เมื่อพูดถึง กัมพูชา ...
สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือบรรดาเรื่องลึกลับสยองขวัญต่าง ๆ เกี่ยวกับมนตร์ดำและของเขมรที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กตลอดจนในภาพยนตร์ต่าง ๆ
อย่างที่สองที่เรานึกถึง คือ เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ อันเนื่องมาจากพื้นที่ทับซ้อน ความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมที่ต่างฝ่ายต่างยกขึ้นมาอ้างว่าฉันคือต้นแบบ ซึ่งเป็นเหตุให้นักเลงคีย์บอร์ดของทั้งสองประเทศฟาดฟันกันอย่างดุเดือดในโลกอินเตอร์เน็ต
และสาม คือ แรงงานจากกัมพูชาที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ร่วมกันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของบ้านเราทั้งในระดับจุลภาค เช่น พี่พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารตามสั่งแถวมหาลัย และระดับมหภาค
สามสิ่งนี้ทำให้เรามีชุดความคิดประหลาดที่ผิดเพี้ยน ประกอบกับไอเดียความคิดชาตินิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวอันสืบเนื่องมาจากระบบการศึกษาในวัยเด็ก (และกระทู้พันทิปที่รีวิวว่าที่นี่ห้องน้ำไม่สะอาด...) จึงทำให้ภาพจำของเรากับประเทศเพื่อนบ้านนี้ก็หนีไม่พ้นตรรกะเพี้ยน ๆ ที่มองว่า ฉันเจริญ แต่เธอไม่ ซึ่งทำให้ก้าวแรกที่เราเหยียบย่างเข้าสู่ ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมเรียบ นั้นเราก็ร้องอู้วอยู่ในใจว่าทุกอย่างมันช่างเพรียบพร้อม สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อยไปหมด มีป้ายโฆษณาแต่พองามไม่รกสายตาชวนให้เวียนหัว เรียกได้ว่าเป็น ประตูสู่เมืองมรดกโลกที่สร้างความประทับใจให้เราทั้งแต่เริ่มต้นการเดินทาง (พลางนึกย้อนถึงสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่เราเพิ่งจากมาก็ได้แต่ทอดถอนหายใจแล้วเหม่อมองเพดานที่มีน้ำรั่วเวลาฝนตก...)
คุณลุงวัน สารถีประจำทริปของเราตรงรี่เข้ามาทักทายด้วยอาการยิ้มแย้มพร้อมกับแนะนำตัวเป็นภาษาไทยสำเนียงแปร่ง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของแก และจัดแจงลากกระเป๋าเดินทางใบเล็กไปเก็บไว้ในรถสามล้อคู่ใจ และพาเราไปซื้อซิมการ์ดที่เคาเตอร์เล็ก ๆ ด้านหน้าสนามบิน
สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจอีกประการหนึ่งคือความเฟรนด์ลี่ใจดีของคนท้องที่ที่มีต่อนักท่องเที่ยว ยิ่งเมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทยก็เหมือนจะตื่นเต้นเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งสเต็ป สังเกตได้จากพนักงานที่ขายซิมการ์ดนั่นแหละ พอรู้ว่าเป็นคนไทยก็สวัสดีค่าทันทีและบอกว่าเขาพูดไทยได้นิดหน่อย
ลุงวันและสามล้อคู่ใจ
เมื่อเราจัดแจงทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเดินทางออกจากสนามบิน ลุงวันแกก็ถามว่าพวกเราอยากไปไหน ทำอะไรก่อน เพราะกว่าจะถึงเวลาเช็คอินที่โฮลเทลก็ช่วงบ่ายสองนู้น ฉะนั้นเรามีเวลาประมาณสองชั่วโมงในการเที่ยวกุ๊กกิ๊กจิปะถะ ซึ่งเจ๊น้ำผู้วางแผนการเดินทางทั้งหมดก็ขอให้คุณลุงพาไปที่ War Museum ก่อนเพราะเป็นทางผ่านเข้าเมืองพอดี (ตอนแรกคุยกับพี่เดือนไว้ว่าอยากไปที่นี่ แกก็แอบคัดค้านเล็กน้อยเพราะแกมองว่ามันไม่ชิค ๆ ถ่ายรูปไม่สวยนะ ซึ่งเราทั้งสองผู้รักการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ก็ยืนยันว่าอยากจะไปดูอยู่ดี ไหน ๆ ก็มาเที่ยวแล้ว ต้องเก็บให้ครบสิ!)
