เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะSALMONBOOKS
คำนำ







  • คำนำสำนักพิมพ์


    ทั้งที่ก็มั่นใจแล้วนะว่า ไอ้ที่เราๆ ขีดเขียนเล่นในสมุด หนังสือหรือกำแพงบ้านด้วยดินสอสีสารพัดชนิด บ้านทรงเหลี่ยม ประตูสูงผิดสัดส่วน หลังคาแหลมเปี๊ยว แดดจ้า แต่ว่ามีปล่องไฟ มันเรียกว่า ‘ศิลปะ’ ไม่ได้หรอก ก็เพราะในคลาสเรียนศิลปะเขาระบุเอาไว้ชัดเจนให้เห็นว่า ศิลปะมันต้องดู สูงศักดิ์ มีชื่อยุคชื่อประเภทที่เรียกยากเข้าใจลำบาก รูปปั้นอลังการที่เหมือนจริงจนน่ากลัว เหมือนอย่างรูปปั้นวีนัสแขนขาดบนสมุด หรือไม่ก็งานวาดที่เห็นแล้วถึงกับผงะเพราะดูไม่รู้เรื่อง ลงชื่อว่าเป็นผลงานของศิลปินระดับโลกชื่อคล้ายเต่านินจาทั้งสี่ตัว นั่นแหละถึงจะเรียกว่า ‘ศิลปะ’

    เมื่อพบแล้วว่าเราไม่ใช่ศิลปิน ศิลปะจึงห่างจากเราออกไปเรื่อยๆ ความสูงสง่าทำให้ศิลปะถูกบดบังไปด้วยสิ่งต่างๆ นานๆ ครั้งนั่นแหละถึงจะได้พาตัวเองไปเสพงานอาร์ตในพิพิธภัณฑ์ เดินผ่านงานที่เขาเอามาจัดแสดงอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็เลื่อนฟีดเฟซบุ๊คแล้วบังเอิญไปเจอ แถมเมื่อเจอแล้วก็ต้องเกาหัวแกรก ศิลปะอะไรวะช่างเข้าใจยากเย็น แถมดูมีกำแพงสูงกั้น จนดูเหมือนเป็นพื้นที่ของพวก ‘ผู้ใหญ่’ เสียเหลือเกิน

    แต่เมื่อโตมาอีกนิด อ่านนั่นดูนี่มากขึ้น เราก็กลับพบว่า เฮ้ย ไอ้ที่เราเคยวาดบนกำแพงบ้าน มันก็ถูกจับมาจัดอยู่ในแกลเลอรี—พื้นที่ที่จัดเอาไว้เพื่องานศิลปะ—ได้เหมือนกันนี่หว่า

    ในขณะที่เริ่มกลับมาไม่มั่นใจอีกครั้ง เราก็ยังถูกตอกย้ำ ความงงด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่ว่า มีอะไรมากมายที่ดูเหมือนจะไม่ใช่ศิลปะ แต่มันก็ถูกเรียกว่าศิลปะเสมอมา เช่น โถฉี่ การยืนแก้ผ้าอยู่เฉยๆ เอาแก้วมาปาให้แตก ผัดไทย (ที่เป็นอาหารนี่แหละ) กระป๋องซุป ขยะ และอีกมากมายที่...เฮ้ย! นี่ก็ศิลปะเหรอ

    อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ

    ไม่ เราไม่ได้สบถ แต่นั่นคือชื่อของคอลัมน์ที่เล่าเรื่องความเป็นอะไรก็ได้ในศิลปะ หรือศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้ มันถูกตีพิมพ์เป็นประจำอยู่ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ทั้งหมดทุกตอนเขียนโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน และอาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ตั้งความสนใจไปที่งานศิลปะประเภทต่างๆ เท่าที่โลกนี้จะมี ตั้งแต่สิ่งเล็กจ้อยใกล้ตัวที่อยู่ภายในประเทศ ยันสิ่งใหญ่โตที่โผล่อยู่ในต่างแดน

