เราถูกสร้างมาเพื่อสร้าง
ย้อนกลับไปยังยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 วิทยาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผนวกกำลังกับ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นกระแสการแข่งขันได้ผลักดันให้เกิดประดิษฐกรรมขึ้นมามากมายเครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ ฟิล์มถ่ายรูป และภาพยนตร์ล้วนถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์โดยมากขนานนามว่า ยุควิคตอเรีย (Victoria Era) ซึ่งด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดจารีตแบบแผนในชีวิตแต่งงานการแต่งกายแบบมิดชิดปิดคลุม การหุ้มห่อขาโต๊ะเก้าอี้ด้วยผ้า การพูดเรื่องเพศด้วยภาษาซ่อนนัย จนถูกมองว่าเป็นยุคสมัยแห่งการเก็บกดปิดกั้นกามารมณ์ และนักประวัติศาสตร์ไทยบางคนเชื่อว่า ระบบคิดดังกล่าวถูกส่งทอดผ่านชนชั้นนำมาสู่สังคมไทยและยังคงแผ่อิทธิพลสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันผ่านระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ยุคที่ได้ชื่อว่าอนุรักษ์นิยมนี้เองที่การเมืองมีความก้าวหน้า ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด การแปลงเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ให้เป็นสินค้าเพื่อมวลชนคือหนทางไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย
นักประดิษฐ์คนไหนทำได้ก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีชนิดชั่วข้ามคืน
โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นับเป็นบุคคลต้นแบบแห่งยุคดังกล่าว แม้ความเป็นจริงเขาจะถูกนักประดิษฐ์หลายคนตราหน้าว่าเป็นพวกร้อยเล่ห์และนักขโมยเครดิต อย่างกรณีหลอดไฟ
ที่เป็นผลงานของนักประดิษฐ์มากกว่าหนึ่งคน ดังที่เออร์เนสต์ ฟรีเบิร์ก(Ernest Freeberg) ได้เล่าไว้ใน The Age of Edison: Electric Lightand the Invention of Modern America แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับ
ฌ็อง-ลุก โกดาร์ด (Jean-Luc Godard) ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ เขายกย่องให้
เอดิสันเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ก่อนหน้าพี่น้องลูมิแยร์ (Lumière Brother) ที่ทั้งโลกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวงการภาพยนตร์
ช่วงก่อนสิ้นสุดศตวรรษทีิ่ 19 ความคิดที่ว่า คนเรานั้นสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยสองมือ ถือว่าแพร่หลายอย่างมาก โดยผู้ที่ทำให้หลักคิดดังกล่าวกระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วก็คือ ซามูเอล
สไมล์ส (Samuel Smiles) บิดาแห่งหนังสือฮาวทูชื่อดังชาวอังกฤษ
หนังสือเรื่อง Self-Help (1859) ของเขาถือว่าให้อิทธิพลต่อคนจำนวนมากในเวลานั้น โดยเฉพาะวรรคทองที่เหมือนจงใจเขียนมอบให้นักประดิษฐ์ทั้งหลายว่า “เราค้นพบว่า อะไรก็ตามที่ควรทำนั้น
มักมาจากการได้รู้ว่าอะไรที่เราไม่ควรทำ และมันเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรพลั้งพลาดนั้น เขาย่อมไม่มีวันได้ค้นพบอะไร”
การแข่งขันประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย และเป็นเช่นนี้เรื่อยไปแม้ล่วงเลยมาสู่ศตวรรษที่ 20 อย่างฟรันซ์ ไรเชลต์ (Franz Reichelt) นักประดิษฐ์ชาวออสเตรียผู้ล้มเหลวระดับตำนาน ก็นับได้ว่า
เป็นบุคคลหนึ่งที่พยายามคิดค้นร่มชูชีพในแบบฉบับของตัวเอง และปรากฏว่าโลกก็จดจำเขาได้ไม่มีวันลืมในฐานะของชายในชุดประหลาดผู้กระโดดลงมาจากหอไอเฟลจนเสียชีวิต
คำถามหนึ่งซึ่งเกิดตามมาโดยอัตโนมัติก็คือถ้าสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เหล่านี้ล้มเหลว หรือแทบไม่เคยสร้างจริงแล้ว เราจะหาหลักฐานได้จากไหน?
คำตอบจึงอยู่ที่สิ่งประดิษฐ์ทุกชนิดจะต้องมีการจัดทำแบบเพื่อจดสิทธิบัตร (patent) ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นถูกเก็บไว้ในสำนักทะเบียนเพื่องานออกแบบ (Design Registry) ที่ Somerset House ในลอนดอน ซึ่งปัจจุบันได้ถูกย้ายไปไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (The National Archives) เป็นที่เรียบร้อย
จากหลักฐานชั้นต้นนี้เอง เราจึงได้เห็นว่ามีสิ่งประดิษฐ์รูปร่างหน้าตาประหลาดจำนวนมากที่นักประดิษฐ์ผู้ดำเนินรอยตามคำคมของสไมล์สได้ส่งมาจดสิทธิบัตร เช่น อุปกรณ์ปรุงอาหารทุกอย่างให้สุก
ในคราวเดียวอันอาจเป็นต้นแบบของเตาไมโครเวฟในปัจจุบัน เครื่องถอดรองเท้าบูต ที่สุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรจะถอดรองเท้าได้ดีเท่ากับมือของเราเอง เพราะก็ชัดเจนว่าการใช้อุปกรณ์ถอดรองเท้าไม่ตอบโจทย์
เท่าการออกแบบรองเท้าให้ถอดง่ายขึ้นด้วยการใช้ซิปหรือวัสดุยางยืดมาเป็นส่วนผสม รวมถึงอ่างประหยัดน้ำที่พอให้นั่งจ่อมตัวลงไป หรือกรรไกรส้อมที่ไม่รู้ว่านักประดิษฐ์คิดอะไรอยู่ตอนนั้น
สิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่ถูกพบในสำนักทะเบียนเพื่องานออกแบบ แม้จะแลดูพิลึกพิลั่นน่าขบขัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ถือเป็นศิลปะของความผิดหวังที่แลดูน่าเศร้าด้วยเช่นกัน
เปรียบไปก็เหมือนความนึกคิด ความฝัน กระทั่งความรักที่ไม่อาจเป็นจริง
ในอีกทางหนึ่งเราอาจพูดได้ด้วยซ้ำไปว่า สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้คือภาพแทนของความรักโรแมนติกที่เริ่มต้นด้วยความพยายามเอาอกเอาใจ แต่สุดท้ายก็ต้องร้างรากันไป เพราะความไม่เข้าอกเข้าใจในกัน
และกัน
อ้างอิง
• Samuel Beckett, Nohow On (London: John Calder, 1991)
• Samuel Smiles, Self-Help (London: John Murray, 1908)
•Julie Halls, Inventions that didn’t change the world (London:Thames &Hudson, 2014)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in