Brief ซีรีส์มาเฟีย The Sopranos (1999-2007) ได้พาคนดูไปสำรวจนิยามของครอบครัวและชีวิต อันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความลวง และไร้แก่นสารผ่านตัวละครหลักอย่าง โทนี โซปราโน เจ้าพ่อผู้เต็มไปด้วยปมในใจบอกใครไม่ได้ ตัวซีรีส์เองยังเชื่อมโยงกับแง่มุมทางจิตวิทยา ป๊อปคัลเจอร์ ความตลกร้าย และสังคมอเมริกันที่หวาดกลัวจากเหตุการณ์ 9/11 จนขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก
คำเตือน บทความนี้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของเรื่อง กล่าวถึงความรุนแรง การฆาตกรรม ความตาย อาการทางจิต และความไม่แน่นอนของชีวิต
แม้หนัง/ซีรีส์แนวมาเฟียจะไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรามากนักเมื่อเทียบกับแนวอื่น ๆ แต่อย่างน้อย หลายคงเคยได้ยินชื่อหนังอย่าง The Godfather, Goodfellas หรือ The Irishman และพอเดาโครงเรื่องของหนังเหล่านี้ออกว่า มันต้องหนีไม่พ้นการเล่าจุดกำเนิด จุดสูงสุด การหักหลัง และจุดจบอันน่าอนาถของชีวิตเจ้าพ่อผู้เป็นตัวเอก แต่ปี 1999 ช่อง HBO ได้เปิดตัว The Sopranos ซึ่งนอกจากจะเป็นซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่ฉายภาพความรุนแรงและโป๊เปลือยอย่างโจ่งแจ้งบนจอทีวีแล้ว ยังแหกทุกกฏทุกคลีเช่ของสื่อบันเทิงแนวมาเฟียนี้ ด้วยพล็อตช่วงเริ่มต้นอันแปลกประหลาดว่า “เจ้าพ่อแอบไปหาจิตแพทย์จนเสี่ยงโดนเก็บ”
ตัวเอกของเรื่องคือ โทนี โซปราโน (เจมส์ แกนดอลฟีนี) ทายาทมาเฟียเชื้อสายอิตาเลียนในนิวเจอร์ซีย์ เขาต้องรักษาสถานะ ‘หัวหน้าครอบครัว’ สองด้าน นั่นคือ ความเป็นเจ้าพ่อและผู้นำตระกูลโซปราโน ขณะเดียวกัน โทนีก็ไปรักษาอาการแพนิคและความเครียดกับจิตแพทย์ ดร.เมลฟี (ลอร์เรน บรากโก) โดยตลอดหกซีซั่นนั้น The Sopranos ได้พาคนดูไปสำรวจความหมายของครอบครัวและชีวิต อีกทั้งตัวมันเองยังยึดโยงกับจิตวิทยา ยุคสมัย และป๊อปคัลเจอร์ จนกลายเป็นซีรีส์ขึ้นหิ้งที่พลิกวงการทีวีโลกไปตลอดกาล
ความรักและความซื่อสัตย์ คงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่พวกเราได้ยินคำว่าครอบครัว แต่ใน The Sopranos นิยามของครอบครัวเช่นนั้น กลับมีความเห็นแก่ตัวและความหลอกลวงเคลือบไว้อยู่ด้วย จริงอยู่ที่ว่า สมาชิกในแก๊งมาเฟียและตระกูลโซปราโนเองต่างมอบความรักความห่วงใยให้แก่กัน ทว่าก็มีเรื่องผลประโยชน์แฝงอยู่เป็นเนือง ๆ ยกตัวอย่าง คริสโตเฟอร์ (ไมเคิล อิมเปริโอลี) หลานของโทนี และพอลลี (โทนี ซิริโก) หัวหน้าแก๊งย่อย มักทะเลาะกันเรื่องส่วนแบ่งที่ไม่ลงตัว เคลียร์ทีก็หายที หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวโทนีกับคริสโตเฟอร์เอง ที่แม้ปากบอกว่ารักหลานคนนี้เหมือนลูกคนหนึ่ง แต่โทนีก็เป็น ‘ฝ่ายได้’ และเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ จากคริสโตเฟอร์อย่างไม่เคยพอ ที่จริงแล้ว ความรู้สึกไม่เคยพอของโทนีก็สะท้อนให้เห็นผ่านพฤติกรรมอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น การกินอาหาร/ขนมเกือบตลอดเวลา หรือการนอกใจคาร์เมลา (เอดี ฟาลโก) ไปนอนกับหญิงอื่น จนชีวิตแต่งงานจวนจะล่มอยู่บ่อยครั้ง
