บางเพจรีวิวว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังโรแมนติกดราม่าชั้นดี แต่บางเพจรีวิวว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังการเมืองที่แฝงซิมโบลิกร้ายกาจเต็มไปหมด บางครั้งก็แอบสงสัยว่าทำไมหนังเรื่องนึงคนถึงตีความภาพจำออกมาได้แตกต่างกันขนาดนี้? ทั้งที่ประสบการณ์ทางภาพและเสียงที่ได้รับก็เหมือนกันหมด นี่ตกลงเราดูหนังเรื่องเดียวกันอยู่ใช่มั้ย?
สำหรับเรา เราขอเลือกจดจำหนังเรื่องนี้ในฐานะของหนังไทยโรแมนติกที่ดีสุดในยุค2010s ละกัน (แกล้งลืมเรื่องการเมืองไปละกันเนาะ ยังไม่อยากเข้าค่ายทหาร ฮ่าๆ) เพราะคงไม่มีหนังรักเรื่องไหนอีกแล้วที่เหมาะกับยุคสมัยโซเชียลมีเดียครองโลกไปมากกว่านี้ ในยุคที่ทุกคนเก็บความทรงจำอันทรงคุณค่าทั้งหมดไว้ในไอจีกับเฟซบุ๊ค ในยุคที่การตกแต่งรูปถ่ายง่ายกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ในยุคที่วัยรุ่นวัยทำงานทั้งหลายเสพติดคอนเทนต์อารมณ์nostalgia โหยหาอดีตที่สวยงามกันเหลือเกิน ในยุคที่พวกเราทุกคนควรตั้งคำถามได้แล้วว่าภาพความทรงจำทั้งหลายที่เราขยันใส่ฟิลเตอร์แล้วอัพโหลดอยู่ทุกวี่วัน มันคือความจริงมากแค่ไหนกัน ?
พล็อตหนังเรื่องนี้เรียบง่ายแต่แฝงประเด็นลึกซึ้งได้เฉียบคม ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนวัยยี่สิบกลางๆที่กอดคอกันมารำลึกความทรงจำเก่าๆสมัยม.ปลาย เผื่อถ่ายภาพพรีเวดดิ้งคู่รักในกลุ่ม ทุกคนรู้สึกคิดถึงมิตรภาพ ความสวยงามของช่วงชีวิตมัธยม นี่คือความทรงจำอันล้ำค่าซึ่งพวกเขาและเธอมีร่วมกันมา แต่ในทางกลับกันกลุ่มก้อนความทรงจำเก่าๆเหล่านั้นมันดูเหมือนมีปมเหตุการณ์บางอย่างถูกพยายามทำให้หายไป แกล้งลืมเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทั้งที่ความจริงแล้วมันยังเป็นบาดแผลฝังใจหนุ่มสาวอีกคู่หนึ่งมาเป็นเวลากว่า 8 ปี และบาดแผลนั้นก็ยังปรากฎร่องรอยชััดเจนอยู่ในหนังสือรุ่นที่เพื่อนทุกคนมีรูปถ่ายตัวเองอยู่ในเองนั้น ยกเว้นนางเอกและพระเอกที่ถูกจดจำให้เป็นภาพของมนุษย์ล่องหนในรูปถ่ายหนังสือรุ่น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือปมเหตุการณ์อดีตที่ฝังใจหนุ่มสาวคู่นี้ เมื่อถูกนำมาขุดคุ้ยขยายความอีกครั้งในช่วงครึ่งท้ายของหนัง จนเราเริ่มมองเห็นเค้าลางของความสัมพันธ์ลึกซึ้งในสมัยม.ปลายที่ทั้งคู่มีร่วมกัน ปรากฏว่าเขาและเธอกลับจดจำดีเทลต่างๆในความทรงจำได้ไม่เหมือนกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งชื่อเพลงเพลงหนึ่งที่เคยใช้ส่งถึงกันในวันแห่งการจากลา (อ้าว! ไหนว่าเป็นปมฝังใจไม่ใช่เหรอ ทำไมเรื่องสำคัญขนาดนี้ยังจำผิดล่ะ)
หลังจากดูหนังจบ อารมณ์ของเรายังค้างคาไม่จบไม่สิ้นกับประเด็นเรื่องความทรงจำเพี้ยนๆ ที่ถูกเล่าในหนัง พอกลับมานั่งทบทวนตัวเองดู ประกอบกับอ่านรีวิวหนังและบทความจิตวิทยาต่างๆเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำมนุษย์เพิ่มเติมไปด้วย ก็ถึงบางอ้อในทันทีว่า "ความทรงจำ" คือภาพเหตุุการณ์อดีตที่ถูกสมองใส่"ฟิลเตอร์"โดยอัตโนมัติ และมันนำมาซึ่งสิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า "ความทรงจำลวง"(false memory)ฟังดูอาจจะน่าตลก