทีนี้ไอ้การถ่ายที่แตกต่างกันพวกนี้มันสำคัญยังไง?
การถ่ายที่โนแลนบอกจะให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังประสบกับเหตุการณ์นั้นอยู่โดยตรงไม่ใช่คนสังเกตจากภายนอก ตัวละครมองเห็นอะไร ได้ยินอะไร เราก็รู้สึกไปด้วย สร้างความหวาดระแวงตลอดเวลาทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ง่าย บางช็อตก็จะใช้ handheld ก็ตามชื่อคือการใช้มือถือนั่นแหละ แบกกล้องถ่ายตามไป (ซึ่งโนแลนบอกว่ากล้อง IMAX หนัก 60 ปอนด์หรือราว ๆ 27 กก.) ภาพจะสั่น ๆ หน่อย อันนี้ก็เพิ่มความสมจริงเข้าไปอีก ลองคิดดูว่าระเบิดตูมตามหรือตัวละครกำลังวิ่งหนีตายแต่กล้องจ่ออยู่นิ่ง ๆ แบบนี้ก็แปลก ๆ ใช่ไหม เหมือนไม่ใช่ส่วนหนึ่งกับคนในเหตุการณ์การถ่ายทุกช็อตทุกซีนมีความหมายหมด
ส่วนตัวเราชอบช็อตบนเครื่องบินมาก เท่าที่ดูฉากบินมาหลายเรื่องยังไม่เคยเห็นคนถ่ายมุมแบบนี้ทั้งการเอียงกล้องไปกับเครื่องบินหรือถ่ายผ่านกระจกนักบิน มันเป็น point of view ของตัวละครจริงๆ ถ้าไม่ติดกล้องตอนขึ้นบินจริงก็ถ่ายไม่ได้ อันนี้ดีมาก ประทับใจ
ตัวละครและความนิรนาม
เรื่องนี้โนแลนไม่เน้นตัวละครเพราะ Dunkirk ไม่ใช่หนังของฮีโร่คนใดคนหนึ่งแต่เป็นหนังของทุกคนที่ร่วมต่อสู้ฝ่าฝันมาด้วยกันเพราะฉะนั้นถ้าเดินออกมาจากโรงแล้วจำไม่ได้ว่าใครชื่ออะไรก็ไม่แปลกคุณคือคนส่วนใหญ่ และถ้าลองย้อนไปดูชื่อตัวละคร (ที่มาเสิร์ชดูทีหลังจากเน็ต)อเล็กซ์ ทอมมี่ กิ๊บสัน จอร์จ ปีเตอร์ ดู ๆ แล้วก็ไม่เห็นต่างอะไรกับวิชัย ณฐพลธนชาติเลยอ้ะ! ถูกแล้วล่ะ ที่เป็นแบบนี้เพราะโนแลนอยากให้มันดูทั่วไปและไม่เป็นที่น่าจดจำนั่นแหละ ดังนั้นเราจะไม่เจอตัวละครชื่อบรูซ เวย์นในหนังเรื่องนี้ แต่เราว่าโนแลนพลาดมากจุดนี้เพราะทุกคนหล่อมากจนดึงดูดสายตาอยู่ดี 5555 ขอโทษค่ะ /นอนตายแบบ IMAX 70mm
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ในสงครามไม่มีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้เท่านั้น" สงครามสร้างความเสียหายกับทุกคนที่เกี่ยวข้องและชัยชนะเป็นเรื่องจอมปลอม ดังนั้นการที่พวกเขามีชีวิตรอดปลอดภัยกลับมาได้ก็เป็นความกล้าหาญและการเสียสละที่ยิ่งใหญ่แล้ว นี่คือชัยชนะที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
จริง ๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่หนังเรื่องนี้บอกกับคนดู แต่ยกหลัก ๆ มาให้เท่านี้ก็แล้วกัน
Dunkirk เป็นหนังที่ให้ประสบการณ์สมจริงในแบบฉบับหนังสงครามประเภท suspense thriller ในตัวเนื้อเรื่องอาจไม่ได้โดดเด่นเหมือนหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลนเรื่องอื่น แต่ Dunkirk เป็นหนังที่ควรค่าแก่การรับชมในหลายแง่ โดยเฉพาะคนที่อยากศึกษาเรื่องโปรดักชั่น เราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการในระดับที่หาชมไม่ได้ง่าย ๆ ถ้าไม่ใช่ผู้กำกับมือฉมัง ชื่อเสียงโด่งดังและงบประมาณล้นฟ้า อีกทั้งเรายังได้เห็นหนุ่มหล่อมากมายในเรื่องเดียว นักแสดงหน้าใหม่ที่มาปรากฏตัวบนหน้าจอและโชว์ฝีมือการแสดงที่ไม่ธรรมดาให้เราได้ชมกัน บางทีเราอาจจะกำลังดูดาวรุ่งหน้าใหม่ของวงการอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้ สุดท้ายอย่าลืมว่า IMAX 70 mm ไม่ได้หาดูกันได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นจงไปดูในขณะที่ยังมีให้ดูเถอะ
ก่อนจากไป เห็นหลายคนจำตัวละครไม่ได้ ขอแถมอันนี้ให้ก็แล้วกัน
ขอบคุณทุกคนที่อ่านค่ะ
written by @puroii
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in