เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
BookBookBooh Reviewseenam13
Bullet Journal วิถีบันทึกแบบบูโจนั้นโก้จริง ๆ !!
  • หลายคนต้องเคยจดบันทึกกันแน่ ๆ และต้องเคยหาสิ่งที่ตัวเองจดยุกยิกไว้ไม่เจอด้วยเหมือนกัน เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อสมุดบันทึกสวย ๆ พอต้นปีก็หยิบออกมาใช้เขียน To do list ในแต่ละวันแบบปกติธรรมดา เขียนกำหนดการนัดหมาย และไอเดียอื่น ๆ จิปาถะ เคยลองใช้แบบ Planner รายเดือนรายปี แล้วรู้สึกว่ามันได้ผลกับการนัดหมายดีมาก ๆ เลยล่ะ เพราะช่องสี่เหลี่ยมของปฏิทินสามารถเตือนความจำเราได้ดี แต่ทว่าตัวเรามีฟังก์ชันที่การบันทึกปกติแบบนี้ไม่ตอบโจทย์อยู่ด้วยเหมือนกัน คือการบันทึกไอเดียงานเขียนของตัวเองที่โผล่เข้ามาเหมือนแมวที่ย่องเบา ๆ และหายไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าสิ่งที่จดไว้ก็ยังอยู่ในสมุดนั่นแหละ แต่เราไม่สามารถดึงไอเดียนั้นออกมาทำให้ชัดเจนขึ้นได้หลังจากนั้น เวลาผ่านไปกับหน้ากระดาษที่พลิกไปเรื่อย ๆ ไอเดียนั้นถูกทับถมด้วยความหนาของกระดาษ และแล้วมันก็ถูกกลืนหายไปในที่สุด ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเราเคยมีความต้องการที่จะทำสิ่งนั้นมาก  

    จนได้มาเจอกับสิ่งที่เรียกว่า Bullet Journal จากหนังสือในชื่อ The Bullet Journal Method: วิถีบันทึกแบบบูโจ เล่มนี้ช่างเหมาะสมกับการอ่านต่อจาก Designing your life คู่มือออกแบบชีวิต ด้วย Design Thinking จริง ๆ อารมณ์คล้ายคลึงกันมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องการค้นหาความต้องการของตัวเอง คนที่อยากจัดระเบียบชีวิต และอยากไปให้ถึงเป้าหมาย

    เราต้องเท้าความย้อนกลับไปว่า เคยได้ยินคำนี้มานาน บันทึกแบบบูโจ ฮะ บันทึกแบบบูโจ!? มันคืออะไรน่ะ ต้องมาจากประเทศอาทิตย์อุทัยแหง ๆ ชื่อเลา ๆ นี้ อิคิไก คินสึงิ วะบิ ซะบิ ซึ่งผิดถนัด มันเป็นคำย่อของคำว่า Bullet Journal นั่นแหละ ต้องขอบคุณ Readery Podcast กับ Bangkoknoi book review ที่แนะนำเล่มนี้ให้เรารู้จักนะคะ บูโจเป็นวิธีที่สร้างขึ้นโดยคุณไรเดอร์ แคร์รอลล์ ตัวเขาเคยเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถหยุดความคิดใดความคิดหนึ่งไว้ได้นาน จะต้องมีอะไรมาแทรกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง ต้องขอบคุณที่เขาเอาวิธีการเขียนบุลเล็ตเจอร์นัลนี้ไปบอกกับเพื่อน และเพื่อนของเขาบอกว่าเรื่องนี้ต้องบอกให้โลกรู้ สิ่งนี้อาจจะช่วยใครหลายคนได้ ซึ่งเราว่ามันทำงานได้มากกว่าที่พวกเขาคาดคิดเยอะเลย มันสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของเรา เพียงแต่เราต้องศึกษาหลักการการทำงานของมันให้ดี และยึดหลักนั้นไว้ให้มั่น

    คุณไรเดอร์แนะนำให้เราโฟกัสที่เป้าหมายที่สำคัญกับเราจริง ๆ ด้วยการเขียน Rapid Logging หรือ Daily log ในแต่ละวัน มีนัดหมายเข้ามาก็จด มีงานที่ต้องทำก็จด ไอเดียแวบเข้ามาในสมองก็จดไว้ก่อนแต่จดสั้น ๆ นะคะ เอาเนื้อ ๆ แล้วค่อยมาจัดระเบียบ (ในเล่มใช้คำว่าทบทวน) ว่าจะย้ายมันไปไว้ใน Future log (แพลนทั้งปีที่เราทำไว้แล้วแต่แรก) หากมันไม่ได้เป็นงานที่ต้องทำให้เสร็จในเดือนนี้  หรือจะย้ายไปวันถัด ๆ ไปก็ได้ หรือขีดฆ่าทิ้งไปเลยหากมันไม่สำคัญแล้ว นอกจากนี้ยังมี monthly log ที่จะทำเมื่อถึงเดือนนั้น ๆ กล่าวคือ ย้ายงานใน Future log มาใส่ และเขียนงานที่(ที่เรารู้ล่วงหน้าว่า)ต้องทำในเดืิอนนั้นลงไป (มีการทำสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกกการย้ายด้วยค่ะ) งานนั้นจะไม่มีวันหายไปและเราจะทำเสร็จลุล่วงแน่นอน เพราะเรามีการทบทวนสิ่งเหล่านี้ในทุกวัน หรือใครชอบเขียนบรรยายยาว ๆ ก็ทำได้ใน Note แถมยังทำ Colletion พิเศษได้ด้วย เช่น ถ้าเราอยากจดรายชื่อหนังสือที่อยากอ่านหรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็แค่เขียนหัวข้อลงไป และที่เราชอบมาก ๆ คือ Tracker เราสามารถตามดูสิ่งที่เราอยากโฟกัส เช่น การออกกำลังกาย การดื่มน้ำในแต่ละวัน และอื่น ๆ โดยทั้งหมดต้องทำดัชนีหรือสารบัญไว้ที่ด้านหน้าสมุดเพื่อให้เปิดดูได้ง่าย พูดมาถึงจุดนี้อาจจะงง ๆ นะคะ แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เราขอเสนอคลิปวิดีโอตัวช่วย 




    เราคงจะอธิบายรายละเอียดการเขียนบุลเล็ตเจอร์นัลได้ไม่ดีเท่าไหร่ ยังไงเราแนะนำให้ทุกคนที่อ่านอยู่ในขณะนี้เข้าเว็บไซต์ bulletjournal.com และเข้าไปดูวิธีการเขียนอย่างละเอียด รวมถึงคอนเซ็ปต์ของมันจริง ๆ เมื่อคุณลองเสิร์ชแฮชแท็กต่าง ๆ เช่น #BulletJournal #bulletjournaling #Bujo #bulletjournalcommunity  อย่าให้รูปแบบที่สวยงามหลอกตาคุณเป็นอันขาด หรือคุณจะพุ่งตรงไปที่ร้านหนังสือและซื้อหนังสือเล่มนี้กลับบ้านไปอ่านก็ได้ สิ่งที่คุณจะได้ไม่ใช่แค่รู้วิธีเขียนบุลเล็ตเจอร์นัล แต่คุณไรเดอร์ยังช่วยแนะให้คุณไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้โดยไม่วอกแวกหรือหลงทางอีกด้วย
    ขอขอบคุณ
    ภาพประกอบ: สำนักพิมพ์ bookscape
    คลิปวิดีโอ: Hello Natta Thailand





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in