เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
人間失格 - สูญสิ้นความเป็นคน
  • "สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเข้าใจยากคือมนุษย์ซึ่งใส่หน้ากากเข้าหากัน
    แต่กลับยังมีชีวิตอยู่อย่างใสสะอาดเบิกบาน หรือมั่นใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่างหาก มนุษย์ไม่เคยสอนให้ผมรู้ถึงความจริงอันประเสริฐข้อนั้น หากรู้ว่าต้องทำอย่างไร ผมคงไม่หวาดกลัวพวกเขาจนต้องคอยแต่หาวิธีเอาใจเช่นทุกวันนี้
    หากรู้ว่าต้องทำอย่างไร
    ผมคงไม่กังขาในการใช้ชีวิตของมนุษย์"
    (p. 31)

     ช่วงเวิ่นเว้อหลังอ่านจบ 

    ความโศกเศร้าระลอกหนึ่งมักจะเกิดขึ้นในยามที่เรารู้สึกไม่เข้าใจโลกอย่างสุดซึ้ง
    ในอกของเรา (ผู้เขียนบทความนี้) มักมีความทุกข์ระทมอยู่เสมอ 
    เรากังขาอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเกิดมาเพื่ออะไร
    และกังขาเรื่อยมาว่าเราเป็นมนุษย์ที่แท้หรือไม่

    ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่แท้คืออะไร เรายังไม่รู้เลย
    แล้วเราจะมีโอกาสได้เข้าถึงมนุษย์หรือความเป็นคนที่ว่านั่นหรือเปล่า?

    หลายครั้งที่เราหันมองผู้คนรอบกาย ครอบครัวที่กำลังเดิน คู่รักที่กำลังจูงมือ เพื่อนที่พูดคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน สายตาเรามองเลยไปยังพ่อค้าแม่ขายตามข้างทาง คุณลุงผิวกายแห้งเหี่ยวหยาบกร้านที่กำลังเข็นรถเข็น ไปจนถึงกระเป๋ารถเมล์ผู้คล่องแคล่ว และเด็กนักเรียนมอมแมมที่นั่งอยู่ข้างถนน

    หนึ่งในคำถามที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของเราคือ
    คนเหล่านั้นเป็นมนุษย์เหมือนฉันหรือไม่?
    เราเห็นโลกเหมือนกันหรือเปล่า?
    เราสงสัยในสิ่งเดียวกันไหม?
    เรารู้สึก รับรู้ ตัดสินใจ และถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ออกมาด้วยกระบวนการเดียวกันหรือไม่?

    ถ้าใช่.
    แล้วเหตุใดฉันจึงไม่เข้าใจมนุษย์เอาเสียเลย.

    人間失格 (นินเก็น ชิคคาคุ) หรือในชื่อภาษาไทยคือ สูญสิ้นความเป็นคน เป็นนวนิยายที่เขียนโดย ดะไซ โอซามุ เราไม่รู้จักเขาหรอก แต่ท่าจะเป็นคนดังทีเดียว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าวรรณกรรมญี่ปุ่นเล่มนี้เป็นวรรณกรรมชั้นยอด คือความทรงพลังของมัน

    สูญสิ้นความเป็นคน ได้ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดของเรา (ผู้เขียนบทความนี้) ออกมาได้ราวกับผ่าคลี่อกของเราออกและคว้านค้นเอาทุกเศษเสี้ยวความกังขาในการเป็นมนุษย์ออกมาร้อยเรียง โดยเฉพาะในบทที่ชื่อว่า "บันทึกฉบับที่หนึ่ง" ที่เล่าเรื่องราวของตัวเอกในวัยเด็กนั้น เรารู้สึกสั่นสะเทือนด้วยระลอกคลื่นแห่งความโศกเศร้าในโชคชะตาของตนอย่างรุนแรง เพราะมันตรงกับความรู้สึกหวาดกลัวมนุษย์ในใจของเราเสียเหลือเกิน


     คำว่ามนุษย์ในภาษาญี่ปุ่น   (อ้างอิง 1)

    คำว่า 人間 (นินเก็น) ในภาษาญี่ปุ่น มีต้นตอมาจากความเชื่อของศาสนาพุทธในเรื่องภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิด ทั้งห้าภพภูมินั้น ประกอบด้วย 地獄中 (จิโกะขุ จชูว - นรกภูมิ)   餓鬼中 (กะคิ จชูว - เปรตภูมิ)    畜生中 (จชิคุโชว จชูว - เดียรัจฉาน)    人間 (นินเก็น - มนุษย์)   และ 天上 (เทนโจว - เทวภูมิ) บางคนก็เชื่อว่ามีหกภพภูมิ คือเพิ่มภพภูมิของ 阿修羅 (อาชูระ - อสูร) เข้ามาด้วย