    สิ่งที่เราชอบในงานเขียนของภาณุ คือการมองศิลปะจากมุมของคนที่ไม่รู้เรื่อง

    จากสายตาของเด็กที่เพิ่งตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองเพิ่งเขียนบนกำแพงบ้านนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าศิลปะ รวมถึงสายตาของเด็กที่เพิ่งเหวอรับประทานว่า เฮ้ย ทุกอย่างมันเป็นศิลปะได้ว่ะ เป็นความง่ายที่เขาหยิบมาเล่า เป็นหลักฐานถึงความสวยงามของโลกที่เราอยู่ สนุกไปกับความสร้างสรรค์ที่มนุษย์เราได้ผลิตขึ้น ความซุกซนในการสร้าง และอะไรอีกมากมายที่เป็นชั่วขณะที่เรารู้สึกว่าในทุกๆ อย่างก็สามารถมีคุณค่าในตัวของมันได้

    กระป๋องก็เจ๋ง โถฉี่ก็เลอค่าได้ ถึงมันจะไม่ได้เกิดเป็นศิลปะสูงส่งอย่างในหนังสือเล่มที่เคยผ่านตามาก่อนก็ตามเถอะ


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนิยม


    เทคโนโลยีทำให้โลกของศิลปะแตกแขนงไปมากมายหลายทาง คำนิยามและคุณค่าความงามทางศิลปะได้เปลี่ยนไปตามทัศนคติของสังคมในโลกสมัยใหม่อย่างมากมาย ทำให้คนทำงานศิลปะหรืองานด้านครีเอทีฟจำเป็นต้องหูตากว้างไกลกว่าที่เป็น

    ผมในฐานะคนทำงานครีเอทีฟและศิลปะ สนใจในความเคลื่อนไหวและเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ตลอดเวลา บางเรื่องก็เข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้าง จนโลกโซเชียลฯ ได้นำพาให้ผมได้รู้จักกับภาณุ ที่รอบรู้เรื่องงานศิลปะสมัยใหม่ทั้งของไทยและเทศ ทำให้ผมได้รู้ถึงความคิดของศิลปินหลายคนอย่างลึกซึ้งถึงความคิด 

    ผมคิดมาเสมอว่า เมืองไทยเรานั้น แวดวงหนังสือที่ว่าด้วยศิลปะ ยังมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ผมเจอภาณุทีไรก็อดถามไม่ได้ว่าเมื่อไรจะรวมเล่มเป็นหนังสือเพื่อให้เด็กไทยที่แสนอับโชคและกันดารเรื่องศิลปะได้อ่านและเรียนรู้เสียที

    พอรู้ว่าจะมีการรวมเล่มบทความ อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ที่ผมตามอ่านเสมอจากนิตยสารรายสัปดาห์ ผมรู้สึกยินดีมากเพราะการเข้าใจถึงเบื้องหลังของผลงานชิ้นดังบ้าง ฉาวโฉ่บ้าง ทำให้เราเห็นว่าอิทธิพลของศิลปะต่อชีวิตคนสมัยใหม่นั้นมันมีอยู่จริง

    ระหว่างพลิกอ่านแต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ ผมเหมือนกำลังอยู่ในบ้านหลังหนึ่งที่ถูกหุ้มด้วยไหมพรมที่ถักโดยใช้เข็มควักของ โอเล็ค มี แอนเดรีย เฟรเซอร์ เป็นคนพาทัวร์ เธอเปิดประตูนำเราเข้าไปในห้องรับแขก เชิญให้นั่งบนเก้าอี้ของ โจเซฟ โคซุธ จ้องดูฉลามตายแล้วในตู้กระจกใสของ เดเมียน เฮิร์สต์ แวะเข้าห้องน้ำเพื่อปลดปล่อยของเหลวลงบนโถของ มาร์แซล ดูชองป์ ก่อนเดินตามเข้าไปในห้องนอนเพื่อชมหนังโป๊ที่เธอภูมิใจนำเสนอในฐานะเป็นผู้แสดง ระหว่างนั้น ผมก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กข้อความจากทวิตเตอร์เพื่อดูว่าภาพแว่นตาที่ เควิน หยวน กับ ทีเจ คายาธาน จงใจวางลงบนพื้นห้องที่แสดงงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในซานฟรานฯ นั้น มีคนรีทวีตไปเท่าไหร่

    ผมว่าสิ่งที่ภาณุต้องการทำ และทำได้สำเร็จคือการดึงคนอ่านให้หันกลับมามองทุกอย่างที่รายรอบตัวอีกครั้ง สนุกกับการร่วมตีความศิลปะสมัยใหม่ที่ทำขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ หลากหลาย บางชิ้นก็เล่นเอาคาดไม่ถึง

