เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ฮ่องกงตรงไหนก็หว่องF.
ห้วงรักหวานขม
  •  In the mood for love
    ควันบุหรี่ กี่เพ้า ความเหงา และเราสอง

    "That era has passed. 
    Nothing that belonged to it exists anymore.
    He remembers those vanished years.
    As though looking through a dusty window pain,
    the past is something he could see, but not touch.
    And everything he sees blurred and indistinct.

    ปีนี้ครบรอบ​ขวบปีที่ 20 ของภาพยนตร์​เรื่อง In the mood for love และ 29 ตุลาคมนี้ก็เป็นวันครบรอบ 20 ปีที่ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เป็นภาพยนตร์​ลำดับที่ 7 ของ Wong Karwai ผู้กำกับชาวฮ่องกง ที่มักหยิบเอาความเปลี่ยวเหงามาเล่าเป็น​เรื่อง ใครที่พอจะเคยดูหนัง เคยกระทำความหว่องมาบ้าง จะรับรู้​ถึงสไตล์​อันเป็นเอกลักษณ์​ กล้องแช่ ๆ มุมกล้องแคบ ๆ แบบหลบมุมถ่าย เงาสลัวและแสงไฟนีออนนั้นก็ชวนอึดอัด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นสเน่ห์อันน่าดึงดูดของหนังรักสไตล์หว่อง ก๊าไหว่ (สำเนียงกวางตุ้ง) และตากล้องคู่ใจอย่างคริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) ที่ยากจะหาใครเหมือน แม้จะไม่ต้องบอกชื่อเรื่อง แต่แฟนหนังต่างก็รู้ว่าใครเป็นผู้กำกับ

    เรื่องราวรักซ่อนเร้นของคุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) เลขานุการบริษัทนำเข้า ส่งออกสินค้า และคุณโจว (เหลียงเฉาเหว่ย) คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ เริ่มขึ้นในปี 1962 ช่วงเวลาที่ผู้คนต่างอพยพมาฮ่องกงจากจีนแผ่นดินใหญ่ คุณนายเฉินย้ายเข้ามาที่ห้องเช่านี้พร้อมกับสามี และคุณโจวก็ย้ายเข้ามาพร้อมกับภรรยาในวันเดียวกัน เป็นเรื่องปกติในยุคสมัยที่ฮ่องกงขาดแคลนที่อยู่อาศัย ภายในห้องพักหนึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นห้อง ๆ และมีหลายครอบครัวเช่าอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่คับแคบ ผู้อยู่อาศัย​ต้องแชร์​พื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน และแน่นอนว่าก็ไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัว  ชีวิตคู่ของทั้งคุณโจวและคุณนายเฉินกับคู่สมรสของตนต่างจืดจางจนนานวันกลายเป็นการนอกใจ ทั้งคู่เริ่มระแคะระคาย​ว่าคนรักของพวกเขาแอบคบชู้กัน เมื่อสองคนเหงาเปล่า​เปลี่ยวมาพบกัน จากแค่เดินสวนกันในพื้นที่ 0.01 เซนติเมตร ความผูกพันก็ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นความรัก ภายใต้การเก็บงำ ระแวดระวัง แม้จะโหยหารักนั้นสักเพียงไหน ก็ต้องซ่อนรักนั้นเอาไว้มิดเม้น จนคุณโจวต้องไปกระซิบบอกความลับกับรูที่ปราสาทหินที่นครวัดและเอาดินมาอุด เพราะเชื่อว่าความรักนั้นจะกลายเป็นความลับตลอดกาล ส่วนคุณนายเฉินเองก็ฝังตัวเองไว้ในกรอบแห่งจารีตและศีลธรรมตามขนบที่ขีดเส้นไว้ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน จนรักต้องห้ามครั้งนี้จบลงด้วยความร้าวสลายของสองหัวใจ

    ฉันดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีก่อน ด้วยความรู้สึกที่ว่าพล็อตแทบไม่มีอะไรเลย เรื่องราวของสามีภรรยาสองคู่ย้ายมาอยู่ห้องข้างกัน เดินผ่าน ทักทายกันเป็นปกติ จนวันหนึ่งทั้งคู่ต่างสงสัยว่าคนรักของตัวเองนอกใจไปเป็นชู้กัน เหตุเกิดจากความเปลี่ยวเหงาในหัวใจ จากที่แค่ทักทายก็เริ่มไปทานข้าวด้วยกัน ความสัมพันธ์พัฒนาไปจนเกิดเป็นความรัก ถ้าเป็นนิยายสักเล่มก็คงไม่คิดจะหยิบขึ้นมาอ่าน แต่ทั้งเหลียงเฉาเหว่ยและจางม่านอวี้ก็ถ่ายทอดความรู้สึกสับสนปนเหงาของตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม บวกกับการกำกับ ตัดต่อ มุมกล้องและดนตรีประกอบ ทำให้ In the mood for love กลายเป็นหนังที่มีสเน่ห์​จับใจ เป็นหนังที่หยิบมาดูซ้ำ ๆ และทุกครั้งที่ดูก็ให้ความรู้สึกที่ต่าง​ออกไป รายละเอียด​ของหนังจะผุดขึ้น​มา​ทีละน้อย เหมือนได้ดูงานศิลป์ที่ละเมียดละไมบนแผ่นฟิล์ม​

    ฉากคุณโจวพ่นควันบุหรี่สีขาวที่ม้วนตัวลอยฟุ้งอย่างอ้อยอิ่ง ก่อนจะสลายไปในอากาศ คล้ายกับจะบอกว่าความรักมักเป็นเช่นนี้ เกิดขึ้นและตั้งอยู่ แล้วก็สลายไป กลายเป็นอดีต ก่อนจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ มู้ดและโทนของหนังภายใต้แสงส้มอมแดงสีสลัว กี่เพ้าหลากสีสันอันงดงามไร้ที่ติในร่างระหงของคุณนายเฉิน ไม่ได้คลายความหม่นของหนังลงไปเลย บรรยากาศแสนอึดอัด อึกทึก หากเนิบช้า เพลงประกอบอย่าง Quizás Quizás Quizás และทำนองเร้าอารมณ์อย่าง Yumeiji's theme กับความรักอันขมขื่น ทุกอย่างประกอบกันเป็น In the mood for love ที่กลมกล่อมและสมบูรณ์แบบ ทำให้คนดูจมดิ่งอยู่ในห้วงรักอันหวานขมนี้ 




    ปกติไม่ค่อยถูกจริตกับหนังรัก แต่ In the mood for love เป็นข้อยกเว้น แม้จะเป็นรักที่ไม่สมหวัง แต่ความรักก็ยังยังถูกเรียกว่าความรักอยู่นั่นเอง 

    หว่อง กาไวเคยกล่าวไว้ว่า 
    — การที่รักแล้วต้องเจ็บปวด และบาดแผลจากความรักไม่มียาใดรักษาได้ แม้แต่เวลาที่ว่ารักษาได้ทุกอย่าง หัวใจที่แตกสลายก็ยังเป็นข้อยกเว้น




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in