War Museum - Siem Reap
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้นเป็นที่จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่เคยใช้งานในช่วง สงครามกลางเมืองกัมพูชา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ เขมรแดง ร่วมกับเวียดนามเหนือ และเวียดกง กับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรที่ได้รับการสนับสนุุนจากอเมริกาและเวียดนามใต้ ซึ่งท้ายที่สุดนั้นก็นำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชานั่นเอง
พื้นที่ในการจัดแสดงนั้นก็มีพวกรถถังและปืนต่าง ๆ มีบอร์ดให้อ่านประกอบและมีบริการไกด์นำทัวร์ค่ะ แต่พี่เขากินข้าวอยู่เลยไม่รบกวน เดินดูเดินอ่านกันเอง
Kodak Color Max 400
เขมรแดง หรือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา เริ่มจาก
กลุ่มปัญญาชนปารีส ซึ่งเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่ไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส และได้นำเอาแนวคิดนิยมคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นว่านี่คือหนทางที่จะทำให้ประเทศปราศจากความไม่เสมอภาคทางชนชั้น ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และลดการแทรกแซงทางการเมืองจากประเทศมหาอำนาจ ประกอบกับบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้นที่แนวทางของคอมมิวนิสต์กำลังได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ ประเทศ
เมื่อกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวได้ขยายแนวคิดนี้จนได้รับความนิยม จึงได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาขึ้น และได้รับการสนับสนุนทางการทหารจึงได้ขึ้นสู่อำนาจได้ในที่สุด ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ให้ความเห็นไว้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขมรแดงเรืองอำนาจนั้นก็มาจากการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองและการทิ้งระเบิดของอเมริกาที่จุดฉนวนทำให้เกิดความนิยมแก่เขมรแดงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง จนสามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลได้ และนำพาประเทศเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มรูปแบบ
Kodak Color Max 400
เมื่อเขมรแดงได้เข้ายึดกรุงพนมเปญและเมืองใหญ่ ๆ เช่น เสียมเรียบและพระตะบองได้เรียบร้อยแล้ว ก็สั่งให้อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองเพื่อไปเป็นแรงงานในพื้นที่ชนบท ตรงนี้บอร์ดที่เราไปยืนอ่านก็มีคำให้การของประชาชนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
เขาเล่าว่ามีทหารเข้ามากวาดต้อนคนออกไปจากบ้าน ท้องถนนเต็มไปประชาชนเดินกันเป็นขบวนโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน และไม่รู้ว่าจะต้องจากบ้านไปนานเท่าใด บางคนยังโชคดีที่พอจะมีเวลาเก็บสัมภาระและข้าวสารอาหารแห้งติดตัวมาด้วย แต่ครอบครัวที่โชคร้ายก็ต้องออกเดินทางแบบตัวเปล่า ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันนั้น
ประชาชนไม่มีสิทธิใช้ยานพาหนะใด ๆ ทั้งสิ้นยกเว้นคนแก่และคนพิการ ซึ่งในระหว่างการเดินทางออกจากเมืองสู่ชนบทนี้มีจำนวนมากกว่าสามพันคน และเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็ต้องทำงานให้กับคอมมูน ซึ่งก็เป็นหน่วยย่อยของเขมรแดงที่เปรียบเสมือนเป็นค่ายกักกันและทำงานเกี่ยวกับการเกษตรแล้วแต่คอมมูนจะสั่ง ซึ่งการทำงานนั้นก็ใช้แรงงานเท่านั้น ไม่มีเครื่องมือทุ่นแรง ซึ่งต้องทำงานวันละ 11 ชั่วโมง เป็นเวลาติดต่อกัน 9 วัน ใครที่ทำช้าก็จะถูกลงโทษ และวันที่ 10 จะเป็นวันที่ทุกคนต้องมาฟังการอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์
Kodak Color Max 400
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาเริ่มขึ้นจากความหวาดกลัวของเขมรแดงที่คิดว่าต้องกำจัดคนที่จะเป็นภัยต่อการปกครอง มีการจับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเก่า อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงคนที่สวมแว่นตา ตลอดจนนักดนตรี นักเขียน นักแสดงต่าง ๆ มากักขัง ทรมาน และถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเมื่อรวบรวมสถิติแล้วพบกว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปราว ๆ สามล้านคนเลยทีเดียว
สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันโหดร้ายที่สุดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรคือภาพด้านล่างซ้ายค่ะ เป็นต้นไม้ที่เรียกกันว่า ต้นไม้สังหาร หรือ The Killing Tree ค่ะ ต้นไม้นี้ตั้งอยู่ใน ทุ่งสังหารเจืองเอ็ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 17 กิโลเมตรค่ะ