    นี่เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปะในแบบที่อ่านแล้วเข้าใจทันที แถมยังอยากเอาไปคุยต่อในห้องเรียนศิลปะ ระหว่างนั่งทำงานในร้านกาแฟ ยืนรอกินผัดไทยเจ้าดัง หรือแม้แต่บนเตียงนอน

    ถึงไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ แต่ผมเชื่อว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณน่าจะอดใจไม่ไหว ต้องไปไล่คลิกหาดูงานชิ้นต่างๆ ที่ถูกเอ่ยถึงในเล่มตามเว็บไซต์ และพูดเบาๆ กับตัวเอง “เพิ่งรู้ว่า (แม่ง) เป็นศิลปะ”


    ประกิต กอบกิจวัฒนา


  • คำนำผู้เขียน


    แรกเริ่มเดิมที ผมเขียนบทความชุดนี้เล่นๆ ลงในเพจเฟซบุ๊คส่วนตัวของผมที่ชื่อ Share Chairs และตั้งชื่อเล่นๆ แบบไม่ทันเสียเวลาคิดว่า 'อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ' และเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ดูไม่เหมือนศิลปะที่อยู่ในงานศิลปะร่วมสมัย ผมอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับงานศิลปะที่อยู่นอกกรอบของความงามและสุนทรียะแบบเดิมๆ ที่คนคุ้นเคย งานศิลปะที่คนทั่วไปเห็นแล้วอุทานว่า “แบบนี้ก็เป็นศิลปะได้ด้วยเหรอ?” โดยเขียนด้วยเนื้อหาที่อ่านง่าย สำนวนที่สนุกและเป็นกันเอง ไปจนถึงยียวน กวนโอ๊ย ตามประสาวัยรุ่น (แรก) โดยมีจุดมุ่งหมายแบบหลวมๆ สบายๆ ในการทำความเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องยากจนต้องปีนกระไดดู และไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอย่างที่คิด

    ผมเขียนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมิตรสหายท่านหนึ่งยุยงและให้การช่วยเหลือให้ผมลองส่งไปให้นิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ พิจารณาดู ก็เลยกลั้นใจส่งไป บังเอิญเกิดโชคดีที่ทางบรรณาธิการอนุมัติให้ลงเป็นคอลัมน์ประจำ และใจป้ำใช้ชื่อที่ผมตั้งเล่นๆ เป็นชื่อคอลัมน์มันเสียเลย หลังจากนั้นก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไปสิริรวมได้ 1 ปี 7 เดือน เท่ากับอายุลูกสาวคนเล็ก (ที่จำได้เพราะบทความตอนแรกนั้นได้ลงตีพิมพ์ในวันที่ลูกคลอดพอดิบพอดี)

    กระนั้นแล้วก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาในการรวมเล่มเสียที แต่ด้วยความที่ยังมือใหม่ ไม่รู้จะไปเสนอให้สำนักพิมพ์ไหนดี จนได้มิตรสหายอีกท่านแนะนำให้ลองส่งไปให้สำนักพิมพ์แซลมอนพิจารณา ก็เลยบากหน้าส่งต้นฉบับไปฝากเนื้อฝากตัวกับสำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งโชคดีอีกครั้งที่ทางบรรณาธิการสนใจและอนุมัติให้รวมเล่มเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ

    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือวิชาการแต่อย่างใด หากแต่เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ (ที่ดูไม่เหมือนศิลปะ) ให้อ่านกันง่ายๆ ไม่ซีเรียสเคร่งเครียด อ่านเอาเพลินๆ แต่แถมพกความรู้แบบพอหอมปากหอมคอ พอเป็นกระษัย ถ้าอยากได้ความรู้จริงๆ จังๆ กว่านี้ แนะนำให้ไปหาได้ที่ห้องสมุดศิลปะใกล้บ้านท่านเอาก็แล้วกันนะครับ (อันนี้ไม่ได้ประชด แนะนำจากใจจริงนะเออ!)


    ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์





  • ขออุทิศหนังสือเล่มนี้
    ให้แก่ภรรยาของผม จิราภรณ์ อินทมาศ
    ที่คอยเป็นกำลังใจสนับสนุนผมอย่างอดทนตลอดมา,
    น้ำฟ้า และ พราวฟ้า บุญพิพัฒนาพงศ์
    ลูกๆ เป็นของขวัญล้ำค่าและเป็นพลังใจที่สำคัญที่สุด
    ในชีวิตของพ่อ




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in