เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
ฉลาดเกมส์โกงและทุกอย่างที่อยากพูด
  • ฉลาดเกมส์โกง

    กำกับ : นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
    นักแสดง : ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ชานน สันตินธรกุล, 
    อิษยา ฮอสุวรรณ, ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ



    Same but different

                   เคยมีคนบอกว่าในวงการหนัง สิ่งที่เรากำลังมองหาไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่ แต่อาจเป็นแค่อะไรที่ same but different หรือก็คือ "ความเหมือนที่แตกต่าง" ต้องยอมรับว่าหนังส่วนใหญ่ที่ออกมาฉายในโรงทุกวันนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ไปเสียทุกอย่าง บางทีพล็อตคล้ายกัน หยิบนั่น จับนี่จากเรื่องราวที่ผ่านตามา หรือเอาเรื่องเก่ากลับมารีเมคแล้วเสริมบางอย่างเข้าไปอย่างที่เราเคยเห็น เช่น หนังรักที่มีอุปสรรคขัดขวางมากมายแต่สุดท้ายก็แฮปปี้เอนด์ดิ้ง หนังจากเทพนิยายดัง ๆ ที่เอากลับมาสร้างใหม่ เล่าแล้วเล่าอีกไม่จบไม่สิ้น หรือหนังไซไฟต่อสู้กับเอเลี่ยนที่จะมายึดครองโลก เราเห็นหนังแบบนั้นมานักต่อนัก 

    แต่ทำไมหนังอย่าง Titanic ถึงต่างออกไป 

    ทำไมหนังอย่าง Arrival ถึงไม่เหมือนไซไฟเรื่องอื่น ๆ 

    นั่นเป็นเพราะว่าเขาให้อะไรที่ same but different ไง 

                   การดูหนังทุกวันนี้ เราไม่ได้คาดหวังที่จะเห็นอะไรสดใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไอเดียทั้งหลายล้วนมาจากการเก็บประสบการณ์ที่สะสมมาผูกรวมกัน แต่เรากำลังมองหาหนังที่ทำเรื่องเดิม ๆ ที่เคยมีให้น่าสนใจและโดดเด่นขึ้นมา เอาล่ะ เข้าเรื่องสักที 

                   เมื่อพูดถึง "ฉลาดเกมส์โกง" หนังเรื่องนี้ทำให้เราแปลกใจตั้งแต่อ่านพล็อต ประการแรกคือมันแหวกออกจากแนวทั่วไปของวงการหนังไทย ประการที่สองคือมันเป็นหนังแนวที่เราชอบ (โอเค นั่นเลยทำให้เราอยากดูมากขึ้น)

                   คงไม่สายไปที่จะพูดถึงหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ควรค่าแก่การพูดถึง ก่อนอื่นต้องบอกว่าการนั่งดูเด็กทำข้อสอบ ปกติแล้วเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก และจากประสบการณ์ตรง การทำข้อสอบก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากแม้แต่จะนึกถึง ใครกันจะอยากเข้าไปดูเด็กนั่งทำข้อสอบในโรงภาพยนตร์เฉย ๆ น่าเบื่อตายชัก แต่ด้วยบทและตัวละครที่มีมิติ การกำกับ ตัดต่อ นักแสดง รวมไปถึงซาวด์ประกอบทั้งหมดรวมกันแล้วทำให้ฉลาดเกมส์โกงออกมาดีเกินคาดจริง ๆ



                   การที่จู่ ๆ จะมีไอเดียผุดขึ้นมาในสมองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ใช่ว่าทุกคนที่เห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นแล้วจะเกิดคำถามเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงขึ้นมาได้ (นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นไอแซ็ก นิวตัน) ดังนั้นรีเสิร์ชและความรู้รอบตัว ความช่างสังเกต ช่างคิด ช่างสงสัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนเขียนบท ทีนี้การจับเอาข่าวเรื่องการโกงระดับโลกมาปรับใช้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ฉลาดไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้ว ยังเข้าถึงง่าย ทุกคนคงผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาบ้างในช่วงชีวิตหนึ่ง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นเซ็ตติ้งที่ไม่ได้ใช้การลงทุนที่โอเวอร์เกินไปจนรับไม่ได้ และเป็นหนังที่สามารถดูได้ทุกเพศ ทุกวัย คนที่เอียนหนังรัก เบื่อหนังตลก หรือกลัวหนังผี ก็อาจจะหันมาสนใจหนังเรื่องนี้ แถมยังเล่นกับความสงสัยใคร่รู้ว่า ตกลงแล้วจะโกงกันอย่างไร จะประสบความสำเร็จไหม เมื่อดึงดูดผู้ชมได้ก็นับว่าผ่าน