    จะสังเกตุเห็นได้ว่าคำลงท้าย เช่น 中, 間, 上 คือการบ่งบอกตำแหน่งสถานที่หรือสถานะในภาษาญี่ปุ่น 
            中 (นากะ/จชูว)    แปลว่า   ข้างใน, ท่ามกลาง, ใน, ตรงกลาง, ระหว่างที่
      間 (อาอิดะ/มะ/คัง/เคน)    แปลว่า  พื้นที่ว่าง, ช่องว่าง, เวลา, ช่วง
      上 (อุเอะ/โจว)      แปลว่า   เหนือ, บน, นอกเหนือจาก, มากกว่านี้

    ดังนั้น 人間 (นินเก็น) จึงเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดมาในสถานะหนึ่ง ๆ สถานะนั้นคือคำว่า "คน" ที่เขียนแทนด้วยตัวอักษร 人 (ฮิโตะ) ซึ่งเป็นคำเรียก "คน" แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั่นเอง 

    คำว่า "คน" 人 (ฮิโตะ)  ในภาษาญี่ปุ่นก็มีการนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น
    สำนวนที่ว่า の物を取る (ฮิโตะ โนะ โมโนะ โวะ โทรุ) แปลว่า ขโมยของในความครอบครองของผู้อื่น หรือสำนวน 聞きが悪い (ฮิโตะคิคิ ก๊ะ วารุ่ย) แปลว่า กระดากหรือลังเลใจที่จะฟังเสียงของสังคม
    และสำนวน をばかにするな (ฮิโตะ โวะ บากะนิซุรุนา) แปลว่า อย่ามาทำเรื่องบ้า ๆ กับฉัน 

    จะเห็นว่า คำว่า ฮิโตะ (人) คำเดียวสามารถให้ความหมายถึง ตัวเอง ผู้อื่น และสังคม ได้ในเวลาเดียวกัน
    เมื่อพิจารณาดูแล้ว การเป็นมนุษย์ (人間) จึงไม่ใช่การเกิดขึ้นมาดำรงอยู่อย่างปัจเจก แต่เป็นการตระหนักรู้ถึงดำรงอยู่ และขณะเดียวกัน ก็อาศัยอยู่ในความเป็นมนุษย์ (หรือพูดง่าย ๆ คือสังคมนั่นแหล่ะ) ไปด้วย

    ยิ่งเมื่อเป็นสังคมญี่ปุ่นที่ให้คุณค่ากับการรวมหมู่ (collectivism) ให้ความเคารพและยอมรับกับเสียงส่วนใหญ่ มีลำดับอาวุโส มีคำสุภาพและการเว้นระยะห่างต่อกันมากมายเสียจนความเป็นปัจเจกถูกกลบลบหายไปด้วยกระแสขนาดใหญ่ ทำให้ยิ่งขับให้เห็นชัดถึงความโดดเดี่ยวเดียวดายในสังคมญี่ปุ่น

    "ในความคิดของผม ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยเรื่องหลอกลวงเกินจะนับ
    แม้ต่างคนต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน น่าประหลาดที่กลับไม่มีใครรู้สึกเจ็บปวด
    ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังตบตากันอยู่
    ช่างงดงาม ปริสุทธิ์สะอาด และน่าเบิกบานอะไรเช่นนี้"
    (p. 30-31)

    การสูญสิ้นความเป็นคนในที่นี้ จึงไม่ใช่เพียงการตายจากหรือการเป็น "คนไม่เต็ม" หรือคนบ้า 
    แต่เป็นการสูญสิ้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นความรู้สึกแปลกแยก (alienation) อันโดดเดี่ยวที่ไม่ว่าจะขบคิดเท่าใดก็ไม่สามารถไขข้อกังขาถึงความประหลาดของมนุษย์ได้

    ตัวเอกในเรื่องนี้ จึงหวาดกลัวมนุษย์และไม่เข้าใจคนอื่น ๆ รอบข้าง
    และคิดว่าคงไม่มีใครเข้าใจตัวเขาเช่นกัน.

    "ตอนนี้ผมไม่ใช่แค่คนบาป แต่ถึงขนาดเป็นคนบ้า
    ไม่สิ ผมมั่นใจว่าตัวเองยังมีสติครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เคยบิดเบี้ยวแม้สักวินาที
    แต่ว่า...โอ...ได้ยินว่าคนบ้าส่วนใหญ่ไม่มีใครเรียกตนเองเช่นนั้นหรอก
    กล่าวคือใครก็ตามหากถูกส่งมายังอาคารแห่งนี้คือคนบ้า หากไม่ใช่ย่อมหมายความว่าเป็นคนดี"
    (p.173)



    人間失格
    สูญสิ้นความเป็นคน
    writer: ดะไซ โอซามุ
    translater: พรพิรุณ กิจสมเจตน์
    JLIT publishing

    อ้างอิง 1   人生 第10語「人間」という言葉 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in