เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความเรียงล้านแปดOrraphansilp
ว่าด้วยเรื่องของการสอบบาลี
  • เคยเจอแฮชแท็กนี้ในทวิตเตอร์ "วิธีฆ่าคนตามคณะที่เรียน"

    เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะบอกว่า ทุกคณะเรียนยากเหมือนกัน ดังนั้น จงอย่าเปรียบเทียบว่าคณะนั้นเรียนง่าย คณะนี้เรียนยาก

    และนี่ก็คือวิธีฆ่านักศึกษาของอาจารย์เอกไทย

    ฆ่าครั้งที่หนึ่ง - กำหนดสอบปลายภาคในเช้าวันอาทิตย์

    ฆ่าครั้งที่สอง - คาบเรียนสุดท้าย อาจารย์ขิงไว้ว่า ข้อสอบที่ออกเป็นข้อสอบแยกคนเก่ง คนขยัน คนไม่ตั้งใจเรียนและคนมีบุญเก่าออกจากกัน คำศัพท์บาลีที่เอามาออกมีทั้งที่อยู่ในหนังสือและเป็นคำทั่วๆ ไปที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ดวงว่าใครจะเคยเจอ ไม่เคยเจอ

    ฆ่าครั้งที่สาม - ข้อสอบบาลีต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งที่อาจารย์ออกสอบและนักเรียนโอดครวญมากที่สุด

    ๑. จงอธิบายว่าคำต่อไปนี้ ไทยนำมาใช้โดยมีการกลายเสียงสระและพยัญชนะอย่างไร ( อาจารย์ให้ความหมายมาด้วย)

    กปิ (ลิง) - ข้อนี้เปิดมาเจอก็ข้ามไปทำข้ออื่นก่อนเลยค่ะ นึกในใจ เชี่ยไรวะ เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น พยายามนึกถึงความเป็นไปได้ที่คำคำนี้จะกลายเสียง แต่สุดท้ายก็เขียนลงไปว่า กปิล ซึ่งผิดค่ะ ที่ถูกคือ กบิลลลล ข้อนี้เพื่อนน้อยคนตอบถูก น้อยคนเดาถูก หลายคนเว้นว่างไว้ ส่วนที่เหลือก็ กะปิบ้าง กระบี่บ้าง กะปิตันบ้างตามจินตนาการของแต่ละคน

    วิภว (โลก) - คำนี้นั่งนึกนานมาก แต่ด้วยความที่ยังมีบุญเก่าหลงเหลืออยู่บ้างประกอบกับอาจารย์เคยสอนว่า ไทยเปลี่ยนเสียงคำบาลีจาก ว เป็น พ เช่น วัฒน เป็น พัฒน เทวิ เป็น เทพี วิธี เป็น พิธี ก็เลยนึกออกว่าไทยก็มีคำนี้ใช้อยู่เหมือนกัน นั่นคือ "พิภพ" เพื่อนคนอื่นๆ เว้นว่างไว้บ้าง ตอบวิภาวะบ้าง ที่หนักสุดคือ วิเภาว์

    พทร (ผลไม้ชนิดหนึ่ง) - ข้อนี้ปราบเซียนขั้นสุด ใครจะไปนึกว่าคำนี้ไทยเอามาใช้ในคำว่า "พุทรา" ส่งข้อสอบเสร็จออกจากห้องยังเถียงกันอยู่เลยว่าพุทรามันคำไทยนี่แกร๊ แต่พอเฉลยออกมาก็ตายตกตามๆ กันไป

    ชวน (ไหวพริบ) - คำนี้ภาษาบาลีอ่านว่า ชะวะนะ ไทยเอามาใช้ก็เปลี่ยนเสียงเพื่อให้อ่านง่ายตามสไตล์คนไทยเป็น เชาวน์ ที่นี้ก็คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่า ทำไมคำนี้ถึงต้องมี น์ เพราะคำดั้งเดิมของมันก็คือ ชวน นั่นเองงง

    ๒. คำบาลีต่อไปนี้ ไทยออกเสียงเพื่อหลากความหมายอย่างไร (เพื่อนหลายคนงงโจทย์ค่ะ แต่จริงๆ แล้วโจทย์คือ คำบาลีคำนี้เนี่ย ไทยออกเสียงได้กี่แบบ แล้วแต่ละแบบมีความหมายว่ายังไง)

    - คุณ ไทยก็ยืมมาใช้ทั้งแบบเดิม คือ คุณ และยังแผลงเป็น คูณ ด้วย
    - ตุล ไทยใช้ทั้ง ตุล และ ดุล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนเสียง ต เป็น ด เจอได้หลายคำในภาษาไทย เช่น ตารา เป็น ดารา ตชฺชนี เป็น ดัชนี
    - คติ ไทยก็ใช้ทั้ง คติ และ คดี โดยใช้ในความหมายที่ต่างกัน
    - วิวาท ไทยก็ใช้ทั้งวิวาท วิวาทะ แล้วยังแผลงเป็นพิพาท ได้อีกด้วย ตามกฎเปลี่ยนเสียง ว เป็น พ

    ๓. ข้อนี้อาจารย์ยกบทความมาให้อ่านสั้นๆ ครึ่งหน้าเอสี่ แล้วให้หาคำยืมที่เป็นบาลีล้วน ๕ คำ คำไทยผสมบาลีอีก ๕ คำ ซึ่งมีคำสันสกฤตปะปนมาด้วยเพื่อให้นักเรียนสับสนเล่นๆ ว่า เอ๊ะ คำนี้ใช่คำบาลีรึเปล่านะ เพราะบาลีกับสันสกฤตจะคล้ายๆ กัน

    นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบเท่านั้น นั่งทำไปก็น้ำตาไหลกันไป เพราะยากจริงๆ จบวิชานี้รู้และสามารถบอกได้ทันทีเลยว่าคำไหนเป็นคำบาลีบ้าง เทอมหน้าเจอวิชาสันสกฤตซึ่งยากกว่าบาลีอีก ถ้ารอดชีวิตจะกลับมาเล่าเรื่องสนุกๆ (หรอ?) ของวิชาสันสกฤตให้ฟัง ที่สำคัญอาจารย์คนสอนคนเดิมค่ะ

    ฝากไว้ให้คิด "ภาษาไทยใครว่าง่าย"

    รู้หมือไร่ คำเหล่านี้เป็นคำบาลี - อนุบาล สังหรณ์ สังหาร อหังการ ปฏิทิน รสนิยม กติกา สุนัข สุกร สุคติ เมตตา ผลิต สังขยา ธนาคาร ครู มิจฉาชีพ ปกติ สัมผัส อดีต ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำที่ใช้กันในชีวิตประจำวันทั้งนั้นเลย :)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in