เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะSALMONBOOKS
Part 1: Conceptual Art ศิลปะของนักคิด เข้าใจยากหรือมักง่าย


  • ถ้าถามว่าศิลปะคืออะไร หลายคนอาจนึกไปถึงภาพวาดบนผ้าใบ ภาพถ่ายบนฝาผนัง ผลงานที่แขวนอยู่ในหอศิลป์ รูปปั้นในสวนสาธารณะ ชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์ หรือบางคนอาจนึกไกลไปถึงคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์!

    แต่จะมีใครเชื่อบ้างไหมว่า โถฉี่ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งซากศพ ผัดไทย และขี้ จะกลายเป็นศิลปะได้เหมือนกัน!

    ผมกำลังจะพูดถึงงานศิลปะที่ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งมีชีวิต สิ่งไร้ชีวิต หรือแม้แต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างเวลาและสถานการณ์ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นศิลปะและศิลปินได้พอๆ กัน

    งานศิลปะแบบนี้นี่เองที่สร้างความงุนงงสงสัย และความไม่เข้าใจให้แก่ผู้ชมงานมากที่สุดประเภทหนึ่ง

    งานศิลปะทั้งหมดนี้มีที่มาจากแนวทางศิลปะที่เรียกว่า ‘คอน-เซ็ปชวลอาร์ต’ เป็นแนวทางที่มุ่งนำเสนอกรอบความคิดของศิลปินมากกว่าสุนทรียะหรือความงาม เริ่มต้นและเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 60 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ยุโรป และกระจายมาถึงเอเชีย

    ศิลปินประเภทนี้มักทำงานในสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเอาเทคนิคการทำงานศิลปะตามปกติมานำเสนอในรูปแบบที่แตกต่าง การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ภาพยนตร์ วิดีโอ และคอมพิวเตอร์มาใช้ทำงาน หรือบางครั้งก็ใช้สิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและไม่น่าจะนำมาใช้ในงานศิลปะได้เลยอย่างของใช้ในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป มานำเสนอในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างไปจากธรรมดา

    คอนเซ็ปชวลอาร์ตได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากมาร์แซล ดูชองป์และศิลปะลัทธิดาดา นอกจากนี้ยังมักได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎีปรัชญา จิตวิทยา การเมือง ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประเด็นทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน การวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการเปิดโปงความเสแสร้งจอมปลอมในสังคม หรือแม้กระทั่งความดัดจริตตอแหลของศิลปินด้วยกันเอง

    ด้วยความคิดที่แหวกแนว แปลก ล้ำสมัย และสดใหม่อยู่เสมอ งานศิลปะประเภทนี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจและขุมทรัพย์ทางไอเดียให้กับคนทำงานสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ อีกมาก ทั้งคนทำ ภาพยนตร์ ดนตรี มิวสิกวิดีโอ โฆษณา อีเวนต์ ฯลฯ

    เนื่องจากเป็นศิลปะที่เปิดกว้างอย่างมาก บางครั้งการจะบอกว่ามันเป็นศิลปะชัวร์หรือมั่วนิ่มก็อาจจะทำได้ยากหน่อย เพราะใครๆ ก็สามารถสร้างผลงานได้แม้จะวาดรูปไม่เป็น ตาบอดสี หรือตาบอดจริงๆ ก็ยังมีมาแล้ว

    ศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตหลายคนจึงมีไอเดียน่าสนใจ และมีส่วนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากมาย แต่ก็มีบางคนที่เพียงแค่อยากมีชื่อเสียง อยากเท่ อยากเก๋ หรืออยากหาช่องทางทำมาหากินแบบมักง่าย พวกเขาเหล่านั้นก็สามารถลอยนวลเป็นตัวปลอมอยู่ได้ง่ายๆ เหมือนกัน

    เอาง่ายๆ ว่า เมื่อไรที่เราเห็นว่างานศิลปะชิ้นนั้นมีความสำคัญที่ความคิดมากกว่าความงามหรือสุนทรียะ งานชิ้นนั้นก็เป็นศิลปะแนวคอนเซ็ปชวล
  • 01 

    เก้าอี้ศิลป์

    ‘เก้าอี้ศิลปะ’ หรือ One and Three Chairs (1965) ผลงานของศิลปินชาวอเมริกัน โจเซฟ โคซุธ (Joseph Kosuth) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของงานศิลปะแนวคอนเซ็ปชวล

    ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ประกอบด้วยเก้าอี้หนึ่งตัว ภาพถ่ายเก้าอี้ขนาดเท่าของจริง (เป็นภาพถ่ายของเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ในห้องแสดงงาน) และกระดาษสำเนาขนาดใหญ่ที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรมลงไป

    ทั้งเก้าอี้และภาพถ่ายจะเปลี่ยนไปทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนสถานที่แสดงงาน

    แต่ถึงแม้ตัวเก้าอี้จะเปลี่ยน สิ่งที่คงอยู่เหมือนเดิมทุกครั้งคือกระดาษสำเนาที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรม กับแผนผังและคำสั่งในการติดตั้งงานของโคซุธที่ไม่ว่าใครก็ตามที่นำ ผลงานชิ้นนี้ไปจัดแสดง จะต้องเลือกเก้าอี้หนึ่งตัวมาตั้งหน้ากำแพง ถ่ายรูปเก้าอี้ อัดภาพออกมาในขนาดเท่าของจริง ติดบนกำแพงทางซ้ายมือของเก้าอี้ และถ่ายเอกสารความหมายของคำว่าเก้าอี้จากพจนานุกรมขยายขนาดและนำมาติดบนกำแพงด้านขวาของเก้าอี้โดยที่ความสูงเท่ากันกับรูปด้านซ้าย

    โคซุธอธิบายการทำผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า

    “ผมนำวัตถุที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ‘เก้าอี้’ มาวางไว้ โดยให้ทางซ้ายของเก้าอี้มีรูปถ่ายขนาดเท่าของจริงติดอยู่ และทางขวาเป็นกระดาษที่ถ่ายสำเนาความหมายของวัตถุชิ้นนี้ ตามพจนานุกรม เวลาที่คุณมองไปยังเก้าอี้ จะต้องมีทุกสิ่งที่ว่าปรากฏอยู่ไม่ผิดเพี้ยน ดังนั้น เวลาที่ผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนสถานที่จัดแสดง จึงต้องถ่ายรูปขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง ผมชอบที่ตัวงานมีอะไรมากกว่าที่คุณเห็น แม้จะเปลี่ยนสถานที่ เก้าอี้ และภาพถ่าย หากท้ายที่สุดมันก็ยังคงเป็นงานชิ้นเดิมอยู่ดี งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึง ‘ความคิด’ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานศิลปะ หาใช่องค์ประกอบอื่นใดไม่”

    ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกส่งต่อเพื่อนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่ตัววัตถุอย่างผลงานศิลปะ (เก้าอี้) หากแต่เป็น ‘ความคิด’ของโคซุธต่างหาก

    พูดง่ายๆ คือเราไม่จำเป็นต้องขนเก้าอี้ไปแสดงที่ไหนต่อไหนให้เมื่อยตุ้ม หากแต่ส่งต่อ ‘ความคิด’ ของเขาไปแสดงมากกว่า

    ความคิดย่อมเบากว่าเก้าอี้เป็นไหนๆ จริงไหม?

    นอกจากนี้ One and Three Chairs ยังอ้างอิงไปถึงอุปมาเรื่อง ‘ถ้ำ’ ของเพลโต (Plato) ที่ตั้งคำถามว่า สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นในโลกนั้นเป็นความจริงหรือไม่? (มีเก้าอี้อยู่สามรูปแบบ เก้าอี้ที่จับต้องได้ เก้าอี้ที่ตามองเห็น เก้าอี้ที่อธิบายด้วยภาษาหรือคำพูด แต่รูปแบบไหนคือ ‘เก้าอี้’ ที่แท้จริง) และปรัชญาของ ลุดวิก วิตเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein) ที่แสดงถึงข้อจำกัดของการใช้ภาษา หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดในโลกที่ไม่อาจอธิบายผ่านภาษาได้อีกด้วย (ท้ายที่สุด ไอ้เจ้า ‘เก้าอี้’ ที่เราเห็นและอ่านความหมายจากคำอธิบายนั้น จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่?)

    แหม ไม่ยักรู้ว่าสิ่งของธรรมดาสามัญที่ทำให้หายเมื่อยอย่างเก้าอี้จะมีความหมายลึกซึ้งและกลายเป็นศิลปะไปได้เหมือนกัน

    ว่าแต่ไอ้เจ้าเก้าอี้ที่เรานั่งๆ กันอยู่เนี่ย มันจะเป็นศิลปะกับเขาได้บ้างไหมนะ






  • One and Three Chairs (Original)
    00
    en.wikipedia.org/wiki/One_and_Three_Chairs

    One and Three Chairs (ที่ถูกนำไปติดตั้งในที่อื่น)
    01
    flickr.com/photos/omefrans/6102649670

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in