ถ้าบอกว่าความทรงจำทั้งหลายในสมองมนุษย์เราล้วนถูกเจือปนไปด้วยเรื่องแต่งที่เราจินตนาการขึ้นมาเองโดยไม่รู้ตัว แต่นี่คือความเป็นจริงที่ทุกคนควรยอมรับกันซักที ต่อให้เราเป็นอัจฉริยะความจำแม่นยำขนาดไหน แต่ถ้าความทรงจำเหล่านั้นนั้นมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง สมองก็พร้อมที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆได้ตลอดเวลา ไม่ต่างไปจากฟิลเตอร์สารพัดแอพมือถือที่บิดเบือนสีภาพถ่ายของเราให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
แต่ที่น่าตลกไปกว่านั้นก็คือมนุษย์ส่วนใหญ่ในยุคนี้ดูจะพอใจไปกับการใส่ฟิลเตอร์ภาพความทรงจำตัวเองกันเหลือเกิน ในหนังเรื่องนี้มีประโยคนึงที่แฟนพระเอกพูดไว้ประมาณว่า
"คนเราชอบเสพเรื่องที่มันจี๊ดๆ ดราม่าๆ" พอเจอคำพูดนี้เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงฉากตอนนางเอกเล่าความหลังตำนานรักสุดโรแมนติกสมัยเพิ่งคบกับว่าที่สามี ให้เพื่อนๆฟัง แต่พอว่าที่สามีได้ฟังแล้วกลับโต้แย้งว่าตอนนั้นไม่ได้ทำอะไรโรแมนติกเลี่ยนๆแบบที่นางเอกเล่าซักนิดเลยทั้งที่เธอยังยืนกรานว่ามันคือความจริง ดูจากในหนังแล้วเราคิดว่านางเอกคงไม่ได้มีเจตนาแต่งเรื่องโกหกทุกคนหรอก แต่นี่คงเป็นตัวอย่างชัดเจนของผู้เสพติดฟิลเตอร์ความทรงจำ ถูกสมองต่อเติมปั้นแต่งสตอรี่ของตัวเองให้จี๊ดกว่าคนอื่น จนนานๆเข้าก็กลายเป็นการหลอกตัวเองอย่างสมบูรณ์
ในยุคนี้โซเชียลมีเดีย คอนเทนต์ดราม่าจี๊ดๆคือสิ่งที่ขายดีสุดในสื่อกระแสหลัก คนส่วนใหญ่จึงมีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากนางเอกหนังเรื่องนี้(รวมถึงเราด้วย)ที่พยายามใส่ฟิลเตอร์จี๊ดๆให้กับความทรงจำของตัวเอง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามทีเถอะ ไม่แปลกเลยที่ในฟีดข่าวจะเต็มไปด้วยรูปภาพจี๊ดๆ วิดีโอจี๊ดๆ สเตตัสจี๊ดๆ ทุกสิ่งถูกผ่านการคัดกรองโดยสมอง การเลือกจดจำ การเลือกตัดทอน การแกล้งลืมมันไป และตกแต่งเรื่องราวให้สวยงามกว่าความเป็นจริง กลายเป็นโลกแฟนตาซีขนาดใหญ่ที่แฝงอยู่ในคราบของการถวิลหาอดีต ท้ายที่สุด ทุกฟิลเตอร์ที่เราเคยใส่ลงไปในภาพถ่าย ข้อความ หรือวิดีโอ หรือแม้กระทั่งคำพูด เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะย้อนกลับมาใส่ฟิลเตอร์ความทรงจำในสมองเราให้เผลอคิดเองไปว่าเรื่องดราม่าจี๊ดๆเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง
ทั้งหมดที่เราเขียนมาก็เป็นเพียงแค่ภาพความทรงจำผ่านฟิลเตอร์ส่วนตัวที่มีกับหนังเรื่องนี้ หลายคนคงเลือกจดจำและตีความหนังเรื่องนี้ไม่เหมือนกับเราอยู่แล้ว หลายฉากในหนังเราอาจจดจำดีเทลผิดเพี้ยนไปโดยไม่รู้ตัว หลายประเด็นเราอาจจะทึกทักไปเองว่าผู้กำกับต้องการสื่อสารแบบนั้น หลายคนอาจจะเห็นแย้งกับสิ่งที่เราพูดถึงหนัง เราอาจจะเขียนเว่อไปจนหนังมันดูจี๊ดเกินจริง ทั้งที่มันอาจจะไม่ได้จี๊ดขนาดนั้นก็ได้
คิดดูสิ แค่หนังเรื่องเดียวกันยังทำให้คนดูมีภาพจำออกมาได้แตกต่างกันขนาดนี้ แล้วเหตุการณ์ความทรงจำฝังใจในอดีตที่มีดีเทลยิบย่อยมหาศาลกว่าหนังหลายเท่า จะทำให้คนเรามีภาพจำออกมาได้แตกต่างกันขนาดไหน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in