    โซนสีเทา              

                   หนังเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ผลักผู้ชมเข้าสู่ gray zone เหมือนตอนที่ดู Now You See Me ถามว่าสิ่งที่กลุ่มจตุรอาชาทำมันถูกต้องทั้งหมดไหม...ก็ไม่ แต่เราก็ชอบที่ได้เห็นพวกเขาทำสำเร็จและอย่าปฏิเสธว่าคุณเองก็เอาใจช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากการเปิดโปงเช่นกัน แม้แต่หนังคลาสสิกอันโด่งดังอย่าง The Godfather เองก็ตาม ทั้งที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "มาเฟีย" และเราก็รู้ดีแก่ใจว่าครอบครัวคอลิโอเน่ไม่ใช่กลุ่มคนที่ทำเรื่องถูกกฎหมาย ทว่าเรายังรู้สึกเคารพนับถือตัวดอนวีโต้หรือก็อดฟาเธอร์ที่ว่าจริง ๆ 

                   อะไรกันที่ทำให้เส้นแบ่งความดี-ความชั่วของคนดูถูกลบออกไป (ไม่ว่ามันจะมีหรือไม่มีอยู่จริงก็ตาม) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเล่าเรื่องราวที่แนบเนียนผ่านบทและตัวละครที่มีมิติจนเราโดนหลอกล่อและโน้มน้าวให้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการดำมืดนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งที่จะเป็นคนดีหรือคนเลวเสียทั้งหมด แม้แต่ตัวเราเองหรือคนรู้จักรอบตัวก็ล้วนมีด้านที่ไม่อยากให้ใครเห็นกันทั้งสิ้นดังนั้นในขณะที่เรารู้สึกผิด เราก็รู้สึกยินดีด้วยเช่นกัน เพราะมันนำเสนอสีที่แท้จริงของมนุษย์ นั่นก็คือ "สีเทา"



    ตัวละครและความสัมพันธ์              

                   เราชอบตัวละครในเรื่องนี้ ทั้ง ลิน แบงค์ เกรซ พัฒน์ ทุกคนมีความน่าสนใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะปมขัดแย้งภายใน ปมขัดแย้งภายนอก รวมถึงแรงขับเคลื่อนการตัดสินใจต่าง ๆ ล้วนมีที่มาที่ไปที่แข็งแรงและชัดเจนพอ ส่วนตัวเราขัดใจเล็กน้อยเกี่ยวกับการตัดสินใจของแบงค์ท้ายเรื่อง หนังโน้มน้าวให้เราเชื่อไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วแบงค์จะจบลงด้วยการตัดสินใจเช่นนั้น ด่วนสรุปหักมุมไปหน่อย คิดว่าถ้าเล่าอะไรมากกว่านี้ อาจจะทำให้เข้าใจและอินกับการเปลี่ยนแปลงนี้มากขึ้น 

                   ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ถ้าบอกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศแบบ protocooperation (การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดโดยได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกันแต่แยกกันอยู่ก็สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ) เช่น นกเอี้ยงกับควาย ก็อาจจะดูไม่ค่อยน่าฟังนัก ขอเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แฝงผลประโยชน์ก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่จิกกัดและเสียดสี ยากที่จะบอกชัด ๆ ว่ามันคือมิตรภาพจริงหรือเปล่า อีกอย่างที่หนังให้ก็คือความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของลินที่เราจะเข้าใจทั้งในมุมมองของคนเป็นพ่อและมุมมองของตัวลินเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยกความดีความชอบให้กับนักแสดงทุกคนที่เล่นได้ดีเหลือเกิน ขอปรบมือให้ ณ ที่นี้



