คำนำสำนักพิมพ์
เป็นเรื่องน่ารักดีที่เรามี 'ดนตรีประกอบ' อยู่แทบทุกฉากของชีวิต
ไม่ใช่แค่เพลงที่สามารถเลือกเพื่อแสดงความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น แต่รอบตัวเรายังคลอไปด้วยเสียงดนตรีแทบตลอดเวลา มันบ่งบอกถึงความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุค บางเพลงเป็นสัญลักษณ์บอกเวลา และบางอัลบั้มก็เป็นตัวแทนได้ว่าใครมีรสนิยมแบบไหน ทำให้ดนตรีอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา เพียงแค่เราจะ 'ได้ยิน' มันหรือไม่ก็เท่านั้น
ดนตรีคลาสสิกก็เช่นกัน ตามความเข้าใจและพอจะระลึกได้ มันคลออยู่ในที่ที่มีลักษณะรวมกันแล้วดูเป็น 'ผู้ใหญ่' มีความเป็นทางการ เป็นดนตรีที่ซับซ้อนฟังยากทว่าอายุยืนยาว ใครฟังเพลงคลาสสิกก็ดูมีรสนิยมลึกล้ำน่าค้นหา ตัวละครในนิยายทั้งในและนอกกระแสส่วนใหญ่มักถูกแสดงมิติของความสุขุมผ่านการฟังเพลงคลาสสิก (ยังไม่เคยเจอว่ามีตัวละครฟังเมกะแดนซ์เลย) หนำซ้ำดนตรีคลาสสิกยังถูกนิยามว่าเป็นเครื่องหมายของความฉลาด เชื่อกันว่าเด็กที่อยู่ในท้องหากได้ฟังเพลงคลาสสิกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงของ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท ก็จะยิ่งมีโอกาสฉลาดกว่าเด็กคนอื่น
ตามสถานที่ต่างๆ เพลงคลาสสิกอยู่ในที่ที่ควรใช้อารมณ์สุนทรีย์ หรืออย่างน้อยก็อยากให้ดูสุนทรีย์ เช่น โรงแรม สถานทูต หรือแหล่งที่เป็นเสมือนตัวแทนแวดวงศิลปะอย่างพิพิธภัณฑ์
ที่ว่ามาทั้งหมดก็เพื่อที่จะอธิบายถึงหนังสือเล่มนี้ หนึ่งในซีรีส์ แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ที่คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เป็นผู้เขียนโดยมีจุดประสงค์จะอธิบายถึงวัฒนธรรมป๊อบจากต่างประเทศที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเรา มาเล่าอย่างละเอียดผ่านการเดินทางที่ไป 'ถึงถิ่น' แห่งวัฒนธรรมนั้นๆ ของเขา
คันฉัตรเป็นนักเขียนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งแต่ละอย่างนั้นล้วนน่าสนใจ เขาเป็นคนใคร่รู้และมีรสนิยมทางศิลปะหลากหลาย อย่างในเรื่องเพลง เขาเสพหมดแทบทุกแนวตั้งแต่เพลงไทยยันวงบอยแบนด์เกาหลี (อย่างในเล่มแรกของซีรีส์นี้ SORRY SORRY ขอโทษครับ...ผมเป็นติ่ง) กระทั่งภาพยนตร์เขาก็ดูหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ หนังไทย อินดี้ไทย อินดี้บรูไน อินดี้ญี่ปุ่น (แน่นอน มันจึงกลายเป็นอีกเล่มต่อมาที่ชื่อว่า แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ฉบับ TOKYO DRIFT) รวมถึงอีกหลายเล่มที่เขาลงทุนระหกระเหินขึ้นเครื่องบินเพื่อไปสัมผัสบรรยากาศจริงในเมืองต้นฉบับของศิลปะบันเทิงเหล่านั้นจริงๆ
แถมในคราบของนักเขียนขี้บ่น เจ้าของสเตตัสสุดโหดและฮาในเฟซบุ๊ค เขายังเป็นอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์และด้านการวิจารณ์ในหลายสถาบัน ทำให้เรื่องมุมมองเชิงวิชาการของเขาก็เข้มข้น เมื่อมันปะปนไปกับความเฮฮา มันจึงกลายเป็นหนังสืออ่านสนุกที่ซุกซ่อนความรู้อยู่ระหว่างบรรทัดเสมอ
เล่มนี้ก็เช่นกัน เขาจับเครื่องเดินทางไปประเทศออสเตรีย ต้นตำรับเมืองแห่งดนตรีคลาสสิก สถานที่ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งดนตรี ถึงแม้เขาจะมีเป้าประสงค์ไปเพื่อตามรอยภาพยนตร์ที่รู้สึกชอบ แต่ระหว่างทางที่ป้วนเปี้ยนอยู่ในออสเตรียนั้น เขาก็เก็บเกี่ยวเรื่องราวฮาๆ มาผสมกับความรู้แล้วนำมาถ่ายทอดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ แน่นอนว่ามันสนุกเหมือนเดิมตามยี่ห้อคันฉัตร หรือเมอฤดีในนามปากกาของเขา
เอาล่ะ การบรรเลงจวนจะเริ่มแล้ว เราขอให้ทุกคนอ่านเมอฤดีฉบับ 'คลาสสิก' นี้ให้สนุก เปิดใจรับฟังจังหวะของเรื่องราวแปลกๆ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงประหนึ่งคนเป็นไบโพลาร์นี้เสียหน่อย รับรองว่าฟังไม่ยาก
สำนักพิมพ์แซลมอน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in