ด้วยความคิดที่จะต้องการกำจัดคนที่คิดต่าง มีความรู้ หรืออาจจะเป็นภัยแก่เขมรแดงนั้นครอบคลุมไปถึงการสังหารเด็กทารกตาดำ ๆ เพราะทางเขมรแดงมองว่าเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ถูกฆ่าจะต้องโตมาแล้วแก้แค้น ซึ่งเป็นภัยแก่ความมั่นคง เขาก็จะจับเด็กเหล่านี้ฟาดกับต้นไม้จนตายค่ะ และคนที่จับเด็กฟาดจะต้องยิ้มและหัวเราะไปด้วย เนื่องจากหากแสดงอาการสงสารจะถูกลงโทษหรือประหารชีวิตไปด้วย
เราเดินออกจาก War Museum ด้วยความรู้สึกที่ยากจะอธิบายค่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปเห็นสถานที่จริงที่กรุงพนมเปญ แต่ก็สัมผัสได้ถึงความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์ได้กระทำต่อกันแล้วมันหดหู่ในหัวใจ เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ก็ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวกัมพูชาทุกคน เป็นรอยแผลที่ถูกฝากไว้อยู่ในหัวใจที่ยากจะลบเลือนออกไปได้
แต่สิ่งที่ทุกคนที่นี่ทำนั้นไม่ใช่การปัดเอาเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นนี้ทิ้งไว้ใต้พรมและแสร้งทำเป็นลืม เผลอทำเป็นเลือนเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เลือกที่จะไม่พูดถึง หรือบิดเบือนเรื่องราวให้เปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง แต่เขาจดจำ เล่าต่อ และสอนลูกหลานให้เรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก....
และสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุคเขมรแดงปฏิวัตินั้น เราก็ขอแนะนำภาพยนตร์เรื่อง "First They Killed My Father" ทาง Netfilx ค่ะ
ภาพยนตร์เรื่องนี้จากเรื่องจริงจากความทรงจำของ Loung Ung ผู้เขียนหนังสือ First They Killed My Father: A Daughter Of Cambodia Remembers ซึ่งสะท้อนสภาวะกดดันและโหดร้ายภายใต้การนำของเขมรแดงในขณะนั้นค่ะ
ป.ล. ใจจริงเราอยากจะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับยุคเขมรแดงให้มากกว่านี้ แต่รู้สึกว่ามันสะเทือนใจที่จะกลั่นกรองเป็นคำพูดออกมาได้ เลยแนะนำให้ลองไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้แทนค่ะ กำกับโดยแองเจลิน่า โจลี่ ภาพสวยมาก ส่วนเนื้อเรื่องก็ต้องกลั้นน้ำตาดูไปค่ะ ความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับเรา คือ เมื่อดูจบแล้ว จากที่คิดว่ามาเที่ยวแค่เสียมเรียบก็พอมันไม่พอแล้วล่ะ เราอยากไปเห็นพนมเปญด้วยตาของตัวเองเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
- จากนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว อาจกระทบใจผู้อ่านไปบ้าง ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ -
สำหรับตัวเราเองนั้นมองว่าการไม่พูดถึงหรือบิดเบือนไม่ได้ทำให้ความจริงที่มันเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของคนในสังคมที่จะก้าวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ไปด้วยกัน และการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น "อย่างถูกต้อง" เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะมันจะสร้างให้เขาเกิดความเข้าใจ ตระหนักรู้ และพยายามที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่างซ้ำรอยเดิมอีก
เรามองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรา โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่นั้นค่อนข้างแคบ ในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมลงรายละเอียดไว้น้อยมากว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความเป็นมาอย่างไร อะไรเป็นมูลเหตุเบื้องหลังของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
เราไปเน้นเนื้อหาประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ท่องจำราชวงศ์ในสมัยอยุธยา เรียนว่าจตุสดมภ์ประกอบด้วยเวียง วัง คลัง นา และช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมีการรวมชาติสยามไว้อย่างไร อังกฤษทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งแล้วยังไงต่อ เราเสียดินแดนอะไรไปบ้างให้กับประเทศผู้ล่าอาณานิคม รัชกาลที่ห้าประกาศให้สยามเลิกทาส รัชกาลที่หกจัดตั้งกองลูกเสือและริเริ่มให้มีระบบรัฐสภาจำลอง จากนั้นประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง และเนื้อหาที่เรียนต่อจากนั้นก็มีอย่างละไม่เกินสามย่อหน้าเท่านั้นเอง
ซึ่งเรามองว่าประวัติศาสตร์ไทยในช่วงนี้นั้นมีความน่าสนใจและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเมืองและตลอดจนชุดความคิดของคนในสังคม ประกอบกับเราศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านการท่องจำโดยปราศจากการวิเคราะห์ถึงเหตุและผล ที่มาที่ไป ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมกว้างขวางมายิ่งขึ้น สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in