    การกำกับและตัดต่อ

                   อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คงต้องชื่นชม คุณอาร์ม ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต ที่ทุ่มเทและตัดต่องานละเอียดมาก การตัดต่อมีส่วนสำคัญช่วยเสริมให้หนังมีพลังและเร้าอารมณ์มากยิ่งขึ้น หลายคนบอกว่ามันเร้าอารมณ์ไปจนไม่สมจริง อันนี้เราเฉย ๆ ลองคิดดูนะว่าฉากนั่งทำข้อสอบจะน่าเบื่อแค่ไหนถ้าคุณแค่เอาแต่ละซีนมาแปะ ๆ ต่อกัน 

                   เพื่อให้เห็นภาพและความสำคัญของการตัดต่อ ขอยกตัวอย่างฉากห้องน้ำในตำนานจากหนังเรื่อง"Psycho" ของอัลเฟรด ฮิตช็ค็อคก็แล้วกัน ฉากนั้นมีความยาว 45 วินาทีแต่มีถึง 75 คัทด้วยกัน ฮิตช์ค็อคใช้เวลาถ่ายทำ 6 วันและตั้งกล้องมากถึง 75 ตำแหน่ง! ที่จริงฉากนี้สามารถจบได้ภายในไม่ถึง 3 วินาทีด้วยซ้ำหากไม่คิดอะไร แต่ George Tomasini กลับตัดสินใจทุ่มเทตัดต่อขนาดนี้ (ไม่นับว่าตอนนั้นการตัดต่อใช้แผ่นฟิล์มนะ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์) เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่คนดูได้จากผลลัพธ์ที่ออกมาแล้ว ถือว่าคุ้มกันมากจริง ๆ 

                   กลับมาที่ฉลาดเกมส์โกงกันบ้าง คุณอาร์มฉลาดใช้ cross cutting (การตัดภาพสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์มากกว่า 2 เหตุการณ์) โดยเฉพาะในองก์ 3 ทั้งฉากการส่งคำตอบ การไล่ล่า ยิ่งทำให้ลุ้นระทึกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับซาวด์ที่กระตุ้นอารมณ์ยิ่งช่วยเสริมความรู้สึกบีบคั้นเข้าไปอีก

                   ส่วนของการกำกับมีความแยบยลและใช้เทคนิคหลายอย่าง คงเป็นข้อดีของหนังทริลเลอร์ที่ทำให้เราได้เห็นการใช้ dolly zoom ในหนังไทยด้วย ขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่คนที่ดูหนังไทยมาก แต่เราว่าโอกาสเห็นเทคนิคนี้ไม่ได้หาง่าย ๆ เลยถ้าไม่ใช่หนังแนวนี้ ส่วนช็อตที่ใช้ dutch tilt ก็สวยเหมือนกันรวมไปถึงการใช้สัญญะ ทั้งกระจกสะท้อน เครื่องหมายถูกผิดบนสะพานลอย หรือแม้กระทั่งสกรีนตัวอักษรบนเสื้อก็มีความหมายให้ได้ประทับใจกันตลอดเรื่อง เป็นการใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้หนังมีอะไรมากกว่าการสื่อสารผ่านไดอะล็อกของตัวละคร



                  
                   ฉลาดเกมส์โกง เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยดี ๆ ที่ควรค่าแก่การดู แม้มันจะไม่ได้เพอร์เฟ็คต์ แต่เป็นหนังที่ฉลาดสมชื่อและสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ในฐานะของคนที่หลงรักศิลปะภาพยนตร์ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับคนทำหนังรุ่นต่อไปได้ผลิตผลงานที่ดีและมีคุณค่าออกมาสู่สังคมมากขึ้น ทำให้พวกเราได้รับรู้ว่าวงการหนังในประเทศไทย "ถ้าจะทำ ก็ทำได้" 

    ______________________________________



     สุดท้ายนี้อยากบอกว่า

    ใครก็ได้เอา It Comes at Night มาฉายทีค่ะ


    ทวิตเตอร์ : @puroii

    เพจ facebook : SPOILER ALERT

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in