อินทรชิต ฤทธิพิศาล
เจ้าพลมาร บุตรทศกัณฐ์
รบชนะอินทร์ ปิ่นคคนันต์
ลักษมณ์ ธ ประจัญ พ่ายอสุรา
ยักษ์นิรมิต บิดวรองค์
อินทร์คชทรง เทพคณนา
ลักษมณ์ ธ ตะลึง จึ่งอสุรา
แผลงศรมา ต้องพระหทัย
อินทรชิตเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ บทบาทของอินทรชิตหากมองในแง่ดีถือว่าเป็นแบบอย่างที่น่านำไปปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ลูกที่ดี รับอาสาไปออกรบจนตัวตาย ซึ่งในการรบครั้งสุดท้าย หากใครได้อ่านตัวบทจะเห็นว่า อินทรชิตไม่เต็มใจไปรบแม้แต่น้อย เพราะมีเหตุอาเพศอันแสดงลางไม่ดีเกิดขึ้น แต่เพื่อทดแทนพระคุณพ่อ (ทศกัณฐ์) และศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้ชาย ทำให้อินทรชิตจำใจออกรบ
ส่วนหน้าที่พ่อและผัว อินทรชิตก็ทำได้ดีไม่น้อย ในบทที่ร่ำลาเมียและลูกอันเป็นที่รักก่อนจะไปรบครั้งสุดท้ายยังติดตาตรึงใจเรามาจนทุกวันนี้ เพราะมันเศร้ามาก แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในการพระราชนิพนธ์บทละครอันเป็นอมตะและเป็นวรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของไทย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรส ได้ทรงเจริญรอยตามพระบิดา พระราชนิพนธ์กาพย์กลอน บทละครนอก บทละครในต่าง ๆ ทั้งยังทรงสนับสนุนกวีที่มีฝีไม้ลายมือหลายคน ทำให้ยุคสมัยของพระองค์เป็น “ยุคทองของวรรณคดี” ในสมัยรัตนโกสินทร์
งานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ กาพย์เห่เรือ บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งทรงปรับปรุงจากฉบับรัชกาลที่ ๑ ให้มีความงามทางวรรณศิลป์มากขึ้นและเหมาะที่จะนำมาแสดงโขน บทพากย์รามเกียรติ์ ๔ ตอน ได้แก่ ตอนนางลอย พรหมมาสตร์ นาคบาศ เอราวัณ บทละครนอก ๕ เรื่อง ได้แก่ สังข์ทอง มณีพิชัย คาวี ไชยเชษฐ์ ไกรทอง รวมทั้งเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอนด้วย
ซึ่งงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านที่เราชอบมากเรื่องหนึ่ง คือ บทพากย์รามเกียรติ์ ตอนเอราวัณ ซึ่งเป็นตอนที่อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ เสกยักษ์ทั้งกองทัพให้กลายเป็นกองทัพเทวดาเพื่อหลอกล่อพระลักษมณ์ให้ตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่ ก่อนจะแผลงศรปักอกพระลักษมณ์ในที่สุด
๏อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
๏ ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
๏ สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
๏ งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
๏ กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
๏ กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
๏ นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
จากบทพากย์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของช้างทรงเอราวัณนี้ ทำให้เกิดโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ (มันมีจริง ๆ นะ เคยเจอในหนังสืออยู่555) ที่อยากทราบว่า "บริวารของเทพธิดามีทั้งหมดกี่องค์" ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มามันเยอะมาก ๆ เพราะมันต้องนับกันตั้งแต่เศียร 33 เศียร แต่ละเศียรมีตั้ง 7 งา ก็ 231 งาล่ะ แต่ละงายังมีสระบัว 7 สระ รวมเป็น 1,617 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 กอ ทั้งหมด 11,319 กอ แต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก รวมเป็น 79,233 ดอก บัวแต่ละดอกมี 7 กลีบ เป็น 554,631 กลีบ แต่ละกลีบ (ยังไม่หมดอีกเรอะ) มีเทพธิดา 7 องค์ เท่ากับ 3,882,417 องค์ แต่ละองค์มีบริวารอีกคนละ 7 คำตอบสุดท้ายจึงเป็น 27,176,919 สามสิบกว่าล้านคนไปแออัดยัดเยียดอยู่บนเศียรช้างเอราวัณ ทุกคนลองคิดจินตนาการดูนะว่า ช้างทรงองค์อินทร์ หากมีจริง ๆ จะมหึมาขนาดไหน :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in