สิ่งที่ทำให้ The Sopranos โดดเด่นกว่าดรามาเจ้าพ่อเรื่องอื่น ๆ อย่างแรกคือ การนำเสนอความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ปมในจิตใจ และความไร้แก่นสาร ตลอดทั้งเรื่องนั้นมักมีเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย [สัตว์ ๆ] ทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้นต่อบรรดาตัวละคร ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือจะมีใคร [โดนฆ่า] ตายในนาทีถัดไป โดยเฉพาะตัวเอกอย่างโทนี สถานะหัวหน้ามาเฟียของเขานั้นตอกย้ำความไม่แน่นอนและความโดดเดี่ยวของชีวิตให้ผู้ชมเห็นชัด จนถึงวินาทีสุดท้ายของซีรีส์เพราะถึงจะมีเงินทองและอิทธิพล [เถื่อน] มหาศาล เก็บงำความรู้สึกนึกคิดได้แบบไม่มีใครอ่านออก แต่โทนีก็ต้องเจอปัญหาล้านแปด เสี่ยงถูกโค่นตำแหน่ง ถูกทรยศหักหลัง หรือโดนจับตลอดเวลา ซ้ำร้าย หลายครั้งเขาก็คุมความเครียดของตัวเองไม่อยู่ เนื่องจากมีปมทับถมในใจนานับประการ ทั้งเรื่องแม่ ลิเวีย (แนนซี มาร์แชนด์) ที่ไม่เคยแสดงความรักให้เขาจริง ๆ เลย เรื่องความขี้ขลาดตอนวัยรุ่นที่ทำให้ โทนี บี (สตีฟ บุสเซมี) ญาติและเพื่อนรักติดคุกสิบกว่าปี หรืออาการแพนิคจากการเห็นความรุนแรงในครอบครัวมาตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นต้น ซึ่งตัวโทนีเองก็เล่าให้ใครฟังไม่ได้นอกจากดร.เมลฟี คนเดียว ระหว่างฉากการบำบัดในแต่ละครั้งนั้น เราจะได้เห็นเจ้าพ่อหัวฟัดหัวเหวี่ยง ด่าฟรอยด์ ด่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ [ที่ดันเข้าเค้ากับชีวิตของเขาเสียด้วย] และโวยวายใส่จิตแพทย์ตอนหล่อนพูดไม่เข้าหู นี่จึงเป็นลูกเล่นที่เข้าท่าเปี่ยมเอกลักษณ์ของ The Sopranos เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ซีรีส์ยังฉายภาพความฝันของโทนีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งช่วยทำให้เราได้รู้ว่า จิตใต้สำนึกของเขาเป็นอย่างไร และส่งผลต่อการกระทำในโลกความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
เมื่อเรื่องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ซีรีส์ก็เปิดเผยว่า ความป่วยไข้ของโทนีนั้นอาจมีมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อ และอาจส่งต่อไปยังลูกชายหัวแก้วหัวแหวนจอมแสบ เอเจ (โรเบิร์ต ไอเลอร์) ที่มีความสำคัญมากอีกคนหนึ่งในเรื่อง เอเจนั้น อาจเป็นตัวแทนของผู้ชมวัยรุ่นยุคใหม่ที่เพิ่งรู้จักซีรีส์ เพราะเขาคอยถามถึงความหมายของชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าพระเจ้าตายแล้ว [จนพี่แกเล่นพี้กัญชาในงานวันศีลกำลังของตัวเอง] รู้สึกหลงทาง และมีอาการแพนิคเหมือนกับโทนีไม่มีผิด กลายเป็นภาพวิกฤตตัวตนในหมู่คนรุ่นมิลเลเนียลเป็นต้นมา นอกจากนี้ ซีรีส์ยังมีฉากงานศพปรากฏให้ชมกันบ่อยมาก ราวกับเตือนว่า ไม่ว่าเราจะเคยเป็นใครและทำอะไรตอนที่มีชีวิตอยู่ก็ล้วนพบจุดจบแบบเดียวกันทั้งนั้น แม้บางครั้งข้อเท็จจริงนี้อาจทำให้เราเศร้าแทบบ้า แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับ และใช้ชีวิตต่อสู้กับความไร้สาระต่อไปจนกว่าวันนั้นมาถึงอย่างที่เราคงไม่รู้ตัว
จุดน่าสังเกตข้อหนึ่งคือ ตั้งแต่ซีซั่นสี่เป็นต้นมา The Sopranos ได้ฉายภาพความสับสนหวาดระแวงของชาวอเมริกันต่อภัยการก่อการร้ายและชาวตะวันออกกลาง อันเป็นผลจากเหตุการณ์ 9/11 และสื่อกระแสหลักที่กระหน่ำข่าวสงครามไม่ยั้ง ดูเหมือนว่าภาพฝันอเมริกันดรีมได้ตายไปจากใจคนแล้ว สอดคล้องกับภาพตึกแฝด World Trade Center ที่หายไปจากแผนที่นิวยอร์กและไตเติลต้นเรื่องของซีรีส์นั่นเอง
อ่านจนถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดในใจว่า The Sopranos ต้องเคร่งเครียด ดูไม่บันเทิงเอาเสียเลย - ก็อาจเป็นไปได้ครับ แต่ถ้าหากได้ดูจริง ๆ แล้ว คุณอาจพบว่า ซีรีส์เรื่องนี้ก็มีความ ‘ตลกร้าย’ ที่ทำเอาหัวเราะ [ปนเหวอในหลายครั้ง] ได้ผลดีมาก ๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งข้อถัดมา เราคิดว่า ความไม่แน่นอนในชีวิตคนเรานั้นเข้ากันได้ดีกับความตลกร้าย เพราะมนุษย์เราไม่รู้เลยว่า วัน ๆ หนึ่ง จะมีเรื่องบ้าบอและความ ‘อิหยังวะ’ อะไรเกิดขึ้นบ้าง แม้แต่เดวิด เชส ผู้สร้างและผู้เขียนบท ก็ตระหนักถึงความจริงตรงนี้โดยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ผลงานดรามาจะขาดความสมจริงไปหากปราศจากความตลก เพราะในชีวิตจริงนั้นก็มีเรื่องน่าขันให้เห็นกันอยู่ทุกวัน
เอกลักษณ์อีกอย่างของ The Sopranos คือ การอ้างอิงถึงป๊อปคัลเจอร์หลากแขนง ที่เห็นบ่อยสุดก็หนีไม่พ้นไตรภาค The Godfather หนังโปรดของโทนีและคนในแก๊งมาเฟีย ไม่ใช่แค่พวกเขาจะพูดถึงมันกันเฉย ๆ เท่านั้น แต่ตัวละครอย่างคริสโตเฟอร์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้มากเสียจนอยากเป็นคนเขียนบทหนังให้จงได้ ฉะนั้น ซีรีส์ก็พาผู้ชมออกจากเจอร์ซีย์ไปสำรวจวงการอื่นบ้างเป็นบางครั้งคราว ซึ่งแฝงการวิจารณ์และแซะวงการฮอลลีวูดไปในตัว และนอกเหนือจากจิตวิเคราะห์แล้ว The Sopranos ยังกล่าวถึงปรัชญาและนวนิยายอยู่เป็นเนือง ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องอัตถิภาวนิยม [existentialism] และสูญนิยม [nihilism] ในตัวเอเจ หรือหนังสือ Madame Bovary ของโฟลแบร์ ที่คาร์เมลาได้อ่านช่วงกุ๊กกิ๊กโรแมนซ์กับครูที่ปรึกษาของเอเจขณะที่หล่อนและโทนีแยกกันอยู่ ทั้งหมดนี้จึงดูเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้พบในซีรีส์มาเฟียหนึ่งเรื่อง
ด้วยเรื่องราวที่ลึกซึ้งและการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่ฉีกขนบหนังเจ้าพ่อ พอได้ทีมนักแสดงคุณภาพที่เล่นกันเป็นธรรมชาติก็ทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครทุกตัวดูเป็นมนุษย์มนาไม่ต่างจากเรา ๆ โดยเฉพาะเจมส์ แกนดอลฟีนีผู้ล่วงลับในบทโทนี โซปราโน ที่แสดง [และไม่แสดง] ทุกอย่างออกมาผ่านสีหน้าแววตาชัดเจน และ ‘เอาอยู่’ ในทุกช็อตโคลสอัพจนถึงฉากสุดท้ายของซีรีส์ที่เป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คนดูยุคใหม่อาจจะรู้สึกว่า เรื่องราวของ The Sopranos อืดอาดกว่าซีรีส์สมัยนี้ [ที่มีเซอร์ไพรส์/หมัดฮุคให้รีบกดดูตอนถัดไปในบันดล] แต่มองอีกแง่หนึ่ง ความไปเรื่อยของ The Sopranos ก็คือจังหวะเดียวกันกับชีวิตของพวกเรา ซึ่งดำเนินไป ๆ โดยที่เดาไม่ออกกันว่าจะมีอะไรเข้ามาบ้างในแต่ละวัน
นี่คือประเด็นหลัก ๆ ที่ดึงออกมาจาก The Sopranos ให้ได้อ่านกันในบทความนี้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างหลายแง่มุมที่แฟนคลับ นักวิชาการ หรือแม้ทีมนักแสดงเองพูดถึง/วิเคราะห์ซีรีส์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จึงพูดได้เต็มปากว่า ไม่เพียงแต่ The Sopranos จะได้กำหนดนิยามใหม่ของครอบครัวและชีวิตในสังคมอเมริกันหลังปี 2000 แต่ยังปฏิวัติวงการทีวีไปตลอดกาลและเป็นซีรีส์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก
ปล. นอกจากตัวซีรีส์แล้ว ยังมีหนังยาว The Many Saints of Newark (2021) ที่เป็นภาคก่อนสมัยรุ่นพ่อของโทนีออกมาด้วย ซึ่งหากดูก็จะเข้าใจที่มาที่ไปของตัวละคร รวมถึงกิมมิคของซีรีส์มากขึ้น
อ้างอิง
The Sopranos (1999-2007), created by David Chase, HBO Entertainment.
Eraz I. James, The Existential Humor of The Sopranos, Storius Magazine, 25 December 2019, storiusmag.com/the-existential-humor-of-the-sopranos-c5f7f7aff6c9.
Jennifer Keishin Armstrong, The Sopranos: A revolutionary show we’ll talk about forever, BBC Culture, 10 January 2019,
www.bbc.com/culture/article/20190108-the-sopranos-a-revolutionary-show-well-talk-about-forever.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in